วันเสาร์, มกราคม 14, 2560

รัฐธรรมนูญไทย นอกจากเป็น "กระดาษชำระ" ฉีกง่ายแล้ว ตอนนี้ยังเป็น "อาหารตามสั่ง"




ภาพจาก มติชน

ชวนอ่านโพสต์ อ.ปิยบุตร แสงกนกกุล เรื่อง รัฐธรรมนูญ และการแก้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย หมวดพระมหากษัตริย์

ที่มา FB

Piyabutr Saengkanokkul


ooo


ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย คง "หวังดี" ไม่อยากให้มีการแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ได้โดยง่าย และมั่นใจว่าบทบัญญัติในหมวดพระมหากษัตริย์ได้เดินทางมาจนบรรลุความต้องการแล้วตั้งแต่รัฐธรรมนูญ 2534 จึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องแก้อีก ดังนั้น เพื่อป้องกันให้หมวดพระมหากษัตริย์แน่นหนาเข้าไปอีก จึงกำหนดให้การแก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์ทำได้ยากมาก

ที่ไหนได้ กลับต้องมาแก้เป็น "ลิงแก้แห"

วิษณุ เครืองาม แถลงใน สนช เมื่อสักครู่ ชัดเจนมากว่า เหตุที่ไม่สามารถปล่อยออกไปก่อนแล้วค่อยตามแก้ทีหลังได้ เพราะ หมวดพระมหากษัตริย์นั้นแก้ยาก ต้องนำไปออกเสียงประชามติ

พวกเขาจึงต้อง "หารู" แก้ รธน 57 เพื่อเปิดทางให้มีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญได้อีกครั้ง แม้ว่าร่างรัฐธรรมนูญนั้นจะผ่าน "ประชามติ" และทูลเกล้าฯเพื่อรอพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธยไปแล้ว

.....

Ancient Coup
Modern Coup
Military Coup
Royal Coup
Reactionary Coup
Judicial Coup
Constitutional Coup
Permanent Coup
Constitutionalization of Coup

เรามีมาหมดแล้ว เอาไปใช้ประกอบการบรรยาย เขียนหนังสือเรื่อง Coup d'Etat ได้สบายๆ

ประเทศไทย สมเป็นดินแดนแห่งการ Coup จริงๆ

.....

Constitutional Coup แก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้สิ่งที่เกิดขึ้นและไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ กลายเป็นชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

.....

รัฐธรรมนูญไทย นอกจากเป็น "กระดาษชำระ" ฉีกง่ายแล้ว ตอนนี้ยังเป็น "อาหารตามสั่ง" อยากได้อะไร สั่งมา จัดให้ทันที เพียงแต่ว่าประชาชนสั่งบ้างไม่ได้เท่านั้นเอง

.....

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยไม่เคยห้ามมิให้แก้ไขหมวดพระมหากษัตริย์

หมวดพระมหากษัตริย์ไม่ได้แตกต่างจากบทบัญญัติในหมวดอื่นๆ ถูกแก้ไขได้ตามกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ตัวอย่างชัดเจนที่สุด คือ. เมื่อสักครู่นี้เอง สนช พิจารณา 3 วาระรวด แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ซึ่งอยู่ในหมวดกษัตริย์ไปเรียบร้อย

ดังนั้น หากใครทียืนยันว่าหมวดพระมหากษัตริย์ แก้ไม่ได้ หรือไม่ควรแก้ แสดงว่าเข้าใจผิด

ถ้าไม่เข้าใจผิด ก็คงต้องการสงวนให้การริเริ่มการแก้ต้องมาจากกษัตริย์เท่านั้น

....

การแก้ไขรัฐธรรมนูญของ สนช สามวาระรวดในไม่กี่ชั่วโมงเมื่อสักครู่ เป็นกรณีที่มีข้อเท็จจริงเกิดขึ้นแล้ว ต่อมาจึงมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้ข้อเท็จจริงที่เกิดไปแล้วนั้นกลายเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

เหตุการณ์ทำนองนี้ เคยเกิดขึ้นมาแล้วที่กัมพูชา เมื่อปี 2004

...

