วันจันทร์, มกราคม 29, 2561

ไปเถอะ อยู่ในที่ปลอดภัยดีกว่าติดคุกที่ถูกยัดเยียด - 'การ์ตูน NDM' ถูกหมายเรียกคดี ม.112 ปมแชร์ พระราชประวัติ ร.10 จาก BBC Thai




'การ์ตูน NDM' ถูกหมายเรียกคดี ม.112 ปมแชร์ พระราชประวัติ ร.10 จาก BBC Thai

2018-01-28
ที่มา ประชาไท


การ์ตูน อดีตโฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ เผยตัดสินใจลี้ภัยต่างประเทศแล้ว หลังถูกหมายเรียกคดี ม.112 ปมแชร์พระราชประวัติ ร.10 จาก BBC Thai เหมือน 'ไผ่ ดาวดิน'

28 ม.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ เมื่อเวลาประมาณ 16.50 น.ที่ผ่านมา ชนกนันท์ รวมทรัพย์ หรือ การ์ตูน อดีตโฆษกขบวนการประชาธิปไตยใหม่ (NDM) โพสต์ภาพหมายเรียกจากตำรวจในคดีที่ตนเองตกเป็นผู้ถูกกล่าวหาว่ามีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 หรือกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ผ่านเฟสบุ๊คส่วนตัว 'Chanoknan Ruamsap' ในลักษณะสาธารณะ โดยหมายเรียกดังกล่าวระบุผู้ฟ้องคือ ร.ท.สมบัติ ต่างทา และระบุให้ ชนกนันท์ มารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.คันนายาว ในวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา


คุยกับการ์ตูน : เมื่อ NDM เปิดฉากรณรงค์ Vote No กลางงานหนังสือ
1 ปีในคุกของ ‘ไผ่ ดาวดิน’ สิทธิประกันตัวคดี 112 ที่เขียนไว้แต่ไม่มีจริง


ชนกนันท์ ระบุในโพสต์เฟสบุ๊คของเธอด้วยว่า คดีดังกล่าว เกิดจากการแชร์รายงานพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai รายงานซึ่งมีผู้แชร์ร่วมกันกับเขาราว 2,800 คน ลงในเฟซบุ๊กตั้งแต่ ธ.ค.ปี 2559

สำหรับกรณีรแชร์รายงานพระราชประวัติ ร.10 นี้ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกดำเนินคดีนี้ตั้งแต่ปลาย ธ.ค.59 และถูกเพิกถอนสิทธิประกันตัว แม้จะยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกนับสิบครั้งแต่ก็ไม่ได้รับสิทธิประกันตัว จนกระทั่ง จตุภัทร์ ตัดสินใจยอมรับสารภาพ และ 15 ส.ค.2560 ศาลจึงพิพากษาสั่งจำคุก จตุภัทร์ เป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงเหลือโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน

ชนกนันท์ เล่าต่อว่า หมายเรียกดังกล่าว ได้รับเมื่อวันที่ 16 ม.ค.ที่ผ่านมา โดยที่ตนแชร์ข่าวจาก BBC Thai ตั้งแต่เดือนธ.ค. ปี 59 แล้ว และทหารที่ชื่อ สมบัติ ด่างทา ได้ไปแจ้งความที่ สน.คันนายาว ตั้งแต่ ธ.ค.59 จริงๆ ตนต้องโดนดำเนินคดีพร้อม จตุภัทร์ แต่ สน. มีปัญหาภายใน เลยชะลอการออกหมาย พอทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอยเมื่อปลายปีที่แล้ว ก็เอาคดีเก่าๆ กลับมาออกหมายใหม่ ทำให้ตนได้หมายในวันนั้น
ชนกนันท์ เล่าถึงความยากลำบากในการตัดสินใจที่จะดำเนินการกับชีวิตของเธอหลังทราบหมายเรียก ทั้งปฏิกิริยาจากครอบครัวและเพื่อนสนิท ที่ทุกคนช็อคและห่วงใยกับการที่เธอเลือกลี้ภัยไปต่างประเทศ

"แต่ก็เห็นด้วย ไม่มีใครอยากให้เราติดคุก 5 ปี จากการโพสต์แชร์ข่าว BBC" ชนกนันท์ เล่าผ่านเฟสบุ๊กของเธอ

