" ผมยังเชื่อว่านักกิจกรรมทางสังคม ปัญญาชนสาธารณะที่ทำงานเพื่อมุ่งสู่การ 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' มีความคิดก้าวหน้า แต่ยอมถอยความคิดและจุดยืนของตัวเองสนับสนุนรัฐประหารก็เพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง"
อ่านบทความ "เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์" : เอ็นจีโอไทยกับรัฐประหาร
ที่มา Thai PBS
21 สิงหาคม 2559
เลิศศักดิ์ คำคงศักดิ์ ผู้ประสานงานกลุ่มนิเวศวัฒนธรรม วิจารณ์บทบาทและการทำงานขององค์กรพัฒนาเอกชนไทยในช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร 22 พ.ค.2557 ซึ่งเขาวิเคราะห์สาเหตุที่เอ็นจีโอบางส่วนสนับสนุนรัฐประหาร และความเชื่อมโยงกับเป้าหมาย "ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน"
บทความนี้เรียบเรียงจากการพูดของเขาในเวทีประชุมสมัชชาคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) ปี 2559 ในหัวข้อ "เหลียวหลัง แลหน้า ขบวนการองค์กรพัฒนาเอกชน" เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2559 ที่ จ.นนทบุรี
..........................
หลังรัฐประหารปี 2557 ผมแบกคำถามที่หนักอึ้งคำถามหนึ่งเอาไว้ว่า "ทำไมเอ็นจีโอ และขบวนการเคลื่อนไหวของประชาชนหรือในส่วนที่เกี่ยวข้องกัน เช่น องค์กรด้านสิทธิชุมชน สิทธิมนุษยชน พวกจับตานโยบาย โครงการพัฒนาและการบังคับใช้กฎหมายที่เข้าข้างรัฐและทุนที่ลดทอน ปิดกั้น คุกคาม สิทธิและเสรีภาพของประชาชน ถึงอยู่ด้านตรงข้ามกับประชาธิปไตยด้วยการสนับสนุนรัฐประหาร?"
ในการคิดทบทวนเพื่อหาคำตอบต่อคำถามนี้ เรื่องหนึ่งที่ผมค้นพบก็คือว่า คำที่ว่า 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' หรือวลีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกัน เช่น 'ประชาชนต้องกำหนดอนาคตตนเอง' 'การพัฒนาต้องมาจากประชาชน' ช่างเข้ากันได้ดีเหลือเกินกับคำที่ว่า 'ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง' ที่คนอย่างพวกเราชอบพูดกันมากในการถกเถียงแลกเปลี่ยนและโต้แย้งกันถึงวิกฤติปัญหาประชาธิปไตย
แต่มันก็เป็นภาพสะท้อนกลับด้วยเช่นเดียวกัน
ด้านหนึ่งก็คือมันสะท้อนความเป็นจริงได้ดีมาก เพราะคงไม่มีประชาชนคนใดอยากเอาชีวิตตัวเองทั้งหมดไปผูกอยู่กับการเลือกตั้งหรอก ชีวิตการเมืองไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง เพราะถึงแม้ดูจะเป็นระบบการเมืองที่มีพัฒนาการไปในทางที่ดี คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนได้ดีที่สุด แต่ก็ยังกดขี่ข่มเหงขูดรีดประชาชนไม่ต่างจากระบอบการเมืองอื่นอยู่ดี
อีกด้านหนึ่งก็คือ ถ้าบอกแบบนี้แล้วก็ต้องพยักหน้าเห็นด้วยไปพร้อมกับคำถามว่า "นั่นสิ เราจะทำยังไงให้ประชาชนที่เราทำงานด้วยเกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้โดยไม่ต้องรอ ไม่พึ่งพิงองคาพยพ องค์กร หรือสถาบันการเมืองที่สนใจแต่การเลือกตั้งเท่านั้น?" หรือ "จะทำยังไงถึงจะทำให้ประชาชนที่เราทำงานด้วยเป็นอิสระ ไม่ขึ้นอยู่กับการเลือกตั้งเท่านั้น?"
พอถามคำถามนี้แล้วก็จะเกิดคำถามต่อมาว่า "เราทำอะไรกันไปแล้วบ้างที่ทำให้เห็นรูปธรรมที่แท้จริง ว่าประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง?"
