หลังจากอดอาหารเป็นวันที่เก้า อาการของไผ่ ดาวดิน หรือจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ก็ทรุดลงอย่างทันตาเห็น
เขา “มีอาการเจ็บปวดตามตัว หนาวสั่น เป็นไข้ และหมดสติ ขณะนี้อยู่ในเรือนพยาบาล (ของ) เรือนจำ” โดยนางพริ้ม บุญภัทรรักษา มารดาของเขาได้ยื่นหนังสือต่อเรือนจำให้ส่งตัวเขาเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลภูเขียว
แต่ดูเหมือนทางเรือนจำจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจ เพราะเป็นเจตนาของไผ่ไม่ยอมยื่นประกันเพื่อปล่อยตัวชั่วคราว และทำการอดอาหารประท้วงการจับกุมตัวเขามาตั้งแต่วันที่ ๗ สิงหาคม เพื่อยืนยันว่าการแจกใบปลิว ‘โหวตโน’ ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เป็นสิทธิไม่ใช่การกระทำผิด
นักศึกษาประชาธิปไตยใหม่ผู้นี้ถูกฝากขังในเรือนจำภูเขียว จ.ชัยภูมิ พร้อมกับเพื่อนนักศึกษาอีกคนหนึ่ง ด้วยข้อหากระทำผิด พรบ.ประชามติ ม.๖๑ วรรค ๑ และประกาศ คปค. ฉบับที่ ๒๕/๒๕๔๙ อันมีโทษจำคุกไม่เกิน ๑๐ ปี บวกอีก ๖ เดือน
(https://www.facebook.com/BBCThai/photos/a.1527194487501586.1073741828.1526071940947174/1808957679325264/?type=3&theater)
สำหรับ ‘ไผ่’ ซึ่งเป็นนักศึกษากฎหมายมหาวิทยาลัยขอนแก่น เขาเป็นนักกิจกรรมมาแต่แรก (ก่อนรัฐประหาร ๒๕๕๗) เคยรณรงค์เพื่อสิทธิชุมชนต่อต้านเหมืองทองทุ่งคำที่จังหวัดเลย ก่อนจะมาร่วมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญของ คสช.
ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ เขียนถึงไผ่ไว้เมื่อวาน (๑๕ ส.ค.) ว่า “ไผ่นำเอากฏหมายเข้าไปในบริบททางการเมือง ทั้งการเมืองในปัจจุบันและอนาคต...
คำสั่งของคสช.ไม่ใช่กฏหมาย อย่างที่เนติบริกรทั้งหลายบัญญัติให้เป็น เพราะพื้นฐานของกฏหมายไม่ได้อยู่ในหนังสือราชกิจจานุเบกษา แต่อยู่ในความเห็นชอบของประชาชนผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายต่างหาก...
การปลดประชาชนออกจาก ‘กิจกรรม’ คือเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เผด็จการไม่มีวันตายไปจากสังคมไทย ในแง่นี้ ความเป็นนักกิจกรรมของไผ่จึงเป็นเครื่องมือสำคัญอีกอย่างหนึ่งในการต่อสู้กับเผด็จการ
อาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริพูดเสมอว่า สังคมอารยะจะไม่เอาคนหนุ่มสาวของตนเองไปกักขัง เพียงเพราะเขามีความคิดที่แตกต่างจากอำนาจ ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง…
การจับกุมคุมขังหรือปิดปากคนหนุ่มคนสาว คือการทำให้สังคมไม่มีวันที่จะได้เผชิญกับคำถามใหม่และคำตอบใหม่ สังคมนั้นจึงถูกสาปให้วนเวียนอยู่กับปัญหาเก่า และทางออกเก่า
ซึ่งไม่ตอบปัญหาไปตลอด และเสื่อมลงจนไร้อารยธรรมในที่สุด”
(http://www.tcijthai.com/tcijthainews/view.php?ids=6362.php)
แต่การทำให้ร่าง รธน. ที่หมกเม็ดด้วยอำนาจเผด็จการผ่านประชามติมาได้ ด้วยกระบวนการที่กดขี่และปิดกั้น คสช. ก็ยิ่งใช้อำนาจบาตรใหญ่ ‘ruthless’ หนักขึ้น ผ่านทางเครือข่ายลิ่วล้อในราชการและองค์กรอิสระ
เมื่อวานเช่นกัน กสทช. อันเป็นองค์กรด้านกิจการโทรคมนาคมของไทย ได้มีคำสั่งระงับการออกอากาศของพิธีกรสำนักข่าวว้อยซ์ทีวีสองคน คือนายอธึกกิต แสวงสุข หรือ ใบตองแห้ง และ ม.ล.ณัฏฐกรณ์ เทวกุล หรือหม่อมปลื้ม เป็นเวลา ๑๐ วัน
ซึ่ง ‘ใบตองแห้ง’ แสดงปฏิกิริยาด้วยข้อความทางหน้าเฟชบุ๊คประจำวันของเขาว่า “ไม่รู้เหมือนกันว่าเราไปพูดผิดหูตรงไหน เพราะทุกครั้งผมก็พูดเหตุผลไม่ได้ด่าตัวบุคคล