ในยุคปัจจุบัน รัฐธรรมนูญแบบประชาธิปไตย ต้องมี "ประชาชน" เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

หากกษัตริย์เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ นั่นหมายความว่า กษัตริย์อยู่เหนือรัฐธรรมนูญ สถาปนารัฐธรรมนูญให้ องค์กรอื่นๆอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ แต่กษัตริย์ไม่อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ เพราะ ตนเป็นคนสถาปนา

Constitution แตกต่างกับ Charter

รัฐธรรมนูญที่กษัตริย์พระราชทานให้ (Charter) ย่อมสงวนพระราชอำนาจในการบริหารประเทศบางประการไว้กับกษัตริย์ อาจเขียนจำกัดอำนาจกษัตริย์ไว้บ้าง แต่อะไรที่ไม่เขียนไว้ แสดงว่ากษัตริย์มีอำนาจ หรือ กษัตริย์มีอำนาจ คือ หลัก การจำกัดอำนาจกษัตริย์ คือ ข้อยกเว้น

ในขณะที่ "ประชาชน" เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และกำหนดลงไปในรัฐธรรมนูญว่าให้มีองค์กรใดบ้าง เช่น กำหนดให้ประมุขของรัฐ คือ กษัตริย์ เป็นต้น ดังนั้น กษัตริย์จึงมีอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ ซึ่งอยู่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ

.....

ในประเทศที่เปลี่ยนผ่านจากสมบูรณาญาสิทธิราชย์ (Absolute Monarchy) เข้าสู่กษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ (Constitutional Monarchy) มักเกิดความขัดแย้งในเรื่องการประกาศใช้รัฐธรรมนูญตามระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ นั่นคือ ประเด็นปัญหาว่ากษัตริย์ในฐานะประมุขของรัฐต้องเป็นผู้ประกาศใช้รัฐธรรมนูญหรือไม่ หากรัฐธรรมนูญต้องให้กษัตริย์ประกาศใช้แล้ว กษัตริย์มีอำนาจในการยับยั้งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ความขัดแย้งเช่นนี้ที่เป็นกรณีศึกษาได้อย่างชัดเจน คือ รัฐธรรมนูญฝรั่งเศส ๑๗๙๑

Carl Schmitt เห็นว่าระบอบกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ ของฝรั่งเศสนั้น เป็นระบอบที่ประนีประนอมกันระหว่างพลังทางการเมืองสองขั้ว ขั้วหนึ่ง คือ กษัตริย์ อีกขั้วหนึ่ง คือ สภาซึ่งมาจากการเลือกตั้งของประชาชน พลังทางการเมืองทั้งสองขั้วนี้ยังยันกันอยู่ โดยไม่มีขั้วไหนชนะอย่างเบ็ดเสร็จ จึงต้องแสวงหาหนทางที่พอจะตกลงร่วมกันได้ไปก่อน การประนีประนอมรูปแบบนี้ Schmitt เรียกว่า “การประนีประนอมเพื่อซื้อเวลา” เพราะ ในไม่ช้าไม่นาน เมื่อใดก็ตามที่พลังทางการเมืองขั้วหนึ่งแสวงหาความชอบธรรมได้เบ็ดเสร็จและขึ้นมาอยู่เหนือพลังทางการเมืองอีกขั้วหนึ่ง เมื่อนั้นความขัดแย้งระหว่างพลังทางการเมืองทั้งสองขั้วก็จะถูกกำจัดไป

แม้พลังทางการเมืองของฝ่ายกษัตริย์กับฝ่ายสภายังคงประนีประนอมกันอยู่ก็ตาม (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสังเกตจากบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ ว่าด้วยอำนาจของกษัตริย์ในการประกาศใช้พระราชบัญญัติ) แต่หากกล่าวเฉพาะการกำเนิดขึ้นของรัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ แล้ว จะเห็นได้ว่า ระบอบใหม่ของฝรั่งเศสได้แสดงให้เห็นชัดเจนถึงการปฏิเสธความคิดเรื่องอำนาจอธิปไตยเป็นของกษัตริย์ โดยกีดกันกษัตริย์ออกไปจากองค์กรผู้มีอำนาจประกาศใช้รัฐธรรมนูญ

