วันอังคาร, พฤษภาคม 29, 2561

"Read More" คุยกับ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ว่าด้วยความเป็นไทยใน ‘ชาติพลาสติก’ ทำไมต้องเคารพธงชาติ? ทำไมบุพเพสันนิวาสดังเปรี้ยง? ทำไมความเป็นไทยต้องจอมปลอม?





คุยกับ ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ ว่าด้วยความเป็นไทยใน ‘ชาติพลาสติก’

ทำไมต้องเคารพธงชาติ?
ทำไมบุพเพสันนิวาสดังเปรี้ยง?
ทำไมความเป็นไทยต้องจอมปลอม?

หากคุณเป็นคนหนึ่งที่สงสัยในคำถามข้างต้น หนังสือ #ชาติพลาสติก (http://readery.co/9786167667676) ของอาจารย์ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ อาจเป็นจุดสตาร์ทของการค้นหาคำตอบเกี่ยวกับ ‘ความเป็นไทย’ ที่เปลี่ยนโฉมตามระบอบการปกครอง ก่อนพาออกเดินทางไกลไปสู่ภาวะตาสว่างทางสังคม

แน่นอนว่า ชาติพลาสติกไม่ใช่คู่มือค้นหาคำตอบแบบฮาวทู แต่เป็นหนังสือวิชาการที่เปรียบเปรยความเป็นไทยเหมือนสิ่งประดิษฐ์จอมปลอม ต้นกำเนิดมาจากเป็นธีมหลักของการทำวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกภายใต้หัวข้อ ‘Thainess: Hegemony and Power: A Study of Thai Nationhood and Its Implications on Thai-Burmese Relations, 1988-2000’ มหาวิทยาลัยลอนดอน เมื่อปี 2002

ด้วยเหตุนี้ คงไม่เกินจริงนักหากเราจะบอกคุณว่า ชาติพลาสติกเป็นหนังสือออกใหม่ที่น่าจับตามองจากสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน (https://goo.gl/UVxyR8) หลังจากผ่านการตีพิมพ์เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษมาแล้ว 2 ครั้งในชื่อ ‘A Plastic Nation: The Curse of Thainess in Thai-Burmese Relations’ และกระแสตอบรับก็ดีเกินคาด ถือเป็นอีกเล่มหนึ่งที่จริงๆ แล้วคงจะเป็นการดีหากทุกคนได้อ่าน และตั้งคำถามกับสิ่งรอบๆ ตัว

วันนี้ Read More จึงชวนอาจารย์ปวินมาพูดคุยว่าด้วยเรื่องความเป็นไทยใน ‘ชาติพลาสติก’ ภายใต้บรรยากาศเผด็จการของประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมันอาจช่วยตอบหลายๆ คำถามที่ค้างคาใจ และปลุกจิตวิญญาณนักอ่านให้ตื่นอีกครั้ง

— ความจอมปลอมของความเป็นไทย

อาจารย์ปวินเปิดฉากเล่าเหตุผลของชื่อชาติพลาสติกให้ฟังว่า มาจากความต้องการพิสูจน์เรื่องความเป็นไทยที่ส่งผลกระทบต่อนโยบายต่างประเทศ เนื่องจากความเป็นไทยมักถูกหล่อหลอม แต่งเติม เสริมปั้น เพื่อนำมาอธิบายนโยบายของรัฐบาลให้เกิดความชอบธรรม และจากกระบวนการดังกล่าวเห็นได้ชัดว่า ความเป็นไทยเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงตามกาลเวลา เปลี่ยนแปลงตามผลประโยชน์ของผู้นำ จึงมีลักษณะเหมือนพลาสติก ซึ่งภาษาอังกฤษหมายถึงของปลอมที่หล่อเป็นรูปแบบใดๆ ก็ได้

