วันอังคาร, มกราคม 16, 2561

ใครไม่ได้มางานแถลงข่าว #ปลดอาวุธ คสช. ไม่เป็นไร สามารถเข้าดูรายละเอียด วิธีการลงชื่อ ดาวน์โหลดเอกสาร เซ็น และส่งมาทางไปรษณีย์ได้ ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป






ช่วยกันคนละชื่อ เพื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช.


15 ธ.ค. 2560
โดย iLaw

ไฟล์แนบขนาดไฟล์


(ดาวน์โหลด) การ์ตูนช่วยกันคนละชื่อปลดอาวุธ คสช. 5.77 MB


ทำไมต้องยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช. และคำสั่งหัวหน้า คสช.


หลังรัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ใช้อำนาจพิเศษออกประกาศหรือคำสั่งเพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง จำนวนมาก นับถึงเดือนธันวาคม 2560 คสช. ออกประกาศ 208 ฉบับ ออกคำสั่ง 127 ฉบับ และออกคำสั้งหัวหน้า คสช. 179 ฉบับ รวมแล้วมีจำนวนมากถึง 514 ฉบับ ซึ่งจำนวนนี้ยังเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่อยู่ในอำนาจ

อำนาจพิเศษในการออกประกาศ/คำสั่ง เหล่านี้ ถูกใช้เพื่อตอบสนองนโยบาย คสช. แทบทุกประเด็น เช่น การเรียกบุคคลเข้ารายงานตัว การห้ามชุมนุมทางการเมือง การควบคุมการทางานของสื่อมวลชน การไล่รื้อชุมชนออกจากพื้นที่ป่า การแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ การปฏิรูประบบการศึกษา, สาธารณสุข, ตำรวจ การประกาศเขตเศรษฐกิจพิเศษ ฯลฯ โดยศาลปกครองเคยตีความไว้ว่า คำสั่งหัวหน้า คสช. เป็นการใช้อำนาจพิเศษที่ไม่อาจตรวจสอบได้โดยศาลปกครอง

ช่วงเวลาย่างเข้า ปีที่ 4 ของรัฐบาล คสช. มีการออกประกาศ/คำสั่งต่างๆ และการบังคับใช้มาอย่างต่อเนื่อง พบว่า มีประกาศ/คำสั่งอย่างน้อย 35 ฉบับในประเด็น เสรีภาพการแสดงออกของประชาชน เสรีภาพสื่อ สิทธิในกระบวนการยุติธรรม และสิทธิชุมชน ที่สมควรถูกยกเลิก เพราะ

1) ประกาศ/คำสั่ง หลายฉบับออกมาในช่วงเวลาการยึดอานาจ เพื่อควบคุมสถานการณ์ทางการเมือง เมื่อไม่มีปรากฏการณ์การต่อต้านการยึดอำนาจ ประกาศ/คำสั่ง เหล่านี้ก็ไม่มีความจำเป็นอีกต่อไปแล้ว

2) ประกาศ/คำสั่ง หลายฉบับมีเนื้อหาจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพื่อควบคุมการต่อต้านในจังหวะที่เข้ายึดอำนาจ เมื่อบ้านเมืองเข้าสู่ภาวะปกติแล้วก็ควรคืนสิทธิเสรีภาพให้กลับสู่ภาวะปกติด้วยเช่นกัน

3) ปี 2561 เป็นช่วงเวลาที่ประเทศกำลังจะเดินหน้าสู่การเลือกตั้ง ตามรัฐธรรมนูญใหม่ สังคมที่จะกลับสู่ระบอบประชาธิปไตยได้ บรรยากาศต้องเปิดกว้างให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น และทำกิจกรรมทางการเมืองได้โดยไม่มีข้อจำกัด เพื่อสร้างสังคมที่ประชาชนมีส่วนร่วมในการปกครองได้อย่างแท้จริง

4) หากประกาศ/คำสั่ง ใดมีประโยชน์ต่อส่วนรวมมากกว่าผลเสีย ก็ควรใช้กระบวนการตามปกติพิจารณาออกเป็นกฎหมาย โดยผ่านการมีส่วนร่วมของประชาชน ผ่านกระบวนการนิติบัญญัติโดยสภาที่มีระบบตรวจสอบถ่วงดุล ไม่จำเป็นต้องให้อำนาจพิเศษเช่นนี้คงอยู่อีกต่อไป

นอกจากนี้ รัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 279 ยังรับรองให้ บรรดาประกาศ/คำสั่ง ของ คสช. ทั้งหมด รวมทั้งการใช้อำนาจใดๆ ภายใต้ประกาศ/คำสั่งเหล่านี้ มีสถานะชอบด้วยกฎหมาย และมีผลใช้บังคับต่อไปจนกว่าจะมีพระราชบัญญัติมายกเลิก

ด้วยเหตุนี้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์บ้านเมืองเป็นไปในทางที่ดีและสอดคล้องกับการปกครองในระบอบประชาธิปไตย จึงเสนอให้ดำเนินการยกเลิกประกาศและคำสั่ง คสช. รวมทั้งคำสั่งหัวหน้า คสช. บางฉบับที่มีเนื้อหาจำกัดสิทธิประชาชน

ด้วยวิธีการออก พ.ร.บ.อีกฉบับหนึ่งมายกเลิก ชื่อ “ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติและคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย พ.ศ. ....” โดยอาศัยช่องทางการเสนอกฎหมายโดยประชาชนเข้าชื่อให้ครบ 10,000 รายชื่อ เพื่อที่รัฐสภาชุดต่อไปที่จะมาจากการเลือกตั้งอาจมีบทบาทที่จะหยิบยกประกาศ/คำสั่งแต่ละฉบับขึ้นมาทบทวนได้ใหม่


"เห็นด้วยกับเรา ช่วยกันคนละชื่อเพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช."


วิธีการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย

1. ดาวน์โหลด แบบแสดงรายละเอียดเพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมาย หรือ แบบ ข.ก.๑. (คลิก) และพิมพ์ลงกระดาษ A4

2. กรอกข้อมูลในแบบ ข.ก.๑ ให้ครบถ้วน 


ตัวอย่างการกรอกแบบ ข.ก.๑


2. แนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือ สำเนาบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้ พร้อมเซ็นสำเนาให้ถูกต้อง และขีดคร่อมว่า

“ใช้เพื่อเข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ คำสั่ง คสช. เท่านั้น”

ตัวอย่างการเซ็นสำเนาบัตรประชาชน


3. ตรวจสอบลายเซ็นต์ลงชื่อบน "แบบ ข.ก.๑" และ "สำเนาบัตรประชาชน" ให้เหมือนกัน

4. ส่งเอกสารทั้งหมดมายัง ตู้ปณ.79 ปณศ.สามเสนใน เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400

....

สอบถามเพิ่มเติม

Tel: 02-002-7878
Email: 10000sign@gmail.com
Line: @ilawclub


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ขั้นตอนการเข้าชื่อเสนอกฎหมายประชาชน

ooo

ชวนชม...

[คลิป] แถลงข่าวและเสวนา "เข้าชื่อเสนอกฎหมายยกเลิกประกาศ/คำสั่ง คสช."


ที่มา ประชาไท