วันอังคาร, มกราคม 30, 2561

4 เทคนิคยืดเลือกตั้ง ของ คสช.



โดย iLaw


ยังไม่มีความแน่นอนว่าเดือนพฤศจิกายน 2561 จะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เคยลั่นวาจาไว้หรือไม่ เพราะมีแนวโน้มว่าโรดแมปตามรัฐธรรมนูญ 2560 จะถูกเลื่อนไปอีกถึง 90 วัน หรือสามเดือน หากที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ กฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.

เหตุที่ "โรดแมป" จะถูกขยับออกไปอีก 90 วัน เพราะคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แก้ไข มาตรา 2 ของ ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ จากเดิม “...ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา...” เป็น “...ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 90 วัน นับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา...” กล่าวคือ จากเดิมประกาศวันนี้ วันพรุ่งนี้ใช้ได้ทันที เปลี่ยนเป็นประกาศแล้วให้รออีก 90 วัน แล้วค่อยบังคับใช้ได้

ด้วยเหตุนี้ทำให้จากที่กำหนดเดิม คือ การเลือกตั้งจะต้องเกิดขึ้นภายใน 150 วัน หลังกฎหมายลูกทั้งสี่ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งบังคับใช้ ระยะเวลา 150 จะยังไม่เริ่มนับทันที แต่ต้องรออีก 90 วันจึงจะเริ่มนับ และเมื่อเริ่มนับไป 150 วัน กว่าจะถึงวันเลือกตั้งก็ยาวไปอีกเกือบ 240 วัน หรือแปดเดือน ซึ่งเทคนิคนี้เป็นหนึ่งในสี่เทคนิคที่ คสช. ใช้เพื่อขยายโรดแมปยืดเวลาสู่การเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆ

4 เทคนิคยืดเลือกตั้ง ของ คสช.

"การเลือกตั้งจะเกิดขึ้นตามโรดแมป" เป็นประโยคที่ คสช. จะยืนยันทุกครั้งเมื่อถูกสอบถามเรื่องเลือกตั้ง แต่เป็นที่รู้กันว่าโรดแมปของ คสช. ไม่มีความแน่นอน ซึ่งปัจจัยหลักของ คสช. ที่เป็นข้ออ้างในการสร้างความไม่แน่นอนของโรดแมปสู่การเลือกตั้งขึ้นอยู่กับสามปัจจัย คือ รัฐธรรมนูญ กฎหมายลูก และความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง ซึ่งที่ผ่านมา คสช. ใช้ข้ออ้างเหล่านี้เป็นเทคนิคในการเลื่อนการเลือกตั้ง


เทคนิคที่ 1 ยืดระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายลูก

การยืดระยะเวลาบังคับใช้กฎหมายลูก ส.ส. เป็นเทคนิคล่าสุดที่ถูกนำมาใช้ในการยืดเวลาเลือกตั้ง จากที่กล่าวไปแล้วตอนต้นว่าเทคนิคนี้ สนช. นำมาใช้กับร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. โดยยืดเวลาการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ไป 90 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

การขยายเวลาบังคับใช้ออกไปเช่นนี้ แตกต่างกับกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งฉบับอื่นๆ ที่กำหนดชัดเจนว่า “ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา” ขณะที่ย้อนกับไปดู พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ พ.ศ. 2541 กับ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ฯ พ.ศ. 2550 ก็กำหนดให้ใช้บังคับวันถัดจากวันประกาศเช่นกัน

ดังนั้นการยืดเวลาออกไปอีก 90 วัน จึงไม่มีเหตุผลใดๆ รองรับในทางกฎหมาย เพราะเห็นชัดว่าสามารถประกาศให้มีผลใช้บังคับทันทีได้ และอาจกระทบต่อคำประกาศของ พล.อ.ประยุทธ์ เมื่อปลายปี 2560 ที่จะจัดการเลือกตั้งภายในเดือนพฤศจิกายน 2561

เทคนิคที่ 2 ไม่ปลดล็อกพรรคการเมือง

วันที่ 8 ตุลาคม 2560 พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ พ.ศ.2560 บังคับใช้อย่างเป็นทางการพร้อมด้วยการกำหนดกรอบว่าเวลาให้พรรคการเมืองต่างๆ ต้องดำเนินการจัดการภายในพรรคให้ทันก่อนถึงการเลือกตั้ง ดูเหมือนว่าการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้จะเป็นสัญญาณว่าประเทศไทยกำลังจะเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่ความจริงพรรคการเมืองยังไม่สามารถกิจกรรมใดๆ ได้ เนื่องจากติดล็อก ประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 ที่ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจการทางการเมือง และคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ที่ยังห้ามชุมนุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป

จนกระทั่งวันที่ วันที่ 22 ธันวาคม 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จึงออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 กำหนดให้พรรคการเมืองต่างๆ สามารถดำเนินกิจกรรมต่างๆ ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ได้ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2561 เป็นต้นไป ทั้งนี้ คสช. อ้างว่า เนื่องจาก สนช. กำลังพิจารณา ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. อยู่ และก็เพื่อไม่ให้มีผู้ฉวยโอกาสใช้พ.ร.ป.พรรคการเมืองฯ ทำลายความสงบเรียบร้อบของบ้านเมือง

