โอ แม่จ้าว ถ้าอย่างนี้แล้วจะไปกันยังไง
ว่าตามผลดุสิตโพลนั่นนะ สำรวจความเห็นประชาชนจากตัวอย่างพันกว่าคนในสี่ห้าประเด็น
การเมือง เศรษฐกิจ สังคม ห่วงด้านใดมากสุด และจะแก้ข้อวิตกอย่างไร
เอาประเด็นสุดท้ายก่อน
ประชาชนไทยของดุสิตโพลเจ๋งมาก
หลังจากตอบว่ามีความวิตกกังวลในเรื่องเศรษฐกิจมากที่สุด ทิ้งห่างเรื่องสังคมกับการเมืองกว่าสิบเปอร์เซ็นต์
(ดังตัวเลข ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ๓๑ เปอร์เซ็นต์ และ ๒๙ เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ)
พอถึงคำถามสุดท้าย “มีวิธีแก้ไขความวิตกกังวลอย่างไร” ได้คำตอบว่า “อันดับ ๑
ทำใจ ปล่อยวาง ปลง ๔๑.๓๐ เปอร์เซ็นต์” แบบนี้จะเรียกว่างอมืองอเท้าไหมหนอ
ยังไม่พอ อันดับสองให้ “ตั้งสติ
นั่งสมาธิ สวดมนต์ ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ ๒๙.๕๖ เปอร์เซ็นต์” โน่นแน่ะ แถมอีก “อันดับ ๓ หากิจกรรมคลายเครียด เช่น
ดูหนัง ฟังเพลง อ่านหนังสือ ท่องเที่ยว ออกกำลังกาย ๒๐.๕๕ เปอร์เซ็นต์”
คำตอบอีกสองอันดับก็ไม่ห่างจากกัน
ประมาณว่า ‘ชั่งหัวมัน’
อย่าไปรับรู้อะไร ก้มหน้าก้มตาทำมาหา (ไม่ค่อยจะมี) กินต่อไปตามกรรม
(ที่พวกคนดีๆ เขาก่อกันไว้) น่ารักกันจริง กลกบเกิดแต่ในสระจ้อยกะลาแลนด์ เจริญพวง
แค่สงสัยนิดนึงนะ
ไหนตอบกันว่า ข้อวิตกกังวลด้านเศรษฐกิจทุกวันนี้ (หลังจากสี่ปี คสช. ครองเมือง –เตือนความจำหน่อย)
อันดับหนึ่งเรื่อง “ค่าครองชีพสูง ของกินของใช้ราคาแพง น้ำมัน ก๊าซหุงต้มขึ้นราคา”
ตั้ง ๗๔.๗๗ เปอร์เซ็นต์บอกว่า ‘ใช่เลย’
ส่วนที่เห็นว่าด้านการค้าการขาย
‘ไม่ดี’ การเงินฝืดเคือง มีแค่ ๓๑.๘๐ เปอร์เซ็นต์ แต่ก็มาเป็นอันดับสอง นอกนั้นโทษต่างชาติไม่มาลงทุน
๒๔.๗๗ เปอร์เซ็นต์ กับโทษรัฐบาลไม่มีปัญญาแก้ปัญหาเศรษฐกิจ ๒๑.๔๘ เปอร์เซ็นต์
(สงสัยกลุ่มนี้เป็นเสื้อแดงทั้งนั้น)
สำหรับด้านสังคมที่ผลโพลอ้างว่าประชาชนวิตกกังวลเรื่อง
“ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน” เป็นอันดับหนึ่ง ๓๙.๘๕ เปอร์เซ็นต์นั้น
ขอข้ามไปไม่คอมเม้นต์ ในเมื่อเป็นห่วงเศรษฐกิจย่ำแย่ ค่าครองชีพสูง
แล้วยังปล่อยวาง คงยากใครจะช่วยได้ ถ้าไม่ช่วยตนเอง
(ขนาดผู้วิเศษ คสช.
