วันพฤหัสบดี, มกราคม 25, 2561

'ไทยนิยมยั่งยืน' คลับคล้ายคลับคลา 'อียิปต์โมเดล'

มาแล้วไง ไทยนิยมยั่งยืน ที่ไม่ว่าสำนักข่าวไหนอ่านไต๋แจ่มแจ้ง ว่าเป็นการปูพรมหาเสียงให้แก่รัฐบาล คสช. ก่อนถึงฤดูเลือกตั้ง

นัยว่าถ้าสัมฤทธิ์ผลดังหวัง หลังกุมภา ๖๒ คงได้รัฐบาลใหม่ที่มีนายกฯ คนนอกจากนายทหารที่ลอกคราบใหม่กลายเป็นนักการเมืองประชารัฐ ก็จะทำให้กระบวนการยึดอำนาจเพื่อสลิ่มอิ่มแล้วไม่ไป บังเกิดความมั่นคงและมั่งคั่งอีกยาว

ชื่อทางการตั้งไว้คมคาย คณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศตามโครงการไทยนิยม ยั่งยืน๖๑ คน (ตามปี) บิ๊กตู่ เป็นประธานเอง บิ๊กป๊อก รมว.มหาดไทย เป็นเลขาฯ ยกทั้ง ครม.-ผบ.เหล่าทัพ ปลัดกระทรวง เข้าร่วม

แล้วสั่งให้อำเภอตั้งทีม ชุดละ ๗-๑๒ คน ทั่วประเทศ ๗,๘๐๐ ทีม “ลงพื้นที่ ทุกตำบล ทุกชุมชน ตามแก้ปัญหาให้ชาวบ้าน และแก้ปัญหาเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง ทุกมิติ และสำรวจความต้องการของประชาชน และสร้างความเข้าใจ เรื่องประชาธิปไตย” (ขอบใจ วาสนา นาน่วม สรุปให้)

ทั้งนี้ “เพื่อทำให้การบูรณาการขับเคลื่อนการทำงานในระดับพื้นที่ตามแนวทางประชารัฐเป็นไปตามข้อคำสั่งของนายกฯ และสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ๒๐ ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ ๑๒ รวมทั้งยุทธศาสตร์การพัฒนาพื้นที่เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของชาติ”

ล้วนตามแนวทางที่ คสช. บงการไว้ทั้งนั้น ซึ่งประชาไทสรุปอำนาจหน้าที่คณะกรรมการไว้ ๖ อย่าง มีกำหนดนโยบาย อำนวยการ (x ๒) สนับสนุน แต่งตั้ง และอื่นๆ ตามประยุทธ์สั่ง

บรรดาผู้สื่อข่าวเห็นเช่นนั้นพากันตั้งข้อสังเกตุโดยพลันว่า บุคคลากรต่างๆ ทั้งโครงการตั้งแต่ระดับแกนนำ ทีม ๖๑ ลงมา เต็มไปด้วยขี้ข้าราชการ ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายปกครอง ส่วนพัฒนาการ หรือระดับบัญชาการเหล่าทัพ

“จะมีส่วนร่วมของประชาชนเท่าที่เห็นตามคำสั่งก็อยู่ในระดับตำบลที่ประกอบด้วย ปราชญ์ชาวบ้าน และจิตอาสา เราทำความดีด้วยหัวใจ ในพื้นที่” เพียงจิ๊บจ้อยเท่านั้น (หมายเหตุ จิตอาสา นี่วาสนาเธอว่าเป็นแบรนด์ ใน ร.๑๐ ด้วยละ)


ดูไปแล้วบิ๊กตู่คนนี้เขาเดินตามรอย อียิปต์โมเดล ของอดีตผู้เผด็จการ แอ็บเดล เฟ็ตต้า อัล-ซีซี ไม่ผิดเพี้ยน