หรือว่าทนฟังเหตุผลไม่ได้ (เข้าใจว่าเขาต้องการให้อ่านข่าวอย่างเดียว อย่าชวนออกความเห็น)”
เช่นเดียวกับปฏิบัติการแก้หน้า ‘damages control’ กรณีวางระเบิดทั่วภาคใต้ในวันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระราชินี ที่ คสช. พยายามป้ายความผิดให้กับขบวนการเสื้อแดง (นปช.) และพรรคเพื่อไทย ทั้งที่ใช้เวลาสามวันควานหาเบาะแส
ไปเจอที่ภูเก็ตอ้างว่าเป็นชายคนหนึ่งซึ่งร่วมกระบวนการก่อการร้ายมาแต่ครั้งเหตุการณ์ไม่สงบที่กรือแซะ มิใยที่ผู้เชี่ยวชาญเอกชนวิเคราะห์กันแล้วหลายรายว่าน่าจะเป็นฝีมือขบวนการแยกดินแดนในสามจังหวัดภาคใต้
ล่าสุดมีรายงานของผู้สันทัดกรณีจากนิตยสารรายสัปดาห์ด้านความมั่นคง Jane’s Defence Weekly โยนายแอนโธนี่ เดวิส ผู้เขียนระบุว่า
กลุ่มแยกดินแดน ‘แนวหน้าปฏิวัติแห่งชาติปาตานีมาเลย์’ (PMNRF) เป็นกลุ่มเดียวที่สามารถดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ วางแผน ประสานงานกันอย่างดี ในปฏิบัติการภาคใต้ของไทย
“โดยที่ขบวนการเสื้อแดงถูกจับตาอย่างใกล้ชิดจากฝ่ายความมั่นคงของรัฐบาล คสช. ทฤษฎีที่ว่าพวกนี้สามารถจัดให้มีปฏิบัติการอันซับซ้อนเช่นนี้ภายใต้จมูกของรัฐบาลทหาร ย่อมไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง”
(http://www.sfgate.com/…/Critics-fault-junta-in-Thailand-on-…)
นั่นแหละ ความสมเหตุสมผลของ คสช. ไม่ได้อยู่ในมาตรฐานแห่งอารยะสากล หากมันไม่สนองความต้องการปกครองประเทศอย่างรัฐทหาร เพื่อรวบรัดสืบเนื่องอำนาจของ คสช. และกลุ่มบุคคลชั้นนำ
เป็นสิ่งน่าทึ่งอย่างหนึ่งต่อความสามารถของ คสช. ในการเล่นลิ้นคารม ตระบัดถ้อยคำน่าเลื่อมใสสำหรับตบตานานาชาติ ไม่ว่าจะในการอ้างอิงการเมืองประชาธิปไตย โกหกเรื่องสิทธิมนุษยชน และวาดฝันการฟื้นฟูของเศรษฐกิจ
หลังจากที่พูดพล่ามโดยไม่ปรากฏข้อเท็จจริงหนุนหลังบ่อยครั้งเสียจนคำพูดไร้น้ำหนักไปหมดแล้ว เดี๋ยวนี้อ้างอะไรมักจะเจอข้อโต้แย้งตรวจสอบ ‘facts checked’ จากสื่อต่างประเทศอยู่เสมอ
แม้แต่การแถลงเรื่องผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือจีดีพีของไทยในไตรมาสที่สองของปีนี้โดยสภาพัฒน์ ว่า “ขยายตัวร้อยละ ๓.๕” ก็ถูกตักเตือน ‘cautioned’ โดยนิตยสาร The Economist ว่าแม้จะ
“สูงกว่าที่คาดหมายเล็กน้อย แต่ก็ซ่อนเงื่อนงำบังตาความเสียหายจากการรัฐประหารเมื่อปี ๒๕๕๘ ช่องว่างของผลลัพท์ในการผลิตของประเทศไทยเวลานี้ถ่างกว้างที่สุดในเอเซีย
เศรษฐกิจถูกทำให้พองตัวด้วยการทุ่มงบประมาณใช้จ่าย และรายได้จากการท่องเที่ยว หนทางไปสู่ความมั่งคั่งรุ่งเรืองในอดีตนั้นถูกปิดฝาไปเสียแล้ว การส่งออกจะตกลงไปอีกในปีนี้ติดต่อกันมาเป็นปีที่สี่”
(https://espresso.economist.com/211b39255232ab59ce78f2e28cd0…)
การดึงดันให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติไปสู่ระบบ ‘ทหารครองเมือง’ ยุคใหม่ หาได้ให้ภาพลักษณ์ที่สดสวยอย่างที่ คสช.และลิ่วล้อพยายามอ้าง
สองปีที่ผ่านมา แม้แต่ข้ออ้างยึดอำนาจเพื่อสร้างการปรองดองก็ยังไม่เห็นทางเกิดได้ ตราบเท่าที่ คสช. ยังคอยข่มเหงฝ่ายประชาธิปไตย ชี้ชัดจากการกล่าวหาเสื้อแดงเป็นตัวการระเบิดล่าสุด
การกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการเบิกจ่ายทางเดียว ไม่ได้มีมาตรการหมุนเวียนทุนด้วยการผลิตที่เข้มแข็ง รังแต่จะสร้างช่องว่างทางการผลิตให้พองโต เข้าลักษณะฟองสบู่ ไม่ช้าต้องแตกโพละจนได้