ตำรวจ ๑๘
กองร้อยสกัดชุมนุมคนอยากเลือกตั้งเหนียวหนึบ ตั้งแผงเหล็กกั้น กองร้อยน้ำหวานขวางแน่น
แถมด้วยวิชามาร เคลื่อนรถขยายเสียงจอดประชันเปิดเพลงลั่นกลบเสียงอภิปราย
เมื่อ ๑๐.๐๐ น. วันที่ ๒๒ พ.ค. ๖๑ กลุ่มคนอยากเลือกตั้งซึ่งรวมตัวอยู่บริเวณข้างหอประชุมเล็กมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่เมื่อวาน
อันมีผู้ประสานงาน ได้แก่ รังสิมันต์ โรม อานนท์ นำภา ณัฏฐา มหัทธนา ชลทิรา
แจ้งเร็ว และสิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์ เป็นอาทิ
พยายามที่จะเคลื่อนขบวนไปยังทำเนียบรัฐบาล
เพื่อเรียกร้องให้ คสช.หยุดบทบาททางการเมือง แล้วจัดให้มีการเลือกตั้งภายในปีนี้
ปรากฏว่าเผชิญกับกำลังตำรวจยืนเรียงสามสี่แถวหลังแผงเหล็กขวางอยู่อย่างเหนียวแน่น
Deep
Blue Sea @WassanaNanuam
โพสต์ข้อความทางทวิตเตอร์แจ้งว่า “เจรจาแล้ว...คสช. ยอมให้คนอยากเลือกตั้งเดินจากธรรมศาสตร์มาทำเนียบรัฐบาล
ด้านประตู ๕ ราชดำเนิน ยื่นข้อร้องเรียนถึงนายกฯ ทำการปราศรัย เที่ยงจะจบกิจกรรม
พล.ต.ปิยพงศ์ (กลิ่นพันธุ์) ทีมโฆษก คสช.คาดเอาอยู่ มีมวลชน ๕๐๐-๗๐๐คน”
ลำดับความย้อนหลังไปเมื่อ ๙.๔๘ น. iLawFX รายงาน “ขบวนของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งยังคงอยู่ที่ถนนหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ฝั่งที่ติดกับพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ เนื่องจากเจ้าหน้าที่กั้นรั้วเหล็กตลอดแนวทำให้ไม่สามารถเคลื่อนขบวนได้”
๙.๐๐ น. TLHR @TLHR2014 แจ้งว่า “จนท.มีการตั้งแนวรั้วกั้นถนนมุ่งไปยังพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ
และจัดกำลังกองร้อยน้ำหวานตรึงกำลัง และมีการประกาศเป็นระยะขอให้ยุติการทำกิจกรรม
เนื่องจากขัดต่อคำสั่งหัวหน้าคสช.ที่ ๓/๕๘”
๘.๕๐ ศูนย์ทนายฯ เล่าต่อ “ผู้ชุมนุม #กลุ่มคนอยากเลือกตั้ง เริ่มเคลื่อนขบวนออกจากม.ธรรมศาสตร์
โดยแกนนำประกาศใช้ 1 ช่องทางจราจร และขอผู้ชุมนุมไม่ขึ้นทางเท้า
เพื่อไม่ให้กีดขวางคนเดินเท้า”
๘.๔๔ ‘ไอลอว์’
เล่าบ้าง “เจ้าหน้าที่ตำรวจอ่านคำสั่งผู้กำกับสน.ชนะสงคราม
สั่งให้กลุ่มคนอยากเลือกตั้งยุติการชุมนุมเพราะเป็นการกระทำที่ขัดคำสั่งหัวหน้า คสช.
๓/๒๕๕๘ และ คสช.ส่งตัวแทนมาร้องทุกข์กล่าวโทษแล้ว”
เวลา ๘.๔๐ น.
ณัฏฐา มหัทธนา หนึ่งในแกนนำคนอยากเลือกตั้ง ปราศรัยตอนหนึ่งกล่าวถึงสถานการณ์ที่ตำรวจคุกคามผู้ชุมนุมในพื้นที่ต่างๆ
ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดว่า "พูดกันตรงๆ
ว่าคนที่ถูกคุกคามมากที่สุดคือคนเสื้อแดง แม้ตนไม่ได้เป็นคนเสื้อแดงแต่ก็รู้สึกไม่ปลอดภัย”
ประชาไท รายงาน
“๐๘.๒๐ น. วันเฉลิม คนเสน
คนอยากเลือกตั้งจากพัทยากล่าวปราศรัยว่า พวกเราไม่ได้เรียกร้องให้รัฐบาล คสช.
ลาออกทันที แต่เรียกร้องให้จัดเลือกตั้งตามที่ว่าไว้ในปีนี้เท่านั้นเอง ขอให้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำความดีสักครั้งก่อนจะวายชนม์...
ในเวลาเดียวกัน
เจ้าหน้าที่ตำรวจได้เคลื่อนรถขยายเสียงมาอยู่ในระนาบเดียวกันกับรถขยายเสียงของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง
เจ้าหน้าที่ตำรวจกล่าวผ่านเครื่องขยายเสียงว่าการชุมนุมเป็นการฝ่าฝืนคำสั่ง คสช.