ทั้งนั้มีข้อเสนอจากหลายฝ่ายว่า เพียงแค่ คสช. ยกเลิกประกาศ/คำสั่งที่ห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม การเลือกตั้งก็จะเป็นไปตามโรดแมปแล้ว โดยไม่ต้องใช้เทคนิค ยืดเวลาบังคับใช้ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ออกไปอีก 90 วัน

เทคนิคที่ 3 กำหนดให้ตัวเองจัดทำร่างกฎหมายลูกนาน 11 เดือน


ระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งของคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กับ สนช. รวมกันเป็นเวลาประมาณ 11 เดือน (330 วัน) โดยแบ่งเป็น กรธ. ใช้เวลาแปดเดือน (240 วัน) สนช. ใช้เวลาสองเดือน (60 วัน) และใช้เวลาอีกหนึ่งเดือน (30 วัน) ในกรณีที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นว่าร่างกฎหมายลูกฉบับนั้นไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ

ขณะที่กฎหมายลูกแปดจากสิบฉบับก่อนหน้านี้ กรธ.ลงมือร่างไว้ก่อนรัฐธรรมนูญผ่านและสามารถทำได้เสร็จก่อนกำหนดหลายเดือน แต่ร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับเลือกตั้งสองฉบับ คือ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กับ ร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง ส.ว. เป็นสองฉบับที่ใช้เวลาเต็มตามโรดแมปที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยไม่มีเหตุผลอธิบายถึงสาเหตุที่ใช้เวลาไปมาก ทั้งที่ก่อนนี้ กรธ. เคยกล่าวว่าจะเร่งดำเนินการให้เสร็จก่อนกำหนด เพื่อที่จะจัดการเลือกตั้งโดยเร็ว

ทั้งนี้หากเปรียบเทียบการจัดทำร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับเลือกตั้งของรัฐธรรมนูญ 2550 จะพบว่ารัฐธรรมนูญกำหนดให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในขณะนั้น จัดทำร่างกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 45 วัน นับแต่ร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ และให้ สนช.ในขณะนั้นเร่งพิจารณาให้เสร็จ ภายใน 45 วัน หลังจากนั้นต้องจัดการเลือกตั้ง

เทคนิคที่ 4 แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราว


รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 ถูกแก้ไขเพิ่มเติมไปแล้วสี่ครั้ง โดยมีการแก้ไขเพิ่มเติมสองครั้งที่ทำให้ระยะเวลาในโรดแมปสู่การเลือกตั้งขยายออกไป การแก้ไขครั้งล่าสุดหากจำกันได้ เกิดขึ้นหลังร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติไปแล้วกว่าห้าเดือน โดย คสช. สั่งให้ สนช. แก้ไขเพิ่มเติมประเด็นให้พระมหากษัตริย์สามารถพระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใดลงในร่างรัฐธรรมนูญก็ได้ ส่งผลให้จากเดิมที่คาดว่าจะได้เลือกตั้งอย่างเร็วประมาณเดือนธันวาคม 2560 ต้องเลื่อนออกไป

การแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ส่งผลให้โรดแมปสู่การเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไปเป็นครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อ คสช. ถูกหลายฝ่ายกดดันให้มีการจัดออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แรงกดดันดังกล่าวจึงนำมาสู่การแก้ไขเพิ่มเติม โดย สนช. ผลของการแก้ไขทำให้การเลือกตั้งที่คาดการณ์ว่าจะเกิดอย่างช้าในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2559 ต้องขยับออกไปเป็นช่วงเดือนธันวาคม 2559

อย่างไรก็ตามภาพฝันแรกเริ่มเคยมีว่า จะเกิดการเลือกตั้งในปี 2559 ตามกติกาของรัฐธรรมนูญ ฉบับแรกของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ แต่ก็ต้องสลายไปเมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) คว่ำร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์ และหลังจากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง โดยครั้งใหม่นี้นำโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ และขณะนั้นคาดกันว่าหากมีชัยร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ จะสามารถจัดการเลือกตั้งภายในปี 2560 ได้

สุดท้ายเข้าสู่ปี 2561 ก็ยังไม่มีความแน่นอนว่า คสช. จะจัดการเลือกตั้งเมื่อไร และดูเหมือนว่า คสช. ยังคงมองหาปัจจัยต่างๆ มาเป็นเงื่อนไขเพื่อยืดเวลาเลือกตั้งต่อไป และนั่นอาจตรงกับคำตอบของบวรศักดิ์ อุวรรณโณ อดีตประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กล่าวหลังร่างรัฐธรรมนูญของตัวเองถูกคว่ำว่า “เขา (คสช.) อยากอยู่ยาว”


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
ปลดล็อคพรรคการเมืองคืออะไร ถ้าไม่ปลดล็อคแล้วจะทำไม
รัฐธรรมนูญ(ชั่วคราว)’57 สองปีแก้สี่ครั้ง
สรุปร่างรัฐธรรมนูญ: ถ้าร่างผ่านเท่ากับ "ตีเช็คเปล่า" ให้ กรธ.เขียนกฎหมายลูก 10 ฉบับได้ตามใจ