วันพฤหัสบดี, มกราคม 25, 2561

รายงาน HRW: โซ่ที่ซ่อนไว้: แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ ยังคงเกิดขึ้นในฝูงเรือประมง - กต. ประณาม HRW ออกรายงานอย่างมี "อคติทางการเมือง"



แรงงานประมงผูกเชือกด้านหัวเรือระหว่างเรือเข้าจอดเทียบท่าในปัตตานี 12 สิงหาคม 2559
© 2016 ภาพของ Daniel Murphy สำหรับฮิวแมนไรท์วอทช์

ประเทศไทย: แรงงานบังคับ การค้ามนุษย์ ยังคงเกิดขึ้นในฝูงเรือประมง


การปฏิรูปที่เกิดขึ้นยังไม่ตอบสนองต่อข้อกังวลของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ

ที่มา Human Rights Watch

(บรัสเซล 23 มกราคม 2561) – การใช้แรงงานบังคับ และการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิอื่น ๆ เกิดขึ้นอย่างกว้างขวางในฝูงเรือประมงของประเทศไทย ถึงแม้รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมจะแสดงพันธกิจว่าจะทำการปฏิรูปอย่างรอบด้านก็ตาม ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าวในรายงานที่เผยแพร่วันนี้ โดยเปิดตัวรายงานและภาพยนตร์ความยาว 15 นาทีในเวทีให้ข้อมูลกับรัฐสภายุโรปวันที่ 23 มกราคม

รายงาน “โซ่ที่ซ่อนไว้: การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทย” (Hidden Chains: Forced Labor and Rights Abuses in Thailand’s Fishing Industry ) ความยาว 134 หน้า กล่าวถึงกรณีแรงงานประมงข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้านในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งมักตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์เพื่อเป็นแรงงานภาคประมง พวกเขาถูกขัดขวางไม่ให้เปลี่ยนนายจ้าง ไม่ได้รับค่าจ้างตามเวลา และได้รับค่าจ้างต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายแรงงานของไทย และไม่มีสิทธิจัดตั้งสหภาพแรงงาน

แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับ “ใบเหลือง” เพื่อเตือนว่า อาจถูกสั่งห้ามส่งออกอาหารทะเลไปสหภาพยุโรป เนื่องจากปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) และสหรัฐฯ ได้จัดให้ประเทศไทยอยู่ในบัญชีประเทศที่จับตามองระดับ Tier 2 ในรายงานการค้ามนุษย์ (TIP report) ฉบับล่าสุด ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า ยังมีข้อบกพร่องมากมายในการดำเนินงานตามมาตรการใหม่ของรัฐบาล และการต่อต้านของอุตสาหกรรมประมงที่มีต่อการปฏิรูป

“ผู้บริโภคในยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่น ควรจะมั่นใจได้ว่าอาหารทะเลซึ่งมาจากประเทศไทย ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์หรือแรงงานบังคับ” แบรด อดัมส์ (Brad Adams) ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชีย ฮิวแมนไรท์วอทช์กล่าว “แต่ถึงแม้รัฐบาลไทยได้ประกาศอย่างกว้างขวางว่ามีพันธกิจจะสะสางอุตสาหกรรมประมง ปัญหาต่างๆ กลับยังเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง”

ฮิวแมนไรท์วอทช์สัมภาษณ์แรงงานประมง ทั้งในปัจจุบันและอดีต 248 คน เกือบทุกคนมาจากพม่าและกัมพูชา รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลไทย เจ้าของเรือ และไต้ก๋ง นักกิจกรรมภาคประชาสังคม ผู้แทนสมาคมประมง และเจ้าหน้าที่หน่วยงานสหประชาชาติ ในบรรดาผู้ที่ให้สัมภาษณ์ 95 คนเคยเป็นแรงงานประมง และได้รับความช่วยเหลือจากการตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ซึ่งมีการบันทึกข้อมูลไว้ ส่วนแรงงานอีก 153 คน เป็นแรงงานประมงที่ยังทำงานอยู่ ยกเว้นเพียงไม่กี่กรณี เราได้ทำวิจัยในท่าเทียบเรือประมงขนาดใหญ่เกือบทุกแห่งในประเทศไทยระหว่างปี 2558-2560

