วันพุธ, สิงหาคม 03, 2559

จรรยา ยิ้มประเสริฐ: ประชามติในประเทศไทยเป็นเรื่องใหม่กว่ารัฐประหาร





ประชามติในประเทศไทยเป็นเรื่องใหม่กว่ารัฐประหาร


จรรยา ยิ้มประเสริฐ
2 สิงหาคม 2559

การเปิดให้ประชาชนลงประชามติแม้จะมีบรรจุอยู่ในรัฐธรรมนูญมาแล้วหลายฉบับตั้งแต่ปี 2492 แต่ก็เพิ่งมีการใช้ครั้งแรกในการลงประชามติเพื่อนิรโทษกรรมให้กับคณะรัฐประหาร 2549 ในการรองรับรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 เมื่อ 19 สิงหาคม2550 โดยใช้เงื่อนไข "จัดการเลือกตั้ง" มาเป็นตัวต่อรอง 

การลงประชามติครั้งที่สอง(ถ้ามี) ที่จะมาถึงในวันที่ 7 สิงหาคม 2559 นี้ ก็จะใช้เงื่อนไขเดียวกันคือ การนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร 2557 แถมยังเลวร้ายกว่ามาก เพราะมันยังพ่วงมาด้วยเงื่อนไขแย่ๆ ทั้งฉบับ โดยเฉพาะให้อำนาจคณะรัฐประหารทหารควบคุมและกำกับรัฐสภาไว้อย่างเบ็ดเสร็จ และอยู่ต่ออีก 5 ปี หรืออาจจะ 8 ปี หรือเอาเข้าจริง อยู่ตราบใดที่คสช. ไม่ถูกขับไล่จากประชาชน 

ประชามติทั้งสองครั้ง (ถ้าประชามติ 7 สิงหาคม 2559 ไม่ถูกล้มไป )ไม่ได้เป็นการลงประชามติในบรรยากาศการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย แต่เป็นการทำประชามติโดยรัฐบาลของคณะรัฐประหาร ที่มุ่งใช้กลไก “ประชาธิปไตย” เพื่อการ "นิรโทษกรรม" การกระทำรัฐประหารที่ถือว่าเป็นอาชญากรรมร้ายแรง ซึ่งกระบวนการทำประชามติทั้งสองครั้ง เต็มไปด้วยการใช้ความผิดทางอาญา และมาตรการที่ปิดกั้นการวิพากษ์วิจารณ์หรือการแสดงท่าที่ที่ไม่เห็นด้วยการทิศทางที่ทางคณะรัฐบาลทหารต้องการจะให้เป็น ยิ่งกว่านั้น ประชามติ 2559 เลวร้ายกว่าการทำประชามติ 2550 อย่างมากในหลายประเด็น โดยเฉพาะเมื่อ "นายกรัฐมนตรีแต่งตั้ง" ของรัฐประหาร 2549 มาจากตำแหน่งองคมนตรี ซึ่งมีภาพความสัมพันธ์กับสถาบันประมุขของชาติอย่างชัดเจน ดังนั้น "นายกรัฐมนตรี" พลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ แห่งปี 2550 จึงมีสถานภาพแห่ง "นายกพระราชทาน" เช่นเดียวกับนายกพระราชทานหลังรัฐประหาร 2535 พวกเขาจึงจำต้องยึดมั่นในการทำหน้าที่ (ในระดับหนึ่ง) เพื่อจัดให้มีการร่างรัฐธรรมนูญนิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร และจัดให้มีการเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎร อันถือเป็นการ “คืนประชาธิปไตย” ให้กับประชาชน

แต่คณะรัฐประหาร 2557 นั้น หัวหน้าคณะรัฐประหาร พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ควบตำแหน่งเบ็ดเสร็จ ทั้งตำแหน่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และ "นายกรัฐมนตรี" ที่ไม่เคยยึดมั่นในคำพูด และพูดอย่างเปิดเผยอยู่หลายครั้งเรื่องความต้องการที่จะอยู่ในอำนาจอย่างยาวนาน และแม้ว่าตัวพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะเป็นที่รู้จักอย่างดีในฐานะราชองครักษ์มายาวนานก็ตาม แต่ก็ไม่ได้มาจากคณะองคมนตรีเช่นพลเอกสุรยุทธ์ จุลานนท์ จึงทำให้พลเอกประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องรักษาสัตย์เพื่อภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์เช่นเดียวกับรัฐบาลคณะรัฐประหารรุ่นพี่ 

นอกจากนี้ คณะรัฐประหาร 2557 และรัฐบาลทหารที่กำกับและควบคุมอย่างเบ็ดเสร็จด้วยเครือข่ายนายพลทหารและข้าราชการชั้นสูง ได้ใช้อำนาจหน้าที่ในการปราบปรามประชาชนอย่างรุนแรงและส่งกองกำลังลงไปกำกับและควบคุมทั่วทุกหมู่บ้านยิ่งกว่าคณะรัฐประหาร 2550 