ความน่าสนใจคือ ชาติพลาสติกไม่ใช่แค่บันทึกทางประวัติศาสตร์ แต่เป็นความพยายามนำเสนอมุมมองความเป็นชาติไทยในประวัติศาสตร์ที่เป็นสิ่งไม่แน่นอน และไม่ตายตัว เช่น ก่อนพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ เป็นนายกฯ เกิดสงครามเย็น และคนไทยมองประเทศเพื่อนบ้านเป็นแหล่งคอมมิวนิสต์ ดังนั้น ความเป็นไทยเลยมาพร้อมความเกลียดคอมมิวนิสต์ แล้วพอสงครามเย็นจบลง เกิดการเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้า การเกลียดคอมมิวนิสต์ต้องถูกกำจัด ทำให้ความเป็นไทยถูกสร้างใหม่ให้เน้นการทำธุรกิจ และหยุดพูดเรื่องคอมมิวนิสต์อีกต่อไปแล้ว

“ความเป็นไทยมันพลิกแพลงอยู่ตลอดเวลา สมมุติคนไทยถูกสอนให้เกลียดคอมมิวนิสต์ เวลาพูดเรื่องคอมมิวนิสต์ก็สามารถบอกได้ว่านั่นไม่ใช่ความเป็นไทย แต่สมมุติช่วงสงครามเย็นถ้าเกิดประเทศไทยกลายเป็นคอมมิวนิสต์อย่างจีน ความเป็นไทยก็เป็นคอมมิสนิสต์เหมือนกับที่หัวใจของความเป็นชาติจีนอยู่ตรงความเป็นคอมมิวนิสต์

“ภายใต้รัฐบาลหนึ่ง ผลประโยชน์ชุดหนึ่ง ความเป็นไทยเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอ และนั่นแหละทำให้ความเป็นไทยกลายเป็นเรื่องพลาสติก” อาจารย์ปวินสรุป

— ความเป็นไทยในยุค คสช.

ที่ผ่านมา (และรวมถึงปัจจุบันด้วย) ดูเหมือนไทยนิยมของรัฐบาลเผด็จการยุคประยุทธ์ จันทร์โอชา ตีความความเป็นไทยได้ไม่ไกลเกินกว่าการเชื่อฟังรัฐบาล การนอบน้อมต่อผู้มีอำนาจ และรักสถาบันกษัตริย์ ซึ่งทั้งหมดปราศจากคำว่า ‘ประชาธิปไตย’

“เผด็จการประยุทธ์อยู่ด้วยการพึ่งพิงสถาบันหลักของชาติ ซึ่งความจริงทั้งหมดไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายคนคงเคยเห็นมาแล้วในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ และมันถูกนำกลับมาใช้ใหม่ โดยผสมผสานความทันสมัยอื่นๆ ลงไป เพราะประเทศไทยในปี 2018 มันต่างจากยุคจอมพลสฤษดิ์ในช่วงปี 1950-1960 แต่เนื้อแท้ไม่ไกลจากความเป็นอนุรักษ์นิยม อย่างไรก็ตาม ความเป็นไทยยุคก่อนๆ ยังมีความหมายเทียบเท่ากับประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่ยุคประยุทธ์ความเป็นไทยไม่มีคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ และมีลักษณะรวบอำนาจมากกว่า”

— ความเป็นไทยขึ้นๆ ลงๆ ส่งผลต่อการพัฒนาประเทศ

อาจารย์ปวินอธิบายต่อว่า หากความเป็นไทยเทียบเท่ากับประชาธิปไตย อย่างน้อยมันสอนให้ทุกคนเคารพเสียงข้างมาก แต่ช่วงที่ประเทศขาดประชาธิปไตย คนหลงใหลความเป็นไทยมักตกเป็นทาส ซึ่งมันส่งผลกระทบด้านลบต่อความเจริญก้าวหน้าของประเทศ ต่อการใช้เหตุผล และการจำกัดความคิดตัวเองไว้แคบๆ