ภายหลังการเปิดโปงของสื่อ กรณีการค้ามนุษย์และการกระทำที่ทารุณโหดร้ายต่อแรงงานในเรือประมงของไทยเมื่อปี 2557 และ 2558 สหภาพยุโรปได้ให้ใบเหลืองกับประเทศไทย ฐานที่ไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ของโครงการการประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุมได้ สหภาพยุโรปยังเรียกร้องให้ฝูงเรือประมงไทย ยุติการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิต่อแรงงานที่ไม่มีเอกสาร รวมทั้งแรงงานประมงต่างด้าวที่เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ในบางกรณี และบอกว่าประเทศไทยควรปฏิรูปเพื่อยุติการปฏิบัติมิชอบเหล่านี้ ส่วนโครงการการค้ามนุษย์ของรัฐบาลสหรัฐฯ ได้กดดันประเทศไทยให้รักษาระดับในบัญชีประเทศที่จับตามองระดับ Tier 2 เอาไว้ ซึ่งถือว่าสูงกว่าระดับต่ำสุดเพียงขั้นเดียว

รัฐบาลไทยแก้ปัญหาด้วยการยกเลิกกฎหมายประมงที่เก่าโบราณ และออกระเบียบปฏิบัติใหม่ เพื่อกำกับดูแลอุตสาหกรรมประมง รัฐบาลได้ขยายผลการบังคับใช้ของกฎหมายแรงงานที่สำคัญ เพื่อให้ครอบคลุมค่าจ้าง และสภาพการทำงานในเรือประมง และได้นำเนื้อหาของอนุสัญญาองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) มาใช้ในกฎหมายของไทยรวมทั้งกฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 มีการกำหนดให้แรงงานประมงข้ามชาติต้องถือเอกสารและมีการนับจำนวนลูกเรือในขณะที่เรือออกจาก และกลับเข้าสู่ฝั่ง ทั้งนี้เพื่อหาทางยุติการปฏิบัติมิชอบที่เลวร้ายสุด รวมทั้งกรณีที่ไต้ก๋งสังหารลูกเรือ ประเทศไทยยังจัดทำระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) กำหนดให้เรือทุกลำต้องเข้ารับการตรวจระหว่างที่ออกและกลับสู่ท่าเทียบเรือ และกำหนดขั้นตอนปฏิบัติเพื่อการตรวจเรือประมงระหว่างอยู่ในทะเล

มาตรการบางอย่าง รวมทั้งระบบติดตามตรวจสอบเรือและการจำกัดเวลาออกเรือแต่ละครั้งไม่เกิน 30 วัน ทำให้เกิดการปรับปรุงที่สำคัญต่อแรงงานประมง อย่างไรก็ดี มาตรการเพื่อแก้ปัญหาแรงงานบังคับ และการคุ้มครองสิทธิแรงงานและสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอื่น ๆ มักเน้นที่รูปแบบมากกว่าผลลัพธ์ ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า ระบบการตรวจแรงงานเป็นการสร้างภาพเพื่อผู้ชมระหว่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ฮิวแมนไรท์วอทช์ระบุ ยกตัวอย่างเช่น ตามระบบควบคุมการแจ้งเข้า-ออกเรือประมง (PIPO) ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า เจ้าหน้าที่พูดคุยกับไต้ก๋งและเจ้าของเรือและตรวจสอบเอกสาร แต่ไม่สัมภาษณ์แรงงานประมงข้ามชาติโดยตรง

แม้จะมีการจัดสรรทรัพยากรจำนวนมากให้กับกระทรวงแรงงานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แต่กลับไม่มีการตรวจแรงงานประมงระหว่างออกทะเลในเรือประมงของไทยอย่างเป็นผลและอย่างเป็นระบบ ยกตัวอย่างเช่นในรายงานการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2558 รัฐบาลไทยเปิดเผยว่า จากการตรวจแรงงานประมง 474,334 คน กลับไม่พบแรงงานบังคับแม้แต่กรณีเดียว เมื่อเร็ว ๆ นี้ เป็นเรื่องเหลือเชื่อที่จากการตรวจแรงงานประมงกว่า 50,000 ครั้ง กลับไม่พบการละเมิดข้อกำหนดเกี่ยวกับสภาพการทำงานและเวลาทำงาน ค่าจ้าง การปฏิบัติต่อแรงงานระหว่างอยู่ในทะเล และปัญหาอื่น ๆ ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และกฎกระทรวง พ.ศ.2557 เลยแม้แต่กรณีเดียว