ฉบับที่ ๓/๒๕๕๘ ขอให้ประชาชนเชื่อฟังเจ้าหน้าที่และแยกย้ายกลับบ้าน
จากนั้นได้เปิดเพลงค้างไว้สลับกับการชี้แจงเป็นระยะ”
ชญานิน คงส่ง แกนนำเกษตรกรชาวสวนยางจาก
จ.นครศรีธรรมราช ผู้เคยร่วมขบวนกับ กปปส. ในอดีต
ก็มาร่วมเรียกร้องเลือกตั้งครั้งนี้ด้วย เขาบอกกับผู้สื่อข่าวประชาไทว่า
“สิ่งที่อยากเห็นคือประชาธิปไตยที่ประชาชนเป็นคนสร้าง
และสิ่งที่การต่อสู้ของฝ่ายประชาธิปไตยแตกต่างจาก กปปส.
คือการใช้ข้อเท็จจริงและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์”
อนึ่ง ในการชุมนุมครั้งนี้ นักข่าวส่วนใหญ่ไม่ได้เข้าไปทำข่าวภายในกลุ่มผู้ชุมนุม
เนื่องจากทางการตำรวจ ‘คุมเข้ม’ ผู้สื่อข่าว จนมีนักข่าวคนหนึ่งในนาม ‘มิตรสหายท่านหนึ่ง’
โพสต์สับแหลกการกระทำของตำรวจ
กรณีที่สั่งให้ผู้สื่อข่าวไปรับปลอกแขน มิฉะนั้นอาจถูกดำเนินคดีเหมือนผู้ชุมนุม
“เอาจริงๆ มันไม่ใช่ปลอกแขนสื่อ ที่คุณจะให้เรามัน
‘ปลอกคอ’
เพราะมันมาพร้อมคำสั่งซ้ายหันขวาหัน ต้องทำตามเท่านั้น”
ย้อนไปอีกเมื่อเย็นวันวาน
การรวมตัวของผู้ร่วมชุมนุมอยากเลือกตั้งครั้งนี้เป็นไปอย่างทุลักทุเล ๒๑ พ.ค.
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งผู้ประสานกลุ่มอยากเลือกตั้งนัดชุมนุมบริเวณสนามและขออนุญาตตำรวจแล้ว
ติดประกาศห้ามใช้สนามฟุตบอลระหว่าง ๒๐-๒๓ พ.ค. “เพราะจะใส่ปุ๋ยและยาฆ่าแมลง”
ราวสี่โมงครึ่งก็มีการปิดประตูทางเข้ามหาวิทยาลัยทั้งสี่ด้าน
ผู้ชุมนุมส่วนหนึ่งเข้าไปภายในมหาวิทยาลัยได้ทางประตูท่าพระจันทร์ซึ่งปิดที่หลังประตูอื่น
ตอนใกล้ค่ำมีการตัดกุญแจประตู ๓ ด้านถนนพระอาทิตย์เข้าไป ส่วนผู้ร่วมชุมนุมอื่นๆ
ที่อยู่นอกรั้วมหาวิทยาลัย ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจบัตรประจำตัวละเอียด
คืนนั้น Liberal Democracy @ThaiFarmer_Son ทวี้ตว่า “มธ. ไม่มีไฟให้ มืดมาก มวลชนจำนวนหลักพันอยู่ กันภายในรั้วข้างหอเล็ก
มีเวทีเล็กๆ บรรยากาศมวลชนคึดคักมาก เดินขวั่กไขว่ บางส่วนเริ่มจับจองพื้นที่
ปูที่หลับที่นอน ฟังแกนนำให้ความรู้ด้านการเมือง”
การชุมนุมยามค่ำคืนนอกจากฟังปราศรัยแล้วผู้ชุมนุมยังรอลุ้นคำสั่งศาลปกครอง
เนื่องจาก น.ส.ชลทิรา แจ้งเร็ว และทนายอานนท์ นำภา ได้ยื่นคำร้องต่อศาลปกครองขอให้คุ้มครองชั่วคราวการชุมนุมไว้
จนกระทั่งตีสอง ศาลฯ จึงมีคำวินิจฉัยออกมา “ไม่รับคำฟ้อง”
อ้างเหตุผลว่า คำสั่งของตำรวจห้ามชุมนุมเพราะขัดคำสั่ง คสช.นั้นเป็นคำสั่งทางปกครอง
และต้องอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวตาม ม.๔๔ ของ พรบ.วิธีปฏิบัติทางปกครอง
แต่เนื่องจากผู้ฟ้องไม่ได้ยื่นอุทธรณ์คำสั่งไว้ตามนั้น “จึงไม่มีสิทธิฟ้องคดีต่อศาลปกครองและขอให้ชดเชยค่าเสียหายได้”
นอกนั้นผู้ยื่นฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายจากตำรวจเป็นคนละคนกับผู้ที่ไปยื่นขออนุญาตจัดชุมนุม
“จึงไม่เป็นผู้ได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหายอันเนื่องจากการที่ผู้ถูกฟ้องคดีที่
๒ มีคำสั่งกำหนดเงื่อนไขการชุมนุมและสั่งห้าม”