ภายหลังเลือกตั้งใหญ่ วันที่ 6 มกราคม 2544 บรรยากาศในพรรคไทยรักไทยคึกคักอย่างยิ่ง การเตรียมการเพื่อพร้อมเข้าไปบริหารประเทศเป็นไปอย่างมีชีวิตชีวา ผมตั้งใจว่า จะเข้าไปร่วมผลักดันนโยบาย "30 บาทรักษาทุกโรค" อย่างเต็มกำลังในฐานะที่ปรึกษาด้านวิชาการ และรอร่วมทำงานกับนักการเมืองอาวุโสที่จะมารับผิดชอบเป็นรัฐมนตรีของกระทรวงสาธารณสุข
.
ในปี 2544 ผู้สังเกตการณ์ทางการเมืองยังคงคาดการณ์ว่า ผู้ที่จะมาเป็นรัฐมนตรีตำแหน่งต่างๆ ต้องเป็นนักการเมืองอาวุโสที่มี ส.ส.สนับสนุนจำนวนหนึ่ง ตามแนวทางการเมืองดั้งเดิมที่ถือปฏิบัติกันมากว่า 20 ปี
.
วันหนึ่ง ภายหลังการประชุมเกี่ยวกับ "การเตรียมผลักดันนโยบายเป็นการปฏิบัติ" แล้วเสร็จ ดร.ทักษิณ ชินวัตร ถามผมเป็นการส่วนตัวว่า
"หมอ..อายุเท่าไร"
"อายุ 44 ปี ครับ"
ผมตอบคำถามง่ายๆนี้แบบสบายๆ ไม่ได้ฉุกคิดใดๆ
ดร.ทักษิณพยักหน้ารับทราบ แล้วไม่ได้ตั้งคำถามอื่นอีก
หลังจากนั้นไม่นาน มีคนมาบอกผมว่า อาจได้เป็นรัฐมนตรี ผมหัวเราะดัง หึหึ ในใจคิดว่า เป็นไปไม่ได้
.
เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯแต่งตั้งคณะรัฐมนตรี ผมเป็น 1 ในเกือบ 10 คนที่เป็นรัฐมนตรี โดยไม่มี ส.ส.ในสังกัดสนับสนุน นับเป็นมิติใหม่ของการเมืองในขณะนั้น
.
ผมเคยคิดเหมือนกันว่า คำว่า "อายุ 44 ปี" ที่ตอบคำถามในวันนั้น มีผลต่อการตัดสินใจของ ดร.ทักษิณ ในการเลือกหน้าที่ให้ผมทำ
.
อายุ 44 ปี มีความหมายพิเศษอะไร?
.
เคยได้ยินคำกล่าวขำๆไหมครับ ที่ว่า
.
อายุ 20 ปี มีแรง มีเวลา แต่ไม่มีเงิน
อายุ 40 ปี มีแรง มีเงิน แต่ไม่มีเวลา
อายุ 60 ปี มีเงิน มีเวลา แต่ไม่มีแรง
.
ฟังแล้วเฮฮา แต่มีสาระแฝงอยู่ข้างใน
บอกให้เรารู้ข้อจำกัด 3 ประการของทุกช่วงชีวิตคนเรา
.
มีแรง..เราควบคุมไม่ได้ เป็นกฏแห่งอนิจจัง ที่ร่างกายต้องเสื่อมถอยไปเป็นธรรมดา
.
มีเงิน..ซึ่งอาจหมายถึงมีเงินทองจริงๆหรืออาจหมายรวมถึงมีความรู้ด้วยก็ได้ แม้เราสามารถไขว่คว้าหามา แต่ก็ต้องทุ่มเทเวลา รวมทั้งต้องพึ่งพาโอกาสดีที่ผ่านเข้ามา
.
มีเวลา..ปัจจัยนี้เท่านั้นที่เรากำหนดเองได้ว่า เราจะจัดสรรเวลาอย่างไร
ถ้าเราให้ความสำคัญกับสิ่งใด เราก็จัดสรรเวลาให้เสมอ เช่น การไปท่องเที่ยวพักผ่อนกับคนรัก
แต่ถ้าเราไม่สนใจสิ่งนั้นเท่าใดนัก ตัวอย่างเช่น การดูแลสุขภาพ ถ้าเราประมาทคิดว่า ยังแข็งแรง เราก็มักบอกว่า ไม่มีเวลา (เช่น ไม่มีเวลาไปออกกำลังกาย)
.
