สัตว์ประหลาดทางการเมือง
ชำนาญ จันทร์เรือง
“The
old world is dying away, and the new world struggles to come forth: now is the
time of monsters.”(โลกเก่ากำลังตายจากไปและโลกใหม่กำลังฝ่าฟันเพื่อเข้ามาแทนที่
ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาของสัตว์ประหลาด)
Antonio Gramsci อันโตนิโอ
กรัมชี
อันโตนีโอ กรัมชี (Antonio
Gramsci) นักทฤษฎีการเมือง
นักเศรษฐศาสตร์การเมืองชาวอิตาเลียนแนวมาร์กซิสม์และเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี
ที่มีชีวิตอยู่ในช่วง 1891 - 1937 ได้กล่าวข้อความอมตะข้างต้นมาร่วมร้อยปีแล้ว แต่ยังทันสมัยอยู่
ซึ่งผมมักยกขึ้นมาอธิบายสถานการณ์ของการเมืองไทยในปัจจุบันอยู่เสมอ
อันโตนีโอ กรัมชี
ได้ชื่อว่าเป็นมาร์กซิสต์บริสุทธิ์ เขาได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้เผยแพร่ลัทธิมาร์กซิสต์คนสำคัญในยุคศตวรรษที่
20 โดยเขาได้เขียนหนังสือที่มีชื่อเสียงมาก คือ ‘บันทึกจากคุก’ ในระหว่างที่ถูกจองจำ เขาเป็นเจ้าของทฤษฎีที่มีชื่อว่า Hegemony ซึ่งหมายถึง ‘การครองความเป็นเจ้า’ โดยกรัมชี่เชื่อว่าผู้ที่ขึ้นมาเป็นชนชั้นปกครองได้
ไม่อาจจะอาศัยภาวะทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น
แต่ต้องได้รับการสนับสนุนและมีแนวร่วมจากมวลชนด้วย
ช่วงเวลาของกรัมชีเป็นยุคสมัยที่เผด็จการฟาสซิสต์เรืองอำนาจ
โดยในปี 1921 พรรคคอมมิวนิสต์อิตาลี (PCI)
ได้ก่อตั้งขึ้นไล่เลี่ยกันกับการเกิดขึ้นของพรรคฟาสซิสต์แห่งชาติ (National
Fascist Party) ซึ่งในปี 1922
กรัมชีได้รับเลือกจากคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์อิตาลีให้เป็นตัวแทนไปในการประชุมผู้บริหารคอมมิวนิสต์สากล
หรือ Comintern ที่มอสโก ขณะที่ในปีเดียวกันนั้น
พรรคฟาสซิสต์ได้ขยายอำนาจยึดกรุงโรม และเบนิโต มุสโสลินีก็ได้ขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีในปีนี้
ช่วงชีวิตที่สำคัญที่สุดของกรัมชีคือช่วงชีวิตของการเป็นนักโทษการเมืองในช่วงสมัยเผด็จการฟาสซิสต์
โดยกรัมชีถูกจับเมื่อ 8 พฤศจิกายน 1926 และถูกส่งไปยังคุกต่างๆ และไม่ได้รับอิสรภาพอีกเลยจนวาระสุดท้ายของชีวิต
เขาถูกตัดสินจำคุกกว่า 20 ปี กรัมชีใช้ชีวิตในเรือนจำหลายแห่งจนกระทั่งปี 1933
เขาจึงได้ย้ายออกไปรักษาตัวที่คลินิกเล็กๆ ในเมืองฟอร์เมียเนื่องจากอาการป่วยและสุขภาพทรุดโทรมอย่างหนัก
เขาใช้เวลาช่วงสุดท้ายของชีวิตไปกับการรักษาอาการป่วย จนกระทั่งเสียชีวิตเมื่อ 27
เมษายน 1937 ขณะที่อายุได้ 47 ปี
การที่ผมยกตัวอย่างของกรัมชีมาเสนอเพราะเห็นว่าเขาเป็นผู้ที่ต่อสู้และคัดค้านฝ่ายเผด็จการฟาสซิสต์ตลอดชีวิตเขา
ซึ่งเขาต่อสู้ด้วยอุดมการณ์มาร์กซิสต์ แต่ยังไม่ทันได้เห็นความสำเร็จว่าในที่สุดเผด็จการฟาสซิสต์ของอิตาลีก็พังทลายลง
แต่ไม่ใช่ด้วยพลังของมาร์กซิสต์หรือคอมมิวนิสต์ แต่เป็นพลังของฝ่ายเสรีนิยม
อย่างไรก็ตามแนวความคิดของเขาได้ถูกนำมาปรับใช้กันอย่างมากในการต่อสู้กับเผด็จการไม่ว่าจะเป็นเผด็จการในรูปแบบใดก็ตาม
โดยไม่จำกัดเพียงเฉพาะเผด็จการฟาสซิสต์แต่ยังรวมถึงเผด็จการรัฐสภาในโลกปัจจุบันอีกด้วย
การที่ผมมักยกตัวอย่างของกรัมชีมาอธิบายสถานการณ์ของการเมืองไทยนั้น
ก็เพราะว่าการต่อสู้ทางการเมืองของไทยเราในขณะนี้อยู่ในสภาวการณ์ที่คนรุ่นเก่าหรือคนที่มีความคิดเก่าๆ