ก่อนหน้านั้น สภาแห่งชาติฝรั่งเศสต้องถกเถียงประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการนำคำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง ลงวันที่ ๔ สิงหาคม ๑๗๘๙ ให้หลุยส์ที่ ๑๖ ลงนาม การประวิงเวลาลงนามในคำประกาศฯของหลุยส์ที่ ๑๖ สร้างความหนักใจให้แก่คณะผู้ก่อการปฏิวัติว่าตกลงแล้วเป็นความผิดพลาดในทางการเมืองหรือไม่ที่ตัดสินใจนำคำประกาศฯให้หลุยส์ที่ ๑๖ ลงนาม ในขณะที่สมาชิกสภาแห่งชาติฝ่ายกษัตริย์นิยมก็ต้องกังวลใจกับการพิสูจน์ว่ากษัตริย์เป็นศัตรูของระบอบใหม่หรือไม่ สภาแห่งชาติจึงต้องถกเถียงกันอย่างหนัก เพื่อตัดสินปัญหาว่า สุดท้ายแล้วใครกันแน่ที่เป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

สมาชิกสภาแห่งชาติทั้งปีกขวาและปีกซ้ายต่างเห็นตรงกันว่ากษัตริย์ไม่มีอำนาจการประกาศใช้หรือยับยั้งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เพราะ กษัตริย์ไม่ใช่องค์กรผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

Mirabeau สมาชิกสภาผู้สนับสนุนระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ยืนยันว่า กษัตริย์มีอำนาจประกาศใช้หรือยับยั้งการประกาศใช้พระราชบัญญัติ ในนามของการถ่วงดุลอำนาจกันระหว่างกษัตริย์ซึ่งสังกัดฝ่ายบริหารกับสภาซึ่งสังกัดฝ่ายนิติบัญญัติ อย่างไรก็ตาม “อำนาจนี้ต้องยุติลง การยับยั้งการประกาศใช้ไม่อาจกระทำได้เมื่อเป็นการสร้างรัฐธรรมนูญ” เขาเห็นว่าประชาชนมีสิทธิในการมอบรัฐธรรมนูญให้แก่ตนเองตามที่เขาพอใจ ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงมีเอกสิทธิ์เหนือกษัตริย์ และกษัตริย์ไม่อาจปฏิเสธได้

ในขณะที่ Robespierre ได้อภิปรายไว้ในวันที่ ๕ ตุลาคม ๑๗๘๙ ซึ่งเป็นวันที่สภาทราบว่าหลุยส์ที่ ๑๖ ยังประวิงเวลาลงนามในคำประกาศฯและร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นรวม ๑๙ มาตรา ว่า

“คำตอบของกษัตริย์ คือ ทำลาย ไม่เพียงแต่ทำลายรัฐธรรมนูญทั้งปวง แต่ยังทำลายสิทธิตามธรรมชาติในการมีรัฐธรรมนูญ... กษัตริย์เอาเจตจำนงของตนเองมาอยู่เหนือชาติ นี่ไม่ใช่การโต้แย้งคำประกาศสิทธิเท่านั้น แต่เราปล่อยให้อำนาจบริหารขึ้นมาอยู่เหนืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างนั้นหรือ? ไม่มีอำนาจใดในผืนแผ่นดินนี้ที่อยู่เหนือชาติและขัดขวางเจตจำนงของชาติได้”

การอภิปรายในสภาแห่งชาติแสดงให้เห็นถึงความพยายามในการแบ่งแยกอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ (Pouvoir constituant) ออกจากอำนาจที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ (Pouvoir constitué) และความสัมพันธ์ของสองอำนาจนี้เองได้กีดกันมิให้กษัตริย์เข้ามาเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ กษัตริย์เป็นหัวหน้าของฝ่ายบริหารซึ่งเป็นองค์กรที่รัฐธรรมนูญตั้งขึ้น และใช้อำนาจในระดับที่รับมาจากรัฐธรรมนูญ (Pouvoir constitué) ดังนั้น กษัตริย์จึงอยู่ต่ำกว่ารัฐธรรมนูญ เสียงข้างมากในสภาแห่งชาติจึงสรุปว่า การให้กษัตริย์ลงนามประกาศใช้คำประกาศสิทธิมนุษยชนและพลเมือง เป็นเพียงการประกาศในทางรูปแบบ ไม่ใช่การขอความเห็นชอบหรือขอความยินยอมจากกษัตริย์

ในส่วนของฝ่ายสนับสนุนกษัตริย์นั้น ยืนยันว่ากษัตริย์มีอำนาจประกาศใช้หรือยับยั้งประกาศใช้คำประกาศสิทธิฯ โดยให้เหตุผลว่า คำประกาศสิทธิฯมีสถานะเป็นกฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตราขึ้น ไม่ใช่รัฐธรรมนูญ ดังนั้น กษัตริย์ในฐานะหัวหน้าฝ่ายบริหารย่อมมีอำนาจประกาศใช้หรือยับยั้งประกาศใช้ได้

