วันพฤหัสบดี, มกราคม 19, 2560

แดนปริมาณ : การส่งออกและรายจ่ายกองทัพ

แดนปริมาณ : การส่งออกและรายจ่ายกองทัพ

โดย กานดา นาคน้อย
อีเมล์ : dan.pariman@gmail.com
เพจมายด์ : https://www.minds.com/kandainthai

19 มกราคม 2560

เร็วๆนี้มีรายงานข่าวว่ารัฐบาลทหารไทยจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องเป็นมูลค่าหลายแสนล้านบาทต่อปี  รวมกันหลายปีก็เป็นหลักล้านล้านบาท   ข่าวนี้สอดคล้องกับข่าวในอดีตเกี่ยวกับภาระการคลังที่เพิ่มขึ้นมาจากการปรับขึ้นเงินเดือนข้าราชการและการจัดซื้ออาวุธ

สถิติยอดนิยมที่มีผู้นำเสนอในอดีตเพื่อสร้างความชอบธรรมให้แก่การเพิ่มรายจ่ายกองทัพคือสัดส่วนของรายจ่ายกองทัพต่อผลผลิตประชาชาติ(จีดีพี)   ถ้าว่ากันด้วยสถิตินี้รายจ่ายกองทัพไทยก็เป็นเพียงครึ่งหนึ่งของรายจ่ายกองทัพสหรัฐอเมริกา  [1]   แต่สถิตินี้ก็ไม่ได้บ่งชี้ว่ากลาโหมไทยหรือกลาโหมสหรัฐฯใช้จ่ายอย่างไร   นำไปลงทุนเท่าไรและบริโภคเท่าไร     ไม่บ่งชี้ว่ารายจ่ายกองทัพมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาคเอกชนอย่างไร

ความสามารถด้านศักยภาพการป้องกันประเทศไม่ได้วัดกันที่จำนวนนายพลหรือจำนวนเครื่องบินรบหรือจำนวนเรือดำน้ำที่นำเข้าจากต่างประเทศ    แต่วัดจากความสามารถผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์    รายจ่ายกองทัพในประเทศอุตสาหกรรมมีบทบาทในการส่งเสริมการผลิตอาวุธด้วยการส่งเสริมการวิจัยและลงทุนโดยบริษัทอาวุธ   เช่น   บริษัทผลิตเครื่องบินรบ   บริษัทผลิตเรือดำน้ำ  ฯลฯ  บริษัทเหล่านี้ไม่ได้ผลิตแค่อาวุธและนำเทคโนโลยีการบินและการเดินเรือไปใช้ผลิตสินค้าเพื่อการพาณิชย์ด้วย  เช่น บริษัทเครื่องบินรบก็ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ด้วย   ดังนั้นรายจ่ายกองทัพในประเทศอุตสาหรรมก็สร้างงานให้ภาคเอกชนด้วย

ยกตัวอย่างสหรัฐฯซึ่งเป็นมหาอำนาจทางการทหาร    สหรัฐฯเป็นผู้ส่งออกอาวุธและเครื่องบินรายใหญ่    เมื่อวัดสัดส่วนการส่งออกอาวุธและเครื่องบินทั้งเครื่องบินรบและเครื่องบินพาณิชย์ของสหรํฐฯโดยสุทธิ (คือหักลบมูลค่านำเข้าแล้ว)  สหรัฐฯส่งออกโดยสุทธิมาตลอด [2]        ตั้งแต่ปี 2543 ถึงปี 2558 ยอดส่งออกสุทธิดังกล่าวอยู่ระหว่าง 6%-16% ของรายจ่ายของกองทัพสหรัฐฯ [3]  


