วันจันทร์, มกราคม 16, 2560

เรื่องของโพลกับเรื่องของจริงมันไปด้วยกันไม่ได้





มาเลยเชียวละ โพลอวยช่วยดัน พอ คสช. ตั้งท่าเหมือนจะเอาจริงกับเรื่องปรองดอง โพลก็ออกมายกหาง

“พบว่าประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ ๗๐.๒ ระบุรัฐบาลและทุกฝ่ายควรช่วยกันทำให้เกิดความปรองดองของคนในชาติ ก่อนเลือกตั้งตามโรดแมป”

ดร.นพดล กรรณิกา แห่งซูเปอร์โพล อ้างสำรวจความเห็นคน ๑,๓๐๐ กว่า แต่ขณะเดียวกันคนเหล่านั้นก็มีความเห็นแย้งตัวเองด้วยอัตราร้อยละเท่ากันด้วยว่า

“ส่วนใหญ่หรือร้อยละ ๗๐.๕ กังวลว่า ถ้ามีการเลือกตั้งปีนี้ ความขัดแย้งรุนแรงแบบเดิมๆ จะกลับมา”

(http://www.posttoday.com/politic/475783)

แล้วอย่างนี้จะให้วิจัยตีความออกมาได้อย่างไหนกันล่ะ อยากได้ปรองดองแล้วยังกล้าๆ กลัวๆ คนที่ตอบคำถามสับสน โลเล หรือว่าสักแต่กรอก สักแต่กา กันแน่

ก็เลยมาถึงเรื่องราวของอีกโพล รายนี้ดูมีภาษีดีกว่าโพลกรรณิกา เพราะมาจากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ พูดถึงโทษประหารชีวิตที่คนกำลัง ‘hysteria’ ของขึ้นคลั่งไคล้กันมาก จากคดีเชือดคอปล้นไอโฟน มาถึงฆ่าหึงสาวทอมฝังดิน





‘นิด้าโพล’ ค้นพบจากผู้ให้ความร่วมมือตอบแบบสอบถาม ๑,๒๐๐ กว่าคนว่า “ร้อยละ ๘๖.๓๒ ระบุว่าควรมีการนำโทษประหารชีวิตมาใช้โดยไม่มีการลดโทษในคดีร้ายแรง

เพราะการบังคับใช้กฎหมายในประเทศไทยยังอ่อนมาก ผู้กระทำผิดส่วนใหญ่มักจะไม่หลาบจำ”

ส่วนความผิดที่เห็นสมควรให้ตายตกตามกันได้แก่ “ร้อยละ ๕๖.๕๗ ระบุว่าเป็นคดีฆ่าข่มขืน รองลงมาร้อยละ ๒๒.๐๔ ระบุว่าเป็นการกระทำผิดซ้ำในคดีร้ายแรง ร้อยละ ๑๐.๖๕ ระบุว่า เป็นคดีฆ่าคนตายโดยเจตนา”

(http://www.springnews.co.th/th/2017/01/16383/)

นอกนั้นถือเป็นคดีปลาสร้อยปลาซิว ๓ เปอร์เซ็นต์ ๒ เปอร์เซ็นต์บ้าง แค่ ๑ เปอร์เซ็นต์กว่าๆ ก็มีหลายอย่าง รวมทั้งคดีคอรัปชั่นได้แค่ ๑.๑๐ เปอร์เซ็นต์

แต่แล้วคนกรอกแบบสอบถามนิด้าก็เห็นท่าจะมึนๆ อยู่เหมือนกัน ซึ่งตามถ้อยคำของโพลบอกว่า “ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ ๙๒.๔๐ ระบุว่า ควรมีการเพิ่มโทษผู้ที่กระทำผิดซ้ำในคดีร้ายแรง”

อย่างนี้หมายความว่าให้ประหารชีวิตมากกว่าหนึ่งหนหรือไร

แล้วถ้าเกิดผู้พิพากษาชุดที่ตัดสินประหารชีวิตใคร คดีใดก็ตาม กลับเป็นพวกไม่แม่นมั่น สะเพร่าหรือสุกเอาเผากินอย่างชุดที่ตัดสินคดีครูแพะล่ะ