ข้อกำหนดให้แรงงานประมงต้องมีบัตรประจำตัว ต้องได้รับ และได้เซ็นชื่อในสัญญาจ้างงานอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร และต้องได้รับค่าตอบแทนเป็นรายเดือน ไม่สามารถปฏิบัติได้จริง เนื่องจากนายจ้างปฏิบัติต่อแรงงานประมงเหมือนเป็นแรงงานขัดหนี้ และกีดกันไม่ให้พวกเขาเปลี่ยนนายจ้างได้ เนื่องจากประมวลกฎหมายอาญาของไทยไม่มีฐานความผิดเป็นการเฉพาะต่อการใช้แรงงานบังคับ ส่งผลให้เกิดช่องว่างอย่างใหญ่หลวงระหว่างการบังคับใช้กฎหมาย และการป้องปราม




Forced labor and other rights abuses are widespread in Thailand’s fishing fleets despite government commitments to comprehensive reforms.


“การขาดพันธกิจของรัฐบาลไทย ส่งผลให้เกิดความล้มเหลวของระเบียบ และมาตรการเพื่อป้องกันแรงงานบังคับในภาคประมง” อดัมส์กล่าว “ผู้ผลิต ผู้ซื้อ และผู้ขายปลีกในระดับสากลที่ขายอาหารทะเลจากไทย มีบทบาทสำคัญที่ช่วยดูแลให้ยุติการใช้แรงงานบังคับและการปฏิบัติมิชอบอื่น ๆ”

ในบางด้าน ถือได้ว่าสถานการณ์เลวร้ายลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ฮิวแมนไรท์วอทช์พบว่า กรณีการขึ้นทะเบียน “บัตรชมพู” ของรัฐบาลซึ่งเริ่มนำมาใช้เมื่อปี 2557 เพื่อหาทางลดจำนวนแรงงานข้ามชาติที่ไม่มีเอกสารในประเทศไทย กลับเป็นการผูกติดสถานะทางกฎหมายของแรงงานประมงกับบางพื้นที่ และกับนายจ้างบางคน และลูกจ้างจำเป็นต้องได้รับอนุญาตจากนายจ้างจึงจะเปลี่ยนงานได้ ส่งผลให้เกิดสภาพแวดล้อมที่นำไปสู่การปฏิบัติมิชอบ ระบบบัตรชมพู รวมทั้งกรณีที่แรงงานข้ามชาติไม่ได้รับแจ้งรายละเอียด หรือไม่ได้รับสำเนาสัญญาจ้างงานตามกฎหมาย ได้กลายเป็นช่องทางให้เจ้าของเรือและไต้ก๋งเรือที่ไร้คุณธรรม ปกปิดการบังคับขืนใจ และการล่อลวง ทำให้ดูเสมือนว่ามีการปฏิบัติตามกฎหมายแล้ว ในกรณีเช่นนี้ การปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิจึงเกิดขึ้นเป็นประจำ และขาดการตรวจสอบ โดยเป็นผลมาจากความเพิกเฉยของเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งพอใจแค่การตรวจเอกสารที่บริษัทเรือยื่นมาให้เพื่อเป็นหลักฐานว่าปฏิบัติตามกฎหมายเท่านั้น

กฎหมายแรงงานของไทยขัดขวางการใช้สิทธิของแรงงานข้ามชาติ แรงงานประมงกลัวการตอบโต้ และการปฏิบัติมิชอบของไต้ก๋งเรือ และเจ้าของเรือ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญ แต่รัฐบาลไทยจำกัดสิทธิของแรงงานข้ามชาติในการจัดตั้งสหภาพแรงงาน และการรวมตัวเพื่อเรียกร้อง ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 บุคคลซึ่งไม่มีสัญชาติไทย ถือว่ามีลักษณะต้องห้าม ไม่สามารถจัดตั้งแรงงาน หรือทำหน้าที่กรรมการสหภาพได้

ท่านสามารถดูข้อเสนอแนะของฮิวแมนไรท์วอทช์ต่อรัฐบาลไทย สหภาพยุโรป สหรัฐฯ และหน่วยงานอื่น ๆ ได้ที่นี่

“เราไม่ควรหลงกลกับกฎระเบียบที่ดูดีแค่เพียงในเอกสาร แต่ไม่มีการปฏิบัติจริง” อดัมส์กล่าว “สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ต้องเพิ่มแรงกดดันโดยทันที เพื่อให้ประเทศไทยคุ้มครองสิทธิ สุขภาพ และความปลอดภัยของแรงงานประมง”