แม้ความเห็นตามแนวทางนี้ จะช่วยยืนยันว่า ขนาดฝ่ายสนับสนุนกษัตริย์ก็ยังเห็นว่ากษัตริย์ไม่มีอำนาจยับยั้งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ แต่หากเดินตามความเห็นนี้ ก็เท่ากับว่าเป็นการลดสถานะของสภาแห่งชาติให้กลายเป็นสภานิติบัญญัติ ไม่ใช่สภาร่างรัฐธรรมนูญ และกฎหมายทั้งหลายที่สภาแห่งชาติตราขึ้น ก็เป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติทั้งหมด คำประกาศสิทธิฯก็ดี ร่างรัฐธรรมนูญเบื้องต้นรวม ๑๙ มาตรา ก็ดี กลายเป็นกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติ ซึ่งกษัตริย์ย่อมมีอำนาจยับยั้งการประกาศใช้ได้

หากพิจารณาจดหมายที่หลุยส์ที่ ๑๖ ตอบกลับมายังสภาแห่งชาติในกรณีนี้แล้ว พบว่าในทัศนะของหลุยส์ที่ ๑๖ นั้น สภาแห่งชาติ (Assemblée nationale) ไม่ต่างอะไรจากสภาฐานันดร (Etats généraux) ดังนั้น ผลงานที่สภาแห่งชาติตราขึ้นหรือมีมติขึ้น พระองค์ย่อมมีอำนาจยับยั้งเสมอเหมือนเมื่อครั้งสภาฐานันดรมีมติ พระปรมาภิไธยของพระองค์มีค่าเป็นอำนาจในการตัดสินใจปฏิเสธหรือยินยอมกฎหมายต่างๆได้

ประเด็นปัญหาเรื่องการลงพระปรมาภิไธยในคำประกาศสิทธิฯแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งในวิธีคิดระหว่างกษัตริย์กับสภาแห่งชาติ ซึ่งในท้ายที่สุด ประเด็นปัญหานี้ถูกคลี่คลายด้วยพลังบนท้องถนน กล่าวคือ ประชาชน หรือกลุ่มที่เรียกว่า “Sans culottes” ได้เดินขบวนประท้วงกดดันหลุยส์ที่ ๑๖ ในหลายกรณี ทำให้ในท้ายที่สุด หลุยส์ที่ ๑๖ ต้องยอมลงนาม

จากกรณีการลงนามในคำประกาศสิทธิฯนี้เอง ทำให้สภาแห่งชาติป้องกันมิให้กษัตริย์ยับยั้งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ หากพิจารณาในทางลายลักษณ์อักษร รัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ แสดงให้เห็นถึงการไม่ยอมรับอำนาจยับยั้งการประกาศใช้รัฐธรรมนูญของกษัตริย์

ประการแรก วันที่อย่างเป็นทางการที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ คือ ๓ กันยายน ๑๗๙๑ ในขณะที่หลุยส์ที่ ๑๖ ลงนามยอมรับรัฐธรรมนูญในวันที่ ๑๔ กันยายน ๑๗๙๑ แสดงว่า รัฐธรรมนูญนี้มีผลบังคับใช้โดยการให้ความเห็นชอบโดยสภาแห่งชาติซึ่งเป็นองค์กรผู้ร่างรัฐธรรมนูญก่อน หลังจากนั้นกษัตริย์จึงลงนามยอมรับในภายหลัง ดังนั้น การลงนามของกษัตริย์จึงเป็นเพียงการลงนามในทางรูปแบบที่ไม่ส่งผลต่อการมีผลเป็นกฎหมายของรัฐธรรมนูญ

ประการที่สอง รัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ มาตรา ๔ ส่วนที่ ๑ บทที่ ๑ ตอนที่ ๓ บัญญัติให้กษัตริย์ต้องสาบานตนว่าจะใช้อำนาจบริหารเพื่อพิทักษ์รักษารัฐธรรมนูญที่ตราขึ้นโดยสภาแห่งชาติ