นางจอมทรัพย์ แสนเมืองโคตร ถูกศาลชั้นต้นตัดสินว่าขับรถชนคนตาย ให้จำคุก ๓ ปี ๒ เดือน จำเลยบอกขณะเกิดเหตุตนอยู่บ้านไม่ได้ไปไหน จึงอุทธรณ์คำตัดสิน ศาลอุทธรณ์ตัดสินยกฟ้อง

“เหตุผลของศาลอุทธรณ์คือ รถกระบะแซง จยย. (ของพยาน) ไปชนรถจักรยานที่ขี่สวนทางมา ฉะนั้น ต้องเกิดรอยครูดที่หน้ารถด้านขวา ไม่ใช่ด้านซ้ายอย่างที่ตำรวจพยายามพิสูจน์หลักฐานว่ามีรอยชนคล้ายชนมนุษย์” (อันนี้ขโมยคำของ Atukkit Sawangsuk มาใช้)

อัยการไม่ยอม ยื่นฏีกาต่อจนได้อย่างใจ ศาลฏีกาตัดสินยืนตามศาลชั้นต้นทุกอย่าง นางจอมทรัพย์เลยติดคุกฟรีไป ๑ ปี ๖ เดือน แล้วถึงได้มีคนไปดูสำนวนพบว่าเหตุผลที่ใช้ในการตัดสินอ่อนมาก ทั้งที่หลักฐานบ่งจำเลยบริสุทธิ์

ขออนุญาตใช้คำของอธึกกิตอธิบายอีก “ศาลฎีกาไม่พูดถึงเหตุผลข้อนี้เลย (เรื่องรอยบุบผิดข้าง) แต่กลับไปเน้นเรื่องการพิสูจน์หลักฐานหน้ารถด้านซ้ายและคำให้การของพยานตามศาลชั้นต้น แล้วบอกว่าน่าเชื่อแม้มีความสับสนเรื่องพยานให้การ คนขับเป็นผู้ชายแต่พนักงานสอบสวนไม่บันทึก”

เหตุนี้จึงเกิดการวิจารณ์ต่อเนื่องมามากมาย รวมทั้งเพจ ‘ทนายคู่ใจ’ ชี้ “ผมว่าสังคมต้องหันไปถามพนักงานอัยการที่มีคำสั่งฟ้องคดีครูแพะด้วยแล้ว อัยการก็ทนายความของแผ่นดินทำไมไม่ตรวจสอบพยานหลักฐานให้ชัดเจนกว่านี้ก่อน”

(http://www.dailynews.co.th/regional/548629)

แม้แต่ทนายดังทางการเมืองพวกขนหน้าแข้ง คสช. วันชัย สอนศิริ ที่เคยเป็นทนายแก้ต่างให้จำเลยในศาลชั้นอุทธรณ์ก็มีโอกาสได้โหนกระแสว่า

“ในชั้นอุทธรณ์และชั้นศาลฎีกา ขณะนั้น พบพิรุธหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนพนักงานสอบสวนหลายประการ ทั้ง เรื่องของสีรถที่ไม่ตรงกัน สภาพของรถที่ไม่มีการบุบสลาย รวมถึงป้ายทะเบียนรถ หรือแม้แต่เพศของผู้กระทำผิด”

แต่นายวันชัยแค่เห็นพ้อง “ให้นางจอมทรัพย์ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้ที่เป็นพยานและเจ้าหน้าที่สอบสวน หรือสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้ถึงที่สุดทั้งทางแพ่งและอาญา” เท่านั้น ไม่ก้าวล้วงไปถึงอัยการ

(http://news.voicetv.co.th/thailand/451881.html)

อาจารย์ยิ้ม สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ไปไกลกว่านั้นนิด “ทำไมคนต้องรับผิดชอบมีแต่ฝ่ายตำรวจ ตุลาการไม่ต้องรับผิดชอบเหรอ”

คงไม่ละมั้ง ในเมื่อสามตุลาการที่พิพากษาจำคุกแพะคดีครูหญิงสกลนครวัย ๕๔ ปี เป็นชุดเดียวกับที่เคยพิพากษาว่า ความผิดหมิ่นกษัตริย์ตามมาตรา ๑๑๒ ครอบคลุมไปถึงพระมหากษัตริย์ในอดีตกาลด้วย