ดังนั้น การจัดสรรเวลาจึงขึ้นกับเป้าหมายของชีวิตที่เราให้คุณค่าไว้
..เงินพันล้าน..บ้านหลังโต..รถหรู..ครอบครัวอบอุ่น
หรือเพื่อบางสิ่งบางอย่างที่เราคิดว่าทำให้เรามีความสุข
.
ความสุขในความคิดของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เป้าหมายของชีวิตจึงแตกต่างกันไป
แต่ผมเชื่อว่า มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีความสุขจากการตั้งเป้าหมายว่า อยากทำให้โลกนี้ดีขึ้น
.
เมื่อพูดถึงเรื่อง การทำให้โลกนี้ดีขึ้น
จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ นักเขียนชาวไอริช เคยคิดดังๆไว้อย่างน่าสนใจว่า
"คนมีเหตุผลปรับเปลี่ยนตนเองให้เข้ากับโลก
คนไร้เหตุผลพยายามปรับเปลี่ยนโลกให้เข้ากับตนเอง
ดังนั้น ความก้าวหน้าทั้งมวลจึงขึ้นอยู่กับ..คนไร้เหตุผล"
.
จอร์จ เบอร์นาร์ด ชอว์ ใช้คำ “Unreasonable man” ซึ่งนอกจากแปลตรงตัวว่า คนไร้เหตุผล แล้ว อาจแปลความกว้างๆว่า สติเฟื่อง เพี้ยน หลุดโลก ก็ได้
.
โลกก้าวหน้ามาจนทุกวันนี้ โดยคนและความคิดที่ครั้งหนึ่งเคยถูกประณามว่า "ไร้เหตุผล"
.
ไม่ว่า ทฤษฎี"ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล", ทฤษฎีสัมพัทธภาพ, เครื่องบิน, iPhone หรือ รถยนต์ไฟฟ้า ล้วนเคยเป็นความคิดที่ไร้เหตุผลมาก่อนทั้งสิ้น
.
คนไร้เหตุผล อย่าง โคเปอร์นิคัส เสนอทฤษฎี "ดวงอาทิตย์เป็นศูนย์กลางของจักรวาล" เมื่ออายุ 37 ปี
ไอน์สไตน์ เสนอทฤษฎีสัมพัทธภาพพิเศษ เมื่ออายุ 26 ปี และทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไป เมื่ออายุ 36 ปี
พี่น้องตระกูลไรท์ วิลเบอร์ และ ออร์วิลล์ ทดลองเครื่องบินครั้งแรกเมื่ออายุ 36 ปี และ 32 ปี
สตีฟ จอบส์ ตั้งบริษัท Apple Computer เมื่ออายุ 21 ปี ถูกให้ออกจากบริษัทที่ตนเองตั้งขึ้น เมื่ออายุ 30 ปี และกลับมาเปลี่ยน Apple ให้เป็นบริษัทที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก เมื่ออายุ 42 ปี
อีลอน มัสก์ เริ่มบริหารบริษัท Tesla ที่พัฒนารถยนต์ไฟฟ้า เมื่ออายุ 33 ปี
.
น่าสังเกตไหมครับว่า "คนไร้เหตุผล" เริ่มปฏิบัติการที่ "ไร้เหตุผล" ตอนช่วงอายุ 30-40 ปี
.
ทำไม? อะไรคือปัจจัยที่ทำให้ช่วงอายุนี้พิเศษและแตกต่างจากช่วงอายุอื่น
.
ผมคิดว่าเป็นเพราะ คนอายุ 30-40 ปี เป็นช่วงชีวิตที่...
