วันพฤหัสบดี, พฤษภาคม 24, 2561

"4 ปีรัฐประหาร มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของใคร ?" บีบีซีไทยรายงาน...




"แผ่นดินนี้เรียกร้องผม แผ่นดินที่เหยียบทุกวันนี้ เรียกร้องให้ผมทำให้เขา"

คำปราศรัยของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่กล่าวต่อชาวบุรีรัมย์เมื่อต้น พ.ค. ตอกย้ำความคิดของห้วหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)ว่าทำไมเขาจึงต้องเข้ายึดอำนาจ แม้ห้วงเวลาจะล่วงเลยมาอย่างยาวนาน เทียบเท่าการครบเทอม ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยแล้ว

ย้อนไปเมื่อสี่ปีก่อน พล.อ.ประยุทธ์ระบุไว้ในแถลงการณ์ถึงเหตุผลการเข้ายึดอำนาจว่า มาจากสถานการณ์รุนแรงที่มีแนวโน้มขยายตัว เนื่องจากความขัดแย้งทางการเมืองในหลายพื้นที่ จึงต้องการนำประเทศเข้าสู่สภาวะปกติ และเพื่อให้ประชาชนกลับมารักและสามัคคีกัน รวมทั้งเริ่มการปฏิรูปโครงสร้างการเมือง เศรษฐกิจสังคม เพื่อให้เกิดความชอบธรรมกับทุกฝ่าย

แต่สิ่งที่ปรากฏคือ คสช. มักอาศัยอำนาจในฐานะรัฏฐาธิปัตย์ ควบคุมสั่งการ แก้ไข “อุปสรรค” ในการบริหารประเทศ ผ่านการออกประกาศและคำสั่งหัวหน้า คสช. รวมถึงใช้อำนาจพิเศษ ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 กรุยทางการปฏิรูปตามแบบที่ คสช. วาดฝันไว้ตามคติพจน์ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ทว่า ราคาที่ต้องเสียไปคือ สิทธิเสรีภาพของประชาชนที่หายไปพร้อม ๆ กับงบประมาณมหาศาล

หลังผ่านร่างรัฐธรรมนูญแล้วเสร็จในปี 2560 สิ่งที่หัวหน้า คสช.พยายามชูเด่น คือ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ประเทศ ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และการปฎิรูปประเทศ และไม่ลืมสรรหาถ้อยคำมาเป็นจุดขาย ไม่ว่าจะเป็น “ประเทศไทย 4.0” “ประชารัฐ”และ “ไทยนิยมยั่งยืน”

หลังบริหารประเทศมาแล้ว 4 ปีและเลื่อนการเลือกตั้งมาแล้ว 5 ครั้ง หัวหน้าคสช. ก็ประกาศเปิดตัวเป็น “นักการเมือง”หลังจากที่เคยปฏิเสธไปแล้ว 9 ครั้ง

พล.อ.ประยุทธ์ เดินหน้าจัดประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรเดินสายพบนักการเมืองเจ้าของพื้นที่เดิม ตั้งแต่กลางปี 2560 ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากฝ่ายการเมืองและนักวิชาการว่าเป็นการสร้างฐานเสียงปูทางสู่การเลือกตั้ง แต่ พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาปฏิเสธหลายครั้ง

อะไร... คือสิ่งที่ประชาชนต้องยอมแลกกับพัฒนาการทางการเมืองของ คสช. ในรอบ 4 ปีที่ผ่านมา บีบีซีไทยรวบรวมนำมาเสนอ ผ่านวิสัยทัศน์ คสช. “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน”

ลิงค์บทความเต็ม

...

Pratoun Dul คนไทยพวกไหนที่ไม่เดือดร้อนกับการที่ทหารปฎิวัตและครอบครองประเทศมา4 ปี 1พวกที่ได้ตำแหน่งและอำนาจ 2พวกคนรวยและนายทุนไหญ่ฯ 3พวกคนชั้นกลางและที่ได้ประโยชน์จากการยึดอำนาจ 4 พวกข้ารชการที่กินเงินเดือนและคุณรู้ไหมว่าคนพวกนี้มีไม่ถึง 10เปอร์เซ็นของคนไทยทั้งประเทศ เอาคนไม่กี่คนมาออกแบบกฎกติกากฎหมายไห้คนส่วนไหญ่ของประเทศต้องเดินตาม ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมเลยทุกขั้นตอน ออกแบบมาแล้วก็ล้มกระดานแล้วก็ออกแบบไหม่ เพียงเพื่อไห้ตัวเองอยุ่ต่อนานฯ โดยไม่สนใจว่าประชาชนจะเดือดร้อนเท่าไหร่ เลื่อนเลือกตั้งแล้วไม่รู้กี่ครั้ง อย่าลืมนะครับว่าไม่มีเผด็จการที่ไหนไนโลกที่ได้รับการยอมรับจากประชาชนคนส่วนไหญ่ของประเทศนั้นฯ

...

มรดกของระบอบอำนาจนิยม 4 ปี จชต. ในมือ คสช.



4 ปี จชต. ในมือ คสช.