เมื่อห้าปีที่แล้วนายพลอัล-ซีซียึดอำนาจจากรัฐบาลเลือกตั้ง กวาดล้าง ศาสน์นิยมสามานย์ของภราดรภาพมุสลิม (ตายเป็นพันและยัดคุกไม่เหลือซาก) จากนั้นลอกคราบเครื่องแบบนายพลมาใส่สูท ลงเลือกตั้งด้วยคะแนน ๙๙ เปอร์เซ็นต์เพราะไม่มีคู่แข่ง
อยู่มาจะครบสี่ปี เตรียมลงสนามเลือกตั้งตำแหน่งประธานาธิบดีอีกครั้งปลายเดือนมีนาคมนี้ โดยที่ตอนนี้มีผู้เสนอตัวแข่งขันเหลืออีกคนเดียว เป็นหัวหน้าทีมฟุตบอลโด่งดังที่คนทั่วไปรู้ดีว่าถ้าเขาลงสมัครรับเลือกตั้งก็จะเป็นแค่ไม้ประดับเท่านั้น

ใครที่จะลงแข่งขันกับอัล-ซีซี จะต้องยื่นใบสมัครภายในวันที่ ๒๙ มกราคมนี้ อันเป็นเส้นตายที่คณะกรรมการเลือกตั้งเพิ่งประกาศไว้เมื่อวันที่ ๘ มกราคม คลับคล้ายคลับคลากับประชารัฐของ คสช. ที่ไม่ยอมปลดล็อกพรรคการเมืองเก่า แต่ยืดเวลาเลือกตั้งออกไปให้พรรคการเมืองใหม่ (ซึ่งเห็นมีแต่พรรคทหาร) ตั้งตัวกันได้

ข่าวเอเอฟพีแจ้งวานนี้ ว่าผู้เสนอตัวลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีอียิปต์ที่มีภาษีพอแข่งขันกับอัล-ซีซีได้ เพิ่งประกาศถอนตัวไป ผู้เสนอตัวคนอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไม้ประดับล้วนแต่ต้องถอนตัวไปแล้ว หรือไม่ก็ถูกจับยัดคุก

ไม่เพียงเท่านั้นกฎหมายเลือกตั้งของอียิปต์ซึ่งเขียนโดย ตุลาการ ซึ่งร่วมมือกับรัฐบาลทหารกวาดล้างนักการเมืองหัว ก้าวหน้า และมุสลิมบราเธอร์ฮู้ด จนราบคาบ กำหนดข้อจำกัดผู้เข้าแข่งขันไว้ถี่ยิบ

“คนที่อยากเป็นประธานาธิบดีจะต้องได้รายนามสมาชิกสภานิติบัญญัติให้การสนับสนุนอย่างน้อย ๒๐ คน หรือผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง ๒๕,๐๐๐ คน โดยที่รายชื่อเหล่านี้จะต้องมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๑,๐๐๐ ในแต่ละจังหวัดของอียิปต์ ๑๕ แห่ง” รายงานข่าวเอเอฟพีชี้

ผู้ท้าชิงกับอัล-ซีซีคนล่าสุดนี่ เขาเป็นทนายความสิทธิมนุษยชนฝ่ายต่อต้านรัฐประหารและทหารการเมืองที่แข็งขันกว่าใคร แต่ก็โดนทางการเล่นงานด้วยข้อหาบ้าจี้เสียจนงอมพระราม

เขาถูกฟ้องว่าแสดงท่าทางลามก ฉลองชัยในการคัดค้านรัฐบาลอียิปต์มอบเกาะสองเกาะให้แก่ซาอุดิอาราเบีย ซึ่งเขายืนยันว่าภาพที่ปรากฏทางโซเชียลมีเดียนั้นเป็นภาพตกแต่งโดยคนกลั่นแกล้ง


เห็นอย่างนี้แล้วนึกถึง ทนายน้อยอานนท์ นำภา ทนายจูนศิริกาญจน์ เจริญศิริ และ (อนาคต) ทนายไผ่จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา (ถ้าเขาไม่ถูกจับยัดคุก) ทนายเหล่านี้ไม่มีใครคิดจะลงแข่งเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายกฯ เสียหน่อย ก็ยังโดนคดี บ้าจี้ กันระนาว