อ่า เฮียเค้าว่าไม่เลื่อนก็ไม่เลื่อน แต่การคำนวณมันไม่ลงตัวตามเป้าโร้ดแม็พของพวกเฮียๆ
นี่สิ จะให้เชื่อได้อย่างไร
ในเมื่อไอ้ที่ชอบตะบันพูดอยู่นั่น
ตามนั้นตามนี้แน่ๆ ไม่เคยเป็นได้สักที อะไรๆ จะเอาตามใจพี่ไปเสียทุกอย่าง มากว่าสี่ปีจนจะพังมิพังแหล่
อีกหรือ น่าจะพอกันเสียทีแล้วนะ
ไม่ใช่ว่าไม่ชอบที่ทั่นหัวหน้ากลาโหมพี่ใหญ่
คสช.บอกว่าเลือกตั้งกุมภา ๖๒ แน่ๆ ถ้าทำได้อย่างนั้นย่อมดีกว่าไม่ทำแน่นอน แต่ที่พูดอย่างนี้มันเหมือนโกหก
ในเมื่อทั่นรองฯ ฝ่ายบริกรกฎหมายแบไต๋แล้วว่า
“การหารือกับพรรคการเมืองจะต้องรอความชัดเจนหลังกฎหมายลูกมีผลบังคับใช้
จะทำให้การหารือดังกล่าว อาจจะไม่ใช่ในเดือน มิ.ย....ก็ไม่ควรจะใช่”
หมายความว่าจะยังไม่ปลดล็อคพรรคการเมืองให้เริ่มหาเสียงกันเตรียมเลือกตั้งอย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้
ก็จะทำให้การเลือกตั้งต้องขยับออกไปเป็นเดือนเมษา ๖๒ ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนเวลาที่บ่งไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบ
รธน.
โอเค ตอนนี้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยประเด็นที่
สนช. ส่งร่าง พรป. เลือกตั้ง ส.ส. แล้วว่า ‘ผ่าน’
ทั้งประเด็นมาตรา ๓๕ การจำกัดสิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมืองและผู้บริหารท้องถิ่น
ถ้าไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง และมาตรา ๙๒
ที่ให้เจ้าหน้าที่หน่วยเลือกตั้งช่วยกาบัตรแทนคนพิการและทุพพลภาพได้
จากนี้ไปก็จะต้องมีการกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์เพื่อทรงลงพระปรมาภิไธยภายใน
๙๐ วัน จากนั้นเมื่อพระราชทานกลับลงมาภายใน ๙๐ วันแล้ว จึงจะมีเลือกตั้งได้ภายในอีก
๑๕๐ วัน ก็เท่ากับการเลือกตั้งต้องเลื่อนไปจากกุมภา ๖๒ อีก ๒ เดือน
(ดูประกอบ http://www.thairath.co.th/content/1294947, https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_1150066 และ http://www.constitutionalcourt.or.th/occ_web/download/article/article_20180530165334.pdf)
แล้วอย่างนี้ พล.อ.ประวิตร
วงษ์สุวรรณ ยังบอกว่า “เอานะ เขาพยายามจะทำให้ทันก็แล้วกันน่า”
ได้อย่างไร
ในเมื่อนักข่าวอุตส่าห์ถามเปิดช่องให้ว่าจะใช้อำนาจเบ็ดเสร็จมาตรา
๔๔ เมินระเบียบกฎหมายที่พวก คสช.อ้างนักอ้างหนาว่าศักดิ์สิทธิ์ เพื่อให้เลือกตั้งได้ทันเดือนกุมภาใช่ไหม
พล.อ.ประวิตรดันตอบว่า “ไม่ต้องใช้”
ตอบอย่างข้างๆ คูๆ ไม่สมเหตุสมผลอย่างนี้
สมแล้วที่คนรุ่นใหม่ นักศึกษาหัวก้าวหน้าเช่น เนติวิทย์ โชติพัฒน์ไพศาล
ไปประจานที่กรุงออสโลว่า คสช.ได้แต่เที่ยวไล่จับ
