วันจันทร์, สิงหาคม 15, 2559

ต่างศาสนาก็ปรับตัวเข้าหากันได้




“ข่าวที่สื่อมวลชนนำเสนอถึงปัญหาความรุนแรงของ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้นักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศไม่กล้าเข้ามาเยี่ยมชมสถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงามดังแต่ก่อน เม็ดเงินที่ไหลเวียนภายในจังหวัดถดถอยลงมา รายได้ของคนในชุมชนก็ลดลงเช่นกัน”

ต่างศาสนาก็ปรับตัวเข้าหากันได้ – นางสาวรุสนานี ปูเตะ (นานี)

เรื่องและภาพ สุภาวดี ครุฑสิงห์

June 21, 2016
เวป suemuanchonnews

นางสาวรุสนานี ปูเตะ (นานี) นิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และนักเรียนทุนแลกเปลี่ยนโครงการทุน สกอ. เล่าให้ฟังว่า “ปัญหาความไม่สงบถูกมองว่าเรื่องความรุนแรง มันไม่ใช่ทุกพื้นที่ เป็นแค่บางพื้นที่ คนนอกจะเสพข่าวที่สื่อรายงาน พื้นที่เกิดปัญหาจริงแค่นี้ แต่สื่อขยายข่าวค่อนข้างเกินความเป็นจริง ทำให้คนนอกพื้นที่ไม่กล้าเข้ามาท่องเที่ยวและมองว่า 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นพวกหัวรุนแรง ไปมองภาพรวม และมองศาสนาอิสลาม หรือมุสลิมว่าก่อการร้าย (อาจเป็นเพราะคนมุสลิมมีการแต่งการที่มิดชิดหรือเปล่าที่ทำให้คนภายนอกมองว่าคนมุสลิมเป็นคนก่อการร้าย) เรายังไม่รู้เลยว่าเกิดอะไรกันแน่ จุดแรกเกิดเพราะสาเหตุอะไร คนเชื่อถือสื่อมาก ทั้ง ๆ ที่มันไม่ใช่ความจริงทุกอย่าง อาจจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ แต่เอาไปสร้างข่าวขนาดใหญ่”

ในฐานะที่รุสนานีมาเรียนที่มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เป็นการเปิดโลกทัศน์จากปัตตานีมาเรียนที่มหาสารคามสารคาม เธอเล่าว่า อย่ามองว่าอิสลามหัวรุนแรงแค่ภายนอก ลองเปิดใจ แล้วมาสัมผัสกันว่าเขาไม่ได้โหดร้ายแบบที่คุณคิด คนอีสานจะเชื่อความเป็นอิสลามจากปากต่อปากจนเป็นความเชื่อและตัดสินกันไปก่อนที่จะไปตัดสินกันโดยภาพรวม

“ดีใจที่ได้รับโอกาสรับทุนนี้มาเรียนต่อที่ภาคอีสาน สำหรับทุนนี้จะเป็นทุนที่ให้โอกาสเด็กที่จบในอุดมศึกษาต่อยอดความรู้ในมหาวิทยาลัยเพื่อนำมาสู่การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วมเครือข่าย 9 เครือข่ายกับสำนักส่งเสริมและพัฒนาศักยภาพนักศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษาร่วมกับมหาวิทยาลัยที่เข้าร่วม

ที่เลือกมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยสารคามมีรุ่นพี่ที่รู้จักมาเรียนอยู่แล้วจึงสามารถสอบถามการใช้ชีวิต การปรับตัวและการศึกษาเล่าเรียน ตอนนี้เรียนอยู่คณะศึกษาศาสตร์ เอกภาษาไทย ชั้นปีที่ 4 ทางโครงการได้ช่วยในเรื่องของทางหอพัก ค่าเทอม ทำให้การมาอยู่ในมหาสารคามไม่ได้ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากนักเป็นการช่วยเหลือบิดามารดาอีกทางหนึ่ง แต่เรื่องของภาษาการพูดจาก็มีปัญหาอยู่บ้างมีการปรับตัวยากมากเพราะว่าต่างศาสนา” รุสนานี เล่าให้ฟัง