ประการที่สาม บทบัญญัติสุดท้ายของรัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ กำหนดขั้นตอนการนำรัฐธรรมนูญให้กษัตริย์ลงนามไว้ว่า ให้สภาเสนอรายชื่อสมาชิก ๖๐ คนเพื่อเสนอรัฐธรรมนูญต่อกษัตริย์ จะเห็นได้ว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญระมัดระวังที่จะหลีกเลี่ยงไม่ใช้คำว่า เสนอรัฐธรรมนูญต่อกษัตริย์เพื่อให้กษัตริย์ให้ความเห็นชอบ

รัฐธรรมนูญ ๑๗๙๑ ช่วยยืนยันให้เห็นชัยชนะของฝ่ายปฏิวัติ กษัตริย์ไม่มีอำนาจยับยั้งรัฐธรรมนูญ กษัตริย์ต้องลงนามในรัฐธรรมนูญซึ่งมีผลสมบูรณ์ในทางกฎหมายไปแล้วตั้งแต่สภาแห่งชาติ (ซึ่งทำหน้าที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ) ให้ความเห็นชอบ

รัฐธรรมนูญนี้ให้อำนาจกษัตริย์ในการยับยั้งกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติเท่านั้น

การแบ่งแยกแดนนิติบัญญัติกับแดนรัฐธรรมนูญออกจากกันเช่นนี้ ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายที่ฝ่ายนิติบัญญัติตรา คือ ผลงานร่วมกันระหว่างสภาแห่งชาติ (ตราและให้ความเห็นชอบ) และกษัตริย์ (ประกาศใช้)

ส่วนรัฐธรรมนูญเป็นผลงานของสภาผู้มีอำนาจร่างรัฐธรรมนูญแต่เพียงผู้เดียว ไม่เกี่ยวกับกษัตริย์

ในนัยนี้เอง กษัตริย์จึงไม่ได้เป็น “องค์อธิปัตย์” (Souverain) แต่เป็นกษัตริย์ที่เกิดขึ้นตามรัฐธรรมนูญกำหนดและอยู่ใต้รัฐธรรมนูญ

.....

๒๒ พฤษภาคม ๒๕๕๗ คือ รัฐประหาร

แต่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๐ นี่สิ อาจเรียกได้ว่าเป็น "ปฏิวัติ" เลยทีเดียว

.....

ในบทความ "ระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข ที่มาและที่ไป" อาจารย์เกษียร เตชะพีระ ได้ชี้ให้เห็นถึงบทบาทของนักกฎหมายมหาชนในช่วง “ประชาธิปไตยแบบหลัง ๑๔ ตุลา” ได้แก่ งานช่างเทคนิคด้านอำนาจอธิปไตยแห่งรัฐ งานเกลี่ยเชื่อมรอยต่อของระบอบการเมืองการปกครองโดยรักษาพระราชอำนาจและประคับประคองสถานะความมั่นคงของสถาบันกษัตริย์ และการเสนอคำอธิบายที่ประสานหลักนิติธรรมเข้ากับพระราชอำนาจนำแห่งธรรมราชา

แต่เหตุการณ์เมื่อวันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๐ ได้ส่งผลให้ทฤษฎีที่นักกฎหมายมหาชนที่เพียรพยายามสร้างกันมาหลายทศวรรษ เป็นอันสิ้นสุดลง ใช้การไม่ได้อีกต่อไป

อยู่ที่ว่า อนาคต จะมีนักกฎหมายมหาชนคนใดสามารถ "ประดิษฐ์สร้าง" ทฤษฎีและคำอธิบายเพื่อสอดรับกับเหตุการณ์นับตั้งแต่วันที่ ๑๐ มกราคม ๒๕๖๐ ได้อีก? และจะอธิบายอย่างไร?

.....

เป็นอันยืนยัน ทั้งในทางข้อเท็จจริงและในทางตัวบทว่า ในราชอาณาจักรไทย กษัตริย์ คือ ผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ

ดังนั้น หลักกษัตริย์ใต้รัฐธรรมนูญจึงมีไว้เรียนกันในตำราเท่านั้น และไม่อาจเรียกได้ว่า ราชอาณาจักรไทย เป็น Constitutional Monarchy - Parliamentary Monarchy ต่อให้วันหน้ามีรัฐธรรมนูญถาวรและมีการเลือกตั้งก็ตาม

.....


ตามประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญไทย มีกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอยู่ 2 ครั้งเท่านั้นที่กำหนดให้พระมหากษัตริย์มีพระราชอำนาจในการ "วีโต้" แบบ "เด็ดขาดถาวร" ต่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ตกไปได้ทั้งฉบับ คือ

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญ 40 (ตาม รธน 34 กำหนดให้การทำ รธน ใหม่ (ซึ่งกลายเป็น 40) นั้น กษัตริย์มีอำนาจวีโต้ตกฉบับได้

กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ (ตาม รธน 57 กำหนดให้การทำ รธน ใหม่นั้น กษัตริย์มีอำนาจวีโต้ตกทั้งฉบับได้)

อย่างไรก็ตาม กรณีแรก รธน 34 "รอบคอบ" กว่า ตรงที่กำหนดกระบวนการเอาไว้ต่อว่า หากกษัตริย์ "วีโต้" กระบวนการทำ รธน ใหม จะเป็นอย่างไรต่อไป

ในขณะที่ กรณีหลัง กรณีปัจจุบันนี้ รธน 57 คง "คาดไม่ถึง" จึงไม่ได้กำหนด กระบวนการเอาไว้ต่อว่า หากกษัตริย์ "วีโต้" กระบวนการทำ รธน ใหม จะเป็นอย่างไรต่อไป

นั่นหมายความว่า คนทำ รธน 57 คงไม่คิดว่าจะเกิดกรณี "วีโต้" ขึ้น

หากเกิดการวีโต้ขึ้นจริง นี่ก็จะเป็นอีกกรณีหนึ่งที่ "เนติบริกร" ในยุคปัจจุบัน ต้องไปหาทางหาช่องกันต่อไป

เรา คนดูวงนอก นี่คือโอกาสที่จะสังเกตการณ์ และนำมาใช้เป็นตัวอย่าง ผลิตงานทางวิชาการต่อไป

.....


Constitutional Monarchy จะสอดคล้องอยู่อาศัยไปกันได้กับระบอบประชาธิปไตยได้ ไม่ได้ขึ้นกับตัวบทที่ปรากฎในรัฐธรรมนูญแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังต้องขึ้นกับความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจในทางความเป็นจริงด้วย

แน่นอน ตัวบทรัฐธรรมนูญที่ได้มาตรฐานประชาธิปไตย จำกัดอำนาจกษัตริย์ไว้ ก็ช่วยจัดความสัมพันธ์อำนาจระหว่างกษัตริย์กับสถาบันการเมืองอื่นๆได้อยู่บ้าง แต่เพียงเท่านี้ ยังไม่พอ

ยกตัวอย่างเช่น

รัฐธรรมนูญกำหนดให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ตามคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร

รัฐธรรมนูญกำหนดให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตามคำแนะนำและยินยอมของนายกรัฐมนตรี

รัฐธรรมนูญกำหนดให้กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งระดับสูง เช่น ข้าราชการระดับสูง ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ ผู้มีอำนาจจริงๆ คือ สภาผู้แทนราษฎร นายกรัฐมนตรี หรือรัฐมนตรี

ส่วนกษัตริย์เป็นเพียงผู้ลงนาม ให้สมกับรูปแบบรัฐราชอาณาจักรเท่านั้น

จึงเกิดสูตร "การลงพระปรมาภิไธย-การลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ"

และ "กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยไม่ต้องรับผิดชอบ ผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการรับผิดชอบ"

นี่ว่ากันตามหลักการของ Constitutional Monarchy ที่สอดคล้องกับระบบรัฐสภา ระบอบประชาธิปไตย

ถามว่า องค์กรผู้รับสนองฯ แนะนำมา แล้วกษัตริย์ไม่ลงนาม ทำได้หรือไม่?

ทำได้แน่นอน เพราะ ไม่มี "ปืน" ไปจี้บังคับให้กษัตริย์เซ็นได้ และไม่มีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญใดอนุญาตให้องค์กรผู้รับสนอง แต่งตั้งได้เลยโดยไม่ต้องมีพระปรมาภิไธย

แล้วทำไมกษัตริย์ถึงลงพระปรมาภิไธยทุกครั้ง? ยอมทำตามคำแนะนำขององค์กรผู้รับสนองพระบรมราชโองการทุกครั้ง?