แต่ในกรณีของไทยยอดส่งออกสุทธิดังกล่าวติดลบมากกว่าเป็นบวก   หมายความว่าไทยนำเข้าโดยสุทธิบ่อยกว่าส่งออกโดยสุทธิ    ในรูปข้างล่างนี้ไทยส่งออกอาวุธและเครื่องบินในปี 2547 และ 2549-2553   ไม่ใช่ว่าไทยผลิตเครื่องบินเพื่อการส่งออกแต่ไทยขายเครื่องบินหรืออะไหล่เครื่องบินที่ซื้อมาในปีก่อนๆออกไปจึงนับว่าเป็นการส่งออก    มีการส่งออกอาวุธบ้างแต่มีสัดส่วนต่ำมาก    โปรดสังเกตว่าตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมายอดส่งออกสุทธิของไทยติดลบมาตลอด   หมายความว่าไทยนำเข้าอาวุธและเครื่องบินโดยสุทธิตั้งแต่ปี 2554  ในปี 2558 ยอดนำเข้าสุทธิสูงถึง 50% ของรายจ่ายกองทัพ



ขอย้ำว่าสถิติส่งออกและนำเข้าเครื่องบินที่ใช้คำนวณในรูปนี้รวมทั้งเครื่องบินรบและเครื่องบินพาณิชย์    เพราะผู้ผลิตเครื่องบินรบก็ผลิตเครื่องบินพาณิชย์ด้วย   และบทความนี้ต้องการนำเสนอผลกระทบต่อภาคการผลิตเพื่อส่งออก

นอกจากอุตสาหกรรมอาวุธและเครื่องบินแล้ว   ยังมีอุตสาหกรรมอื่นที่ได้ประโยชน์จากรายจ่ายกองทัพ อาทิ  อุตสาหกรรมอุปกรณ์สื่อสาร   อุตสาหกรรมยา  ฯลฯ   แต่บทความนี้นำเสนอเพียง 2 อุตสาหกรรม   ถ้ารวมอุตสาหกรรมอื่นเข้าไปด้วยก็จะเพิ่มมูลค่าส่งออกสุทธิของสหรัฐฯขึ้นไปอีก    นอกจากนี้มูลค่านำเข้าที่ใช้ในการคำนวณนี้เป็นมูลค่าที่ผู้นำเข้าจ่ายให้ผู้ขายต่างชาติไม่ใช่มูลค่าที่จ่ายโดยผู้ใช้อาวุธและผู้ใช้เครื่องบิน    มูลค่าที่จ่ายโดยผู้ใช้อาวุธและผู้ใช้เครื่องบินสูงกว่านั้นเพราะผู้นำเข้าย่อมบวกกำไรเข้าไปตอนขายให้ผู้ใช้

เนื่องจากรายจ่ายกองทัพสหรัฐฯมีผลเชิงบวกต่อการผลิต  การส่งออก(และการสร้างงาน)ที่สหรัฐฯ    จึงมีฐานเสียงและนักวิชาการที่สนับสนุนการเพิ่มรายจ่ายกองทัพสหรัฐฯ    แต่ขณะเดียวกันก็มีฐานเสียงและนักวิชาการที่สนับสนุนการลดรายจ่ายกองทัพเพื่อนำงบประมาณไปใช้จ่ายด้านอื่น เช่น ใช้จ่ายด้านรักษาพยาบาล  ลงทุนด้านคมนาคมขนส่ง ฯลฯ   กลุ่มไหนจะมีอิทธิพลต่อนโยบายก็แล้วแต่ว่าฐานเสียงฝ่ายใดมากกว่ากัน

แต่ในกรณีของไทย   รายจ่ายกองทัพไทยไม่ได้ส่งเสริมการผลิตเพื่อการส่งออก  ดังนั้นก็ยากที่จะอ้างอิงปัจจัยด้านเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนรายจ่ายกองทัพไทย

หมายเหตุ
[1] ที่มา : ธนาคารโลก http://data.worldbank.org/indicator/MS.MIL.XPND.GD.ZS
[2] ในฐานข้อมูล UN Comtrade โดยสหประชาชาติ    รหัสอุตสาหกรรมอาวุธคือ HS code 93 และรหัสอุตสาหกรรมเครื่องบินคือ HS code 88: https://comtrade.un.org/data/
[3] ที่มา : ธนาคารโลก http://data.worldbank.org/indicator/MS.MIL.XPND.CN