วันศุกร์, มกราคม 05, 2561

5 มรดก ที่คสช. จะมอบให้กับคนไทยในปี 2561




หนึ่ง ประกาศใช้กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญครบ 10 ฉบับ

ช่วงปลายเดือนมกราคม 2561 จะเป็นโค้งสุดท้ายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ในการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) หรือกฎหมายลูกให้แล้วเสร็จ ปัจจุบันเหลือ ร่างกฎหมายลูกที่อยู่ในการพิจารณาของ สนช. แค่ 2 ฉบับ ได้แก่ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ ร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

หาก สนช.พิจารณาแล้วเสร็จ จะต้องส่งร่างกฎหมายไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) พิจารณาอีกครั้งว่าร่างกฎหมายดังกล่าวขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ หากเห็นว่าขัดต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญจำนวน 11 คน ซึ่งประกอบด้วย ประธานศาลรัฐธรรมนูญ หรือประธานองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง และสมาชิก กรธ. และสมาชิก สนช. อีกฝ่ายละห้าคน ขึ้นมาพิจารณาร่างกฎหมายอีกครั้ง

เมื่อกรรมาธิการฯ พิจารณาแล้วเสร็จ ร่างกฎหมายข้างต้นจะถูกส่งให้ สนช. ลงมติอีกครั้ง ถ้า สนช. มีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกินสองในสามของจํานวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ให้ร่าง พ.ร.ป. นั้นเป็นอันตกไป ในกรณีที่ สนช. มีมติไม่ถึงสองในสามให้ถือว่าให้ความเห็นชอบตามร่างที่คณะกรรมาธิการฯ เสนอ ทั้งนี้หากขั้นตอนนี้เกิดขึ้นเวลาในการพิจารณากฎหมายลูกของ สนช. จะขยายไปอีก 30 วัน

ทั้งนี้หากไม่มี 'เหตุการณ์ผิดปกติ' ทางการเมืองเกิดขึ้นอีก ก็ให้นำร่างกฎหมายที่ผ่านรัฐสภาแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีรอไว้ 5 วัน จากนั้นให้นำขึ้นทูลเกล้าภายใน 20 วัน และให้พระมหากษัตริย์เห็นชอบภายใน 90 วัน ซึ่งคาดว่ากฎหมายลูกสองฉบับสุดท้ายจะประกาศใช้อย่างช้าสุดก็คือปลายเดือนมิถุนายน 2561 และเดินหน้าสู่การเลือกตั้งต่อไป

ดูความคืบหน้าการร่างกฎหมายลูก 10 ฉบับ ได้ที่นี้

สอง ประกาศใช้ยุทธศาสตร์ชาติ

ปลายเดือนกันยายนของปี 2560 คณะรัฐมนตรีได้มีประกาศแต่งตั้งกรรมการยุทธศาสตร์ชาติขึ้นมา 35 คน ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และคณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่จัดทำแผนยุทธศาสตร์ชาติอันเป็นแผนแม่บทในการขับเคลื่อนประเทศในอีก 20 ปีข้างหน้า จากนี้ไปไม่ว่าจะเป็นการออกนโยบายของรัฐบาลหรือพรรคการเมือง การปฏิรูปประเทศใดๆ ก็ตามล้วนแล้วแต่ต้องอยู่ภายใต้แผนแม่บทฉบับนี้ทั้งสิ้น

ทั้งนี้ ตามกรอบเวลาของ พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ มาถึงขั้นตอนที่คณะกรรมการจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติจะต้องจัดทำร่างยุทธศาสตร์เบื้องต้นให้เสร็จ ซึ่งเส้นตายก็คือวันที่ 24 มกราคม 2561 โดย วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า จัดทำเสร็จหมดแล้วรอส่งให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒฯ) จัดรับฟังความคิดเห็นภายใน 30 วัน หลังจากนั้นจึงให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ดำเนินการแก้ไขก่อนส่งไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง

เมื่อ ครม. พิจารณาเสร็จแล้วก็ส่งให้ สนช. พิจารณาลงมติเห็นชอบ ถ้า สนช. ลงมติเห็นชอบร่างยุทธศาสตร์ชาติแล้ว ให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ แล้วประกาศใช้ แต่หาก สนช. ไม่เห็นชอบ ให้คณะกรรมยุทธศาสตร์ชาติจัดทำร่างยุทธศาสตร์ชาติขึ้นใหม่หรือแก้ไขเพิ่มเติมภายใน 180 วัน นับตั้งแต่ สนช. ไม่เห็นชอบ

อย่างไรก็ดีคาดว่า ถ้า สนช. เห็นชอบ เราจะได้เห็นหน้าตาของแผนยุทธศาสตร์ชาติในช่วงกลางปี 2561

ดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติได้ที่นี่

สาม ประกาศใช้แผนปฏิรูปประเทศ


กลางเดือนสิงหาคมปี 2560 ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ โดยการแต่งตั้งดังกล่าวเป็นไปตาม พ.ร.บ.แผนและขั้นตอนการปฏิรูปประเทศ

สำหรับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ นอกจากจะเป็นคณะกรรมการตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นกลไกหนึ่งตามรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่มุ่งให้เกิดการปฏิรูป โดยคณะกรรมการชุดนี้มีหน้าที่จัดทำแผนเพื่อปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ รวมถึงทำงานอื่นๆ ตามที่รับมอบหมายจากคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ

เมื่อแผนการปฎิรูปประเทศประกาศใช้ คณะกรรมการปฏิรูปฯ มีอำนาจสอดส่องการทำงานของหน่วยงานรัฐ โดยหากเห็นว่าหน่วยงานรัฐดำเนินการไม่สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปฯ คณะกรรมการฯ สามารถประสานงานหรือปรึกษาหารือกับหน่วยงานของรัฐเพื่อแก้ไขปรับปรุงความไม่สอดคล้องนั้น ทั้งนี้ ในกรณีที่ไม่อาจหาข้อยุติร่วมกันได้ ให้เสนอเรื่องนี้ต่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติเพื่อพิจารณา

ปัจจุบันคณะกรรมการปฏิรูปประเทศได้พิจารณาจัดทำแผ่นเสร็จสิ้นแล้ว รอส่งให้ที่ประชุมร่วมคณะกรรมการปฏิรูปประเทศพิจารณาและให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ พิจารณาร่างแผนการปฏิรูปประเทศให่้มีความสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ จากนั้น ให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ และรายงานต่อ สนช. เพื่อประกาศใช้ต่อไป

อย่างไรก็ดี หากคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบแผนดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราน่าจะเห็นตัวแผนปฎิรูปประเทศในช่วงเดือนมีนาคมหรือเมษายน 2561

ดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับคณะกรรมการปฏิรูปประเทศที่นี่

สี่ ประกาศใช้มาตรฐานจริยธรรม


รัฐธรรมนูญปี 2560 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ จัดทำ "ร่างมาตรฐานทางจริยธรรม" ตามมาตรา 219 เพื่อบังคับใช้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ผู้ดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยรัฐธรรมนูญกำหนดให้การจัดทำร่างมาตรฐานทางจริยธรรมต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจาก ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งขณะนี้ยังไม่มี ส.ส. และ ส.ว. จึงต้องจัดการรับฟังความคิดเห็นจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แทน ซึ่งปัจจุบันมีการรับฟังความคิดเห็นจาก สนช. แล้ว

สำหรับร่างมาตรฐานทางจริยธรรมมีทั้งหมด 4 หมวด จำนวน 28 ข้อ โดยมีการกำหนดลักษณะมาตรฐานทางจริยธรรมออกเป็น 3 หมวด ได้แก่

หมวดหนึ่ง มาตรฐานทางจริยธรรมที่เป็นอุดมการณ์ เช่น จะต้องยึดถือผลประโยชน์ของชาติเหนือประโยชน์ส่วนตน ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่แสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นต้น

หมวดสอง มาตรฐานทางจริยธรรมอันเป็นค่านิยมหลัก เช่น ไม่กระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนตนกับประโยชน์ส่วนรวมปฏิบัติหน้าที่ด้วยความอิสระ เป็นกลาง รักษาความลับในการประชุม หรือพึงระวังไม่คบหาสมาคมกับคู่กรณี ผู้ประพฤติผิดกฏหมาย ผู้มีอิทธิพล และไม่กระทำการอันมีลักษณะเป็นการล่วงละเมิดหรือคุกคามทางเพศ เป็นต้น

หมวดสาม จริยธรรมทั่วไป เป็นเรื่องการปฏิบัติหน้าที่อย่างเต็มกำลังความสามารถ ไม่เบียดบังเวลาราชการไปประกอบธุรกิจส่วนตัวฯ

การฝ่าฝืนและไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรม ได้กำหนดโทษไว้ 2 ลักษณะ คือ การฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวดหนึ่ง ให้ถือว่ามีลักษณะร้ายแรง ส่วนการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมในหมวดสอง และหมวดสาม ต้องพิจารณาว่า มีลักษณะร้ายแรงหรือไม่ หากเห็นว่าร้ายแรง ให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ไต่ส่วนและทำความเห็นให้ศาลฎีกาพิจารณา หากศาลฎีการับฟ้อง ให้ผู้ถูกกล่าวหาหยุดปฏิบัติหน้าที่และหากศาลฏีกาตัดสินว่าผิด ก็อาจถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งไม่เกิน 10 ปี รวมถึงหมดสิทธิ์เข้ารับตำแหน่งต่างๆ ทางการเมือง