“หลายคนคงได้ยินการล้อเล่นกันด้วยคำพูดว่า “คนไทยไม่ทำกันนะ” หรือ “เอ๊ะคนไทยหรือเปล่า” นั่นแสดงให้เห็นว่าความเป็นไทยเหมือนเป็นกรงขัง ที่ทำให้หลายคนคิดอะไรไกลเกินกว่าความเป็นไทยไม่ได้ ซึ่งถือเป็นเรื่องเลวร้ายมาก เพราะเราอยู่ในปี 2018 และประเทศไทยไม่ได้เป็นเกาะ ต้องรวมกับประเทศอื่นๆ ในยุคที่เป็นโกลบอลไลเซชั่นมากๆ ความเป็นไทยที่ผ่านมา ไม่ใช่แค่สิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยอย่างเดียว มันเกิดขึ้นกับประเทศอื่นๆ ด้วย เลยเกิดความขัดแย้งกันเสมอระหว่างความเป็นอัตลักษณ์ของชาติกับการอยู่ร่วมกับสังคมโลก”

— เหตุใดจึงยึดติดความเป็นไทยกันเหนียวแน่น

เมื่อเราถามอาจารย์ปวินว่า แล้วเพราะเหตุใดคนจำนวนไม่น้อยถึงยึดติดกับความเป็นไทยอยู่อย่างเหนียวแน่น ซึ่งคำตอบที่ได้รับกลับมาคือ

“ถ้าคนเราอยู่ในฟองอากาศ หรือรังไหมแล้วรู้สึกสะดวกสบายก็จะไม่กังวลกับอะไร และนั่นเป็นความพอเพียงแท้จริงของสังคมไทย คือเมื่ออยู่ในโลกแคบๆ แล้วพวกเขามักคิดว่าตัวเองดีที่สุด ซึ่งหลายๆ คนชอบอยู่ในโหมดแบบนั้น ทั้งๆ ที่ความจริงตัวเองอยู่ในกะลา อย่างปรากฏการณ์ #ออเจ้า ชี้ชัดว่า คนไทยอยู่ในกะลา ยังหลงเพ้อว่าอาณาจักรไทยรุ่งเรืองสุด เป็นอาณาจักรยิ่งใหญ่ไพศาล โหยหวนหาอดีต ในความจริงมันไม่ใช่เลย อาณาจักรไทยก็เหมือนอาณาจักรทั่วๆ ไปที่มีเกิดมีดับ เผลอๆ สิ่งที่ได้มาทั้งหมดลอกของคนอื่นมามากกว่าครึ่ง” คำวิจารณ์แรงๆ ของอาจารย์ปวิน หรือเรียกง่ายๆ ว่าด่านั่นแหละ

— ความนิยมในต่างประเทศ

หลังจากอาจารย์ปวินจบปริญญาเอกในปี 2002 หนังสือชาติพลาสติกได้รับการตีพิมพ์ครั้งแรกเป็นภาษาอังกฤษในปี 2005 และผลการตอบรับดีมากๆ ทำให้ต่อมาอีก 5 ปีมีการพิมพ์ครั้งที่ 2 จากการทำงานร่วมกับสถาบันเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษาของสิงคโปร์

“จริงๆ ผมแปลฉบับภาษาไทยเสร็จนานมากแล้ว แต่ติดปัญหาหลายอย่างทำให้ไม่ได้ตีพิมพ์สักที ต่อมาก็มองหาสำนักพิมพ์ในไทย ตอนแรกนึกถึงสำนักพิมพ์อ่าน ซึ่งเคยพิมพ์ ‘การทูตทักษิณ’ (http://readery.co/9786167158600) ออกมา ซึ่งเป็นเล่มที่คสช. ดูจะชอบมาก เพราะผมด่าทักษิณ (หัวเราะ) แต่อีกใจหนึ่งผมอยากสร้างความหลากหลายในแง่สำนักพิมพ์ เลยหันมาร่วมงานกับสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน เพราะผมไม่เคยพิมพ์หนังสือกับฟ้าเดียวกันมาก่อนเลย และพอหนังสือเสร็จสมบูรณ์ผมก็รู้สึกแฮปปี้มาก” อาจารย์ปวินกล่าว