ด้วยประการฉะนี้ ความวางใจว่าเมื่อลงประชามติแล้ว คสช. และคณะรัฐบาลทหาร จะยึดมั่นในผลของประชามติจึงเป็นเรื่องที่ไม่อาจวางใจได้แม้แต่น้อย 

ประชามติของการรับร่างรัฐธรรมนูญของคณะรัฐประหาร 2550 ใช้แรงจูงใจสำคัญว่า "จะได้เลือกตั้งรัฐบาลประชาชน" โดยไว ซึ่งก็เป็นดังนั้นคือ ประชามติวันที่ 19 สิงหาคม 2550 และการเลือกตั้งครั้งที่ 25 ของประเทศไทยได้จัดขึ้นในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 หรือ 4 เดือนหลังจากการลงประชามติรับร่างรัฐธรรมนูญ 2550 





แต่การลงประชามติแห่งปี 2559 นอกจากเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่แย่และน่าวิตกกังวลกว่าฉบับ 2550 ในทุกด้าน กระนั้นแม้ว่าประชาชนจะปล่อยให้ร่างประชามติผ่านด้วยหวังการเลือกตั้งโดยไว มันก็ไม่ไวดังใจคิด เพราะก็ยังต้องให้เวลาคณะคสช. และรัฐบาลทหารอีกกว่าหนึ่งปีถึงจะมีการจัดการเลือกตั้ง ซึ่ง ILAW วิเคราะห์ว่า "อาจจะได้เลือกตั้งอย่างช้าประมาณเดือนธันวาคม 2560” จึงไม่ใช่เลือกตั้งภายใน 4 เดือนเช่นการลงประชามติ 2550

ที่น่ากังวลที่สุด คือ ในสภาวะที่ความน่าเชื่อถือของ "นายกรัฐมนตรี" พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ไม่มีภาพการเป็นองคมนตรีอย่างชัดเจนเช่นพลเอกสุรยุทธ์ ก็ยิ่งทำให้ความน่าเชื่อถือในคำพูดของพลเอกประยุทธ์ ไม่ต้องแบกภาพลักษณ์ของสถาบันกษัตริย์ไว้อย่างชัดเจนเช่นนั้นด้วย ยิ่งทำให้ความกังขากับประชามติของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้นมีมากกว่าการทำประชามตินิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร 2549 

กระนั้นเมื่อดูผลการลงประชามติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ "ประชาธิปไตยทางตรง" เพื่อนิรโทษกรรม "คณะกบฏแห่งชาติ 2549" มันก็ยังสะท้อนตัวเลขผู้มาลงประชามติและสัดส่วนของผู้ลงประชามติที่น้อยอยู่ โดยมีผู้มาลงคะแนนเพียง 54.8%






ย้อนมาสู่ประเด็นข้อถกเถียงทางเลือกต่อการลงประชามติ 2559 รับ ไม่รับ ไม่ร่วม ไม่โหวต 

สถานการณ์การถกเถียงวิวาทะกันอย่างรุนแรงต่อการลงประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญของเผด็จการทหารแห่งปี 2559 ครั้งนี้ เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นที่จะต้องมีการถกเถียงกันในทุกประเด็นอย่างจริงจัง (แม้ว่าการถกเถียงจะรุนแรงและกลายเป็นเรื่องวิวาทะส่วนบุคคลไปอย่างน่าเสียดายก็ตาม) เพราะมันสะท้อนการเมือง "เงื่อนไข" ที่ให้ประชาชน "จำใจเลือก" ของการเมืองรัฐประหาร ทั้งนี้ในสภาพการเมืองและบรรยากาศการเมืองที่ใช้และสร้าง "เงื่อนไขที่ไม่เป็นประชาธิปไตยและไม่โปรงใส" มาบีบให้ประชาชนต้องลงเล่นในกติกาเผด็จการเหล่านี้ด้วยตัวล่อให้มีความหวังแห่ง "การยอมลงจากอำนาจ" และ "คืนกติกาประชาธิปไตย" ให้กับประชาชน โดยแลกกับการ "นิรโทษกรรมคณะรัฐประหาร" ก็เป็นเรื่องที่ไม่อาจวางใจได้อีกต่อไปว่าคณะรัฐประหาร 2557 นั้นจะมีความเป็นสุภาพบุรุษพอที่จะปฏิบัติตามผลประชามติ เช่นที่กล่าวมาแล้วข้างบน ดังนั้น ความดุเดือดในการพยายามหาเหตุผลมารองรับจุดยืนทางเลือกของแต่ละคน แต่ละขั้วการเมือง ทั้ง “รับ” “ไม่รับ” “ไม่ลงคะแนน” หรือ “ไม่รับรู้จะดูหนัง” หรือเพราะ “ไม่มีเงินกลับบ้าน” หรือไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตามของประชาชน 65 ล้านคน ที่มีสิทธิ์ออกเสียงประมาณ 45 ล้านคน จึงเป็นสถานการณ์ที่น่าสนใจยิ่ง 





