วันก่อนทั่น สปท. ปากหม่อม พูดเรื่อง ‘กระสัน’ เลือกตั้ง วันนี้ทั่นรอง นยรมต. กระสันเหมือนกัน ‘ปฏิรูปเศรษฐกิจ’ เหมือนที่ คสช. กระสันมานาน ‘ปฏิรูปการเมือง’
ทั้งนั้นทั้งนี้ไม่ว่าจะปฏิรูปเรื่องไหนยังมองไม่เห็นวี่แววอะไรทั้งสิ้น เพราะเท่าที่พูดๆ กันมีแต่หลักการ นักวิชาการที่ไหนก็พูดได้
แต่ว่านี่ไม่ใช่เวลาเป็นนักวิชาการบรรยายออกสื่อ ทั่นต้องเป็นนักบริหาร ทำอะไรทำไปแล้วเห็นผลสัมผัสได้รวดเร็ว
โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจต้องภายใน ๖ เดือนถึง ๑ ปี ไม่ใช่จะสามปีแล้วยังรอปีหน้าหรือปลายปีนี้ ร้ายที่สุดจะเอา ๑๕ ปี เหมือนพวกพี่ๆ ของับสัก ๒๐ ปี
ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ ไปพูดที่ลาดพร้าวถึง ‘จุดเปลี่ยนประเทศไทย’ ที่เอาเข้าจริงไม่รู้เมื่อไหร่
“ผมต้องดำเนินการสองอย่าง คือ หนึ่งไม่ทำให้เศรษฐกิจทรุดไปมากกว่าเดิม สองปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจ เปลี่ยนวงจรชีวิตเศรษฐกิจไทยใน ๑๐-๑๕ ปีข้างหน้า”
(http://www.matichon.co.th/news/423851)
แถมย้ำ “แต่ไม่ได้หมายความว่าบอกวันนี้ พรุ่งนี้ได้” ออกลายว่าจะ ‘อยู่ยาน’ แบบเดียวกับพวกหัวหน้า
แผนงาน ‘ทุ่ม’ โน่น ‘เศรษฐกิจดิจิทัล’ ๑.๕ หมื่นล้าน นี่ ‘สมาร์ทเอสเอ็มอี’ ๑.๕ แสนล้าน ก็พอถูกหลักการอยู่หรอก ซึ่งจะเจ๋งก็ต่อเมื่อเห็นผลทัน ปากไม่เริ่มแห้งผากจะอดตาย
ทั่นกูรูเศรษฐกิจวาดฝันต่อ “แม้สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ครั้งนี้จะรุนแรง แต่เชื่อว่าไม่กระทบอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปี ๒๕๖๐ ที่คาดว่าจะขยายตัวไม่น้อยกว่า ๓-๔%”
จะเชื่อได้แค่ไหน ถ้าให้ดีต้องฟังคนเห็นต่าง doublecheck ให้รู้แน่ว่าไม่น่าพลาด
เมื่อวานรักษาการรองเลขาฯ พรรคเพื่อไทย ออกมาแย้ง “ไม่อยากให้วาดฝันเกินจริง”
น.ส.อนุตตมา อมรวิวัฒน์ โขก ‘ทีมเศรษฐกิจรัฐบาล’ ว่า “ตั้งแต่หลังรัฐประหาร ทีมเศรษฐกิจชุดนี้ก็พยายามที่จะทำการตลาดและขายฝันแบบนี้มาโดยตลอด แต่ผลลัพธ์ที่ออกมากลับตรงข้ามอย่างสิ้นเชิง”
ตรงข้ามยังไง ไปฟังเธอต่อ “ทีมเศรษฐกิจชุดนี้อ้างว่าทำเศรษฐกิจฟื้นจาก ๐.๘% มาเป็น ๒.๘% และ ประมาณ ๓.๒% ในปีนี้ น่าจะเป็นการให้ข้อมูลที่ผิด...
