วันพฤหัสบดี, มกราคม 04, 2561

บทสัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ อะไรจะเป็นแรงขับที่นำไปสู่การเลือกตั้งปี 2561 อะไรเป็นสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงยังต้องกังวล และ คสช.ยังให้ความสำคัญกับ “ทักษิณ ชินวัตร” คู่แค้นฝ่ายตรงข้ามอยู่หรือไม่





“พล.อ.วัลลภ” เสนาธิการทำเนียบ ออกจากกับดักทักษิณ สู่ยุคปฏิรูป ศก.-เลือกตั้ง


3 มกราคม 2561
ที่มา ปนะชาชาตฺิธุรกิจ


สัมภาษณ์พิเศษ


กลไกรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ “ติดตั้ง” โครงสร้าง “อำนาจที่ 4”-ส.ว.แต่งตั้ง 250 คน สถาปนา “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี-หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ “คัมแบ็ก” ใกล้วงโคจร-ศูนย์รวมอำนาจ “ทำเนียบรัฐบาล”

อีกขา “เสธ.ทำเนียบ” บนตึกไทยคู่ฟ้า-“ทีมเศรษฐกิจ” วางหมาก ให้ “ผู้นำทหาร” เดินสาย “สัญจร” 6 ภาค คิดค้น “นโยบายประชารัฐ” ควบ “ประชานิยม” โกยแต้ม-ตัดกำลัง “คนการเมือง” ด้วย “คำสั่งเหล็ก” “เซตซีโร่” โหวตเตอร์-สมาชิกพรรค

“ประชาชาติธุรกิจ” สนทนากับ “พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ” เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ถึงสถานการณ์ในปี 2561 ว่า อะไรจะเป็นแรงขับที่นำไปสู่การเลือกตั้งปี 2561 อะไรเป็นสิ่งที่ฝ่ายความมั่นคงยังต้องกังวล และ คสช.ยังให้ความสำคัญกับ “ทักษิณ ชินวัตร” คู่แค้นฝ่ายตรงข้ามอยู่หรือไม่

Q : ประเมินสัญญาณทักษิณที่บอกว่าจะเลิกเล่นการเมือง วางมือจริง หรือแกล้งตายทางการเมือง


ผมขอมองภาพใหญ่ เรื่องความสามัคคีปรองดองของประชาชน ที่ผ่านมาเป็นบทเรียน ในขณะนี้ทุกคนต้องการความสามัคคีปรองดอง ไม่ใช่เป็นเรื่องของนักการเมืองเท่านั้น ความขัดแย้งเกิดจากความเหลื่อมล้ำ ความยากจน ความยุติธรรม การเข้าถึงทรัพยากรที่เท่าเทียมกัน ดังนั้นทุกฝ่ายต้องร่วมกันแก้ไขเพื่อนำไปสู่ความสามัคคีปรองดอง

สถานการณ์ความมั่นคงขึ้นอยู่กับประชาชน ซึ่งทุกฝ่ายไม่ว่าประชาชน รัฐบาลและนักการเมือง ต่างได้ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มามาก ทั้งความขัดแย้ง ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน ทุกฝ่ายรับรู้แล้วว่าความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันสามารถเกิดขึ้นได้ แต่การแก้ไขปัญหาความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันนั้นก็ต้องแก้ด้วยกฎหมายและใช้แนวทางสันติวิธี ทุกคนต้องคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวม มากกว่าประโยชน์ของกลุ่มหรือของตัวเอง ทุกคนต้องมีน้ำใจเป็นนักกีฬา รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย ทุกอย่างก็จะสามารถผ่านพ้นไปได้ ความรุนแรงและปัญหาเดิม ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้นมาอีก

Q : ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศในเวลานี้เพราะอำนาจพิเศษกดทับไว้

ผมไม่มองอย่างนั้น ผมมองว่าตอนนี้ประเทศชาติมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มีกฎ กติกา ซึ่งประชาชนเห็นชอบ ทุกคนผ่านประสบการณ์ที่ไม่ดีมาแล้ว ฉะนั้นทุกคนคงไม่อยากกลับไปเป็นเหมือนเดิม อยากให้ประเทศชาติมีการปฏิรูป ก้าวไปข้างหน้า ทัดเทียมกับประเทศอื่น ถ้าเรามัวมีแต่ความขัดแย้ง ประเทศชาติหยุดอยู่กับที่เหมือนถอยหลัง ฉะนั้นต้องก้าวเดินไป คนที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นมาอีกมีส่วนน้อยเท่านั้น ไม่ทำให้กระทบโรดแมป