รุสนานี เล่าให้ฟังต่อว่า ในช่วงปี 1 ที่เริ่มย้ายมาอยู่ เธอสื่อสารเป็นภาษามลายู และใช้ภาษาไทยกลาง แต่คนในพื้นที่นั้นชอบพูดภาษาอีสาน ทำให้กระบวนการในเรื่องการใช้ภาษาการสื่อสารนั้นต้องเรียนรู้จากเพื่อน ๆ และรุ่นพี่ เห็นแค่การแต่งตัวผ้าคลุมหน้าคนจะมองให้ความสนใจ แต่อยู่ไปนาน ๆ ก็ปรับตัวเข้ากับคนที่นี่ได้ อาหารการกินที่นี่มีเนื้อหมู ก็มีการปรับตัวค่อนข้างยาก ก่อนจะมาอยู่ยังไม่มีอาหารมุสลิม แต่ต้องทำกับข้าวกับอาหารกินเอง ทอดไข่ดาวไข่เจียว แต่ตอนนี้มีร้านที่ตลาดน้อยและในเมืองทำให้สะดวกมากขึ้น

รุสนานี ให้ความเห็นต่อถึงเรื่องศาสนาว่า ส่วนเรื่องของศาสนอิสลามที่เคร่งครัด ทำให้มีการแต่งกายแตกต่างจากศาสนาอื่น อาจเป็นเพราะความเชื่อความศรัทธาที่มีต่อศาสนาอิสลาม มีเพื่อนหลายคนถามว่าทำไมต้องใส่เสื้อแขนยาว ทำไมต้องปิดทุกอย่างเหลือแค่ฝ่ามือกับโครงหน้า ก็ได้อธิบายถึงข้อบังคับให้เพื่อนรวมทั้งอาจารย์ที่สอบถาม ถ้าเราเปิดร่างกาย แต่งตัวไม่มิดชิดที่สาธารณะ เป็นจุดล่อแหลมให้เพศตรงข้ามสนใจในตัวเรา อาจก่อให้เกิดอาชญากรรม เกิดภัยอันตรายต่อตัวเราได้

นอกจากเรื่องของการแต่งกายแล้ว รุสนานี ยังเล่าต่อว่า ในส่วนของศาสนพิธีก็ยังมีข้อจำกัดที่เคร่งครัดคือไม่สามารถร่วมพิธีการรับน้องและพิธีไหว้ครูได้ เช่น การบายศรีสู่ขวัญที่มหาวิทยาลัย

มหาสารคามจัดขึ้น เพราะชาวมุสลิมมีความเชื่อว่าพราหมณ์ฮินดูจะเข้าร่วมไม่ได้ (การบายศรีสู่ขวัญ คนมุสลิมจะเข้าร่วมไม่ได้ เพราะเป็นความเชื่อของสาสนาพราหมณ์ฮินดู) วันไหว้ครู มีกฎที่เคร่งครัดว่าชายกับหญิงเข้าร่วมกันไม่ได้ จับมือคลุกคลีไม่ได้ เพราะบางคนถ้าผู้หญิงผู้ชายจับเนื้อต้องตัวกัน อาจทำให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หรือทั้งสองฝ่ายเกิดอารมณ์ทางเพศขึ้นมา และอาจจะคิดไปมากกว่านั้น ฉะนั้นศาสนาจึงสั่งให้ควรหลีกเลี่ยงในเรื่องนี้ไปตั้งแต่แรก และอีกเรื่องหนึ่งที่ทางมหาวิทยาลัยมีการรับน้อง เช่น การบูม เป็นอีกอย่างที่คนมุสลิมจะเข้าร่วมไม่ได้ เพราะเป็นความเชื่อของศาสนาอื่น มีความเชื่อว่าการบูมเป็นการบูชาไฟ

