วันศุกร์, สิงหาคม 12, 2559

#ส่องประชามติ: คสช.ทุ่มทุกกลไกรัฐเผยแพร่ข้อดีร่างรัฐธรรมนูญ





โดย iLaw
10 ส.ค. 2559


นับตั้งแต่ที่ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2559 มีผลบังคับใช้ เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2559 การออกเสียงประชามติวันที่ 7 สิงหาคม ก็ถูกจับตามองมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นการรณรงค์หรือการแสดงออกในการสนับสนุนและคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งก่อนหน้านี้มีภาคประชาชนหลายกลุ่ม พยายามจัดกิจกรรมเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญแต่ต้องถูกปิดกั้นและแทรกแซงจากเจ้าหน้าที่รัฐ เนื้อหาในพ.รบ.ประชามติฯ สร้างความผิดหวังให้กับสังคมพอสมควร เพราะเนื้อหาในพ.ร.บ.ฉบับนี้ มีการกำหนดโทษจากการแสดงความคิดเห็นต่อร่างรัฐธรรมนูญที่มีความคลุมเคลือและบทลงโทษที่รุนแรงเกินสมควร ในทางตรงกันข้ามพ.ร.บ.ฉบับเดียวกันกลับกำหนดให้การคุ้มครองการดำเนินการต่างๆ ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และภาคส่วนราชการต่างๆ ในการช่วยประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ

ใช้กลไกของกองทัพ ให้ “รด.จิตอาสา”ชวนลงประชามติ

ช่วงเดือนตุลาคม 2558 หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบนักศึกษาวิชาทหาร (นศท.) จำนวนปีละ 326,000 คน จัดตั้งโครงการ “รด.จิตอาสา” เพื่อปฏิบัติงานตามนโยบายของผู้บัญชาการทหารบก ในการสนับสนุนการทำงานของ คสช.และรัฐบาล โดยมีหนึ่งในวัตถุประสงค์เพื่อจัดตั้งองค์กรนักศึกษาวิชาทหารที่สามารถควบคุม พร้อมที่จะเป็นแกนนำ และปฏิบัติงานร่วมกับหน่วยทหาร หรือส่วนราชการอื่นๆ ในการช่วยเหลือประชาชน การเผยแพร่ร่างรัฐธรรมนูญ ตลอดจนการสร้างความปรองดองของคนในชาติ โดยนศท.ที่เข้าร่วมโครงการรด.จิตอาสามีสิทธิได้ประโยชน์ด้านเวลาเรียนจากการทำกิจกรรม




วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 หน่วยบัญชาการรักษาดินแดน จัดกิจกรรมการจัดตั้งองค์กรนักศึกษาวิชาทหาร "รด.จิตอาสา" สู่การปฏิบัติงานเพื่อ ชาติ ศาสตร์ กษัตริย์ และประชาชน โดยเชิญตัวแทนกรธ.มาร่วมกิจกรรมนี้ (ภาพจากเว็บไซต์ศูนย์กำลังสำรอง)


พ.อ.ปิยพงค์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกคสช. กล่าวว่า ที่ผ่านมาหน่วยบัญชาการรักษาดินแดน ได้ทำข้อตกลงกับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้ความรู้กับ นศท.ที่ได้จัดตั้งขึ้น ปัจจุบันมีจำนวน 80,000 - 100,000 คน จากจำนวนนศท.ทั่วประเทศ 300,000 คน และยังมีข้อตกลงกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้นำความรู้ขั้นตอนการดำเนินงานไปประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจในแต่ละพื้นที่ที่ตัวเองอยู่ สอดคล้องกับ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เปิดเผยว่า รด. กรธ. และ กกต. ได้มีข้อตกลงร่วมกัน เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับประเด็นสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญแก่ นศท. และให้คนเหล่านี้นำไปขยายความต่อ เมื่อใกล้ช่วงลงประชามติ จะมีการจัดอบรม นศท. ในโครงการพลเมืองดีตามวิถีประชาธิปไตย สร้างความพร้อมให้ นศท. เป็นผู้ช่วยเจ้าหน้าที่ประจำหน่วย ช่วยประชาสัมพันธ์ข้อมูลแก่ประชาชนบริเวณหน้าหน่วยลงประชามติ”

