GETTY IMAGES
ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุคสช. "ไม่ได้ทำตามสัญญา"
18 มกราคม 2018
ที่มา บีบีซีไทย
ส่วนหนึ่งของรายงานข่าว...
ฮิวแมนไรท์วอทช์ (Human Rights Watch) เปิดเผยรายงานประจำปี 2018 ความยาว 643 หน้า มีเนื้อหาทบทวนสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนในกว่า 90 ประเทศและดินแดน โดยประเทศไทยถูกระบุว่า ยังไม่มีการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย รวมถึงขาดกระบวนการตรวจสอบอำนาจซึ่งกดขี่เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และละเว้นโทษกับกรณีการละเมิดสิทธิมนุษยชน
เมื่อปี 2017 รัฐบาลคสช. ของไทยไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้หลายครั้งกับสหประชาชาติ และองค์กรอื่น ๆ ว่าจะเคารพสิทธิมนุษยชนและฟื้นคืนการปกครองตามระบอบประชาธิปไตย แม้รัฐบาลจะประกาศนโยบายแห่งชาติด้านสิทธิมนุษยชนเมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แต่ก็ไม่ได้ยุติการกดขี่เสรีภาพของพลเมืองและในทางการเมือง โดยยังคงสั่งจำคุกผู้ที่ไม่เห็นด้วย รวมถึงละเว้นโทษให้กับการทรมานและการละเมิดอื่น ๆ
อำนาจของทหาร เด็ดขาด ไร้การตรวจสอบ ไร้คำอธิบาย
มาตรา 44 ของรธน.ไทย ฉบับชั่วคราว พ.ศ. 2557 เปิดทางให้พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าคสช. สามารถใช้อำนาจซึ่งไม่มีข้อจำกัดได้โดยปราศจากการควบคุมและความรับผิดชอบ
ส่วนรธน. ซึ่งประกาศใช้เมื่อเดือนมีนาคม 2560 ยังคงรับรองความต่อเนื่องของอำนาจดังกล่าว ซึ่งทั้งคสช.และเจ้าหน้าที่รัฐซึ่งปฏิบัติหน้าที่ตามคำสั่งของคสช. จะไม่มีความผิดจากการกระทำที่ละเมิดสิทธิ์
ถึงรัฐบาลทหารชุดนี้ประกาศว่าจะจัดการเลือกตั้งในเดือน พ.ย. ปีนี้ แต่สมาชิกวุฒิสภาที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง และองค์ประกอบอื่น ๆ ในรธน.ฉบับใหม่ ยังถือเป็นการปูรากฐานให้กับการกุมอำนาจของทหารต่อไป
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น
องค์กรสื่อต้องเผชิญกับคำข่มขู่ การลงโทษ และการสั่งปิด หากเผยแพร่ความเห็นวิจารณ์รัฐบาลทหารและสถาบันพระมหากษัตริย์ หรือหยิบยกประเด็นใดก็ตามที่คสช. มองว่าอ่อนไหวต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งรวมถึงประเด็นการกดขี่เสรีภาพขั้นพื้นฐานด้วย
WASAWAT LUKHARANG/BBC THAIคำบรรยายภาพพีซทีวี สถานีโทรทัศน์ดาวเทียม ซึ่งเป็นแนวร่วมของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เคยถูก กสทช. ระงับใบอนุญาตเป็นเวลา 30 วัน โดยอ้างเหตุนำเสนอข่าวกระทบความมั่นคง
องค์กรสื่อที่ไม่ให้ความร่วมมือ รวมถึงวอยซ์ทีวี วิทยุสปริงนิวส์ พีซทีวี และทีวีเทวนตีโฟร์ ได้ถูกสั่งระงับการออกอากาศไประยะหนึ่ง ในเดือนมีนาคม เมษายน สิงหาคม และพฤศจิกายนตามลำดับ โดยสถานีเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้กลับมาแพร่ภาพกระจายเสียงได้อีกครั้ง หลังจากยอมตกลงเซนเซอร์ตัวเอง ไม่ว่าจะด้วยวิธีปลดผู้ดำเนินรายการที่นำเสนอความเห็นในเชิงวิจารณ์ หรือหลีกเลี่ยงการนำเสนอประเด็นการเมือง
การควบคุมตัวอย่างลับ ๆ โดยทหาร การทรมาน และศาลทหาร
ภายใต้คำสั่งคสช. ที่ 3/2558 และ 13/2559 เจ้าหน้าที่ทหารสามารถควบคุมตัวประชาชนในความผิดได้หลายกรณี โดยสามารถเก็บเป็นความลับ ไม่ต้องแจ้งข้อหานานเจ็ดวัน รวมถึงไม่ต้องให้เข้าถึงทนายความหรือการปกป้องใด ๆ จากการกระทำทารุณ
รัฐบาลใช้การควบคุมตัวโดยทหารเป็นประจำ และละเว้นโทษซึ่งเกิดจากการละเมิดในระหว่างการไต่สวน ภายใต้ปฏิบัติการปราบปรามเหตุก่อความไม่สงบ กับผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ในปี 2017 คสช. ปฏิเสธข้อเรียกร้องของกลุ่มสิทธิมนุษยชน ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับผู้ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในเรือนจำทหาร และปฏิเสธข้อกล่าวหาโดยรวมว่าทหารไม่ได้ทรมานผู้ที่ถูกควบคุมตัว
รัฐบาลทหารไม่สั่งย้ายการดำเนินคดี 369 คดี (ในจำนวนนี้รวมถึงการดำเนินคดีกับพลเรือน 1,800 คน) จากศาลทหารไปยังศาลพลเรือน ตามข้อกำหนดในกฎหมายระหว่างประเทศ
คสช.ยังคงเรียกตัวสมาชิกพรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม และสมาชิก นปช. รวมถึงใครก็ตามที่ถูกกล่าวหาว่าต่อต้านการปกครองของทหาร ไป "ปรับทัศนคติ" ซึ่งผู้ที่ฝ่าฝืนคำสั่งโดยไม่ไปรายงานตัว ถือว่าเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา