วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 17, 2561

การรณรงค์ 'รื้อ เต ตุ๊บ' หมู่บ้านตุลาการ 'ป่าแหว่ง' เป็น 'การเมือง' เรื่องสิทธิชุมชน

ป่าแหว่ง : การใช้สิทธิชุมชน
ชำนาญ จันทร์เรือง

จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม การที่ประชาชนชาวเชียงใหม่ได้ออกมารณรงค์ให้มีการ 'รื้อ เต ตุ๊บ' บ้านพักของตุลาการแถบเชิงดอยสุเทพจนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วประเทศและทั่วโลก (ที่มีคนไทยอยู่) นั้น คือการใช้ “สิทธิชุมชน”

ซึ่งผมอยากจะนำเรื่องสิทธิชุมชนนี้มาเสนอเพื่อเป็นตัวอย่างของการใช้สิทธิชุมชน โดยขอไม่กล่าวถึงรายละเอียดของผลการเจรจา เพราะมีรายละเอียดปรากฏตามข่าวเยอะแล้ว

การออกมาใช้ “สิทธิชุมชน”ของคนเชียงใหม่นั้นไม่ใช่ของใหม่ ที่ผ่านมากลุ่มชนต่างๆ ในสังคมไทย ต่างออกมาเรียกร้องสิทธิกันมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเรียกร้องสิทธิในที่ดิน น้ำ ป่า หรือสิทธิในการทำประมงชายฝั่ง

จึงเกิดมีคำถามตามขึ้นมาเสมอๆ ว่า ทำไมชาวบ้านถึงคิดว่าตนเองมีสิทธิในทรัพยากรเหล่านั้น ในขณะที่ภาคราชการกลับคิดว่าชาวบ้านไม่มีสิทธิ

อย่างเช่นในกรณีของสิทธิที่ชาวบ้านออกมาเรียกร้องค่าชดเชยจากการสูญเสียอาชีพประมงในแม่น้ำมูล ซึ่งเกิดจากการสร้างเขื่อนปากมูล หรือการที่ชาวบ้านลุกขึ้นปกป้องสิทธิของตนด้วยการคัดค้านการสร้างเขื่อน การสร้างโรงไฟฟ้าพลังถ่านหิน หรือการสร้างท่อก๊าซ รวมทั้งล่าสุดในกรณี ป่าแหว่ง

กรณีต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นความขัดแย้งในการตีความหมายของ สิทธิ หรือการเข้าใจความหมายของสิทธิแทบทั้งสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความหมายของสิทธิชุมชน เช่น สิทธิของชาวนา สิทธิชาวบ้าน และสิทธิของท้องถิ่น ทั้งๆ ที่เป็นความคิดที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 มาแล้ว

ล่าสุดคือรัฐธรรมนูญฯ ปี 60 ก็บัญญัติไว้ให้ชุมชนย่อมมีสิทธิ จัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และความหลากหลายทางชีวภาพ อย่างสมดุลและยั่งยืนตามวิธีการที่กฎหมายบัญญัติ

การบัญญัติเรื่องสิทธิชุมชนไว้ในรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดก็เพื่อให้ความสำคัญกับสิทธิชุมชนในการจัดการทรัพยากร แต่เนื่องด้วยความหมายที่ยังไม่คุ้นเคย จึงมีการตีความที่ไม่ตรงกัน

สิทธิชุมชนคืออะไร ได้มีผู้ให้คำนิยามหรือความหมาย สิทธิชุมชน ไว้เยอะมาก

นิธิ เอี่ยวศรีวงศ์ กล่าวว่า แนวความคิดเรื่องสิทธิชุมชน สำหรับสังคมไทยอาจดูเป็นเรื่องใหม่ แต่อย่างน้อยที่สุดขณะนี้เราก็สามารถปลูกฝังสิ่งนี้ลงไปในสังคม โดยผ่านกระบวนการนอกระบบการศึกษา จนในที่สุดมันซึมเข้าไปในระบบการศึกษา กลายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านใช้ในการต่อสู้หลายต่อหลายเรื่อง

สิ่งสำคัญคือทำอย่างไร ที่จะทำให้แนวคิดเรื่อง สิทธิ ซึ่งในความเข้าใจของคนทั่วไปนั้นยังเป็นความหมายเพียงแค่ขอบเขตของปัจเจกบุคคล ได้ขยายความหมายของคำๆ นี้ออกไปตามแนวคิดของโครงสร้างสังคมสมัยใหม่ได้ 

เราไม่ควรไปติดกับชุมชนที่มีความหมายแค่เพียงพื้นที่อย่างเดียว เพราะในเมืองไทยมีสำนึกเกี่ยวกับชุมชนที่ไม่ได้เป็นพื้นที่อย่างเดียวมากมาย เช่น กรณีคนพิการขอให้มีบันไดเลื่อน ถึงแม้จะต่างคนต่างอยู่แต่เป็นประโยชน์ร่วมของเขา จากการที่เขานับตัวเองเป็นคนหนึ่งของผู้พิการ

ดังนั้น เรื่องของชุมชนกับเรื่องของอัตลักษณ์เป็นเรื่องเดียวกัน หมายความว่า ตัวเองมีผลประโยชน์ร่วมกับคนอื่นอย่างไร หรือควรจะมีทรัพยากรของตัวเองร่วมกับคนอื่นอย่างไร เหล่านี้เองคือความเป็นชุมชน และการที่คนเหล่านั้นมีจินตนาการว่าตัวตนของตัวเองส่วนหนึ่งร่วมอยู่กับส่วนอื่นเพราะเหตุผลอย่างนั้น นี่คือสิทธิชุมชน