(ขอบคุณ Thanapol Eawsakul รื้อมาให้ดู องคณะในคดี ๑๑๒ อดีตกษัตริย์ คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๓๗๔/๒๕๕๖ กับองคณะในคดีครูแพะ คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๒๒๕๙/๒๕๕๖ เหมือนกันทั้งสามคนคือ นายศิริชัย วัฒนโยธิน, นายทวีป ตันสวัสดิ์, นายพศวัจณ์ กนกนาก)

โดยเฉพาะนายศิริชัย วัฒนโยธิน ขณะนี้เป็นหนึ่งในรองประธานศาลฎีกา ๙ คน ที่นั่งพิจารณาคดีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อยู่ด้วย

เห็นหรือยังว่าเรื่องของโพลกับเรื่องของจริงมันไปด้วยกันไม่ได้ ในประเทศไตแลนเดีย โพลปรองดองก็หนีไม่พ้นกงกรรมอันนี้





ไม่ว่าทางพรรคเพื่อไทย นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการเลขาธิการ “กล่าวถึงกรณีรัฐบาลเดินหน้าสร้างการปรองดองว่า...เป็นการเริ่มต้นที่ดี...พรรคเพื่อไทยรับใส่เกล้าฯ และจะไม่ทำตัวเป็นเงื่อนไขความขัดแย้ง”

(http://www.matichon.co.th/news/427951)

ขณะที่นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็พูดเหมือนกันว่า “เป็นเรื่องที่ดี...มั่นใจว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยและพร้อมจะให้ความร่วมมือช่วยกันทำให้ความปรองดองปรากฏเป็นจริง”

(http://www.innnews.co.th/shownews/show?newscode=756970)

โดยทั้งสองพรรคต่างมีข้อแม้เล็กน้อย นายภูมิธรรมว่า “อยู่ที่รัฐบาลเองด้วยว่า จะไม่ทำตัวเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง และต้องอำนวยให้เกิดความยุติธรรมกับทุกฝ่าย”

ส่วนนายองอาจเน้นให้ ปยป. (กรรมการกำกับยุทธศาสตร์) “สร้างกลไกการแก้ไขปัญหาให้ได้รับการยอมรับ ขณะที่กฎหมาย และกฎเกณฑ์ กติกาทางการเมือง ต้องไม่เอื้อประโยชน์ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใด”

ถึงอย่างนั้นการปรองดองก็อาจจะไปไม่รอดอีก เหมือนการตัดสินคดีครูแพะ ที่หลักฐานไม่ชัดแจ้งแล้วยังตุลาการมั่ว ในเมื่อกรณีปรองดองมีพิมพ์เขียวของ สปท. ค้ำคออยู่

ดังที่ใบตองแห้งวิจารณ์ว่า “ข้อเสนอของ สปท. ชุดเสรี สุวรรณภานนท์ มันไม่ใช่ปรองดอง มันเป็นแค่ ‘ยอมแพ้ซะไม่ติดคุก’

แถมการพักโทษจำคุกก็ยังเลือกปฏิบัติ เช่นความผิดไม่ร้ายแรงได้แก่ปิดสนามบิน ข้อหากบฏ ก่อการร้าย ที่ไม่มีการเผา แปลว่าไอ้พวกที่โดนข้อหาเผาบ้านเผาเมืองก็โดนอยู่ดี แต่พวกปิดเมืองปิดสนามบินเสียหายหลายแสนล้านรอดไป

ยิ่งไปกว่านั้น ในการปรองดองยังบอกว่า ถ้าพวกเมริงยอมแพ้ก็ต้องยอมรับการปิดกั้นเสรีภาพตลอดไป เพราะเสนอให้ออกกฎหมายควบคุมสื่อ นักวิชาการ นักการเมือง ห้าม ‘ปลุกระดม’ ต่อต้านหรือให้ร้ายรัฐบาล การวิพากษ์วิจารณ์ต้องพับเพียบ ก้มกราบอย่างเป็นระเบียบ”

เขาจั่วหัวข้อเป็นคำถามไว้น่าคิด “ชนะแล้วหรือ ถึงจะคิดปรองดอง”