นอกจากนี้ยังพบว่าในภาคอีสานกองทัพบกได้ส่งกำลังทหารลงไปพูดคุยกับชาวบ้านเรื่องร่างรัฐธรรมนูญ และชักชวนให้มาลงประชามติ โดยการสร้างสัมพันธ์จากการช่วยชาวบ้านดำนา




ผบ.มทบ.33 อบรมให้ความรู้แก่นศท.ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเผยแพร่และรณรงค์การลงประชามติรัฐธรรมนูญ

(ภาพจากเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์)





ทหารจาก มณฑลทหารบกที่ 27 เข้าช่วยราษฎรลงแขกทำนาข้าวที่ บ.ดู่ หมู่11 ต.ธวัชบุรี อ.ธวัชบุรี จ.ร้อยเอ็ด

(ภาพจากเว็บไซต์ประชาไท)


มหาดไทยปั้น ครู ก. ข. ค. ลงเคาะทุกประตูหมู่บ้าน

วันที่ 5 เมษายน 2559 คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแนวทางการปฏิบัติในการออกเสียงประชามติที่ให้กระทรวง ทบวง กรม รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐสนับสนุนการจัดการออกเสียงประชามติ โดยหน่วยราชการที่มีบทบาทสำคัญครั้งนี้ คือกระทรวงมหาดไทย ที่มีหนึ่งในหน้าที่สำคัญคือการให้ความร่วมมือกรธ.ในการเผยแพร่ และประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับบทบัญญัติและสาระสำคัญของรัฐธรรมนูญ และการจัดอบรมวิทยากรซึ่งจะเป็นผู้ที่ลงไปขยายความรู้ในระดับอำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน เพื่อชี้แจงทำความเข้าใจเกี่ยวกับสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนในพื้นที่ได้รับทราบอย่างกว้างขวางและทั่วถึง

มีรายงานว่า กฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้ทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดทั่วประเทศ หลังจากได้รับมอบหมายให้สนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของกรธ. โดยแจ้งให้ทุกจังหวัดจัดตั้ง "ศูนย์สนับสนุนการเผยแพร่และการประชาสัมพันธ์" ในระดับจังหวัดและอำเภอ และเตรียมการคัดเลือก "วิทยากรอาสาเผยแพร่ประชาธิปไตย" ในระดับจังหวัด (ครู ก.) อำเภอ (ครู ข.) และหมู่บ้าน/ชุมชน (ครู ค.) โดยวิทยากรทุกระดับจะร่วมกันลงพื้นที่เผยแพร่และประชาสัมพันธ์เนื้อหาสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญให้กับประชาชนในพื้นที่อย่างใกล้ชิด




มีชัย ฤชุพันธ์ ประธานกรธ. ในงานอบรมครู ก. ช่วงวันที่ 18-19 พฤษภาคม 2559 (ที่มาภาพเว็บข่าวรัฐสภา)


สำหรับวิธีการทำงานของวิทยากรอาสาสมัครเผยแพร่ประชาธิปไตย จะเริ่มจากคัดเลือกวิทยากร ครู ก. จังหวัดละ 5 คน เช่น รองผู้ว่าราชการจังหวัด หรือปลัดจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ศึกษาธิการจังหวัด ผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยในพื้นที่ เป็นต้น โดยครู ก. จะนำสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญที่ได้รับการอบรมจากกรธ. ไปถ่ายทอดให้กับวิทยากร ครู ข. จำนวน 878 อำเภอ อำเภอละ 10 คน รวม 8,780 คน จากนั้น ครู ข. ก็จะถ่ายถอดความรู้เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญไปสู่ ครู ค. ซึ่งเป็นอาสาสมัคระดับหมู่บ้าน 80,491 แห่ง หมู่บ้านละ 4 คน รวม 321,964 คน จากนั้นวิทยากรทุกระดับจะร่วมกันลงพื้นที่ให้ความรู้ประชาชน ในขั้นตอนของ ครู ค. ชาติชาย ณ เชียงใหม่ โฆษก กรธ.กล่าวว่าเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดเพราะครู ค.จะทำหน้าที่เคาะประตูชี้แจงตามหมู่บ้าน

