วันพุธ, มกราคม 17, 2561

4 ปี 'ชัตดาวน์กรุงเทพ' สิ้นเสียงนกหวีดนานแล้ว.. ประเทศไทยเปลี่ยนไปแค่ไหน?





สี่ปี 'ชัตดาวน์กรุงเทพ' สิ้นเสียงนกหวีดนานแล้ว.. ประเทศไทยเปลี่ยนไปแค่ไหน?
.
13 ม.ค. ของปีนี้ไม่เพียงตรงกับวันเด็ก ที่ท่านผู้นำของเราประกาศว่าจะพาบ้านเมืองไปสู่การปกครองแบบประชาธิปไตย ‘ไทยนิยม’ หรือพูดง่ายๆ คือไม่เป็นไปตามสากลเขา
.
ยังตรงกับวัน 'ครบรอบสี่ปี' การนัดชุมนุมทางการเมืองที่ผู้จัดอ้างว่า ‘ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์’ เพราะมีผู้เข้าร่วมชุมนุมถึง 6.8 ล้านคน (ตัวเลขโดย กปปส.)
.
การชุมนุมดังกล่าว มีความแตกต่างจากในอดีตโดยสิ้นเชิง เพราะเป็นการชุมนุมใหญ่ทั้งๆ ที่นายกฯประกาศยุบสภาไปแล้ว /จะมีการเลือกตั้งในเวลาอีกไม่ถึงเดือน /และต้นเหตุของของการชุมนุมก็คือ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ถูกคว่ำไปหมดทุกฉบับแล้ว
.
กลุ่ม กปปส.อ้างว่า เหตุที่ต้องจัดชุมนุมครั้งนี้ขึ้นมา ก็เพื่อกดดันให้รัฐบาลรักษาการลาออก ให้หน่วยงานราชการหยุดงานจะได้เป็นรัฐล้มเหลว (failed state) เปิดทางให้เกิด ‘สภาประชาชน’ ขึ้นมาปฏิรูปประเทศ
.
13 ม.ค. ของสี่ปีก่อนหน้า คือวันที่ กปปส. ประกาศ ‘ชัตดาวน์ กทม.’ ด้วยการนัดชุมนุมใหญ่พร้อมเคลื่อนขบวนดาวกระจายไปปิดตามสถานที่สำคัญๆ ทางเศรษฐกิจ 7 แห่ง ได้แก่ 1.แจ้งวัฒนะ 2.ห้าแยกลาดพร้าว 3.อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 4.แยกปทุมวัน 5.สวนลุมพินี 6.แยกอโศก 7.แยกราชประสงค์
.
สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. เคยบอกเป้าหมายของการปฏิรูปประเทศไว้ 7 ข้อ ในวันนี้เสียงนกหวีดเงียบลงไปนานแล้ว ลองมาดูกันว่า ความคาดหวังกับความจริง เมื่อเวลาผ่านมาไป ภายใต้การปกครองโดยรัฐบาลทหาร คสช. ที่สุเทพประกาศหนุนสุดตัว ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน
.
ปรี๊ดดด ปรี๊ดดด ปรี๊ดดด
.
(1) #ปฏิรูปเลือกตั้ง

ข้อเสนอสุเทพ : “ปฏิรูปการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ ยุติธรรม โกงไม่ได้ และต้องไม่ให้คนชั่วมีโอกาสเข้ามานั่งในสภาทำเรื่องชั่วๆ โดยที่ไม่ฟังเสียงอำนาจของประชาชน”

สิ่งที่เกิดขึ้น : ได้ รธน.ฉบับปราบโกง / ระบบเลือกตั้ง ส.ส.ซับซ้อน / ส.ว.มาจากกลุ่มอาชีพ (แต่ชุดแรก คสช.จะตั้งเองทั้งหมด) / เปิดช่องนายกฯคนนอก

รัฐธรรมนูญฉบับปี 2560 กำหนดวิธีการเลือกตั้ง ส.ส.ไว้อย่างสลับซับซ้อน ด้วยข้ออ้างว่าเพื่อ ‘ป้องกันเสียงตกน้ำ’ แต่นักวิเคราะห์แทบทุกคนเห็นตรงกันว่า จะทำให้เกิดรัฐบาลผสมที่อ่อนแอ พรรคขนาดกลางจะมีอำนาจต่อรองสูง ขณะที่ ส.ว.แม้จะให้มาจากกลุ่มอาชีพเลือกไขว้กัน ทว่าชุดแรกกลับให้คนๆ เดียว คือหัวหน้า คสช. ตั้งขึ้นมาทั้งหมด แถมยังให้อำนาจพิเศษเลือกนายกฯ ได้อีกถึง 2 สมัย

กล่าวโดยสรุปการเลือกตั้งลดความสำคัญลงไป เพราะผู้ที่จะเลือกนายกฯและตั้งรัฐบาลจริงๆ เป็นคนไม่กี่คนเท่านั้น ไม่ใช่ประชาชนผู้มีสิทธิออกเสียงเป็นล้านๆ
.
(2) #ปราบโกง

ข้อเสนอสุเทพ : “การทุจริตคอร์รัปชันที่เกิดขึ้นทำให้ประเทศเสียหายต้องขจัดออกไปให้ได้ ต้องออกกฎหมายเกี่ยวกับการทุจริตคอร์รัปชัน ว่าไม่มีอายุความ ไม่ว่าจะวันไหนหากยังไม่ตายก็ต้องติดคุก”

