วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 07, 2568

คนเห็นใจอ.พิรงรอง เพราะเป็นการออกคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน และโทษที่ได้รับน่าจะไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่เกิดขึ้น


Pipob Udomittipong
18 hours ago
·
คนเห็นใจอ.พิรงรอง เพราะเป็นการออกคำสั่งเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน และโทษที่ได้รับน่าจะไม่ได้สัดส่วนกับการกระทำที่เกิดขึ้น ที่สำคัญที่อ้างว่าการออกคำสั่งเพื่อตักเตือนทำให้เกิดความเสียหาย “เพราะผู้รับใบอนุญาตประเภทช่องรายการโทรทัศน์บางช่อง อาจนำมาเป็นเหตุผลในการขอระงับการเผยแพร่รายการต่าง ๆ ผ่านทรูไอดี” อยากรู้ว่ามีการขอระงับการเผยแพร่รายการหรือไม่และอย่างไร
แต่ที่สำคัญสำหรับคนทั่วไป หรือแม้แต่ผู้ใช้บริการทรูไอดี ไม่น่าจะเลิกหรือลดการดูรายการผ่านแอปทรูไอดี เพราะคำตักเตือนดังกล่าว อยากรู้ว่ามีการพิสูจน์ “ความเสียหาย” นั้นอย่างไร? แต่ที่แน่ ๆ “ความเสียหาย” ได้เกิดขึ้นแล้วกับสังคมไทย ต่อจากนี้จะมีใครกล้าหือวิจารณ์บริษัทยักษ์ใหญ่แบบนี้อีก มันเป็นการทำลาย #เสรีภาพด้านความเห็น อย่างร้ายแรง ซึ่งศาลไทยมักไม่ให้น้ำหนัก


