ไม่ทันนกกระจอกกินน้ำ ลิ่วล้อ คสช.คุยอยู่หลัดๆ เมื่อปลายปี ว่าปีนี้ (๖๑) เศรษฐกิจเหินฟ้าไงล่ะ วันที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๑ ข่าวบลูมเบิร์กมองภาพน่าจะเป็นของเศรษฐกิจไทยสำหรับปีใหม่ "ไม่น่าดู"
นาสรีน เซเรีย รายงานจากสิงคโปร์ว่าเศรษฐกิจไทยที่ในปี ๒๕๖๐ กระชุ่มกระชวยที่สุดในรอบ ๕ ปี พอมาถึงปีนี้อ่อนแรงเสียแล้ว อัตราจีดีพีจะยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า ๔ เปอร์เซ็นต์ต่อไปอีกอย่างน้อย ๑ ปี
ปีที่แล้วการเติบโตเศรษฐกิจไทยไล่ตามเพื่อนบ้านขึ้นมาแรงเกินคาด แต่ก็ยังทาบไม่ติด ไม่ว่าจะเป็นมาเลเซียที่จีดีพีของเขามากกว่า ๕ เปอร์เซ็นต์ หรือฟิลิปปินส์กับเวียตนามที่พบว่าโตเกิน ๖ เปอร์เซ็นต์
ของไทยปีที่แล้วโตถึง ๓.๘ เปอร์เซ็นต์ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ คุยทับว่าน้อยไป ปีนี้ต้องได้ ๔.๑ ถึง ๔.๒ ที่ไหนได้ บลูมเบิร์กสำรวจตัวแปรต่างๆ แล้ว ไม่มีทางเป็นไปได้ ทั้งที่การผดิตส่งออกก็ดูดี ซ้ำการท่องเที่ยวกลับมาบูม
แต่เมื่อมาถึงเรื่องการลงทุนกลับเหงาหงอย อีกทั้งการจับจ่ายซื้อหาภายในประเทศไม่ขยับ "ผู้บริโภคยังไม่ยอมเข้าร่วมวงรำ อาจเป็นเพราะปีที่แล้วอยู่ระหว่างโศกาอาดูรกับการจากไปของพระเจ้าอยู่หัวองค์ก่อน"
ปัจจัยการเมืองก็มีส่วนอย่างยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ยอมกระโดดดังภาพที่ คสช.วาดไว้บนกำแพง การมีรัฐบาลทหารที่แม้จะพูดถึงเลือกตั้งอยู่บ้างแต่ก็เต็มไปด้วยความคลุมเคลือ
ปัจจัยเหล่านี้ทำให้นักลงทุนยังมีข้อกังขา ตกอยู่ในภาวะไม่แน่ใจ ไม่กล้าเสี่ยงที่จะขยายการผลิตในประเทศไทย "เราจะไม่เห็นการฟื้นตัวอย่างมีนัยสำคัญ หรือการลงทุนในประเทศเพิ่มขึ้นแน่" ผู้สื่อข่าวบลูมเบิร์กกล่าวสรุป
(https://www.bloomberg.com/news/videos/2018-01-02/thailand-s-growth-seen-slowing-in-2018-video)
การที่รัฐบาล คสช. ยังสร้างบรรยากาศอึมครึมโดยเฉพาะล่าสุดในประเด็นการใช้อำนาจเบ็ดเสร็จ ม.๔๔ ออกคำสั่งแก้ไข พรป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ตามด้วย สนช. มีทีท่าถ่วงร่าง พรป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ยิ่งทำให้บรรยากาศการลงทุนในประเทศไทยย่ำแย่ลงไปอีก
เหตุการณ์เว็บระบบการโอนเงินแบบ 'พร้อมเพย์' ของรัฐบาล คสช. เกิดล่มไปเป้นเวลาหลายชั่วโมงเมื่อวานนี้ (๒ มกรา ๖๑) แต่กลับเงียบกริบบนสื่อสายหลัก จนผู้ใช้นามบนทวิตเตอร์ว่า Moui ♥ @moui
"ไม่มีนักข่าวสักสำนักทำข่าวเจาะเรื่องพร้อมเพย์เดี้ยงไปหลายชั่วโมงเพราะเหตุใดเลยเหรอคะ แล้วความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคในการใช้งานเป็นยังไง ระบบการเงินของประเทศที่บกพร่องขนาดนี้ไม่ต้องมีใครรับผิดชอบเลยเหรอ ให้ประชาชนลุ้นเองหรือว่าเงินจะได้-ไม่ได้-ตอนไหน
และถ้าบริหารจัดการ กำกับดูแลแบบนี้ จะมาชักชวนให้ใช้คงขอบอกลา เพราะไม่รู้ความซวยจะตกกับเราวันไหน ขอใช้บัตรเครดิต โอนเงินปกติ ถึงมีค่าธรรมเนียมบ้างก็ยอม เพราะรู้สึกปลอดภัยมากกว่าว่าเงินถึงปลายทางแน่"
แต่แล้วก็มีคนมาเฉลย บอกว่า "เมื่อวานถ้าขำไม่ผิดทางช่องอัมรินทร์ไปสอบถาม ธปท.ได้ความว่ามีการตั้งโปรแกรมผิดระบบวันที่ในการจ่ายเงิน" Completed @Completed_1 เผยความจริง
"ตั้งเป็น ๓๑ ธค. พศ.๒๕๖๑ เงินจึงไม่จ่ายออกจากระบบ promptpay ต้องแก้ไขเป็นวันที่ ๓๑ ธค. ๒๕๖๐ จึงทำให้เกิดความล่าช้า" อย่างไรก็ดี รายนี้ตั้งแง่สงสัยว่า
"ก็ฟังดูแปลกอยู่ดี ถ้าตั้งผิดปี ทำไมไม่ผิดที่ ๑ มกรา น่ะค่ะ กลับไปผิดที่เดือนที่ยังไม่หมดวัน ๓๐-๓๑ มันไล่วันมาธรรมดาๆ แต่ถ้าข้ามจาก ๓๑ ธ.ค. เข้า ๑ ม.ค. หรือ ๑ มค ปีมั่ว นี่ยังพอฟังกล้อมๆ แกล้มๆ
คงรอดูผู้เชี่ยวชาญกลับมาจากเที่ยวก่อนมังคะ คงรู้มากขึ้น"
ระบบพร้อมเพย์แต่ไม่พร้อมโอนอย่างนี้ จะเอาอะไรไปกระตุ้นดัชนีผู้บริโภค และสร้างบรรยากาศการลงทุนให้เศรษฐกิจเหินฟ้าได้อย่างที่ฝัน