“สิ่งที่กล่าวมาทั้งหมดนี้เกี่ยวกับพิธีกรรมและการรับน้องของมหาวิทยาลัย ที่มีผลทำให้นิสิตมุสลิมต้องหลีกเลี่ยงไป เพราะศาสนาได้สั่งไว้ไม่ให้ทำและเชื่อในสิ่งเหล่านี้ของศาสนาอื่น ถ้าเกิดปฏิบัติขึ้นมาอาจทำให้ใจเรามีความเชื่อไปต่างจากศานาอิสลาม) ส่วนเรื่องพิธีกรรมและความเชื่อ การละหมาดไม่มีปัญหาเรา เพราะในขณะนี้ทางมหาวิทยาลัยมีการจัดห้องละหมาด มีสถานที่จัดให้อย่างทั่วถึงเหมาะสม การละหมาดถือเป็นพิธีกรรมที่เคร่งครัด ขาดไม่ได้ ในแต่ละวันต้องละหมาด 5 เวลาต่อครั้งต่อหนึ่งวัน ในแต่ละวันจะขาดไม่ได้ถ้าขาดจะแปลว่าบาป แต่ในผู้หญิงถ้ามีประจำเดือนให้ขาดได้กรณีพิเศษ โดยพิธีกรรมดังกล่าวไม่มีผลต่อเรื่องการเรียนเพราะสามารถละหมาดก่อนเวลาไปเรียนได้ เช่น เวลาเรียนบ่ายโมงถึง 4 โมงเย็นก็ละหมาดก่อนหน้านั้น อาจารย์จะเข้าใจในพิธีกรรมของเรา การละหมาดถือว่าเป็นเสาหลักของศาสนา เป็นสัญลักษณ์ว่าคนนี้คือคนอิสลาม” รุสนานี เล่า

ตอนแรกเธอก็กังวลเรื่องของความเคร่งครัดของศาสนา ถือว่าเป็นเรื่องปกติ แต่ต้องมาอยู่ต่างสถานที่ ถึงแม้จะต้องปรับเปลี่ยนหลาย ๆ อย่าง มันก็ไม่มีปัญหา เพราะความเข้าใจของเพื่อนและอาจารย์ และเข้าใจศาสนาอิสลามมากขึ้น มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการมีน้ำใจให้กันและกัน เริ่มแรกเคยคิดว่ามันคงจะยากมากในการปรับตัว การเรียนรู้ของคนอีสานและคนใต้ การนับถือศาสนาที่แตกต่างกับการใช้ชีวิต ทัศนคติที่มองต่างกันออกไป มันกลับทำเราทั้งสองฝ่ายเรียนรู้และปรับตัวอยู่กันอย่างได้สงบสุขเพราะความเปิดใจและความเข้าใจกัน

ถึงแม้จะนับถือนับถือต่างศาสนาต่างกัน แต่ทุกคนก็ล้วนคิดว่าเป็นคนไทยด้วยกัน เธอภูมิใจที่ได้เกิดมาเป็นชาวมุสลิม เป็นศาสนาอิสลาม เพราะเกิดมาไม่มีศาสนาอื่นนอกจากศาสนาอิสลามที่กล่าวซาฮาดะ (ปฏิญาณตน) ว่า “ฉันขอปฏิญาณว่า ไม่มีพระเจ้าอื่นใดที่ต้องเคารพสักการะนอกจากอัลลอฮฺ และฉันขอปฏิญาณว่ามุหัมมัดนั้นเป็นศาสนทูตของอัลลอฮฺ”

รุสนานี กล่าวทิ้งท้ายว่า “ภูมิใจและขอบคุณพระเจ้าที่ทำให้ฉันได้อยู่ในศาสนาอิสลาม เราภูมิใจที่อยู่ในศาสนาที่เคร่งครัด มีหลักเกณฑ์ที่เพียบพร้อม มีความสุขที่ได้เกิดเป็นคนปัตตานี ก่อนเกิดเหตุการณ์นี้เพื่อน ๆ หรือคนในพื้นที่จะมีความเป็นกันเอง ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ไม่มีความขัดแย้ง ไม่ต้องคิดกังวลว่าเกิดอะไรขึ้น”