— ไฮไลท์อยู่ตรงบทส่งท้าย

แม้ต้นฉบับจบลงตรงสมัยชวน หลีกภัย เป็นนายกฯ ในปี 2000 แต่ทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันได้ให้คำแนะนำกับอาจารย์ปวินว่า หากแปลออกมาตรงๆ มันคงไม่เวิร์ค ทำให้อาจารย์ปวินต้องลงมือเขียนคำนำ และบทส่งท้ายขึ้นมาใหม่ โดยเริ่มต้นจากยุคทักษิณ ผ่านเข้าสู่ยุคยิ่งลักษณ์ และอัพเดทความเป็นไทยในยุคคสช. ร่วมถึงนโยบายที่เกี่ยวกับไทย-พม่า ซึ่งหาอ่านไม่ได้ในเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ

“ผมนำเสนอเรื่องไทยนิยมของคสช. ด้วย เพราะผู้นำทุกยุคทุกสมัยมักหากินกับชาตินิยม หากินกับความเป็นไทย เพราะคำนิยามของคำว่า ‘ชาตินิยม’ หรือ ‘ความเป็นไทย’ เปี่ยมด้วยพลังอำนาจมหาศาล พูดแล้วสะกดจิตคนฟังได้ด้วย และไปไกลขนาดที่หากคนหลงใหลกับความเป็นไทย หรือเชื่อในความเป็นชาติ พวกเขาสามารถยอมสังเวยตัวเอง เพื่อความอยู่รอดของชาติ และความเป็นไทย”

— เบื้องหลังการออกแบบปก

ไอเดียการออกแบบปกเบื้องต้นมาจากความต้องการเห็นสิ่งที่แสดงให้ความเป็นชาติออกมาชัดเจน เช่น แผนที่ พระพุทธรูป สถาบันกษัตริย์ กองทัพ ฯลฯ และต้องเป็นตัวพลาสติก แล้วทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันขายไอเดียทหารพลาสติกก่อตัวกลายเป็นเสา ซึ่งมันเป็นความคิดที่เจ๋งดี เข้ากับยุคสมัยภายใต้ระบอบของทหาร ทำให้เลิกโฟกัสกับแผนที่ที่ดูเชยแล้ว เพราะหนังสือหลายเล่มมักใช้แผนที่ประเทศมาทำเป็นหน้าปก

“หลังจากทางสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันเสนอไอเดียมาผมขอข้อแม้คือ พลาสติกต้องเป็นสีชมพู เพราะผมว่ามันดูกะเทยดี ผมชอบ และมันสะท้อนความเป็นกบฏต่อประเพณีและความเชื่อโบราณ”

— โปรดระวังคัลเจอร์ช็อคระหว่างอ่าน

“หลังจากจบการศึกษาจากจุฬาฯ ผมไปเรียนต่อที่อังกฤษตั้งแต่ปี 1997 ตอนนั้นผมเป็นนักศึกษาใสซื่อ และไร้เดียงสามากๆ ในหัวเต็มไปด้วยการโฆษณาชวนเชื่อ แต่หลังจากผมเจอกับสังคมใหม่ ระบบการศึกษาใหม่ มันเป็นคัลเจอร์ช็อค แต่วิทยานิพนธ์ปริญญาเอกเป็นส่วนสำคัญในกระบวนการตาสว่างของผม มันแสดงให้เห็นว่าความเป็นไทยที่หลายคนเข้าใจไม่ใช่ของจริง ขณะเดียวกันบทสรุปผมพาออกไปไกลถึงเรื่องทำไมต้องยืนเคารพธงชาติ และตอบคำถามมากมายที่ไม่เคยมีใครกล้าหาคำตอบ”

— ผลงานชิ้นต่อไปของอาจารย์ปวิน

สุดท้าย อาจารย์ปวินฝากบอกนักอ่านทุกคนว่า ผลงานเล่มต่อไปเป็นหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับรัชกาลที่ 8 ส่วนหนังสือภาษาไทยเป็นเรื่องเกี่ยวกับการล่มสลายของสถาบันกษัตริย์เนปาล ◉



Illustration by Was

#ReadMore
#PlasticNation

— with Pavin Chachavalpongpun.


Readery


...

Readery ชาติพลาสติก : ความสัมพันธ์ไทย-พม่า ผ่านความเป็นไทย (https://readery.co/9786167667676) หนังสือเล่มใหม่ของ อ.ปวิน ชัชวาลพงศ์พันธ์ สำนักพิมพ์ ฟ้าเดียวกัน