สำหรับเนื้อหาในเอกสารที่ครู ค.ใช้ในการอบรมเพื่อเผยแพร่ต่อประชาชนทั่วประเทศ ประกอบด้วย "แผ่นพับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ สร้างประเทศให้พัฒนา สร้างคุณค่าให้คนไทย", "5 คำถามที่ครู ข, ครู ค ควรทำความเข้าใจร่วมกัน", "กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ไขข้อข้องใจ", "แผ่นพับสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ", "คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เล่ม 2", "คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ เล่ม 1" และ "ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช...." โดยเนื้อหาเป็นการพูดถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ เช่น คุ้มครองประชาชนรอบด้านไม่ต้องร้องขอ, ทุกเสียงมีค่า กาบัตรเดียว, ตัดสิทธิคนโกง ยกระดับการเมือง, ทุกคนมีส่วนร่วมได้จริง, หรือประชาชนรู้ล่วงหน้าว่าใครจะมาเป็นนายกรัฐมนตรี




ครู ค.เคาะประตูบ้านหลายอำเภอ จังหวัดอุบลราชธานี (ที่มาภาพเว็บไซต์ผู้จัดการออนไลน์)


กกต. แจกสรุปร่างรัฐธรรมนูญพูดแต่ข้อดีร่างรัฐธรรมนูญ

การออกเสียงประชามติครั้งนี้ กกต.มีหน้าที่ในการดำเนินการจัดให้มีการออกเสียงประชามติและประกาศผลการออกเสียงประชามติ รวมทั้งจัดพิมพ์และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญ คำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ ประเด็นคำถามพ่วงและคำอธิบายหลักการและเหตุผลของคำถามพ่วง เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนได้ทำความเข้าใจอย่างทั่วถึง ภายใต้หลัก 3 ป. คือ ประชาชนสะดวก ประชามติเที่ยงธรรม และ ประชาธิปไตยคุณภาพ ในการแจกจ่ายเอกสารร่างรัฐธรรมนูญและคำอธิบายสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญ

กกต.ชี้แจงว่าร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับมิได้แจกจ่ายให้ทุกครัวเรือน แต่จัดส่งให้หน่วยราชการต่างๆ โดยเอกสารที่แจกไปตามครัวเรือนของผู้มีสิทธิออกเสียงประชามติส่วนใหญ่ คือ จุลสารการออกเสียงประชามติ สรุปย่อสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญ และคำถามพ่วง โดยเอกสารฉบับนี้จะสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วงเพื่อให้ประชาชนเข้าใจง่ายขึ้น

อย่างไรก็ตามจุลสารฯ ฉบับนี้กลับพบว่าอธิบายเนื้อหาส่วนสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญไม่ครบถ้วน และยังเพิ่มเนื้อหาส่วนที่ไม่มีในร่างรัฐธรรมนูญเข้ามา และใส่ความคิดเห็นเพิ่มเติมของผู้จัดทำสรุปจุลสารฯ รวมทั้งข้อความเท็จที่ไม่ปรากฎในร่างรัฐธรรมนูญเข้าไปด้วย เช่น การเขียนว่า เด็กเล็กได้รับการดูแล และพัฒนาอย่างเป็นระบบ และได้มาตรฐานก่อนเข้าเรียนอนุบาลโดย "ไม่เสียค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 2 ปี" และ "รวมเวลาที่ได้รับการดูแลโดยไม่เก็บค่าใช้จ่าย 14 ปี " ซึ่งเป็นข้อความเท็จทั้งที่ในร่างรัฐธรรมนูญ ระบุไว้เพียง "รัฐต้องดำเนินการให้เด็กเล็กได้รับการดูแลและพัฒนาก่อนเข้ารับการศึกษา"เท่านั้น ในจุลสารฯ ยังไม่ได้เขียนหลายส่วนที่สำคัญซึ่งเป็นที่ถกเถียงของร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ที่มาวุฒิสภาชุดแรกที่มาจากการแต่งตั้งของคสช.




