วันศุกร์, มกราคม 26, 2561

ถอนไม่ถอนค่าเท่ากัน เมื่อความไม่โปร่งใสครอบบ้านครองเมือง

จะถอนไม่ถอนมีค่าเท่ากัน ในเมื่อเห็นได้ชัดถึงความไม่โปร่งใส ในการครอบบ้านครองเมืองของ คสช.

เมื่อวานนี้ (๒๕ มกรา) มีข่าวเลขาธิการมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย นางจุรี วิจิตรวาทการ แถลงว่าองค์กรฯ “ได้ถอนตัวจากการเป็นสมาชิกองค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ (TI) เนื่องจากมีหลายประเด็นที่เห็นว่า การชี้วัดขององค์กรดังกล่าวมีอคติและไม่สอดคล้องกับความจริงในประเทศไทย”

มาวันนี้ (๒๖ มกรา) มีอีกข่าวว่า เลขาธิการองค์การต่อต้านคอรัปชั่นของไทย นายมานะ นิมิตรมงคล โต้แย้งว่า “ไทยไม่เคยถอนตัวจากการจัดอันดับทุจริตโลก (CPI)” นอกนั้นยังบอกด้วยว่าการประเมินและจัดอันดับทุจริตโลก จัดทำโดยองค์กรโปร่งใสนานาชาติ (TI) โดยอันดับประจำปี ๖๐ จะประกาศผลในวันที่ ๒๑ กุมภานี้

อาจสังเกตุได้ว่ามีความต่างของสององค์กรเกี่ยวกับความโปร่งใสในไทย คือมูลนิธิเพื่อความโปร่งใส และองค์การต่อต้านคอรัปชั่น หากแต่ทั้งสองหน่วยงานต่างเกี่ยวโยงทางใดทางหนึ่งอยู่กับองค์กรโปร่งใสนานาชาติ

“ประเด็นที่ว่าไทยถอนตัวจากการจัดอันดับการทุจริตโลก จึงเป็นข่าวที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง” นายมานะระบุในโพสต์ข้อความทางหน้าเฟชบุ๊คของตน ขณะที่นางจุรียืนยันการถอนตัวจากองค์การนานาชาติว่า

“เนื่องจากมีหลายประเด็นที่เห็นว่า การชี้วัดขององค์กรดังกล่าวยังมีอคติและไม่สอดคล้องกับความจริงในประเทศไทย” (ช่อง 7 สี) แต่ไม่เกี่ยวกับกรณีที่ประเทศไทยถูกจัดอันดับซีพีไอต่ำลงไปจากเดิม

ดัชนี CPI ปีที่แล้ว ระบุว่ากัมพูชาและไทยเป็นประเทศที่สถานการณ์ความโปร่งใสย่ำแย่ลงมากที่สุด จากทั้งหมด ๓๐ ประเทศแถบเอเชียแปซิฟิก แต่ไทยมีประเด็นที่น่ากังวล เพราะการคอร์รัปชันถูกดึงไปเชื่อมโยงกับความวุ่นวายทางการเมือง”
และ “ปีที่ผ่านมา ไทยอยู่ที่อันดับ ๑๐๑ ของดัชนี CPI ตกลงจากอันดับ ๗๖ เมื่อปี ๒๕๕๙ และคะแนนก็ลดลงจาก ๓๘ เหลือ ๓๕ คะแนน ส่วนปีที่ไทยมีอันดับดีที่สุด คือ พ.ศ.๒๕๔๙ อยู่ที่อันดับ ๖๓ จาก ๑๖๓ประเทศทั่วโลก และมีคะแนน ๓.๖ เต็ม ๑๐”


กระนั้นก็ดี มีนายปานเทพ กล้าณรงค์ราญ อดีตประธาน ปปช. มายืนยันอีกรายว่าไม่ใช่ประเทศไทยถอนตัวจากการจัดทำดัชนีความโปร่งใสของทีไอ แต่ “เป็นเพียงองค์กรเอกชนที่ทำหน้าที่ประสานงานของไทยได้ออกจากการเป็นสมาชิกของเครือข่ายหลัก ไม่เกี่ยวข้องกับรัฐบาล”


จะอ้างอย่างไรก็แล้วแต่ ข้อเท็จจริงมีอยู่จังหน้าในกรณีการ เดินมิตรภาพ จากรังสิตถึงขอนแก่นของกลุ่มประชาสังคมเพื่อหลักประกันสุขภาพ ที่ถูกตำรวจทำการก่อกวน กลั่นแกล้ง และทหารแจ้งความกับ ๘ แกนนำในข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. เอาไว้

ทว่ากลุ่มรณรงค์ก็ให้ตัวแทนไปยื่นฟ้องร้องเรียนต่อศาลปกครองไว้แล้วเช่นกัน หลักฐานการละเมิดโดยเจ้าหน้าที่ประการหนึ่งอยู่ที่การรังควาญพระภิกษุองค์หนึ่งซึ่งไปร่วมเดินระยะสั้นๆ เพื่อให้กำลังใจแก่ผู้รณรงค์
 
พระอาจารย์ยงยุทธ ทีปโก เจ้าอาวาสวัดปางงุ้น ต.สรอย อ.วังชิ้น จ.แพร่ ซึ่งไปร่วมเดินเท้าในกิจกรรม ‘We Walk เดินมิตรภาพของเครือข่าย People Go ในช่วงพื้นที่ จ.สระบุรี เปิดเผยว่ามีตำรวจคอยตามสอบถามถึงการไปร่วมเดินมิตรภาพของท่าน อ้างว่ามี “ตำรวจชั้นผู้ใหญ่มีคำสั่งเข้ามาให้ติดตามตรวจสอบ”

นอกจากนั้นก็มีเจ้าหน้าที่สำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ ๕-๖ คน ไปดักรอพบสอบถามเชิงตำหนิการไปร่วมกิจกรรมที่เป็นข่าว พร้อมทั้งระบุด้วยว่า หน่วยข่าวกรอง เป็นผู้แจ้งมา

“เจ้าหน้าที่จากสำนักพุทธได้แจ้งให้ตนระมัดระวังเรื่องการเดินทางไปกลับวัดด้วย” นี่ก็เข้าข่ายข่มขู่อีกต่างหาก