ทั้งนี้ตามกรอบเวลากำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระต้องจัดทำให้เสร็จภายใน 1 ปี นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญประกาศใช้ และคาดว่าน่าจะประกาศใช้ไม่เกินช่วงต้นเดือนเมษายน 2561

ดูข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานจริยธรรมที่นี่

ห้า การเลือกตั้งตามสัญญา

บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ 2560 ได้วางโรดแมปสู่การเลือกตั้งไว้ว่า ให้ สนช. พิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ทุกฉบับให้เสร็จสิ้นอย่างช้าที่สุดไม่เกินต้นเดือนมีนาคม 2561 หลังจากนั้นให้นายกรัฐมนตรีนำร่างกฎหมายขึ้นทูลเกล้าและรอพระมหากษัตริย์เห็นชอบภายใน 115 วัน ทั้งนี้ หากพระมหากษัตริย์ทรงเห็นชอบ และมีการประกาศใช้กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งครบสี่ฉบับแล้ว ให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน ดังนั้น อย่างช้าที่สุดเราคงได้เห็นการเลือกตั้ง ภายในเดือนพฤศจิกายน 2561

แต่ทว่า การเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นจะเป็นอย่างไรนั้นยังมีความผันผวนสูงอยู่ เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการปลดล็อกพรรคการเมือง ทำให้พรรคการเมืองไม่สามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองหรือประชุมพรรคการเมืองได้ ทั้งที่กฎหมายพรรคการเมืองฉบับใหม่ กำหนดให้พรรคการเมืองต้องดำเนินการขั้นตอนต่างๆ ข้างต้นให้ทันตามกรอบเวลา ถ้าไม่ทันตามกรอบเวลา พรรคการเมืองอาจหมดสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ รวมถึงไม่ได้รับเงินอุดหนุนจากกองทุนเพื่อการพัฒนาพรรคการเมืองในระหว่างที่มีการหาเสียง

ซึ่งโทษดังกล่าวย่อมส่งผลกระทบต่อความได้เปรียบเสียบเปรียบทางการเมือง โดยเฉพาะการไม่สามารถส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งได้ เพราะระบบการเลือกตั้งแบบใหม่จะคิดจำนวนที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ (ปาร์ตี้ลิสต์) จากคะแนน ส.ส.แบบแบ่งเขต ถ้าส่งลงแข่งได้น้อย โอกาสที่จะได้ ส.ส. ในสภาก็น้อยไปด้วย

อย่างไรก็ดี คสช. ได้เพิ่มภารกิจให้กับพรรคการเมืองเก่าอีก โดยการใช้ 'มาตรา 44' ออก คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เพื่อแก้ไขกฎหมายพรรคการเมืองให้ พรรคที่เพิ่งตั้งใหม่และพรรคเก่าเริ่มนับหนึ่งเรื่องการหาสมาชิกพรรคใหม่พร้อมกัน ซึ่งเป็นไปตามข้อเรียกร้องของ ไพบูลย์ นิติตะวัน ประธานเครือข่ายประชาชนปฏิรูป และ สุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ก่อนหน้านี้

นอกจากนี้ ยังกำหนดเงื่อนไขด้วยว่า พรรคการเมืองจะประชุม ตั้งสาขาพรรคได้ ภายใน 90 วัน หลังยกเลิกประกาศคสช./คำสั่งหัวหน้าคสช. แต่กว่าจะยกเลิกประกาศหรือคำสั่งดังกล่าวต้องรอให้มีการประกาศ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภาเสียก่อน นั้นเท่ากับว่าการประชุมพรรคหรือตั้งสาขาพรรคการเมือง การทำไฟรมารี่โหวตเพื่อหาตัวแทนพรรค ก็จะทับซ้อนกับเวลาในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งในช่วงเวลา 150 วัน

ด้วยความผันผวนเช่นนี้ คสช. ยังวางเงื่อนไขไว้อีกว่า ให้ ครม. และ คสช. ร่วมกันจัดทําแผนและขั้นตอนการดําเนินการทางการเมืองเพื่อนําไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปที่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญโดยให้หารือกับ กกต. กรธ. ประธานสนช. และผู้แทนพรรคการเมืองหรือกลุ่มการเมืองต่างๆ ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่า หากมีความผันผวนสูง ครม. และ คสช. อาจขยายโรดแมปการเลือกตั้งออกไปอีก

ที่มา