เมื่อสำรวจดูก็พบว่าเราทำอะไรไปตั้งมากมายเพื่อตอบคำถามนี้ แต่สุดท้ายกลับพบว่าบุคคลและองค์กรที่มีส่วนผลักดันขับเคลื่อนบ้านเมืองและสังคมเพื่อตอกย้ำว่า 'ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง' เป็นพวกที่สนับสนุนรัฐประหาร
อาจจะมีผู้แย้งว่าการสนับสนุนรัฐประหารไม่ได้หมายความว่าอยู่ขั้วตรงข้ามกับประชาธิปไตย หรือเป็นการพัฒนาประชาธิปไตยอีกแง่มุมหนึ่งด้วยซ้ำ
ทุกวันนี้ ความหมายของคำว่า 'ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง' ที่เคยมีความหมายหรือบริบทกว้างขวาง สะท้อนถึงความก้าวหน้าของขบวนประชาชนในทุกๆ ด้าน ถูกทำให้หดแคบลงเพียงแค่ว่า รัฐประหารคือความหมายและคุณค่าที่แท้จริงของ 'ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง' หรือพูดอีกด้านหนึ่งก็คือ รัฐประหารคือคุณค่าที่แท้จริงของความเชื่อความเข้าใจของคนทำงานที่พยายามทำงานเพื่อ 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' หมายถึงว่าต้องสนับสนุนรัฐประหารจึงจะไปถึงความหมายที่แท้จริงของ 'ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง' หรือไปให้ถึงการ 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' เพราะงานที่ทำกันในช่วงที่ผ่านมาเห็นผลช้า หรือพูดให้แย่กว่านั้นคือไม่เห็นผลอะไรเลย ก็เลยต้องวิ่งเข้าหาตัวเร่งปฏิกิริยา คือ 'รัฐประหาร' อย่างที่มีการพูดกันว่า 'รัฐประหารคือหน้าต่างแห่งโอกาส'
แต่ผมเห็นตรงข้าม ไม่ศรัทธาแนวทางที่วิ่งเข้าหาตัวเร่งปฏิกิริยา คือ รัฐประหาร
จริงๆ แล้ว เราทำอะไรกันตั้งมากมาย โดยเฉพาะการทำให้ขบวนประชาชนที่เราทำงานด้วยเข้าใจและพัฒนาคุณค่าและความหมายของคำว่าประชาธิปไตยมาโดยตลอด นั่นคือ
หนึ่ง-ประชาธิปไตยในสภา หรือประชาธิปไตยที่ได้มาจากการเลือกตั้ง หรือประชาธิปไตยตัวแทน
สอง-ประชาธิปไตยนอกสภา หรือประชาธิปไตยมวลชน หรือประชาธิปไตยทางตรง ที่มันจะต้องหาจุดสมดุลระหว่างกันมาโดยตลอด
ในด้านเศรษฐกิจเราก็ต่อสู้กับเศรษฐกิจกระแสหลักที่สนใจแต่จีดีพี ด้วยการเสนอเศรษฐกิจสองระบบที่มีอีกด้านหนึ่งที่พึ่งพาตนเองได้ รวมทั้งการพัฒนาสิทธิชุมชนให้กลายเป็นสิทธิสากลเท่าเทียมกับสิทธิมนุษยชน แต่ปัญหาคือพัฒนาการของเรามันสะดุดหยุดลง ซึ่งผมกำลังค่อย ๆ แกะว่าเหตุใดพัฒนาการเรื่องประชาธิปไตยในขบวนประชาชนที่กำลังก้าวหน้าถึงสะดุดหยุดลง
เท่าที่คิดได้ในตอนนี้ก็คือ จริงๆ แล้วเรากำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่สำคัญมากด้วยซ้ำที่พลัง 'ประชาธิปไตยมวลชน' มีศักยภาพมากที่จะควบคุมหรือสร้างสมดุลกับ 'ประชาธิปไตยเลือกตั้ง' เราพบเห็นรูปธรรมเหล่านี้ได้เยอะแยะเต็มไปหมดในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นต่างๆ ที่ตรวจสอบถ่วงดุลการเมืองท้องถิ่นที่มาจากการเลือกตั้ง
