วันพฤหัสบดี, มกราคม 25, 2561

ยกฟ้องรินดาโพสต์ข้อความประยุทธ์โอนเงินไปสิงคโปร์ เพราะ “ฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าข้อความเป็นจริงหรือเท็จอย่างไร”

คดี รินดา โพสต์ข้อความให้ร้ายประยุทธ์และภรรยาจะโอนเงินหลายหมื่นล้านไปเก็บไว้ที่สิงคโปร์ ศาลอาญาตัดสิน ยกฟ้องเพราะเห็นว่า “ไม่มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคง”

นี่ถ้าใช้เป็นมาตรฐานกับการตัดสินคดี ๑๑๒ บ้างก็จะดี

จากการที่วันนี้ (๒๕ มกรา) ศาลอาญากรุงเทพฯ ถนนรัชดา พิพากษาคดีความผิดตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ มาตรา ๑๔ (๒) ต่อ รินดา (หรือหลิน) พรศิริพิทักษ์ ซึ่งเมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๕๘ ถูกจับกุมฐานนำลงข้อความอันเกี่ยวกับข่าวลือ ว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะโอนเงินจำนวนหลายหมื่นล้านบาทไปยังประเทศสิงคโปร์

“ศาลเห็นว่าข้อความดังกล่าวอาจจะกระทบกระเทือนหรืออาจจะสร้างความเสียหายต่อผู้ถูกพาดพิง แต่ยังไม่มีลักษณะกระทบต่อความมั่นคง และฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าข้อความเป็นจริงหรือเท็จอย่างไร” จึงให้ยกฟ้องจำเลย

ในการจับกุมรินดา มีการให้หญิงคนหนึ่งโทรศัพท์ถึงรินดา อ้างเป็นลูกค้า ขอไปดูของที่บ้าน นัดหมายกันเวลาหลังเที่ยงวันที่ ๘ กรกฎา ๕๘ และก่อนเวลานัดหมายผู้หญิงคนนั้นโทรหาอึก ถามว่าอยู่ไหน เธอตอบว่าอยู่บ้านแล้ว

“สักพักเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบพร้อมอาวุธปืนยาว ๔ นาย เจ้าหน้าที่ตำรวจในเครื่องแบบ พร้อมเจ้าหน้าที่ไม่แต่งเครื่องแบบอีกราว ๑๐ คนก็มาถึงหน้าบ้านของเธอ และเข้ามาในบ้านของเธอโดยไม่มีการแสดงหมายค้น ไม่มีการแจ้งข้อกล่าวหา แต่อ้างอำนาจตามมาตรา ๔๔”

หลังจากที่รินดาถูกนำตัวไปทำการสอบสวนในกรมทหารราบที่ ๑๑ รอ. ได้มีการตั้งข้อหาทั้ง ม.๑๔ (๒) ตาม พรบ.คอมพิวเตอร์ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๑๖ และ ๓๘๔ ต้องไปขึ้นศาลทหาร

แม้เบื้องต้นศาลไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้เธอติดคุกอยู่ ๓ วัน จนกว่าศาลยอมให้ประกันโดยใช้หลักทรัพย์เป็นเงินสด เมื่อ ๑๓ กรกฎาคม และอัยการสั่งฟ้องตอนปลายเดือนสิงหาคมต่อมา

พอถึง ๒๑ ธันวาคม ๕๘ ศาลพิจารณาคดีแล้วเห็นว่า “ไม่เข้าข่ายความผิดยุยงปลุกปั่น ให้เกิดความกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน (มาตรา ๑๑๖) เป็นเพียงการหมิ่นประมาทโดยโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๒๘ ศาลทหารจึงไม่มีอำนาจพิจารณาคดีนี้”

จึง “ให้จำหน่ายคดีออกจากศาลทหารไปดำเนินคดีฐานหมิ่นประมาทที่ศาลพลเรือนแทน” จนช่วงเดือนพฤศจิกายน ๒๕๖๐ มีการเบิกความสืบพยานทั้งโจทก์ ๓ ปาก และจำเลย ๒ ปาก ซึ่งเป็นตัวรินดาเอง และ สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มธ.

รินดายอมรับต่อศาลว่าเป็นคนโพสต์ข้อความที่ถูกกล่าวหาจริง เนื่องจาก “เห็นข้อความดังกล่าวถูกส่งต่อกันทางไลน์ และเป็นข่าวการเมืองโดยทั่วๆ ไป” อีกทั้ง “ยืนยันว่าการกระทำของเธอเป็นการใช้สิทธิวิพากษ์วิจารณ์ และตรวจสอบบุคคลสาธารณะโดยสุจริต”

อีกทั้งไม่ได้มีหน้าที่จะต้องทำการตรวจสอบข้อเท็จจริง แม้ว่าคิดจะทำการตรวจสอบ “การเคลื่อนย้ายเงินในลักษณะดังกล่าวที่ปรากฏในข่าวลือ ก็ไม่ได้อยู่ในวิสัยที่เธอจะทำได้”


ข้อที่น่าสังเกตุจากการตัดสินคดีนี้ อยู่ที่คำพิพากษาตอนที่บอกว่า “ฝ่ายโจทก์ก็ไม่ได้นำสืบว่าข้อความเป็นจริงหรือเท็จอย่างไร” กับคำให้การของจำเลยในตอนหนึ่งที่ว่า ลักษณะอันปรากฏในข่าวลือที่เธอนำไปเขียน (หรือแชร์) ข้อความนั้น ก็ไม่อยู่ในวิสัยที่จำเลยจะตรวจสอบได้


ฉะนี้ โดยตรรกะและจิตสำนึกแห่งหลักนิติธรรม (Rule of Law) ถ้านำคำตัดสินและรูปแบบการต่อสู้คดีมาปรับใช้เป็นมาตรฐานในคดีมาตรา ๑๑๒ บางราย ก็น่าจะทำได้ ดังเช่นคดีของไผ่ ดาวดิน อาจไม่ถึงขั้นให้ตัดสินเหมือนกัน ทว่าในการพิจารณาให้ประกันเป็นอาทิ