วันศุกร์, มกราคม 26, 2561

ใครพูดไว้อย่างไร สนช.อภิปรายในคืนตาค้าง แก้กฎหมายเลือกตั้งยืดเวลา ๙๐ วัน

ใครอภิปรายไว้อย่างไร รับผิดชอบคำพูดของตัวก็แล้วกัน

ถกกันตั้ง ๑๔ ชั่วโมง ลงเอยยืดเลือกตั้งอีกแค่ ๙๐ วัน ไม่เอา ๕ ปีก็ดีเท่าไหร่ บรรดาผู้มีกระเดือกแห่ง สนช. ลงมติเอกสิทธิ์ ๒๑๓ เสียง (งด ๔) แก้ไขมาตรา ๒ พรป.เลือกตั้ง ส.ส.

มาดูกันว่าใครพูดอะไร จะได้จดจารใส่กบาลไม่ให้ลืม แม้ไม่อยากจำ

นายวิทยา ผิวผ่อง ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ อ้างว่า การเลื่อนเวลาให้กฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้ ๙๐ วันหลังจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพราะเห็นแก่ประชาชน จะได้มีเวลาเตรียมตัวไม่ประพฤติผิด หรือทำผิดโดยเจตนา (ประชาชนโง่มั้ง)

นายทวีศักดิ์ สูทกวาทิน กรรมาธิการเสียงข้างน้อยที่สงวนคำแปรญัตติ เพื่อขยายเวลาบังคับใช้ให้ยาวออกไปอีกเป็น ๑๒๐ วัน บอกถ้าแค่ ๙๐ วันไม่พอให้พรรคการเมืองได้เตรียมตัว

อ้างคำสั่ง คสช. ฉบับ ๕๓/๒๕๖๐ ที่ยืดเวลาปลดล็อกพรรคการเมืองไปเป็นเดือนมีนาและเมษา (อีก ๖ เดือน) แล้ว ตามหลักการคิดแบบสลิ่มๆ ก็ต้องเลื่อนเลือกตั้งอีก ๖ เดือนเหมือนกัน แต่ทำอย่างนั้นก็จะถูกด่าว่าสืบทอดอำนาจ ก็เลยตัดเหลือ ๔ เดือน คืออยากให้เลื่อนออกไป ๑๒๐ วัน

ด้านนายวัลลภ อังคณานุรักษ์ ครูหยุยคนดี อ้างเหมือนกันว่าเห็นด้วยกับการขยายเวลา ๙๐ วัน เพราะเชื่อว่า กกต.ดำเนินการไม่ทันตามกำหนดเดิม (บังคับใช้ทันทีหลังวันประกาศในราชกิจจา) แต่ตนก็ขอให้ กกต.อธิบายเหตุผลให้กระจ่างด้วยว่าทำไมต้อง ๙๐ วัน
 
ส่วนนายสมชาย แสวงการ นี่อีกคนที่คิดว่ายืด ๙๐ วันน้อยเกินไป จะให้ดีต้อง ๑๘๐ (แหม ยังกะราคายาง) แต่เสียงส่วนใหญ่ว่า ๙๐ ก็ ๙๐ ด้วย ว่าอย่างไรว่าตามกัน มิน่าเขาถึงนินทากันว่า สภาลิ่วล้อ ก็ยังดีไม่มีใครเรียก สภาไล่ควาย

อ้อ นายสมชายไม่วายแขวะพรรคการเมืองเสียด้วยว่า ที่ออกมาคัดค้านกันน่ะเพราะไม่อยากทำไพรมารี่โหวตกันใช่ไหม ซึ่งพรรคประชาธิปัตย์ก็รีบให้องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าฯ ออกมาแจ้งทันที ยินดี ครับยินดีทำไพรมารี่

สุดยอดเหนือใครๆ ต้องการอภิปรายของ พ.ต.ท.พงษ์ชัย วราชิต ท้าวความไม่เข้าเรื่องไปถึงว่า ถ้าไม่มียึดอำนาจ ๒๒ พ.ค.๕๗ บ้านเมืองจะแบ่งแยก เผาผลาญ แค่ขยายเวลาบังคับใช้กฎหมายเล้กน้อยแค่นี้ทำเป้นเรื่องใหญ่กันไปได้

ตนเองเลย “เสนอให้บังคับใช้กฎหมายหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา ๖๐ เดือน หรือ ๕ ปี” ไปเสียเลยรู้แล้วรู้รอด “เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี” ของคณะยึดอำนาจไงล่ะ (อันนี้คิดอย่างกากเดนเผด็จการพันธุ์แท้)

สำหรับตัวแทนจากคณะกรรมการเลือกตั้ง นายณัฏฐ์ เล่าสีห์สวกุล ชี้แจงในฐานะกรรมาธิการ ตอบโจทย์ครูหยุยได้สะใจ (ไม่รู้หน้าหงายไหมหนอ) “ในฐานะผู้จัดการเลือกตั้งก็มีความพร้อม ตั้งแต่ยกร่างรัฐธรรมนูญเราก็เตรียมการเลือกตั้งไปพอสมควรแล้ว”

นอกจากนั้นยังอธิบายหลักวิจารณญานธรรมดาๆ ว่านักเลือกตั้งย่อมต้องไม่อ่านกฎหมายฉบับเดียว เพราะการนี้มีกฎหมายเกี่ยวข้อง ๓ ฉบับ คือรัฐธรรมนูญ กฎหมายพรรคการเมือง และกฎหมายเลือกตั้ง ที่ต้องศึกษากันมาพร้อมสรรพแล้ว

ดังนั้นพรรคการเมืองน่าจะมีความพร้อมได้ภายใน ๓ เดือนนับแต่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เขายกตัวอย่างว่า “สมมติว่ากฎหมายประกาศในราชกิจจานุเบกษาในเดือน มิ.ย. คาดว่าพรรคการเมืองจะประชุม และทำกิจกรรมทางการเมืองได้เสร็จสิ้นประมาณวันที่ ๒๗ ก.ย.”


ไม่รู้ทำไมเขายกตัวอย่างเดือนมิถุนา แต่หากย้อนไปดูข้อสังเกตุของธนาพล อิ๋วสกุล บก.ฟ้าเดียวกัน เคยปรารภว่า ในหลวงรัฐกาลที่ ๑๐ นี่มักทรงพระราชทานร่างกฎหมายกลับลงมาภายในครึ่งเวลาของกำหนด 

ฉะนั้นกฎหมายเลือกตั้งอาจจะใช้เวลาน้อยกว่าเกณฑ์กำหนดสูงที่สุดก็ได้ ภายในสองเดือนก็อาจโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว