วันอังคาร, พฤษภาคม 22, 2561

#มึงเจอส้วมตันละสิ... ผลสะเทือน บุรีรัมย์ ทำให้แผนดูด ที่สระแก้ว บังเกิดอาการชะงัก



...

กรองกระแส / ผลสะเทือน บุรีรัมย์ ทำให้แผนดูด ที่สระแก้ว บังเกิดอาการชะงัก





มติชนสุดสัปดาห์ 
ฉบับวันที่ 18 - 24 พฤษภาคม 2561


กรองกระแส

ผลสะเทือน บุรีรัมย์

ทำให้แผนดูด ที่สระแก้ว

บังเกิดอาการชะงัก



ไม่ว่าความพยายามอันแสดงออกในกรณีต่อพรรคภูมิใจไทยโดยมีนายเนวิน ชิดชอบ เป็นเป้า ไม่ว่าความพยายามอันแสดงออกในกรณีต่อพรรคเพื่อไทยโดยมีนายเสนาะ เทียนทอง เป็นเป้า

คสช. น่าจะมีการประเมินผล

ต้องยอมรับว่า สภาพการณ์ทางการเมืองยุคหลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 แตกต่างไปจากยุคอื่นเป็นอย่างมาก

ไม่ว่าหลังรัฐประหารเดือนพฤศจิกายน 2494 อันเป็นฐานที่มาของพรรคเสรีมนังคศิลา ไม่ว่าหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2500 อันเป็นฐานที่มาของพรรคชาติสังคมและพรรคสหประชาไทย ไม่ว่าหลังรัฐประหารเดือนตุลาคม 2520 อันเป็นฐานที่มาของพรรคเสรีธรรม ไม่ว่าหลังรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534 อันเป็นฐานที่มาของพรรคสามัคคีธรรม

เพราะว่าการเมืองนับแต่ประกาศและบังคับใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ได้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างสูงทั้งในทางเนื้อหาและในทางโครงสร้าง

โดยเฉพาะเมื่อผ่านการเลือกตั้งเดือนมกราคม 2544

ผลสะเทือนจากการเลือกตั้ง ผลสะเทือนจากชัยชนะและความสำเร็จในการบริหารราชการแผ่นดินของพรรคไทยรักไทย ยากเป็นอย่างยิ่งจะดึงการเมืองให้ถอยกลับหลังไปได้โดยง่าย


2 ปัจจัยการเมือง

เลือกตั้งปี 2544



ปัจจัย 1 อันเป็นพื้นฐานอย่างสำคัญคือ ปัจจัยจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2540 ภายใต้โครงสร้างการเลือกตั้งระบบเขต การเลือกตั้งระบบบัญชีรายชื่อ

อันเป็นพื้นฐานอย่างสำคัญของรัฐบาลและอำนาจของนายกรัฐมนตรีที่เข้มแข็ง

ปัจจัย 1 คือความสามารถในการหลอมรวมเข้ากับกฎกติกาพื้นฐานของรัฐธรรมนูญและนำมาต่อยอดเข้าในการสร้างพรรคไทยรักไทย แม้ในเบื้องต้นจำเป็นต้องดึงศักยภาพของนักการเมืองรุ่นเก่าเข้ามา แต่เมื่อประสานเข้ากับนวัตกรรมใหม่โดยเฉพาะอย่างยิ่งนโยบายที่มีการจัดทำอย่างสัมพันธ์กับความต้องการของประชาชน

พรรคไทยรักไทยจึงสามารถสร้างชัยชนะขึ้นได้โดยมีการชู “นโยบาย” เป็นจุดขายอย่างแหลมคมในตลาดการแข่งขันทางการเมือง

ผลก็คือ การเมืองไทยได้เข้าสู่จุดเริ่มต้นของ 2 พรรคใหญ่

ยิ่งกว่านั้น เมื่อพรรคไทยรักไทยปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน คือ แปรนามธรรมแห่งนโยบายให้กลายเป็นรูปธรรมทางการปฏิบัติ จึงสามารถต่อยอดชัยชนะเมื่อเดือนมกราคม 2544 ไปสู่ชัยชนะอย่างถล่มทลายในเดือนกุมภาพันธ์ 2548

ผลสำเร็จเพียง 4 ปีของพรรคไทยรักไทยนี้เองที่ยืนยาวต่อเนื่องมาแม้จะผ่านรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 และรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 มาก็ตาม

โครงสร้างหลักทางการเมืองจากเมื่อเดือนมกราคม 2544 ยังไม่เปลี่ยนแปลง


รัฐประหาร 2549

รัฐประหาร 2557



แม้รัฐประหาร 2549 จะใช้ชื่อว่า “คมช.” แม้รัฐประหาร 2557 จะใช้ชื่อว่า “คสช.” แต่องค์ประกอบและเป้าหมายของทั้ง 2 รัฐประหารเป็นอย่างเดียวกัน

1 คือ ต้องการสกัดยับยั้งการเมืองใหม่ที่นำโดยพรรคไทยรักไทย

1 คือ ต้องการฟื้นเนื้อหาทางความคิดและโครงสร้างของการเมืองก่อนรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2544 ก่อนการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544

มีความพยายามผ่านรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550

มีความพยายามยุบพรรคไทยรักไทย มีความพยายามรุกไล่แกนนำและคนของพรรคไทยรักไทย แต่เมื่อมีการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550 พรรคพลังประชาชนอันเป็นอวตารแห่งพรรคไทยรักไทยก็ได้ชัยชนะ

การสร้างสถานการณ์อย่างเดียวกับก่อนรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 เพียงแต่เปลี่ยนจากพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยมาเป็น “กปปส.” เท่ากับยอมรับความล้มเหลวของรัฐประหารเดือนกันยายน 2549 จึงจำเป็นต้องปูทางและสร้างเงื่อนไขเพื่อนำไปสู่รัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557

แล้วจึงคิดประดิษฐ์สร้างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 เพื่อลองใหม่


โรดแม็ปเลือกตั้ง

กุมภาพันธ์ 2562


ก่อนการเลือกตั้งตามโรดแม็ปซึ่งคาดว่าจะมีในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 จะมาถึง มีความพยายาม 2 แนวทางอย่างเด่นชัด

1 รุกไล่พรรคเพื่อไทยอันถือเป็นเป้าหมาย

1 ก่อตั้งพรรคการเมือง สร้างพันธมิตรทางการเมือง ในลักษณะเดียวกันกับแผนบันได 4 ขั้นของ คมช. เห็นได้จากการต่อสายไปยังบางส่วนในพรรคประชาธิปัตย์ผ่านคนของ กปปส. เห็นได้จากการต่อสายไปยังพรรคและกลุ่มการเมือง และความพยายามในการดูดเอาคนของพรรคเพื่อไทยออกมา

สัมผัสได้จากกรณีของนายเนวิน ชิดชอบ สัมผัสได้จากกรณีนายเสนาะ เทียนทอง

กระนั้นผลสะท้อนจากสถานการณ์ ณ สนามช้าง อารีนา บุรีรัมย์ ก่อปฏิกิริยาอย่างกว้างขวางจากสถานการณ์ ณ ด่านชายแดนสระแก้ว เท่ากับเป็นการเตือนว่ากลยุทธ์ดึงและดูดอย่างที่เคยทำในกาลอดีตเริ่มไม่ประสบผลสำเร็จ

หรือแม้ว่าจะประสบผลสำเร็จแต่ก็ไม่อาจทำให้ผลสะเทือนจากการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม 2544 ต้องแปรเปลี่ยนไปมากนัก