ไล่ดำเนินคดีกับคนที่เรียกร้องประชาธิปไตย
แถมปิดท้ายรายการ Oslo
Freedom Forum ประจำปี 2018 ที่นอร์เวย์ ‘เน่เน่’ ยังชวนผู้เข้าร่วมงานลุกขึ้นยืนชูสามนิ้ว เป็นสัญญลักษณ์สนับสนุนกระบวนการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยในประเทศไทยกันพรึ่บทั้งหอประชุม
แน่นอนว่าเสียงจากหอประชุมกรุงออสโลกระหึ่มไปทั่วโลก
แต่ในประเทศไทยภายใต้เผด็จการทหารยังคงเฉยเมยเช่นเคย
ขณะที่กระบวนการกดขี่บีบคั้นดำเนินต่อไป
เมื่อคณะทหารมอบหมาย พ.อ.บุรินทร์
ทองประไพ แจ้งความดำเนินคดีต่อกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง ที่ออกมาจัดทำกิจกรรมปฏิเสธรัฐประหาร
เพิ่มอีกกว่า ๕๐ คน
ทั้งในข้อหาความผิดต่อความมั่นคงฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้ารัฐประหาร
๓/๒๕๕๘ และความผิดฐานก่อกวนยุยงให้เกิดความปั่นป่วนและกระด้างกระเดื่องต่อ คสช.
ในหมู่ประชาชน มาตรา ๑๑๖
ดูจะมีแต่ประเทศไทยที่ได้ฉายา ‘กะลาแลนด์’
แห่งนี้ที่เดียวละมังที่อ้างเป็นประเทศประชาธิปไตย (แต่มีสร้อยห้อยท้ายยาวเหยียด
เป็นข้อจำกัด) ทั้งที่รัฐบาลมาจากการยึดอำนาจ อ้างคำสั่งคณะรัฐประหารเป็นกฎหมาย
สร้างรัฐธรรมนูญที่กำหนดสภาแต่งตั้ง (ส่วนใหญ่จากทหาร) จำนวนครึ่งหนึ่งของสภาเลือกตั้ง
มาเบียดบังอำนาจของตัวแทนประชาชน
แม้กระทั่งออกคำสั่งมายกเลิกตัวบทกฎหมายบางอย่าง
โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตามครรลองนิติบัญญัติปกติ ดังที่ คสช. ออกคำสั่งที่
๕๓/๒๕๖๐ แก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองที่ประกาศใช้แล้ว (มาตรา ๑๔๐ กับ ๑๔๑)
เป็นการเพิ่มภาระให้แก่พรรคการเมืองขนาดใหญ่ที่ตั้งมามั่นคง
และบั่นทอนศักยภาพทางการเมืองของพรรคเก่า เปิดทางพรรคเล็กพรรคน้อยเพิ่งจัดตั้งใหม่ๆ
เกิดได้โดยง่ายจำนวนมาก กลายเป็นเบี้ยหัวแตกในสภาที่ต้องผ่านการเลือกตั้ง
ทั้งที่พรรคการเมืองใหญ่สองพรรค
(เพื่อไทยและประชาธิปัตย์) ต่างร้องเรียนว่าเป็นการใช้อำนาจเผด็จการครอบงำกระบวนการนิติบัญญัติ
แต่ผู้ตรวจการแผ่นดินกลับชี้ว่าคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติดังกล่าว
(๕๓/๖๐) มีสถานะเป็น ‘บทบัญญัติแห่งกฎหมาย’
โดยพฤติกรรมการตัดสินปัญหาข้อกฎหมายที่ผ่านมาในยุค
คสช.นี้ เป็นที่คาดหมายว่าศาลรัฐธรรมนูญจะแถลงผลการวินิจฉัยว่าความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดินนั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ
ในวันที่ ๕ มิถุนายนนี้เช่นกัน
มิฉะนั้นจะต้องรอส่งกลับไปให้
สนช.ปรับแก้ใหม่หากศาลไม่เห็นด้วย ไม่ว่าจะเป็นทางใดทางหนึ่ง
การเลือกตั้งคงต้องเลื่อนออกไปอีกอย่างน้อยๆ สองเดือนจนได้