-ได้สะสมความรู้ดั้งเดิมตามขนบที่สั่งสอนกันมาเป็นเวลาพอสมควร
-แล้วมีโอกาสเพิ่มพูนประสบการณ์ต่อยอด จนสามารถตั้งคำถามท้าทายต่อความรู้ดั้งเดิมนั้น
-ความอยากรู้อยากเห็นในวัยเด็กยังไม่ถูกกดทับนานเกินไป จนผลิบานใหม่ไม่ได้
-อีกทั้งพลังกายและใจยังพลุ่งพล่าน อยากทุ่มเทสร้างฝันของตนให้เป็นจริง ไม่ยอมเหน็ดเหนื่อย
.
ผมเห็น คนอายุ 30-40 ปีจำนวนไม่น้อย “มีเวลา” สร้างสรรค์สิ่งใหม่ในด้านต่างๆของสังคมไทยอย่างน่าตื่นใจ
...แต่อนิจจา กลับไม่เห็นสิ่งใหม่ๆแบบนี้เกิดขึ้นเลยในวงการการเมือง
.
ทศวรรษที่หายไป ความแตกแยกทางความคิดครั้งใหญ่ ความยุติธรรมที่เหลื่อมล้ำ อาจทำให้คนหนุ่มสาวอายุ 30-40 ปี เบื่อหน่าย เข็ดขยาด ไม่อยากยุ่งเกี่ยวกับการเมือง หรือแอบมองดูอยู่ห่างๆ
.
แต่อนาคตของประเทศนี้จะยังมีอีกหรือไม่ ไม่ได้ฝากอยู่ที่คนรุ่นผมซึ่งวัยเลย 60 ปีอีกต่อไปแล้ว
.
แม้คนรุ่น Baby Boomers อย่างผมและเพื่อนร่วมรุ่น ยังพอมีความคิดโลดแล่น ประสบการณ์ยังล้นปรี่พร้อมแบ่งปัน แต่พลังกายถดถอย และการเรียนรู้สิ่งใหม่ก็ยากขึ้นทุกทีสำหรับคนรุ่นนี้ ไม่ว่า ปัญญาประดิษฐ์ Blockchain การเคลื่อนไหวทางสังคมแห่งยุคสมัยต่างๆ ฯลฯ
.
คนอายุ 30-40 ปี จะฝากประเทศนี้ให้คนวัยเลย 60 ปี คอยดูแล แล้วคุณเฝ้ามองเป็น "ข้าวนอกนา" อย่างห่วงๆได้อย่างไร
.
ประเทศชั้นนำในโลกนี้ ทั้งในอดีตและปัจจุบันล้วนขับเคลื่อนด้วยผู้นำทางการเมืองอายุ 30-40 ปีทั้งสิ้น
.
ลีกวนยู เริ่มทำงานการเมืองเมื่ออายุ 31 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่ออายุ 36 ปี
เคนเนดี้ เริ่มทำงานการเมืองเมื่ออายุ 30 ปี เป็นประธานาธิบดีเมื่ออายุ 44 ปี
โอบามา เริ่มทำงานการเมืองเมื่ออายุ 36 ปี เป็นประธานาธิบดีเมื่ออายุ 48 ปี
ทรูโด เริ่มทำงานการเมืองเมื่ออายุ 37 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีเมื่ออายุ 44 ปี
.
นี่ยังไม่นับรวมถึงผู้นำทางการเมืองในหลายประเทศที่อายุน้อยลงเรื่อยๆ
เช่น Jacinda Ardern เริ่มทำงานการเมืองเมื่ออายุ 28 ปี เป็นนายกรัฐมนตรีหญิงของนิวซีแลนด์ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เมื่ออายุ 37 ปี
.
คนหนุ่มสาวอายุ 30-40 ปี
เป้าหมายชีวิตของคุณคืออะไร
ความสุขของคุณอยู่ที่ไหน
คุณเคยฝันอยากเปลี่ยนโลกนี้ให้ดีขึ้นไหม
คุณอยากถูกจดจำอย่างไร เมื่อคุณจากโลกนี้ไป
.