เสน่ห์ จามริก, ยศ สันตสมบัติ และอานันท์ กาญจนาพันธุ์ ในป่าชุมชนในประเทศไทย แนวทางการพัฒนาเล่มที่ 1 ป่าฝนเขตร้อนกับภาพรวมของป่าชุมชนในประเทศไทยเมื่อ 2536 ชี้ว่า สภาวะของสิทธิชุมชนเกิดขึ้นในสถานการณ์ความขัดแย้ง ที่รัฐและทุนดำเนินการแย่งชิงทรัพยากรที่ชุมชนพึ่งอาศัย เป็นกระบวนการต่อสู้เพื่อพิทักษ์ทรัพยากร เช่น การต่อสู้ ต่อต้าน การสัมปทานไม้ การกันแนวเขตป่าชุมชน

สิทธิชุมชนจึงเสมือนเป็นประดิษฐ์กรรมทางสังคมของชุมชนและขบวนการภาคประชาชน ที่สร้างขึ้นมาต่อสู้กับอำนาจจากภายนอกที่เข้ามาส่งผลกระทบต่อชุมชน

ที่ชัดเจนที่สุดก็คือความเห็นของเย็นจิตร ถิ่นขาม ที่สรุปว่า สิทธิชุมชน’  คือ ข้อตกลง กฎเกณฑ์ทางสังคม หรืออาจพัฒนาสู่ความเป็นสถาบันร่วมกันของกลุ่มคนเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร การจัดการทางเศรษฐกิจ สังคม และอื่น ๆ

กลุ่มคนดังกล่าวมีความสัมพันธ์ทางสังคมร่วมกัน หรือเป็น ชุมชน

ลักษณะชุมชนนั้นมิได้ยึดติดกับชุมชนหมู่บ้าน อันเป็นรูปแบบการปกครองของรัฐ แต่เป็นเครือข่ายทางสังคมของผู้คนที่มีวัฒนธรรมร่วมกัน อยู่ในระบบนิเวศเดียวกัน มีการใช้ทรัพยากรร่วมกัน หรือมีแบบแผนการผลิต ระบบเศรษฐกิจเกี่ยวข้องกัน

ซึ่งอาจจะมีขอบเขตชุมชนใดชุมชนหนึ่ง หรือหลายชุมชน หลายกลุ่มชาติพันธุ์ ไม่ได้จำกัดแค่ชุมชนชนบท แต่ขยายครอบคลุมถึงเมือง เป็นเครือข่ายท้องถิ่น หรืออาจจะเป็นชุมชนในจินตนาการที่ผู้คนสัมพันธ์ผ่านสื่อ หรือนิยามว่าเราเป็นพวกเดียวกัน มีความสัมพันธ์ผ่านสิทธิร่วมกัน

สิทธิชุมชนในฐานะของอุดมการณ์ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชน

ประภาส ปิ่นตบแต่ง ชี้ให้เห็นว่าสิทธิชุมชนในฐานะของอุดมการณ์ ขบวนการเคลื่อนไหวภาคประชาชนได้เปิดพื้นที่ทางสังคมและการเมืองอย่างกว้างใหญ่ไพศาล อันเป็นห้วงเวลาที่พื้นที่ทางการเมืองทั้งในระดับท้องถิ่นและในระดับนโยบายเปิดช่องทางในการรวมตัว การแสดงความคิดเห็น การมีส่วนร่วมในทางการเมือง สิทธิเสรีภาพของประชาชน เป็นหลักการสำคัญในการพัฒนาประชาธิปไตย

งานศึกษาดังกล่าวได้ขยายไปสู่สถานภาพความรู้ของขบวนการเคลื่อนไหวของภาคประชาชน ในการลุกขึ้นมาปกป้องการเคลื่อนไหวของขบวนการภาคประชาชน ที่ได้รับผลกระทบจากทิศทางในการพัฒนาของรัฐ

จากกรณีป่าแหว่งที่เชียงใหม่ ได้มีการพยายามอธิบายหรือป้ายสีการเคลื่อนไหวนี้ออกไปในหลายรูปแบบ บ้างดิสเครดิตว่าเป็น “ขบวนการเขียวหางแดง” (ริบบิ้นสีเขียว+เสื้อแดง) บ้างก็บอกว่าเป็นขบวนการพยายามทำลายความน่าเชื่อถือของตุลาการ

แต่บางส่วนว่าเป็นความเคลื่อนไหวของภาคประชาชนแท้ๆ ไม่ใช่ความเคลื่อนไหวทางการเมือง และพยายามกีดกันนักการเมืองออกไปจากความเคลื่อนไหวนี้

ซึ่งในความเห็นที่ว่าไม่ใช่ความเคลื่อนไหวทางการเมืองนี้ ผมในฐานะนักรัฐศาสตร์ไม่เห็นด้วยเท่าไหร่นัก เพราะหากพิจารณาตามความหมายของคำว่า “การเมืองคืออะไร” ของฮาโรลด์ ลาสเวล (Harold D. Lasswell) ปรมาจารย์ด้านรัฐศาสตร์ชาวอเมริกัน ที่กล่าวว่า

การเมืองคือการได้มาซึ่งอำนาจ เพื่อที่จะตัดสินว่าใครจะได้อะไร เมื่อใด และอย่างไร (Politics is who gets ‘What’, ‘When’, and ‘How’) แล้ว

กรณีป่าแหว่งนี้ก็คือการเมืองอย่างหนึ่ง แต่เป็นการเมืองภาคประชาชนด้วยการใช้ สิทธิชุมชนตามที่ได้กล่าวมาข้างต้นนั่นเอง

-------------
หมายเหตุ  เผยแพร่ครั้งแรกในกรุงเทพธุรกิจฉบับประจำวันพุธที่ 16 พฤษภาคม 2561