4 ปีรัฐประหาร อะไรเปลี่ยนไปบ้าง อะไรจะยังไม่เปลี่ยนในอนาคต บีบีซีไทยทำรายงานฉบับกระชับชิ้นนี้ได้ดีครับ แต่น่าเสียดายที่ไม่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ #จังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือ #ปาตานี เลย สิ่งนี้อาจชี้วัดได้ว่าเรื่องราวความขัดแย้งที่ถึงตายในภูมิภาคนี้ยังไม่อาจเป็น #วาระแห่งชาติ ได้จริง

ดูรายงานบีบีซีที่ลิงค์นี้ https://www.bbc.com/thai/resources/idt-sh/thai_junta…

แต่ถึงอย่างนั้น คสช.และรัฐบาลจากรัฐประหารก็สร้างสิ่งใหม่ที่อาจกลายเป็นมรดกของระบอบอำนาจนิยมในการจัดการกับความขัดแย้งชาติพันธุ์การเมืองที่นี่ อย่างน้อย ๆ ก็มีอยู่ 3 เรื่อง คือ

1. การบูรณาการแผนปฏิบัติการของหน่วยงานและกลไกภาครัฐให้มี #ความเป็นเอกภาพและ #ประสิทธิภาพ มองจากสายตาคนมีปืนที่ยึดอำนาจแล้ว ที่ผ่านมารัฐไทยรับมือกับปัญหาความมั่นคงในชายแดนใต้อย่างไม่เป็นเนื้อเดียวกัน พวกเขาเลยเอางบประมาณมากาง วางกลไกและตัวชี้วัดเพื่อบังคับวิถีให้คิดและทำไปในทางเดียวกัน ทั้ง กอ.รมน. ศอ.บต. และหน่วยงานของกระทรวงทบวงกรม ภายใต้การนำของรัฐบาลทหารและ กอ.รมน. คัดเค้นกันสุด ๆ เหลือเป็น 3 แนวทางใหญ่ คือ ความมั่นคง การพัฒนา และการสร้างความเข้าใจ – ที่น่าสนใจคือแผนบูรณาการเพื่อการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหา จชต. นั้นใช้ถ้อยคำในภาษาอังกฤษว่า Problem Rectification หรือ “การทำปัญหาให้ถูกที่ถูกทาง” นี่คือหนึ่งในสาระของแนวทาง #การเมืองนำการทหาร ของ คสช.

2. สถาปนาระบบที่อาจเรียกกันเล่น ๆ ได้ว่า ISOC Supremacy หรือ “กอ.รมน. เป็นใหญ่” หลายปีก่อนหน้านี้การต่อรองแข่งขันภายในหน่วยงานรัฐสถาปนาระบบถ่วงดุลฝ่ายความมั่นคงขึ้นมา นั่นก็คือการมี พ.ร.บ.บริหารราชการจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งให้อำนาจกับหน่วยงานพลเรือนอย่าง ศอ.บต. ที่ #พอฟัดพอเหวี่ยง กับทหารในคราบ กอ.รมน.ได้ มีกลไกที่ผู้คนในพื้นที่จะสะท้อนเสียงเพื่อถ่วงดุลและตรวจสอบอยู่บ้าง รวมไปถึงการให้บทบาทที่ชัดเจนของ สมช. ในการกุมทิศทางนโยบายต่อ จชต. แต่แล้วเมื่อ คสช.เดินเข้าทำเนียบรัฐบาล อำนาจทางการที่ควบคุมทิศทางเริ่มไหลเทมาในมือของ กอ.รมน. อย่างค่อยเป็นค่อยไป ในขณะที่ ศอ.บต. และ สมช. กำลังถูกจำกัดบทบาทมากขึ้นทุกวัน

3. การควบคุมทิศทางการพูดคุยเพื่อสันติภาพให้ไม่ล้ำเส้นด่านทหารที่อนุรักษ์นิยม สิ่งนี้สะท้อนจากการเร่งรัดเปลี่ยนชื่อการพูดคุยฯ ไปเป็น #การพูดคุยเพื่อสันติสุข ตั้งแต่ปีแรกหลังเข้ายึดอำนาจ เรื่องเล็ก ๆ เช่นนี้ดูเหมือนไม่มีอะไร และออกจะบันเทิงในช่วงแรก ๆ เมื่อต้องหาชื่อเรียกในภาษาอังกฤษ (ซึ่งบางคนแปลอย่างขำขื่นว่า Happyness Talk) แต่จริง ๆ สะท้อนยุทธศาสตร์สำคัญในการพิทักษ์ป้องกันไม่ให้ประเด็นปัญหาของ จชต. ถูกยกระดับสู่เวทีการเมืองระหว่างประเทศ อีกทั้งยังขีดเส้นมิให้การเผชิญกับรากเหง้าของปัญหาความขัดแย้งและไถลไปไกลถึงการพิจารณาทางเลือกในการแบ่งสรรอำนาจ (Power Sharing)

ทิศทางทั้งสามนี้จะเปลี่ยนไปหรือไม่หลังการเลือกตั้ง (ที่ยังไม่แน่ว่าจะมีขึ้นเมื่อไหร่) ยังเป็นคำถามสำคัญอยู่ แต่ที่แน่ ๆ คสช.และรัฐบาลทหารก็วางมรดกให้การจัดการกับความขัดแย้งที่ชายแดนใต้สุดแห่งนี้ถูกโอบล้อมด้วยแนวทางอำนาจนิยมมากยิ่งขึ้น

คำถามที่ว่า “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ของใคร?” ที่บีบีซีตั้งเอาไว้ก็ชวนให้ทวนถามต่อไปด้วยว่าแนวทาง “เข้าถึง เข้าใจ พัฒนา” ที่พระราชทานให้รัฐบาลในช่วงต้นปี 2547 นั้น ตกลงแล้วเป็น “เข้าถึงใคร เข้าใจใคร พัฒนาใคร?” ได้ด้วยเช่นกัน


deepsouthwatch.org