วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 09, 2561

ดิ เอ็คคอนอมิสต์ว่า เศรษฐกิจไม่มีทางกระเตื้องได้ภายใต้การปกครองของทหาร :อียิปต์โมเดล

รู้เขารู้เราอีกแล้ว อียิปต์โมเดลเศรษฐกิจแบบทหารฮุบ จ่ายมากกว่ารับ แถมงบประมาณกลาโหมเป็นความลับ ลดแลกแจกแถมไม่อั้น มาในนาม ‘subsidies’ ที่ลงไม่ถึงรากหญ้า แต่ผู้มีอันจะกินฟาดเรียบ

อียิปต์นี่แหละต้นแบบประชาธิปไตยนิยมตัวพี่ ทหารยึดอำนาจรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของพรรคเพื่อภราดรภาพก่อนไทยปีเดียว

หลังจากกวาดล้างพวกพ้องตระกูลบราเธอร์ฮู้ดมุสลิมเสียจนราบคาบ ทั้งฆ่าทิ้งทั้งจับยัดคุก ศาลรัฐธรรมนูญซึ่งสนับสนุนทหารช่วยอีกทาง กำจัดพวกหัวก้าวหน้า แล้วหัวหน้าคณะรัฐประหารก็ลงสมัครรับเลือกเป็นประธานาธิบดี ได้ชัยชนะท่วมท้นกว่า ๙๐ เปอร์เซ็นต์
อีกสองเดือนจะมีเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกครั้ง ฝ่ายตรงข้ามพรรคทหารพากันถอนตัวบ้าง โดนคดีงอมพระรามไม่กล้าลงแข่งบ้าง เหลือผู้สมัครแข่งกับนายพลอัลซีซีอยู่คนเดียวเป็นคนดังวงบันเทิงที่เชียร์พรรคทหารมาตลอด

นายมูสซา มุสตาฟาเพิ่งตัดสินใจลงแข่งก่อนหมดเวลายื่นใบสมัคร ๑๕ นาฑี ใครๆ ก็บอกว่านี่เป็นไม้ประดับไม่ให้ชัยชนะแน่ๆ ของผู้นำทหารดูน่าเกลียด

แต่เวลานี้คนอียิปต์ที่ยังต้องการมีสิทธิ์มีเสียงเลือกผู้นำประเทศกลับไม่เห็นเป็นโจ๊กน่าขำ ท่ามกลางภาวะทางเศรษฐกิจที่สภาพเงินเฟ้อกำลังจะมา หลังจากที่ค่าเงินปอนด์ (อียิปต์) แข็งผิดปกติมาสองสามปี รัฐบาลทหารสั่งปล่อยลอยตัวเมื่อปีที่แล้ว เวลานี้ค่าเงินอียิปต์ตกไปเหลือครึ่งเดียว

“สามปีที่แล้วยังสามารถซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าในราคา ๕ หมื่นปอนด์ได้ เดี๋ยวนี้ถีบขึ้นไปเป็น ๑ แสน ๕ หมื่นปอนด์” พนักงานบริการในร้านอาหารคนหนึ่งบอกกับผู้สื่อข่าวนิตยสาร ดิ เอคคอนอมิสต์


ชาวอียิปต์ดำรงชีวิตอยู่ด้วยสินค้าลดราคาที่รัฐบาลเกื้อหนุน เชื้อเพลิง ขนมปัง และน้ำ เป็นสามสิ่งที่รัฐเข้าไปประกันราคาและก่อให้เกิดภาวะงบประมาณขาดดุลเรื้อรัง ไม่ใช่เพราะจะได้ช่วยเหลือคนจน แต่เพราะเป็นธรรมเนียมปฏิบัติของลักษณะความเป็นอียิปต์ แม้รัฐบาลทหารก็ไม่สามารถลบล้างไปได้

การประกันราคาสินค้าอุปโภคบริโภคโดยรัฐอัดเงินเข้าไปหนุนต้นทุนแก่ผู้ค้า ทั้งที่เป็นการแทรกแซงระบบเศรษฐกิจซึ่งนักเศรษฐศาสตร์โลกถือเป็นเรื่องต้องห้าม นอกจากไม่ได้ผลแล้วยังจะทำให้เศรษฐกิจระส่ำระสาย พังได้โดยไม่รู้ตัว