ปากคำของแรงงานประมง


“ตอนที่มาถึงผมยังไม่รู้เรื่องอะไร พวกเขาจับตัวผมเข้าไปไว้ในห้องกักขัง ตอนที่ผมเห็นเรือเข้ามา ผมจึงรู้ว่าผมจะต้องทำงานในเรือ ผมไปทำบัตรชมพูวันที่สี่ พอวันที่ห้าก็ได้ออกเรือแล้ว”
–ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ชาวพม่า ต.บางริ้น, จังหวัดระนอง มีนาคม 2559

“ถ้าต้องการออกจากงาน ผมต้องขออนุญาตจากนายจ้างก่อน นายจ้างบางคนยอมให้เราไปได้ แต่บางคนจะอ้างว่าเราต้องจ่ายหนี้ให้เขาก่อน เช่น ถ้าผมสามารถจ่ายเงิน 25,000 บาทให้นายจ้างได้ … เขาอาจปล่อยให้ผมไป แต่ถ้าเขาไม่พอใจ...ผมก็ต้องจ่ายให้เขาเท่าที่เขาเรียกมา”
—เต๊ดเพียวลิน แรงงานประมงชาวพม่า อ.เมือง จังหวัดปัตตานี สิงหาคม 2559

“คุณไม่สามารถลาออกได้ ถ้าคุณลาออกคุณจะไม่ได้รับค่าจ้าง และถ้าคุณจะลาออกจริง ๆ ก็ขึ้นอยู่กับว่าเขาจะยอมให้คุณไปหรือไม่ ถึงคุณจะยอมลาออกโดยไม่รับค่าจ้างและไม่เอาบัตร [ชมพู] ไปด้วย คุณก็ต้องได้รับอนุญาตก่อน”
–เบียน วอน แรงงานประมงชาวกัมพูชา อ.เมือง จังหวัดระนอง พฤศจิกายน 2559

“นายจ้างเก็บบัตรชมพูของผมไว้ [เขาเก็บเอาไว้] เพราะพวกเราบางคนชอบหนีไปทั้ง ๆ ที่ยังจ่ายหนี้ไม่หมด แต่นายจ้างบางคนคิดว่าพวกเราอาจทำ [บัตร] หาย หรือหนีไปพร้อมบัตร”
–วิเสธ แสน แรงงานประมงชาวกัมพูชา อ.เมือง จังหวัดระนอง พฤศจิกายน 2559

“[เจ้าหน้าที่ไทย] จะมาตรวจครั้งละ 10 คนโดยมาทางรถยนต์ มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง พวกเขาจะสั่งให้เราเข้าแถวและโชว์บัตรชมพู มีการขานชื่อ พวกเราก็ยกมือขึ้น เสร็จแล้วพวกเขาก็ไป”
–ทอง เส็ง แรงงานประมงชาวกัมพูชา อ.เมือง จังหวัดระนอง พฤศจิกายน 2559

“ความจริงเราไม่ได้มีเวลาพักมากสักเท่าไร เช่น เราออกจากท่าเทียบเรือตอนหกโมงเช้า ต้องไปวางอวนเพื่อจับปลา จากนั้นก็ลากอวนขึ้นมาพร้อมกับปลา เราต้องทำแบบนี้เป็นประจำจนถึงกลางดึก ขึ้นอยู่กับจำนวนปลาที่เราจับได้ กว่าเราจะได้กลับมาที่ท่าเทียบเรืออีกครั้งก็เป็นเช้าวันรุ่งขึ้น ทำให้เราแทบไม่มีเวลาพัก เพราะหลังจากนั้นเราก็ต้องเริ่มขนถ่ายปลาออกจากเรืออีก”
–จายตุนลวิน แรงงานประมงชาวพม่า ท่าเทียบเรือรัษฎา ภูเก็ต มีนาคม 2559

“มันเหมือนการทรมาน ครั้งหนึ่งผมเหนื่อยมากจนล้มตกออกจากเรือ แต่พวกเขาก็ลากตัวผมขึ้นมาทำงานอีก”
–ซินมินเต๊ด ผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ชาวพม่า ตำบลบางริ้น จังหวัดระนอง มีนาคม 2559



เรื่องเกี่ยวข้อง

กต. ประณาม ฮิวแมน ไรท์ วอทช์ ออกรายงานอย่างมี "อคติทางการเมือง"

(บีบีซีไทย)