"มาถึงที่นี่วันแรก เราเอาแต่ร้องไห้ เพราะหนทางมันมืดแปดด้าน ทุกอย่างดูสับสน กระชั้นชิด งง ไม่รู้จะจัดการยังไง เอาแต่ตั้งคำถามว่าเราคิดถูกแล้วใช่มั้ยที่เลือกจะลี้ภัย หรือเรากลับไปติดคุกแล้วออกมาเจอบ้าน เจอครอบครัว เจอเพื่อนเหมือนเดิม แต่ได้คำตอบว่ามันถอยไม่ได้แล้ว ถึงแม้เราจะลำบากมากๆ เราเชื่อว่าผู้ลี้ภัยหลายๆ คนก็ลำบากแบบนี้เหมือนกัน มันไม่ได้สวยหรู ไม่ได้สบาย อย่างน้อยในตอนแรกเราก็พูดได้ว่ามันแย่มาก" ชนกนันท์ เล่าต่อ

ชนกนันท์ ระบุตอนท้ายด้วยว่า ขณะนี้หลายๆ อย่างเริ่มเข้าที่แล้ว สภาพจิตใจตนดีขึ้นเมื่อได้เจอคนที่ตนรัก ได้คุยกับพ่อแม่ ได้คุยกับเพื่อน ได้กำลังใจจากคนที่เข้าใจเราจริงๆ ทุกอย่างมันค่อยๆดีขึ้น ตนกำลังจะโตขึ้น สิ่งใหม่ๆ ในชีวิตกำลังจะเข้ามาให้ตนเรียนรู้มากขึ้นเหมือนกัน

นอกจากคดีนี้ ชนกนันท์ ยังเป็น 1 ในนักกิจกรรมที่ถูกจับกุมและดำเนินคดีด้วยข้อหาฝ่าฝืนชุมนุม ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 จากการร่วมกันทำกิจกรรม “นั่งรถไฟไปราชภักดิ์ ส่องแสงหากลโกง” เมื่อ 7 ธ.ค.2558

ชนกนันท์ เมื่อครั้งที่เธอเข้าอบรมกับภาคประชาสังคมในต่างประเทศช่วงปลายปี 2559 เคยให้ข้อมูลกับประชาไทตอนนั้นด้วยว่า หลังจากเกิดกรณีจับกุม ไผ่ ดาวดิน เธอได้โพสต์สเตตัสในเฟสบุ๊คโดยมีใจความสำคัญคือ ข้อเสนอให้มีการยกเลิกกฎหมายอาญามาตรา 112 และขอให้ยุติการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือ โดยหลังจากที่เธอโพสต์สเตตัสดังกล่าวได้มีทหารไปพบกับครอบครัวของเธอที่อยู่ในไทย โดยบอกกับครอบครัวของเธอว่า เธอมีโอกาสที่จะถูกกักตัวที่สนามบินเมื่อเดินทางกลับมาประเทศไทย หรืออาจจะถูกกักตัวในขณะที่เดินทางไปขึ้นศาลในคดีส่องโกงราชภักดิ์ ในวันที่ 23 ธ.ค. 2559 เนื่องจากโพสต์ดังกล่าวมีลักษณะที่เข้าข่ายความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ


สำหรับคดีของ จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือ ไผ่ ดาวดิน ถูกดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากการการแชร์รายงานพระราชประวัติรัชกาลที่ 10 จากเว็บไซต์ BBC Thai นั้น เขาถูกเพิกถอนสิทธิประกันตัว แม้จะยื่นเรื่องขอประกันตัวอีกนับสิบครั้ง แต่คำตอบที่ได้รับจากศาลคือ “ยังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม” จนกระทั่ง จตุภัทร์ ตัดสินใจยอมรับสารภาพว่าเป็นผู้แชร์โพสต์ดังกล่าว แต่ไม่ได้ยอมรับว่าสิ่งที่เขาทำเป็นความผิด 15 ส.ค. 2560 ศาลจึงพิพากษาสั่งจำคุก จตุภัทร์ เป็นเวลา 5 ปี แต่ลดโทษลงกึ่งหนึ่งเนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ จึงเหลือโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน
...


Titatee Utayanugolsirikul ไปเถอะลูก อยู่ในที่ปลอดภัยดีกว่าติดคุกที่ถูกยัดเยียด