สิ่งที่เกิดขึ้น : ปิดฉากคดีจำนำข้าว / ม.44 พักงานข้าราชการโกง / ออก กม.หยุดนับอายุความถ้าหนี

แต่ในเวลาเดียวกัน คดีเกี่ยวกับรัฐบาล คสช.เอง กลับจบลงด้วยข้อกังขาหลายๆ คดี โดยองค์กรอิสระทั้ง สตง.และ ป.ป.ช.ถูกตั้งคำถามเรื่องการทำงาน ทั้งคดีอุทยานราชภักดิ์ คดีน้องชายประยุทธ์ตั้งลูกมารับราชการ ขณะที่สังคมกำลังจับตาคดีนาฬิกา-แหวนเพชร ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่กำลังฮือฮาอยู่ในเวลานี้ ว่าจะลงเอยอย่างไร

นอกจากนี้ คะแนนดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชั่นของไทย หรือ CPI ก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นแบบมีนัยสำคัญ แถมปีล่าสุด ยังลดลงเหลือ 35 คะแนน เต็มร้อย อยู่ในลำดับที่ 101 ของโลก
.
(3) #กระจายอำนาจ

ข้อเสนอสุเทพ : “เคารพในอำนาจของประชาชนอย่างแท้จริง ประชาชนต้องสามารถถอดถอนนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี และ ส.ส.แบบระบุระยะเวลาได้ การปกครองของบ้านเมืองจะต้องถูกกระจายไปยังท้องถิ่น เช่น ทุกจังหวัดจะต้องมีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ ไม่ใช่การแต่งตั้งจากส่วนกลางซึ่งทำให้มีการทุจริตซื้อตำแหน่ง”

สิ่งที่เกิดขึ้น : การตรวจสอบรัฐบาลเป็นได้อย่างจำกัด ภายใต้ประกาศและคำสั่ง คสช. ผู้เห็นต่างจากรัฐมักถูกพาเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ หรือแย่ไปกว่านั้นคือเป็นคดีความขึ้นศาล (ทหาร)

ส่วนการเลือกผู้ว่าฯโดยตรง ก็ยังเป็นแค่ฝัน
.
(4) #ปฏิรูปตำรวจ

ข้อเสนอสุเทพ : “ต้องปฏิรูปโครงสร้างของตำรวจให้เป็นตำรวจของประชาชน ซึ่งคณะกรรมการตำรวจจะต้องเป็นภาคประชาชนไม่ใช่ตำรวจด้วยกันเอง”

สิ่งที่เกิดขึ้น : ภาคประชาชนยังไม่มีบทบาท แต่กันนักการเมืองไม่ให้ร่วมตั้ง ผบ.ตร.

ข้อเสนอปรับโครงสร้างตำรวจของคณะกรรมการปฏิรูปตำรวจที่ พล.อ.บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ เป็นประธาน ที่ชัดเจนที่น่าสุด น่าจะมีแค่เรื่องให้ ก.ต.ช. ที่มีนักการเมืองร่วมอยู่ด้วย มีอำนาจในการกำหนดนโยบายภาพรวมเท่านั้น ส่วนการแต่งตั้ง ผบ.ตร. ไปจนถึงตำรวจอื่นๆ ให้เป็นอำนาจของ ก.ตร. ที่มีเฉพาะตำรวจนั่งอยู่
.
(5) #ปฏิรูปข้าราชการ

ข้อเสนอสุเทพ : “ต้องออกแบบกฎหมายให้ข้าราชการเป็นคนของประชาชน ไม่ใช่อยู่ใต้นักการเมือง”

สิ่งที่เกิดขึ้น : ข้าราชการก็ยังอยู่ใต้นักการเมือง (ที่เป็นอดีตทหาร)

ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้เลย เพราะรัฐบาล คสช.เองก็โยกย้ายข้าราชการไม่ต่างจากนักการเมือง มีการย้ายข้ามกระทรวง ย้ายนอกฤดู หรือย้ายด้วยวิธีการพิเศษ เช่นใช้ ม.44
.
(6) #แก้ปัญหาสังคม

ข้อเสนอสุเทพ : “ปัญหาต่างๆ อย่างการศึกษา คมนาคม สาธารณสุข จะต้องนำเรื่องเหล่านี้เป็นวาระแห่งชาติ”

สิ่งที่เกิดขึ้น : ลดเวลาเรียน เพิ่มเวลาเล่น / บังคับคาดเข็มขัด / ปฏิรูปรถเมล์-รถตู้ / เตรียมแก้ กม.บัตรทอง

เอาจริงๆ สิ่งเหล่านี้เป็นหน้าที่ซึ่งทุกรัฐบาลจะต้องทำอยู่แล้ว
.
(7) #ส่งเสริมเอกชน

ข้อเสนอสุเทพ : “รัฐบาลต้องไม่รวบอำนาจผูกขาดธุรกิจเสียเอง ต้องส่งเสริมให้ภาคเอกชนแข่งขันกับนานาประเทศได้”

สิ่งที่เกิดขึ้น : ประชารัฐ

เป็นยุคที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐสูงมาก ผ่านการเข้ามารับตำแหน่งต่างๆ ทั้งใน ครม. สนช. สปช. สปท. คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ ไปจนถึงคณะกรรมการประชารัฐ
.
แล้วคุณล่ะ คิดว่าสี่ปีที่ผ่านมา ประเทศของเราเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน?
.
อ่านเพิ่มเติมได้ที่ https://thematter.co/quick-bite/4-year-anniversary-shutdown-bangkok/43835




The MATTER