ผมขอตั้งคำถามคุณเหมือนที่เคยถาม นพ.สงวน นิตยารัมภ์พงศ์ เมื่อเกือบ 19 ปีที่แล้ว
ก่อนที่เราและ ดร.ทักษิณ ชินวัตร กับเพื่อนร่วมอุดมการณ์จำนวนมาก จะช่วยกันเปลี่ยนโลกของคนกว่า 40 ล้านคนในประเทศนี้ให้ดีขึ้น
ก่อนที่ นพ.สงวนจากโลกนี้ไปก่อนวัยอันควร ในอีก 9 ปีต่อมา
คำถามนั้นคือ
"ชีวิตนี้ คุณมีความฝันอะไรที่อยากทำ แต่ทำไม่ได้ หรือยังไม่ได้ทำบ้าง?"
.
คนหนุ่มสาวอายุ 30-40 ปี
การเมืองไทยซึ่งจะส่งผลต่ออนาคตของสังคมไทยที่ลูกคุณจะใช้ชีวิตอยู่ไปอีกหลายสิบปี...จะเป็นอย่างไร อยู่ที่การตัดสินใจของคุณ
.
เข้าร่วมทำงานการเมืองในวันนี้ เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าในวันพรุ่งนี้
:::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::::
มาร่วมฉลองวันเด็กแห่งชาติ ด้วยการเติมไฟแห่งความฝันในวัยเยาว์ของเราทุกคน
ความฝันงดงามที่อยากให้โลกและชีวิตของผู้คนดีกว่าเดิม
สุขสันต์วันเด็กครับ
....................................................
ถ้าชอบอ่าน โปรดกด See First เพจนี้ เพื่อได้อ่านทุกครั้งที่โพสต์
สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี added 5 new photos.
ooo
ในยุคปัจจุบัน พรรคการเมืองของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรป มีคนรุ่นใหม่ คนอายุ 25-40 ปี จากหลากหลายวิชาชีพ หลากหลายแวดวง เข้ามาร่วมงานมากขึ้น ในขณะที่ประเทศไทย มีแนวโน้มเรื่องนี้ไม่มากนัก ทั้งๆที่ ทุกวันนี้ เราได้ยินได้ฟังคำว่า "คนรุ่นใหม่" อยู่ในกระแสตลอดเวลา?
แน่นอน สังคมไทยมอง "การเมือง" ในแง่เลวร้าย สกปรก มีแต่แก่งแย่งแข่งขัน โต้วาทีเสียดสีไปมา แต่ผมคิดว่า ประเด็นนี้ค่อยๆลดทอนลงไป ยิ่งถ้า "คนรุ่นใหม่" เห็นว่า "การเมือง" เลวร้าย ทางแก้ที่ได้ผล ก็คือ ต้องลงมาช่วยกันทำให้ "การเมือง" ดีขึ้น การปล่อยให้มันเลวร้ายต่อไป แล้วเป็นผู้ชมผู้สังเกตการณ์ที่คอยทับถมแต่อย่างเดียว คงไม่ช่วยอะไร
ปัญหาต่อมา ถ้าหากต้องการเข้ามาทำงานทางการเมืองจริง กติกาของประเทศไทยที่เป็นอยู่ก็ไม่เอื้ออำนวยมากเท่าไรนัก โดยเฉพาะ การต้องเปลี่ยนแปลงชีวิต เปลี่ยนแปลงอาชีพ จะทำอย่างไร? อะไรคือหลักประกันในอนาคต? ในขณะที่การเมืองในยุโรปมีช่องทางให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าไปมีบทบาทมากกว่า
ผมคิดว่า การเมืองสัมพันธ์กับ passion หรือ "แรงปรารถนา" ถ้า "คนรุ่นใหม่" มีแรงปรารถนาจริง มีแรงขับผลักดันตนเองให้ลงมาทำประโยชน์ให้สังคมจริง หรือพูดง่ายๆก็คือ คนเจเนเรชั่นนี้ต้องการสร้าง legacy ฝากไว้ในแผ่นดินว่า อย่างน้อยช่วงชีวิตของตนได้ทิ้งอะไรไว้ที่เป็นหมุดหมายของการเปลี่ยนแปลงไว้บ้าง ถ้าคิดเช่นนี้ กติกาที่เป็นอุปสรรคทั้งหลาย ก็จะเป็นเรื่องเล็กทันที