สองปีที่ผ่านมา มีการขยายตัว ๒.๘ ในปี ๒๕๕๘ และ ประมาณ ๓.๒% ในปี ๒๕๕๙ นี้ ถือเป็นการเจริญเติบโตที่ต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้านมาก (เธออ้างมาเลเซีย “ขยายตัวมากกว่าไทยมาก”)”
ยังมีอีก “ทุกคนยังจำได้ตอนยกทีมไปประเทศญี่ปุ่นเพื่อเชิญชวนนักลงทุนมาลงทุนในปี ๒๕๕๘ แต่ญี่ปุ่นกลับลงทุนลดลง ๙๐% และ ปี ๒๕๕๙ ที่ไปเชิญชวนการลงทุนจากเยอรมันและฝรั่งเศส ก็ไม่มีการลงทุนเกิดขึ้นเลย”
จากนั้นเธอบลัฟ “ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยรัฐบาลนายกฯยิ่งลักษณ์ เศรษฐกิจฟื้นจากปี ๒๕๕๔ ที่น้ำท่วมใหญ่มาขยายตัวถึง ๖.๕% ในปี ๒๕๕๕ ตามศักยภาพอย่างแท้จริง”
แล้วไปลงที่ข้อเท็จจริงซึ่งรัฐบาล คสช.ไม่ค่อยอยากให้ใครพูด “ที่เศรษฐกิจขยายตัวต่ำในปี ๒๕๕๗ เกิดจากการชัตดาวน์กรุงเทพและการเกิดรัฐประหาร จึงทำให้เศรษฐกิจตกต่ำ”
(http://www.matichon.co.th/news/423110)
รวมความว่าจะตั้งความหวังสูงส่งเพียงไรในการสร้างสุขภาพเศรษฐกิจไทยให้แกร่งแข็ง น่ะฝันได้ ก่อนอื่นต้อง ‘แก้ไข’ แผลปวดร้าวให้บรรเทาเสียก่อน เท่าที่ผ่านมากว่าสองปีครึ่งมีแต่เรื่อง ‘แก้แค้น’ ทางการเมือง
แล้วยังแอบอ้างยุทธศาสตร์ ๒๐ ปี เอามาไว้ครอบงำ แม้จะร่างรัฐธรรมนูญหมกโน่นหมกนี่วิลิดสะมาหรา และจัดทำประชามติแบบ ‘หักคอ’ โดยอ้างนักอ้างหนาว่าผ่านราบเรียบ
เสร็จแล้วเป็นไง ผ่านแล้วก็ยังแก้ไม่หยุด สมกับที่ถูกวิจารณ์ว่า การทำประชามติไม่มีความหมาย ไม่ได้สะท้อนความต้องการของประชาชนแท้จริง
นี่จาก Pavin Chachavalpongpun: “สรุป ประเทศนี้ รัฐธรรมนูญมีไว้เพื่ออำนวยทุกคน ยกเว้นประชาชน? จะเขียน จะแก้ตรงไหน ถามเจ้าของประเทศหรือยัง?”
เมื่อปลายเดือนที่แล้ว (๒๖ ธ.ค.) iLaw ตั้งข้อสังเกตุเรื่องรัฐธรรมนูญผ่านประชามติแล้วยังเอาไปแก้กันต่ออยู่อีก
หนึ่งนั่นเป็นการแก้ไขรายละเอียดมาตรา ๒๗๒ ประเด็นให้ ส.ส.มีสิทธิเสนอชื่อนายกฯ และ “ให้ ส.ว.ร่วมกับส.ส. ตัดสินใจเปิดทางนายกฯ คนนอก”
(https://ilaw.or.th/node/4384)
และ “มีการออกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จำนวนสองฉบับเพื่อ ‘ปะผุ’ ร่างรัฐธรรมนูญ” โดยใช้ ม.๔๔ อำนาจวิเศษเปลี่ยนแปลงเรื่องการศึกษาและศาสนา ซึ่งบังเอิญอ้างได้ว่าทำให้ดีขึ้น
ทว่าที่กำลังจะรื้อ รธน. ที่ผ่านประชามติกันอีก ด้วยวิธีตั้ง ๑๐ อรหันต์เป็นกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษ “เพื่อดำเนินการยกร่างมาตราที่จะมีการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ให้เป็นไปตามข้อสังเกตพระราชทาน”
ซึ่ง “นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. เปิดเผยว่า ประเด็นที่คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดพิเศษจะต้องพิจารณาแก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ เช่น เรื่องการตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์
โดยร่างรัฐธรรมนูญเดิมเขียนไว้ว่าจะต้องตั้ง และถ้าไม่ได้ตั้งต้องให้ประธานองคมนตรีเป็นโดยอัตโนมัติ ซึ่งจะต้องแก้ไขว่าจะให้มีการตั้งผู้สำเร็จราชการหรือไม่ก็ได้...
เพราะเมื่อพระมหากษัตริย์ทรงไม่มีพระราชประสงค์ที่จะตั้ง ก็แปลว่า พระองค์ก็สามารถทรงงานได้ ดังนั้นก็จะต้องไปแก้มาตราที่เกี่ยวข้อง”
(http://www.naewna.com/politic/252112)