ชาวบ้านเขาจับตาสอดส่องและถ่วงดุลอำนาจโดยเข้าไปใช้ 'ประชาธิปไตยเลือกตั้ง' ด้วยตนเอง รวมทั้งสร้าง 'ประชาธิปไตยมวลชน' ให้เข้มแข็งเพื่อคานอำนาจ 'ประชาธิปไตยเลือกตั้ง' ให้ได้
สิ่งที่ชาวบ้านทำนั้นมีคุณค่าและทรงพลังมากๆ เพราะเขาพยายามอยู่ตลอดเวลาที่แปรพลังจากสองมือสองเท้าของเขาให้เป็นเสียงที่มีคุณค่าให้ได้
เพราะฉะนั้น หลักการหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงจึงสำคัญมากตรงนี้ เพราะมันเป็นเสียงที่ออกมาจาก 'ประชาธิปไตยมวลชน' ที่อยู่นอกสภา เพื่อให้ไปทำหน้าที่พัฒนาประชาธิปไตยอีกฝั่งหนึ่งที่อยู่ในสภา นี่คือสันติวิธี และมีวิธีนี้วิธีเดียวเท่านั้นที่จะขับเคลื่อนสังคมด้วยสันติวิธีที่สุด นอกนั้นมีแต่เสียเลือดเนื้อ
ผมยังเชื่อว่านักกิจกรรมทางสังคม ปัญญาชนสาธารณะที่ทำงานเพื่อมุ่งสู่การ 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' มีความคิดก้าวหน้า แต่ยอมถอยความคิดและจุดยืนของตัวเองสนับสนุนรัฐประหารก็เพื่อเป้าหมายอะไรบางอย่าง แต่ผลลัพธ์มันรุนแรงมาก เพราะรัฐประหารได้ทำลายคุณค่าและความหมายประชาธิปไตยเสียหมดสิ้น สิ่งที่เราได้กลับมาคือความตกต่ำสุดขีดของขบวนประชาชนที่ก่อร่างศรัทธาในเรื่องของการ ‘ลดอำนาจ เพิ่มอำนาจประชาชน’ เราทำลายประชาธิปไตยมวลชนที่เคยเป็นพลังคานอำนาจประชาธิปไตยเลือกตั้งเสียจนย่อยยับ
สิ่งที่เป็นข้อพิสูจน์ของความตกต่ำนี้ก็คือ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายที่บังคับใช้รัฐบาลทหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แค่กฎหมายฉบับนี้ฉบับเดียว ไม่ต้องรวมเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเขตเศรษฐกิจพิเศษ แผนแม่บทป่าไม้ ฯลฯ ก็แย่พอแล้ว ถ้าชาวบ้านชุมนุมไม่ได้ก็ไม่มีอำนาจต่อรองใดๆ ได้เลย หรือชุมนุมได้แต่ก็ไม่สามารถกดดันใดๆ ได้เลย แทบทุกกิจกรรม ทุกการขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวของประชาชนสามารถถูกตีความว่าเข้าข่ายฝ่าฝืนกฎหมายการชุมนุมสาธารณะได้หมด
อาจจะมีผู้โต้แย้งว่ารัฐบาลประชาธิปไตยก็ชอบกฎหมายพวกนี้นะ ใช่! แต่ภายใต้รัฐบาลประชาธิปไตยจะมีภาวะที่ผ่อนปรนหรือต่อรองได้มากกว่านี้
สุดท้ายนี้ผมขอสรุปดังนี้
1) ผมคิดว่าถ้อยคำ การกระทำและความคิดที่ว่า 'ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง' จะมีความหมายและคุณค่าก็ต่อเมื่อในขณะที่บ้านเมืองมีประชาธิปไตยที่ได้มาจากการเลือกตั้ง เราถึงจะมีสิทธิและเสรีภาพที่จะทำงานกับประชาชนเพื่อส่งเสริมคุณค่าและความหมายของวาทกรรมดังกล่าว เพื่อผลักดันให้ประชาชนมีความเข้มแข็ง เป็นองค์กรหรือขบวนการที่สูงส่งและมีพลังมากเสียยิ่งกว่าองค์กรการเมืองที่เฝ้ารอแต่การเลือกตั้งเพื่อได้อำนาจรัฐมา