ยังเอาไม่อยู่ จะให้เรียก ‘อิปูว์-ไอแมว’ กลับมานั้นอย่าหวัง คนดีศรีอยุธยาอย่างเราๆ
ออเจ้า แม่นาง พ่อนาย กัดก้อนกินเกลือทนได้ แต่ถ้าหน้าแตกอับอาย เพราะคิดผิด
เลือกผิด ไม่มีทางยอมเสียเชิงแน่นอน ประมาณนั้นหรือ)
แล้วไหน โพลเดียวกันบอกว่าด้านการเมือง
กังวลเรื่องเลือกตั้งและประชาธิปไตยมากที่สุด (๔๙.๓๙ เปอร์เซ็นต์) ล่ะ ทำไมไม่คิด ‘อย่างประชาธิปไตย’
เสียบ้าง อย่าเอาแต่สิ้นหวัง
ดูอย่างพรรคการเมืองของคนรุ่นใหม่ที่เพิ่งจัดเลือกตั้งผู้บริหารพรรค
และประกาศจุดยืนทางการเมืองไปหมาดๆ “เราต้องการการเมืองแห่งความหวัง
หวังถึงการมีส่วนร่วมกับการออกแบบนโยบาย หวังถึงการทำให้คนในสังคมเท่ากัน
มาร่วมกันขยับประเทศไทย
เพื่อบอกว่าการเมืองที่เอื้อประโยชน์ให้ชนนั้นนำไม่กี่คน มันหมดแล้ว
เพื่อให้คนไทยได้สิทธิและเสรีภาพกลับคืนมา” เป็นคำประกาศของ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ป้ายแดงในวันประชุมพรรคครั้งแรก (๒๗ พ.ค.)
ขณะที่ ปิยบุตร แสงกนกกุล
ผู้ได้รับเลือกตั้งเป็นเลขาธิการพรรค ยืนยันว่า “วันแรกเราจะเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปี
๒๕๖๐ ทันที” ธนาธรลำหน้าไปหนึ่งก้าวแล้วว่า “รัฐธรรมนูญปี ๒๕๖๐ เราไม่แก้
เราจะฉีกเลย”
ปิยบุตรให้ความชัดเจนต่อไปว่า “โดยมาตราแรกที่ต้องยกเลิกให้ได้คือมาตรา
๒๗๙ ที่คุ้มครองประกาศและคำสั่งคณะรัฐประหารทั้งหมด เราจะปักธงก้าวหน้าลงสู่สังคม
เพราะการยึดอำนาจก็ชัดเจนแล้วว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๓ ฐานกบฎ”
ธนาธรก็ย้ำอีกครั้งเรื่องไม่เอารัฐประหาร
จะทำให้การรัฐประหารของ คสช. ครั้งล่าสุดนี่ เป็นครั้งสุดท้าย “พอกันทีกับคนส่วนน้อยที่ถือปืนแล้วกดหัวประชาชนเอาไว้
ขณะที่คนส่วนใหญ่ถูกปิดหู ปิดตา ปิดปาก” เขากล่าว
“บรรดาประกาศและคำสั่งของ คสช.
คือปืนที่เอากฎหมายมาห่อไว้ แต่ไม่ใช่กฎหมาย” ปิยบุตรขยายความ “นี่คือการคืนความปกติให้สังคม
เราไม่ได้แก้แค้น แต่เรากำลังจัดการเพื่ออนาคตของเรา” ธนาธรเสริม
“ถ้าเรายังกลัว ยังติดกับดัก
ก็ไม่ต้องทำอะไรเลย ที่สังคมเป็นอย่างนี้เพราะเรากลัว เลิกกลัวได้แล้ว
ถ้าคนยืนขึ้นหนึ่งคน สิบคน คุณจะกลัวเขา แต่เมื่อไรก็ตามที่เรายืนขึ้นเกินหมื่น
คสช. ต่างหากที่ต้องกลัวประชาชน”
นั่นละคือสิ่งที่ประชาชนทั้งนอกและในโพลต้องทำ
กันอย่างถ้วนทั่วทุกตัวคน
โพลครั้งต่อไปคือการเลือกตั้งใหญ่ที่กลุ่มคนอยากเลือกตั้งเขากำลังต่อสู้ให้ได้มา
และกำลังรณรงค์ติดแฮ้ชแท็กทางอินเตอร์เน็ตกันอยู่
อย่าปล่อยให้ความหมดหวังเข้าครอบงำเหมือนที่ดุสิตโพลว่า
การสวดมนต์เพื่อปลดปลงวิบากกรรม อาจทำให้จิตสงบเปลื้องทุกข์ไปจากใจได้ แต่นั่นไม่ทำให้ทุกข์นั้นหายไปจากความเป็นจริง
แบ่งเวลาสงบจิตสงบใจมาทำกิจกรรมเรียกร้องให้การเลือกตั้งเกิดขึ้น
เป็นหนทางกำจัดทุกข์ไปจากกายด้วยได้ ดีกว่าเอาแต่ ‘ปลง’ ว่ามั้ย