พยายามย้อนยุคกลับไปสู่อดีตด้วยการรัฐประหารและกำหนดกติกา รัฐธรรมนูญ ระเบียบแบบแผน
กฎหมาย ฯลฯ ด้วยการเอื้อต่อสถาบันราชการที่มีทหารเป็นแกนนำ โดยไม่ให้ความเชื่อถือต่อคุณภาพของมนุษย์ว่าจะต้องมีสิทธิมีเสียงที่เท่ากัน
ไม่เชื่อในระบบการเลือกตั้งหรือระบบพรรคการเมือง
เพราะเชื่อว่าการเลือกตั้งทำให้บ้านเมืองวุ่นวาย มีการซื้อสิทธิขายเสียง
ผลการเลือกตั้งจึงไม่มีคุณภาพ คนกลุ่มนี้เชื่อว่าถ้าคนดีแล้วบ้านเมืองจะดีเอง ฯลฯ
ส่วนคนรุ่นใหม่ก็พยายามที่จะนำแนวความคิดด้านเสรีประชาธิปไตย
เชื่อในระบบมากกว่าตัวบุคคล
เชื่อว่าจริงอยู่แม้ว่าการเลือกตั้งจะไม่ได้ทำให้ได้คนดีที่สุด แต่ก็เชื่อว่าอย่างน้อยยังสามารถตรวจสอบได้
ควบคุมได้ ที่สำคัญคือด่าได้ โดยเห็นแย้งจากกลุ่มแรกว่าการที่มีคนดีมาบริหารบ้านเมืองแต่ควบคุมไม่ได้
ตรวจสอบไม่ได้นั้นเลวร้ายกว่าการที่ได้คนไม่ดีมาแต่สามารถควบคุมได้ ถอดถอนได้
การต่อสู้ระหว่างสองกลุ่มนี้ผลัดกันแพ้ผลัดกันชนะมาโดยตลอด
เริ่มตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง๒๔๗๕, รัฐประหาร ๒๔๙๐, รัฐประหาร ๒๕๐๐ และ ๒๕๐๑,
เหตุการณ์ ๑๔ ตุลา ๑๖, เหตุการณ์ ๖ ตุลา ๑๙, พฤษภา๓๕, รัฐประหาร ๓๔-๔๙-๕๗
จวบจนปัจจุบันก็ยังต่อสู้กันอยู่ แม้ว่าจะไม่ปรากฏให้เห็นในรูปแบบการเมืองบนท้องถนน
แต่การต่อสู้ทางความคิดยังมีอยู่ตลอดเวลา
แม้ในปัจจุบันจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี
๖๐ ที่ออกแบบมาจำกัดการเจริญเติบโตของพรรคการเมืองอย่างยิ่งยวดแล้ว
แต่ก็ยังมีการพยายามที่จะยื้อการเลือกตั้งหรือสร้างความลำบากให้แก่พรรคการเมืองให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
แม้แต่การออกมาตรา ๔๔ มาล็อกตัว พรป.พรรคการเมืองไม่ให้ใช้ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งรวมถึงการจำกัดสิทธิเสรีภาพในการชุมนุมตั้งแต่ห้าคนขึ้นไปที่ใช้มาตั้งแต่รัฐประหารใหม่ๆ
ก็ยังไม่ได้ถูกยกเลิกแต่อย่างใด
ฉะนั้น
ผมจึงสามารถกล่าวได้ว่าสถานการณ์การเมืองไทยในขณะนี้คือปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Monster
หรือสัตว์ประหลาดหรือปีศาจทางการเมือง’ นั่นเอง
เพราะเต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวายในจิตใจ ความอึดอัดขัดข้องของคนกลุ่มใหม่ และเต็มไปด้วยความวิตกกังวลกลัวพ่ายแพ้ของกลุ่มเก่า
จะเลื่อนเลือกตั้งก็ไม่ได้เพราะประกาศต่อชาวโลกไปแล้วถึงสามครั้ง
ขืนเลื่อนหรือไม่มีการเลือกตั้งอีกก็จะสูญเสียเครดิตระหว่างประเทศอย่างเรียกคืนไม่ได้
แล้วอนาคตล่ะ การเมืองไทยจะเป็นอย่างไร
แน่นอนว่าจากทฤษฎีของกรัมชีได้กล่าวไว้ชัดเจนว่าโลกเก่ากำลังตายลง
(the old world is dying away)และโลกใหม่กำลังต่อสู้เพื่อเติบโตต่อไป (and
the new world struggles to come forth)
สำคัญว่าจะสำเร็จเมื่อไหร่และอย่างไรเท่านั้นเอง
แต่ที่แน่ๆ ตอนนี้เรากำลังอยู่กับปรากฏการณ์สัตว์ประหลาด
(now is the time of monsters) ทางการเมือง อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะช้าหรือเร็ว
กงล้อการเมืองไทยก็ต้องหมุนไปข้างหน้าตามวัฏจักร์ของโลกอย่างแน่นอน เพราะแม้แต่พม่าเองที่อยู่ในสภาวะสัตว์ประหลาดทางการเมืองมากว่า
๕๐ ปี ยังฝืนไม่ไหว
หากคนรุ่นเก่ายังฝืนกระแสโลกอยู่ เขาเหล่านั้นก็ย่อมที่จะถูกกวาดตกเวทีโลกาภิวัตน์
ดังที่ประวัติศาสตร์การเมืองของโลกได้ให้บทเรียนไว้อย่างแน่นอนครับ