2) สิ่งที่ขาดหายไปในการทำงานของคณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชน (กป.อพช.) และเครือข่ายตลอด 30 ปีที่ผ่านมา ก็คือความคิดทางการเมือง ซึ่งหมายถึงว่า 'การทำงานพัฒนาต้องพัฒนาไปพร้อมกับความคิดทางการเมือง' จึงทำให้การคิดวิเคราะห์สังคมเป็นแบบ 'หวังน้ำบ่อหน้า' หรือเหมือนเห็นขอนไม้ลอยกลางทะเล เห็นอะไรก็คว้าหมดเพื่อเอาชีวิตรอด
3) หลายคนในงานประชุมสมัชชา กป.อพช.พูดถึงโครงการประชารัฐกันเยอะ ก็อยากจะบอกว่า เป้าหมายที่แท้จริงของประชารัฐคือการทำให้ประชาชนสนับสนุนและค้ำจุนรัฐประหารเท่านั้น นอกเหนือจากนี้เป็นเรื่องหลอกลวง
4) เส้นทางของประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยนั้นเต็มไปด้วยขวากหนาม กว่าที่พลเมืองแต่ละกลุ่ม เพศ วัย เชื้อชาติ ฯลฯ จะมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งได้ต้องสูญเสียเลือดเนื้อมากมาย แต่ที่เมืองไทย ฝ่ายก้าวหน้าที่เสียสละอุทิศตนเพื่อสังคม ทำงานพัฒนาชนบทและชุมชนเพื่อต่อสู้กับความเอารัดเอาเปรียบและกดขี่ข่มเหงคนยากคนจนคนเล็กคนน้อยในสังคม เพื่อนำเสียงของคนเหล่านั้นขึ้นมาให้สังคมข้างนอกได้ยิน ซึ่งเป็นขบวนการที่ประดิษฐ์หรือชูคำขวัญที่ว่า 'ลดอำนาจรัฐ เพิ่มอำนาจประชาชน' กลับเข้ากันได้ดีหรือเป็นพวกเดียวกันกับพวกที่ออกมาพูดว่า ‘ประชาธิปไตยไม่ได้มีแค่การเลือกตั้ง’ ด้วยการสนับสนุนรัฐประหาร
เรายอมแม้กระทั่งสูญเสียเลือดเนื้อประชาชนเป็นร้อยคนเพื่อย้อนเวลากลับสู่อดีตอันไกลโพ้นด้วยคำถามพื้นฐานเมื่อหลายพันปีมาแล้วว่า "การออกเสียงมีความสำคัญต่อคุณยังไง ?”
ตรงนี้แหละที่น่าเป็นห่วง เพราะประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้ว่าเรากลายเป็นตัวตลกในยุคสมัยของเรา
.....
ความเห็น....
ความเห็น....
ถึงเวลา อวสานล่ะ ngo
ลอยตัว มั่วแต่ของบ ไม่เข้าใจปัญหาของชาวบ้าน ติดกับการเมือง ใส่หัวโขน ครั่งไคล้อำนาจ เรียกร้องผูกขาด ครอบง่ำความคิดชาวบ้านและ วางตนเป็นศูนย์กลาง ที่สำคัญการผลิตไม่ทำกันนนน
ไม่ได้เหมารวม .. ใครอยากรับก็รับไปน่ะครับ
Jom Adisak .....
.....
"ประวัติศาสตร์จะบันทึกไว้ว่า NGO เป็นตัวตลก"
'ใบตองแห้ง'
.....
ไม่เคยรู้สึกอับอายและหดหู่กับขบวนการ NGOs ไทยเท่ายุคนี้มาก่อน
บางคนก็ทำให้ผมรู้สึกเหมือนชายชราที่ใส่เสื้อเกราะ ถือดาบไม้ ไล่เที่ยวชี้หน้าด่าคนอื่นว่าเป็นโจรชั่วแบบในตัวละคร ดอน กิโฮเต้ บางทีผมก็รู้สึกเหมือนคนพวกนี้เป็นพวกเด็กเล่นไฟแล้วพลาดเผาบ้านตัวเอง แต่ดันทำเป็นเงียบกริบอยู่ตอนนี้
บางคนยังแอบนินทาผมในวงปิด บ้างกล้าหาญมาสั่งสอนผมถึงหน้า Wall
ขบวนการ NGOs ไทยวันหนึ่งก็ต้องสะสางกัน ใครหลุดจากหลักทำสังคมเสียหาย และไม่ยอมรับ วันหน้าเจอกันไม่ต้องเบามือ วิจารณ์ให้เต็มที่