Q : สถานการณ์ความไม่สงบเรียบร้อยในปัจจุบัน


สถานการณ์ในประเทศทุกอย่างเกี่ยวพันกันหมด อย่างไรก็ตามเรื่องความมั่นคงเป็นรากฐานของทุกเรื่อง เมื่อความมั่นคงดี เรื่องเศรษฐกิจก็จะตามมา ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลดำรงพยายามดำเนินการให้ประเทศเกิดความสงบเรียบร้อย ทำให้ตัวชี้วัดด้านอื่นดีขึ้นตามมา เช่น เศรษฐกิจและการท่องเที่ยว นอกจากนี้ยังได้รับความเชื่อมั่นจากต่างประเทศเพราะประเทศเกิดความสงบเรียบร้อยดังนั้นความมั่นคงจึงเป็นพื้นฐานสำคัญ ซึ่งการรักษาความสงบเรียบร้อยไม่ใช่เป็นหน้าที่ สมช. ทหารและตำรวจเท่านั้น แต่เป็นหน้าที่ของประชาชนทุกคนต้องช่วยกัน ที่ผ่านมาถ้าหากประชาชนไม่ร่วมมือ ความสงบเกิดขึ้นได้ยาก เมื่อประเทศชาติอยู่ในสภาวะสงบเรียบร้อย ความเจริญก้าวหน้าจะตามมา

Q : ความสงบเรียบร้อยจะต่อเนื่องตลอดปี 2561 หรือไม่

ในปีหน้าจะมีเหตุการณ์สำคัญ คือ การเปลี่ยนผ่านทางเมือง เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งได้รับการยอมรับจากประชาชนผ่านการออกเสียงประชามติ ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณากฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้งของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) อีก 2 ฉบับ เพื่อเตรียมการไปสู่การเลือกตั้ง เป็นไปตามโรดแมปของรัฐบาล

การเลือกตั้งที่กำลังจะเกิดขึ้นใหม่ อยากให้เป็นการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ความโปร่งใสและได้รัฐบาลใหม่ที่มีธรรมาภิบาล ทุกคนต้องช่วยกัน ประชาชนต้องได้รับความรู้เรื่องประชาธิปไตยที่ถูกต้องและออกไปเลือกตั้งเพื่อให้ได้รัฐบาลที่ดี ซึ่งหากเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่และกฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง หรือกฎ ระเบียบและได้รัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งที่ดี ประเทศชาติก็จะก้าวผ่านและนำไปสู่ความเจริญรุ่งเรืองต่อไป

รัฐบาลปัจจุบันได้ทำโครงสร้างพื้นฐานเพื่อวางรากฐานของประเทศ เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนปฏิรูปประเทศ ซึ่งกำลังจะออกมาในเร็ว ๆ นี้ ฉะนั้นหลายเรื่องมีเป้าหมาย มีกรอบ เมื่อได้รัฐบาลใหม่ที่ดีและผ่านการเลือกตั้งที่บริสุทธิ์ ยุติธรรม ประเทศชาติก็จะก้าวไปสู่ความเจริญรุ่งเรือง

Q : ภัยคุกคามในปัจจุบันและภัยคุกคามรูปแบบใหม่จากต่างประเทศ

ปัญหาภัยคุกคามจากต่างประเทศที่ สมช.กำลังเฝ้าระวัง อาทิ การก่อการร้าย (IS) ซึ่งไหลทะลักเข้ามาในพื้นที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สมช.มีการเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะกลุ่มที่จะนำความคิดหัวรุนแรงเข้ามาเผยแพร่ปัญหาความตึงเครียดบนคาบสมุทรเกาหลีเหนือ เป็นปัญหาที่เป็นความท้าทายของโลกในขณะนี้ เพราะเกาหลีเหนือทดลองขีปนาวุธอยู่ตลอดเวลา ซึ่งมีอานุภาพที่จะครอบคลุมได้ทั่วโลก ฉะนั้นจึงถือเป็นภัยคุกคาม ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมมือกับนานาชาติด้วยการดำเนินการตามมติสหประชาชาติ (UN) เพื่อกดดันให้เกาหลีเหนือกลับมาสู่การเจรจาและมุ่งแก้ไขปัญหาตามแนวทางสันติวิธี

Q : ประเทศไทยยืนอยู่ตรงไหน

จุดยืนของเรา คือ ดำเนินการตามมติ UN โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ปัญหาด้วยการพูดคุย เจรจาเพื่อหาทางออกโดยสันติวิธี และไม่ให้เกิดความรุนแรงที่อาจกระทบกับประเทศต่าง ๆ