ผลการวิจัยโดยสำนักเคโต้ ในกรุงวอชิงตัน ประมาณการว่าถ้าอียิปต์ยกเลิกการประกันราคาสินค้าได้ จะมีงบประมาณเหลือพอแจกให้ประชาชนจำนวน ๖๐% ของครัวเรือนที่ขาดแคลน ได้รายละ ๖๒๒ ดอลลาร์สหรัฐต่อปี ซึ่งมากกว่าอัตราเฉลี่ยรายได้ของคนยากจนที่สุดของประเทศ ๒๕% ถึงสองเท่า
ตลอดปีที่ผ่านมารัฐบาลทหารของนายพลอับเดล ฟัตตาห์ อัล-ซีซี พยายามลดการประกันราคาสินค้าตามแรงกดดันของไอเอ็มเอฟแล้วก็ยังไม่ได้ผล งบประมาณขาดดุลคาดว่าจะเกิน ๙% ในปีนี้

ดิ เอ็คคอนมิสต์ให้ความเห็นว่าการปฏิรูปทางเศรษฐกิจของอียิปต์จะง่ายกว่า และเป็นไปได้มากกว่าถ้ารัฐบาลที่ดำเนินการนี้มาจากการเลือกตั้งอย่างเสรี ที่เห็นชัดว่าจะไม่เกิดขึ้นได้ในปีนี้ อียิปต์คงกระเสือกกระสนรอความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจต่อไปอีกนานตราบเท่าที่ทหารยังครองเมืองอยู่

“สันชาติญาน (ในการบริหารประเทศ) ของพวกนี้ มีแต่สั่งและหวังว่าจะได้รับการวันทยาหัตถ์ตอบรับครับกระผม อย่างเดียว” มิหนำซ้ำยังมีการฉ้อราษฎร์บังหลวงเกลื่อนในหมู่ทหาร

ตัวอย่างเช่นทัพบกทำการสร้างทางหลวงใหม่ๆ ถึง ๒๑ สาย โดยเวรคืนที่ดินสองข้างทางเอาไว้ข้างละ ๒ กิโลเมตร “ใครอยากเปิดร้านค้าข้างทางสายใหม่เหล่านี้ จะต้องไปจ่ายให้กับบุรุษในชุดกากีเสียก่อน”

มันช่างบังเอิญที่รัฐบาล คสช.ของไทยก็กำลังลงทุนขนานใหญ่เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยลักษณะในการใช้งบประมาณขาดดุลขนาดมหึมาอย่างอียิปต์ ล่าสุดนายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักบริหารหนี้สาธารณะ เพิ่งเปิดเผยว่า

กระทรวงการคลังจะทำการกู้เงิน “เพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณกลางปี ๒๕๖๑ เพิ่มเติมอีก ๑ แสนล้านบาท” ส่วนหนึ่งเป็นการกู้เพิ่มให้แก่การรถไฟ ๘ พันล้านบาท (ตามรายงานข่าวพาดหัวหน้าหนึ่งของโพสต์ทูเดย์ ๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๑)

ทั้งนี้หนี้สาธารณะของไทยมีวงเงินเดิมอยู่ที่ ๑,๑๒๔ ล้านล้านบาท กู้เพิ่มอีก ๖.๐๗ แสนล้านบาท สำหรับชดเชยการขาดดุลงบประมาณกลางปี ๔.๕ แสนล้านบาท สำหรับโครงการยักษ์ด้านโครงสร้างพื้นฐาน หรือ infrastructures เช่น โครงการรถไฟฟ้า

ที่ผ่านมาสามสี่ปี คสช. เดินตามรอย อียิปต์โมเดล ในทางการเมืองโดยตลอด (ไม่ว่าจะโดยจงใจหรือไม่ก็ตาม) นับแต่การยึดอำนาจแล้วกำจัดฝ่ายตรงข้าม จับกุม เข่นฆ่า (ไม้หนึ่งคนหนึ่งละ โกตี๋ น่าจะเป็นอีกคน) และออกกฎหมายใหม่ๆ เพื่อกีดกันฝ่ายตรงข้ามและเสริมอำนาจพวกตน

มาถึงด้านเศรษฐกิจก็ทำท่าจะเข้าเค้าเดียวกันอีก รวมทั้งคำของดิ เอ็คคอนอมิสต์ที่ว่า เศรษฐกิจไม่มีทางกระเตื้องได้ภายใต้การปกครองของทหาร