อาจยากลำบาก หงุดหงิดกับเรื่องหยุมหยิม เรื่องไม่เป็นเรื่องที่ระบอบนี้กำหนดกฎเกณฑ์ขึ้นมา แต่การต่อสู้เพื่อเปลี่ยนแปลงก็จำต้องอดทน และหาช่องทางใช้กติกาที่เป็นอยู่เพื่อผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงให้ได้
บางที การวัดขนาดของหัวใจ การวัดพลังของความมุ่งมั่น ก็คือเรื่องพรรค์นี้แหละ
คนที่เริ่มต้นขุด แผ้วทาง ย่อมลำบาก แต่ถ้าก่อร่างสร้างทางได้สำเร็จ นี่คือ legacy ดังเช่น คนรุ่นก่อนๆเคยฝาก legacy ไว้
กรณีที่เราอาจยกเป็นตัวอย่างได้ก็คือ คณะราษฎร ในเวลานั้น สมาชิกแกนนำแต่ละคนอายุน้อย จบการศึกษาจากต่างประเทศ ตำแหน่งหน้าที่การงานดี หาก "อยู่เป็น" ไปเรื่อยๆ ก็คงสบายกลายเป็นชนชั้นนำ แต่พวกเขากลับตัดสินใจ "เสี่ยง" และ "เดิมพัน" อนาคต เพื่อไปสู่สิ่งที่ดีกว่า
ข้อที่ควรพิจารณาในประการสุดท้าย คือ เราจะทำอย่างไร ให้การทำงานการเมือง การเข้าสู่วงการการเมือง เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องดี เป็นเรื่องขั้นตอนตามลำดับ เมื่อสนใจการเมือง มีความมุ่งมั่น มีแรงปรารถนา ในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้ดีงาม การเข้าสู่การเมือง ก็คือ วิถีทางในการทำให้ความคิดบังเกิดผล
ประเทศไทย มีกระบวนการ "ถอดถอนความเป็นการเมือง" มาต่อเนื่อง มีกระบวนการทำลายลดทอนความชอบธรรมของ "การเมือง" มาตลอด กระบวนการเหล่านี้ ทำให้ระบบบูโรแครต ระบบเทคโนแครต ระบบรัฐซ้อนรัฐ ทำงานได้สบาย ในขณะที่การเมืองต่างหากที่ตอบสนองความต้องการของประชาชน และเป็นพื้นที่ที่เปิดให้ประชาชนได้แสดงศักยภาพ
เราจะปล่อยให้การเมืองและชะตากรรมของประเทศไทยอยู่ในมือของรัฐราชการ รัฐทหาร รัฐศาล และคนสูงอายุ 70-80 ไม่ได้
ถ้าหากคนเหล่านี้ ทันสมัย ทันโลก สนับสนุนประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ ก็คงดี แต่ผ่านมาหลายสิบปี ผ่านรัฐประหารมาหลายครั้ง ก็พิสูจน์แล้วว่า พวกเขาไม่มีคุณสมบัติเช่นนั้น
มีแต่ต้องปล่อยให้ "คนรุ่นใหม่" ลงมาทำเท่านั้น ประเทศนี้จึงจะเปลี่ยนแปลงได้
ความพร้อม การรอคอยจนได้เวลาจังหวะ อาจช่วยให้ทำงานการเมืองได้สบายขึ้น ง่ายขึ้น แต่บางครั้ง ความพร้อมและห้วงเวลาแห่งประวัติศาสตร์ อาจไม่เกิด อาจมาไม่ถึง และถ้าคิดว่าไม่พร้อม ไม่ถึงเวลา มันก็จะไม่พร้อม และไม่ถึงเวลา ตลอดไป
อย่าปล่อยให้คำว่า "คนรุ่นใหม่" กลายเป็นแค่ "กระแส" ในสังคมออนไลน์
ต้องลงมือทำ ร่วมกันทำ เพื่อพิสูจน์ว่า "คนรุ่นใหม่" คือ พลังของการเปลี่ยนแปลง
Piyabutr Saengkanokkul