นี่คือพัฒนาการของการเกิดขึ้นของ Constitutional Monarchy ที่กษัตริย์หมดอำนาจลง คงเหลือไว้แต่เพียงตำแหน่งประมุขของรัฐในทางสัญลักษณ์

กว่าจะมาถึงได้ ก็ต้องมีการต่อสู้กันระหว่างสภา รัฐบาล และกษัตริย์

ประวัติศาสตร์รัฐธรรมนูญของหลายประเทศ แสดงให้เห็นว่า กษัตริย์พยายามเหนี่ยวรั้งและใช้อำนาจด้วยตนเอง แต่สภาก็ดี รัฐบาลก็ดี สู้จนชนะ และกษัตริย์ต้องยอมถอยไป

ถ้าถอยดีๆ ก็กลายเป็น Constitutional Monarchy แบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ถ้าไม่ถอย ก็กลายเป็นสาธารณรัฐ

เมื่อก่อรูปกลายเป็น Constitutional Monarchy แบบปัจจุบันแล้ว เกิดกษัตริย์ไม่ยอมลงพระปรมาภิไธยขึ้นมา หรือลงพระปรมาภิไธยเอาเองตามใจชอบขึ้นมา เช่น ไม่ตั้งนายกฯตามที่สภาเสนอ ไม่ตั้งข้าราชการระดับสูงตามที่นายกฯเสนอ หรือ ยุบสภาเอาเองดื้อๆ รัฐบาลและรัฐสภาก็คงไม่ปล่อยกษัตริย์เอาไว้แน่ๆ ต้องใช้อำนาจตอบโต้ เปิดเผยให้เห็น

บางประเทศ ไม่ต้องการให้เกิดสภาวะเช่นนี้ได้เลย ก็แก้ปัญหาด้วยการ "ยึดลายเซ็น" ไม่ให้กษัตริย์ลงพระปรมาภิไธย อะไรทั้งสิ้น คงเหลือเพียงแค่ราชพิธี รับแขกบ้านแขกเมืองเท่านั้น เช่น สวีเดน

ท่านทั้งหลายจะเห็นได้ว่า Constitutional Monarchy เข้ารูปเข้ารอยได้ ต้องอาศัยองค์กรทางการเมืองอื่นๆที่กล้าใช้อำนาจตอบโต้กับกษัตริย์

ตอบโต้ไปจนเกิดกลายเป็น "contrainte juridique - เหตุปัจจัยบังคับทางกฎหมาย" ต่อกษัตริย์ ให้ต้องลงพระปรมาภิไธยทุกครั้ง บีบบังคับไม่ให้กษัตริย์ใช้อำนาจตามอำเภอใจเพียงลำพัง

ใน Constitutional Monarchy แบบนี้ กษัตริย์จึงต้องลงพระปรมาภิไธยทุกครั้ง

ส่วนการลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ จึงไม่ใช่ "การรับสนอง" ทำตามใจกษัตริย์ แต่เป็น "การลงนามกำกับ" ให้กษัตริย์ลงนาม ต่างหาก

ตรงกันข้าม ถ้าไม่มี "contrainte juridique - เหตุปัจจัยบังคับทางกฎหมาย" ตัวนี้เกิดขึ้น กษัตริย์ก็อาจใช้อำนาจได้

ต่อให้ตัวบทรัฐธรรมนูญเขียนอย่างสวยหรูว่า กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลเป็นนายกรัฐมนตรี ตามคำแนะนำและยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร ก็ดี

กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการยุบสภาผู้แทนราษฎร ตามคำแนะนำและยินยอมของนายกรัฐมนตรี ก็ดี

กษัตริย์มีพระราชอำนาจในการแต่งตั้งบุคคลดำรงตำแหน่งระดับสูง เช่น ข้าราชการระดับสูง ตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ก็ดี

สุดท้าย ในความเป็นจริง ถ้ากษัตริย์จะใช้อำนาจจริงๆ โดย "กระซิบ" องค์กรผู้รับสนองฯ แล้วองค์กรผู้รับสนองฯ ก็ยอมทำตามทุกครั้งไป

ก็จะกลายเป็นว่า กษัตริย์ใช้อำนาจเอง แล้วยังไม่ต้องรับผิดชอบด้วย เพราะ มีผู้รับสนองฯลงนาม และผู้รับสนองฯก็ต้องรับผิดชอบเอง กษัตริย์ไม่เกี่ยว แถมยังทำถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกประการอีกด้วย