Q : การแก้ปัญหาเรื่องความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้


สมช.รับผิดชอบเรื่องนโยบายและแผนในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ รวมทั้งเป็นสำนักงานเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (สล.คปต.) มีหน้าที่พิจารณาออกนโยบาย รวมทั้งประสานงานและบูรณาการงานต่าง ๆ ในจังหวัดชายแดนภาคใต้

ที่ผ่านมามีการบูรณาการกับกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น แผนงาน งบประมาณเพื่อให้การดำเนินการเกิดผลในการแก้ไขปัญหา ปัจจุบันการดำเนินการแก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้ดีขึ้นเป็นลำดับ

Q : บทบาทของ สมช.ในยุคใหม่ไม่ใช่การรับผิดชอบเฉพาะด้านความมั่นคง

รัฐบาลได้นำการพัฒนาเข้าไปในพื้นที่ เช่น โครงการเมืองต้นแบบ “สามเหลี่ยมมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” ลงไปเพื่อให้แก้ไขปัญหาชายแดนภาคใต้เพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดี และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟ ท่าเรือ สนามบินรวมถึงการแก้ปัญหาในเรื่องอาชีพให้สอดคล้องกับประชาชนในพื้นที่ เช่น การแปรรูปปาล์ม ยางพารา ประมง ผลิตภัณฑ์อาหารฮาลาลเพื่อให้ประชาชนอยู่ดีกินดีมากขึ้น

สำหรับการแก้ไขปัญหาด้วยวิธีการพูดคุยสันติสุขยังดำเนินต่อไป มีผู้แทนรัฐบาลในการแก้ปัญหากับทุกกลุ่ม ทุกฝ่าย เพื่อให้เกิดการแก้ปัญหาโดยสันติวิธีร่วมกัน โดยรัฐบาลได้แต่งตั้งคณะผู้แทนพิเศษของรัฐบาลขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบและขับเคลื่อนงานทุกด้าน

Q : ความคืบหน้าเรื่องเซฟตี้โซน


มาตรการนี้เป็นมาตรการที่จะพิสูจน์ทราบต่อไปว่า กลุ่มที่มาเจรจาใช่กลุ่มที่ถูกต้องหรือไม่ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนระหว่างการเจรจาเพื่อกำหนดพื้นที่เซฟตี้โซนและกำหนดมาตรการดูแล

Q : ปัจจุบันเรื่องการข่าวยังเป็นจุดอ่อน

การข่าวคือการประมาณการจากสภาพแวดล้อมเพื่อนำมาวิเคราะห์ ประเมินสถานการณ์ บางอย่างเรามีข้อมูลที่อาจจะไม่เพียงพอที่จะวิเคราะห์และประเมินข่าวได้อย่างถูกต้องชัดเจน อย่างไรก็ตามการข่าวของเรามีความถูกต้องชัดเจนมากขึ้น

Q : บางครั้งข้อมูลจากหน่วยงานความมั่นคงภาครัฐไม่ตรงกัน

ขณะนี้หน่วยงานความมั่นคงประสานงานกันอย่างใกล้ชิด มีการประชุมปรึกษาหารืออย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ฉะนั้นข่าวที่ออกมาจึงสามารถตรวจสอบได้ทำให้ข่าวสารมีความแน่นอนค่อนข้างสูง

Q : ตำแหน่งเลขาธิการ สมช.ในยุค คสช.ล้วนเป็นคนที่ คสช.ไว้ใจได้

คุณสมบัติของเลขาธิการ สมช.เป็นการพิจารณาจากผู้บังคับบัญชาและที่เกี่ยวข้องผ่านคณะกรรมการ สำหรับตัวผมเอง หากผู้บังคับบัญชามอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งไหน ก็จะตั้งใจ มุ่งมั่นและทำให้ดีที่สุด

โดยก่อนจะมารับตำแหน่งเลขาธิการ สมช. ผมได้ผ่านการทำหน้าที่หลายตำแหน่ง เช่น กองทัพบก กองบัญชาการกองทัพไทย กระทรวงกลาโหม เพราะฉะนั้นทุกครั้งที่ย้ายไปดำรงตำแหน่งไหนก็ตาม ได้มุ่งมั่น ตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด

Q : ก่อนหน้านี้แหกทุกกฎเหล็ก-ทุกโผแคนดิเดต

ไม่ได้คาดคิด แต่ภูมิใจที่ได้มาทำงานตรงนี้ เพราะผมเป็นทหาร ผู้บังคับบัญชาให้ไปรับตำแหน่งไหน ก็ต้องสามารถทำงานได้ โดยจะตั้งใจทำงานให้เต็มที่