รด.จิตอาสา จาก รร.วัดนวลนรดิศ ถือจุลสารฯ กกต. รณรงค์ประชามติย่านภาษีเจริญ (ที่มาภาพ)


กกต.ผลิตแอปช่วย กรธ.เผยแพร่ข้อดีร่างรัฐธรรมนูญ

การเผยแพร่เนื้อหาสาระร่างรัฐธรรมนูญทางโลกออนไลน์นับว่ามีความครบถ้วนในการเข้าถึงข้อมูลมากทีสุด ช่วงเดือนพฤษภาคม 2559 กกต.เปิดตัวแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนชื่อว่า “ฉลาดรู้ประชามติ (smart info)” เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนที่มีสิทธิออกเสียงประชามติ โดยเนื้อหาในแอปพลิเคชั่น มีส่วนให้ศึกษาร่างรัฐธรรมนูญฉบับเต็ม มีส่วนของคำอธิบายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญสองเล่ม รวมทั้งส่วนของการอธิบายด้วยภาพ Infographic ซึ่งทั้งหมดเป็นเนื้อหาของกรธ.ที่พูดถึงเพียงแต่ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กรธ.ยังได้แพร่อินโฟกราฟฟิคชุดจำนวนมากผ่านเฟซบุ๊กอย่าง รัฐธรรมนูญ Insight และ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ 2558 ซึ่งพูดถึงข้อดีและหลีกเลี่ยงไม่กล่าวถึงเนื้อหาบ้างส่วนในร่างรัฐธรรมนูญ





ส่วนคำอธิบายสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญสองเล่มที่จัดทำโดยกรธ.

กรธ. ดัน เพลงฉ่อยรัฐธรรมนูญ บอกข้อดีของร่างฯ

ในการประชาพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญครั้งนี้ กรธ.จัดทำเอกสารประชาสัมพันธ์ข้อดีของร่างรัฐธรรมนญูหลายฉบับ นอกจากเอกสารต่างๆ แล้ว กรธ.ยังผลิตคลิปวิดีโอเพลงเพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญหลายชิ้น ซึ่งชิ้นที่เป็นที่กล่าวถึงการมากคือเพลงฉ่อย “สาระน่ารู้ร่างรัฐธรรมนูญ” ที่ขับร้องโดยศิลปินตลกชื่อดัง (น้าโย่ง น้าพวง น้านง) เนื้อหาในเพลงพูดถึงข้อดีของร่างรัฐธรรมนูญ เช่น ด้านสาธารณสุข สิทธิของประชาชน มาตรการปราบโกง และด้านการศึกษา โดยท่อนที่ถูกกล่าวถึงกันมากคือ "รัฐจะดำเนินการให้เด็กทุกคนได้รับการศึกษาตั้งแต่สองขวบจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 หรือเป็นเวลา 14 ปี" ซึ่งข้อมูลส่วนนี้มีการวิจารณ์กันมากว่าขัดกับร่างรัฐธรรมนูญที่เขียนให้เรียนฟรีเพียง 12 ปี

นอกจากนี้ กรธ.ให้ศิลปินจาก 4 ภาค มาร้องเพลงเพื่อเผยแพร่เนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญ และเชิญชวนไปลงประชามติด้วย เช่น ภาคกลางมี ชินกร ไกรลาส ขับร้องเพลงแหล่ เรื่องรัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง และ เพลงฉ่อยเชิญลงประชามติ ภาคอีสาน จินตรา พูนลาภ เพลงร่างรัฐธรรมนูญเพื่อพวกเฮาชาวไทย ภาคเหนือ ธีรวัฒน์ หมื่นทา เพลงจ๊อยซอ เรื่องมิติใหม่ในรัฐธรรมนูญ และภาคใต้ ศิลปินคือ เอกชัย ศรีวิชัย ทั้งนี้ กรธ.จะเผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ อาทิ สถานีวิทยุ สถานีโทรทัศน์ ทีวีดิจิตอล หอกระจายข่าว เป็นต้น