ไม่ว่าผลมันจะออกมาเช่นไร ในภาพการเมืองที่ความเป็นเผด็จการนั้นหน้าตาขี้เหร่ที่ชวนยี้สุดในประวัติศาสตร์เช่นนี้ ประชาชนจะเลือกชี้ชะตาคณะรัฐประหารด้วยวิธีใด จึงเป็นสถานการณ์ที่มีความหมายในตัวมันเอง โดยที่ทุกวิธีการแสดงออกมีความหมายและควรได้รับการพิจารณา ว่าประชาชนจะได้เรียนรู้การ "ลงประชามติ" ครั้งที่สองในประวัติศาสตร์การเมืองไทยกันในด้านใดบ้าง 

ในประเด็นที่คิดว่าเป็นเรื่องที่จะต้องมีการถกเถียงกันต่อไปในประเทศไทย คือ เรื่อง การลงมติ หรือการโหวตเลือกตั้งทั้งหลาย เป็นสิทธิเสรีภาพที่จะลงหรือไม่ลงก็ได้ หรือว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำและถ้าไม่ทำมีบทลงโทษ ทั้งนี้ เมื่อศึกษาภาพรวมระดับโลกจะเห็นว่า มีเพียง 22 ประเทศหรือประมาณ 10% ของประเทศในโลกที่มีกฎหมายบังคับว่าการลงคะแนนเสียงหรือการโหวตเป็นหน้าที่ที่ต้องปฏิบัติ ถ้าไม่ปฏิบัติถือว่าทำผิดกฎหมาย และใน 22 ประเทศ มีเพียง 11 ประเทศที่มีการบังคับใช้จริง ดังนั้นเรื่อง "การโหวต" เป็นหน้าที่ที่ต้องกระทำถ้าไม่กระทำถือว่าผิดกฎหมาย จึงเป็นเรื่องที่มีการดีเบตหรือถกเถียงกันอย่างกว้างขว้างในทุกประเทศที่สถาปนาระบอบประชาธิปไตย และก็ควรจะเป็นเช่นนั้นในประเทศไทย




สีแดง คือ ประเทศที่มีกฎหมายบังคับให้ทุกคนต้องโหวด ที่มา : https://en.wikipedia.org/wiki/Compulsory_voting


สรุป 

ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งมาแล้ว 27 ครั้ง โดยนับตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับ 2540 มีผลบังคับใช้ ซึ่งระบุโทษผู้ไม่มาใช้สิทธิไว้ด้วยการตัดสิทธิ์การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นตัวแทนในทุกระดับก็ตาม การมาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงแม้ว่าจะสูงกว่าช่วงก่อนมีการระบุโทษ ก็ยังมีจำนวนสูงสุด 75% (การเลือกตั้งปี 2554) นั่นหมายความว่า ประชาชนที่ถึงอายุลงคะแนนเสียงได้ถึง 25% หรือว่า 10 ล้านคนที่ไม่มาเลือกตั้งไม่ว่าจะด้วยสาเหตุใดก็ตาม ประชาชนจำนวน 10 ล้านคน นั้นถือเป็นจำนวนไม่น้อย ที่ไม่ควรถูกตัดสิทธิความเป็นคนหรือพลเมือง เพราะการไม่ได้มาลงคะแนนเลือกตั้ง เช่นเดียวกันในการลงประชามติรับหรือไม่รับ ร่วมหรือไม่ร่วม กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับ คสช. 2559 ยิ่งเป็นประเด็นที่มากมายด้วยเหตุผลสนับสนุน และเหตุผลแย้งในทุกมิติข้อคิดเห็นทางการเมือง ที่ไม่อาจดูแคลนหรือปฏิเสธความชอบธรรม แห่งศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และสิทธิพลเมืองของประเทศที่ประชาธิปไตยยังติดหล่มอยู่เช่นนี้กันอย่างรวบรัดและง่ายดายเพียงเพราะการตัดสินใจเลือกที่แตกต่าง 

ข้อสรุปที่ชัดเจนที่สุดคือ ประชาชนไม่จำเป็นที่จะเคารพกติกาและเงื่อนไขที่สร้างโดยคณะรัฐประหาร และผลของการทำประชามติ เพื่อล้างความผิดให้กับคณะรัฐประหารจึงเป็นโมฆะในกรอบกติกาประชาธิปไตย






ที่มา FB

Junya Yimprasert