สภาวะเช่นนี้ ก็จะเกิด Constitutional Monarchy ที่กลับตาลปัตร

แทนที่ จะมี "contrainte juridique - เหตุปัจจัยบังคับทางกฎหมาย" ต่อกษัตริย์

กลายเป็นมี "contrainte juridique - เหตุปัจจัยบังคับทางกฎหมาย"ต่อองค์กรผู้รับสนองฯ ให้ต้องยอมลงนามรับสนองฯทุกครั้ง ตามความต้องการของกษัตริย์

Constitutional Monarchy เป็นเสื้อผ้าอาภรณ์ประดับกาย แต่ด้านใน เป็นระบอบที่กษัตริย์มีอำนาจโดยแท้ และไม่ต้องรับผิดชอบ แนบเนียนกว่าสมัย Absolute Monarchy เสียอีก

ooo

พัฒนาการทางความคิดเกี่ยวกับ "อำนาจ" อะไรบางอย่างที่ทรงพลานุภาพอยู่เหนือระบอบที่ดำรงอยู่ เป็นอำนาจที่ก่อตั้งระบอบขึ้นมาใหม่ เป็นอำนาจที่ไปก่อตั้งอำนาจชนิดอื่นๆ

1. Roman
Dictateur
สถานการณ์พิเศษเพื่อรักษารัฐ

2. Marcelius de Padova
อำนาจสูงสุดของประชาชน
เป็นอำนาจที่สูงกว่ากษัตริย์และสันตะปาปา

3. Niccolò Machiavelli
virtù
คุณธรรมฝืนโชคชะตาได้

4.Spinoza
Natura naturans/Conatus
ธรรมชาติที่ไปก่อตั้งธรรมชาติ/ศักยภาพมนุษย์

5.Georges Lawson
majestas realis
ล้มระบอบเมื่อจำเป็น

6.John Locke
สิทธิในการล้มล้างรัฐบาล

7.Jean-Jacques Rousseau
Législateur
ผู้ก่อตั้งระบอบ (ความหมายที่รุสโซให้ไว้ ไม่ใช่หมายถึงผู้ทรงอำนาจนิติบัญญัติ แต่เป็นผู้ทรงอำนาจในการก่อตั้งระบอบ)

8. Sieyès
Pouvoir constituant
อำนาจก่อตั้งรัฐธรรมนูญ

9. Kelsen
Grundnorm

10. Schmitt
Pouvoir constituant
อำนาจสูงสุดในการตัดสินใจให้ระบอบเป็นแบบนี้

11. Negri, Balibar,
ศักยภาพและความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เป็นอยู่ได้เสมอ

12. Arato, Ulrich Preuss
อำนาจก่อตั้งรัฐธรรมนูญไม่ได้ไร้จำกัด แต่มีหลักการสิทธิมนุษยชน เสรีประชาธิปไตยกำกับอยู่

ทั้งหมดที่ยกมานี้ อาจมีตุดร่วมกัน จุดแตกต่างกันอยู่บ้าง

จุดร่วมกัน คือ อำนาจสูงสุดของประชาชนในการก่อตั้งระบบขึ้นมา หรือ อำนาจที่ไปก่อตั้งอำนาจชนิดอื่นๆ

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาในเนื้อหาที่ปรัชญาเมธีแต่ละคนได้นำเสนอแล้ว จะพบว่ามีความแตกต่างในสาระสำคัญอยู่ซึ่งเราอาจแบ่งได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ ได้แก่

อำนาจเพื่อการต่อต้าน (Resistant) ได้แก่ ความคิดของ Lawson, Locke กลุ่มนี้ เห็นว่า ในสภาวะปกติ ประชาชนไม่สามารถล้มล้างรัฐบาลหรือเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองได้ ประชาชนจะมีสิทธิในการต่อต้านระบอบที่เป็นอยู่ได้ก็ต่อเมื่อเกิดเงื่อนไขบางประการเสียก่อน

อำนาจเพื่อการปฏิวัติ (Revolution) ได้แก่ ความคิดของ Machiavelli, Spinoza, Rousseau, Sieyès ซึ่งยืนยันว่า ประชาชนเป็นผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ และอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญนี้ดำรงอยู่ตลอดกาล ประชาชนจึงมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงหรือล้มเลิกสิ่งที่ดำรงอยู่ได้เสมอ

ที่มา FB