The MATTER 
19 hours ago
·
RECAP: สรุปปมทรูไอดีฟ้อง กสทช. หลังศาลตัดสิน ‘ศ.ดร.พิรงรอง’ จำคุก 2 ปี ชี้มีเจตนากลั่นแกล้ง
.
วันนี้ (6 ก.พ. 2568) ศาลตัดสินให้จำคุก 2 ปี ศ.ดร.พิรงรอง รามสูต กรณีทรูไอดียื่นฟ้อง หลังออกหนังสือเตือนในนามคณะกรรมการ กสทช. ตามกฎ Must Carry ที่มีโฆษณาแทรกไม่ได้
.
เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร ทำไมจึงถูกฟ้อง ผู้บริโภคเสียเปรียบจริงหรือไม่ และมีประเด็นใดที่ควรติดตามต่อ The MATTER ชวนทำความเข้าใจไปด้วยกัน
.
1. เรื่องเริ่มต้นเมื่อปี 2566 ที่มีผู้ร้องเรียนมาที่สำนักงาน กสทช. กรณีที่บนแอปพลิเคชัน ‘ทรูไอดี’ มีโฆษณาแทรกในช่องรายการทีวีดิจิทัลของผู้ได้รับใบอนุญาตจาก กสทช.
.
2. โดยบริษัททรูดิจิทัล กรุ๊ป ในฐานะผู้ให้บริการแอปฯ ทรูไอดี ได้นำสัญญาณของช่องนั้น มาถ่ายทอดในแพลตฟอร์มของตนเอง
.
3. สำนักงาน กสทช. จึงได้ออกหนังสือแจ้งไปยังผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจำนวน 127 ราย หรือก็คือ ‘ใบเตือน’ ให้ทุกรายตรวจสอบการนำภาพไปเผยแพร่ในแพลตฟอร์มต่างๆ ว่าให้ปฏิบัติตามประกาศ กสทช. และเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวข้องโดยเคร่งครัด
.
4. การออกหนังสือแจ้งนี้ ได้อ้างอิงตามหลัก ‘มัสต์ แครี่’ (Must Carry) ซึ่งหมายถึง การจะต้องไม่มีการแทรกเนื้อหาใดๆ นั่นคือจะต้องไม่มีโฆษณาคั่นในแพลตฟอร์ม
.
5. หนังสือเตือนนี้ ไม่ได้ส่งตรงไปยังบริษัททรูดิจิทัลฯ เนื่องจากบริษัทไม่ได้เป็นผู้ได้รับใบอนุญาตและไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช.
.
6. ถึงอย่างนั้น บริษัทได้อ้างว่า การออกหนังสือเตือนทำให้บริษัทเสียหาย เพราะผู้รับใบอนุญาตประเภทช่องรายการโทรทัศน์บางช่อง อาจนำมาเป็นเหตุผลในการขอระงับการเผยแพร่รายการต่าง ๆ ผ่านทรูไอดี
.
7. นอกจากนั้น ยังอ้างว่า สำนักงาน กสทช. ยังไม่มีระเบียบเฉพาะในการกำกับดูแลกิจการ OTT (Over-The-Top คือ การให้บริการสตรีมเนื้อหาผ่านโครงข่ายอินเทอร์เน็ต) แต่อย่างใด ทรูไอดีจึงไม่ต้องรับใบอนุญาตจาก กสทช. หรือก็คือ ไม่ต้องปฏิบัติตามหลักการเหล่านี้
.
8. บริษัททรูดิจิทัลฯ จึงฟ้องร้อง พิรงรอง รามสูต ประธานอนุกรรมการชุดนี้ ด้วยเหตุที่ทำให้เสียหาย
.
9. ดร.พิรงรอง รามสูต เป็นคณะกรรมการ กสทช. ตั้งแต่ปี 2565 ตัวอย่างผลงานที่อาจยังจำกันได้ คือในปี 2565 ที่พิรงรองเป็นคณะกรรมการ กสทช. 2 ใน 7 คน ที่ลงมติไม่อนุญาตกรณีการควบรวมทรู-ดีแทค
.
10. เดือนเมษายน 2567 ศาลมีคำสั่งประทับฟ้อง โดยบริษัททรูดิจิทัลฯ ได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งให้ พิรงรอง ยุติการปฏิบัติหน้าที่กรรมการ กสทช. และประธานอนุกรรมการพิจารณาอนุญาตด้านกิจการโทรทัศน์ไว้ชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาในคดีนี้
.
11. เดือนพฤษภาคม 2567 ศาลยกคำร้องดังกล่าว โดยพิจารณาว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์ที่แสดงให้เห็นว่าเป็นปฏิปักษ์ ขัดขวาง หรือกลั่นแกล้งการประกอบธุรกิจของโจทก์ตามที่กล่าวอ้าง
.
12. และในที่สุด วันนี้ (6 กุมภาพันธ์ 2568) ศาลอาญาทุจริตประพฤติมิชอบกลาง ตลิ่งชัน ได้อ่านคำพิพากษาคดีนี้แล้ว ตัดสินให้มีความผิดจริง ชี้มีเจตนา กลั่นแกล้งโจทก์(บริษัททรู) ให้ได้รับความเสียหาย ต้องโทษจำคุก 2 ปี
.
13. หากพิรงรองไม่ได้รับสิทธิให้ประกันตัวระหว่างรอการอนุมัติการอุทธรณ์ ก็จะต้องสิ้นสภาพการเป็น กสทช. ทันที เพราะจะมีลักษณะต้องห้ามในการเป็นกรรมการ กสทช. คือการเป็นบุคคลที่ถูกพิพากษาให้จำคุกและถูกคุมขังโดยหมายของศาล
.
14. ก่อนจะมีคำตัดสิน สภาองค์กรของผู้บริโภค ได้โพสต์ลงบนเฟซบุ๊กเพจว่า ‘ทราบว่ามี กสทช. เจรจากับอาจารย์พิรงรองให้ลาออกแล้วจะถอนฟ้องทุกคดี’
.
15. ทำให้คนตั้งข้อสงสัยว่า คนใน กสทช. เองจะต้อง ‘มีเอี่ยว’ หรือได้รับผลประโยช์อะไรจากบริษัททรูหรือเปล่า จึงกลายเป็นภาพของการที่พิรงรองถูกกดดันในการทำหน้าที่เช่นนี้
16. ก่อนหน้านี้ ในช่วงวันที่ 4-5 กุมภาพันธ์ 2568 ประเด็นนี้ถูกพูดถึงบนโซเชียลมีเดีย โดยเกิดแฮชแท็ก #Saveพิรงรอง #Freeกสทช
.
17. เครือข่ายนักวิชาการ ตัวแทนสื่อต่างๆ นักศึกษาด้านการสื่อสารมวลชน และคนทั่วไป ออกมาแสดงความไม่เห็นด้วยต่อการฟ้องร้อง ระบุว่า พิรงรอง เพียงทำตามหน้าที่คือการคุ้มครองผู้บริโภค พร้อมให้กำลังใจ
.
18. เสียงบางส่วนระบุว่า การบอกว่าเพียงส่งหนังสือเตือนแล้วทำให้บริษัทเสียหายนั้นไม่สมเหตุสมผล ซ้ำร้าย ผู้ที่เสียหายคือผู้บริโภคต่างหาก ที่จ่ายค่าสมาชิกแล้วยังต้องดูโฆษณาคั่น
19. ส่วนหนึ่ง ร่วมกันโพสต์ข้อความแสดงจุดยืนว่า ‘กสทช.ทำตามหน้าที่ดูแลประชาชนแต่กลับถูกฟ้องปิดปาก’
.
20. ประชาชนทั่วไปที่อ้างว่าเป็นลูกค้าปัจจุบันของ TRUE จึงเริ่มพูดคุยหารือกันเรื่องการ ‘ย้ายค่าย’ และเกิดแฮชแท็ก #แบนTRUE แต่แล้วก็เกิดประเด็นถกเถียงใหม่ ว่าค่ายที่ให้บริการในลักษณะนี้ในประเทศไทยนั้นมีอยู่ไม่กี่ค่ายเท่านั้น ผู้บริโภคจึงไม่ได้มีทางเลือกมากนัก
.
21. ประเด็นที่ควรตั้งคำถามและติดตามต่อหลังจากนี้ คือการทำหน้าที่ต่างๆ ของ กสทช. ที่ควรเป็นไปเพื่อปกป้องผลประโยชน์สูงสุดของผู้บริโภค แต่เมื่อเกิดคดีฟ้องร้องในลักษณะนี้ จึงอาจมองได้ว่าจะเป็นการกระทบสิทธิในภายภาคหน้าต่อไป ทั้งสิทธิในการทำหน้าที่ของ กสทช. สิทธิของประชาชน รวมถึงเสรีภาพในการนำเสนอของสื่อมวลชนอีกด้วย
.
.
.
อ้างอิงจาก
https://www.tcc.or.th/pirongrong-true-consumerprotection/...
#กทสช #แบนTRUE #Saveพิรงรอง #Freeกสทช #TheMATTER


https://www.facebook.com/pipob.udomittipong/posts/10162143953851649