อีกคลิปที่ถูกวิจารณ์กันมากคือคลิปเพลงแหล่ “คำถามพ่วง” โดยชินกร ไกรลาศ ที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับคำถามพ่วงประชามติ ของสนช. โดยเนื้อหาในคลิปดังกล่าว เป็นการอธิบายเกี่ยวกับคำถามพ่วงประชามติ โดยมีส่วนหนึ่งของภาพประกอบในคลิปมีการนำตัวอย่างบัตรลงประชามติมาใส่ พร้อมมีการทำเครื่องหมายกาบาทในช่อง “เห็นด้วย” กับร่างรัฐธรรมนูญในสองช่วงคือ ช่วงต้นและช่วงท้ายของคลิป จึงมีการวิจารณ์กันว่าคลิปดังกล่าวอาจจะหมิ่นเหม่ต่อการกระทำผิดพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เพราะเป็นการชี้นำ ชักจูง ให้เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้เมื่อเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ ทางสนช.จึงสั่งการให้ระงับการนำคลิปดังกล่าวลงเว็บไซต์

ใช้สื่อสาธารณะทุกช่อง พูดด้านเดียว ไม่ได้สัดส่วน

สถานีวิทยุและโทรทัศน์เป็นอีกช่องทางการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์ร่างรัฐธรรมนูญของ กกต. โดยกกต.จัดให้มีรายการ "7 สิงหาประชามติร่วมใจ" โดยได้ประสานความร่วมมือกันของหลายฝ่าย อาทิ สถานีโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย(ทรท.) สถานีวิทยุกระจายเสียง และสถานีโทรทัศน์ โดยรายการมีจำนวน 13 ตอน ออกอากาศเป็นประจำทุกวันจันทร์ และ วันพุธ เวลา 17.30-18.00 น. พร้อมกันในหลายสถานีโทรทัศน์ และสถานนีวิทยุอีกจำนวนกว่า 600 สถานี อย่างไรก็ตามการจัดรายการดังกล่าวของ กกต.ถูกวิจารณ์ว่าให้เวลาส่วนใหญ่กับการพูดถึงด้านดีของร่างรัฐธรรมนูญ โดยสัดส่วนของผู้ร่วมรายการมาจากฝั่งของ กรธ. กกต. และ สนช.ซึ่งเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญมากกว่าฝั่งที่ไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

ทั้งนี้ในช่วงสัปดาห์สุดท้ายก่อนวันออกเสียงประชามติ หลังจากมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์และแรงกดดันจากพรรคการเมืองทั้งพรรคเพื่อไทย และพรรคประชาธิปัตย์ รวมถึงนักวิชาการและภาคประชาสังคม ถึงบรรยากาศการถกเถียงเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญที่ถูกปิดกั้น กกต.จึงพยายามผ่านคลายแรงกดดันลง โดยสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต. กล่าวถึงการประสานกับสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสเพื่อจัดเวทีถกเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญให้ทั้งฝ่ายเห็นด้วยกับเห็นต่างถกเนื้อหาช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการทำประชามติ หลังจากนั้นสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอส ก็มีการจัดรายการเพื่อถกเถียงประเด็นสาระร่างรัฐธรรมนูญทั้งสิ้น 11 ตอน เป็นเวลาประมาณหนึ่งชั่วโมงโดยมีการเชิญผู้ที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมาถกเถียงกัน ซึ่งทุกตอนไม่มี กรธ. ในฐานะผู้ร่างเป็นผู้ร่วมในการถกเถียง อย่างไรก็ตามทางสถานีโทรทัศน์ไทยพีบีเอสก็ได้จัดอีกหนึ่งตอนให้ กรธ.นั่งตอบคำถามข้อสงสัยฝ่ายเดียว เป็นเวลากว่าสองชั่วโมงเช่นกัน


เรื่องที่เกี่ยวข้อง:
#ส่องประชามติ: สรุปข่าวการจับกุมฐาน "ฉีกบัตร" ประชามติในวันที่ 7สิงหาฯ
ชวนทุกคน #ส่องประชามติ ร่วมกัน 7 สิงหา นี้
ประชามติไทยสไตล์: โหวตเยส รัฐประหาร ร่างรัฐธรรมนูญ