วันศุกร์, สิงหาคม 12, 2559

ผลประชามติรับร่าง รธน. ฉบับ ‘มีชัย’ ได้สะท้อนให้เห็นถึง "ฝ่ายหนึ่งกดหัวอีกฝ่ายหนึ่ง" ใช้อำนาจตามอำเภอใจ น่าจะไม่มีใครฟังกันแล้ว เรื่องความปรองดอง





เชื่อแน่ว่าคงไม่ช้า คสช. จะเร่งรวบรัดอำนาจ ‘ยิ่ง’ กว่านี้ ให้สุด ‘ยอด’ และ ‘รวด’ เร็วกว่านี้

เพื่อกระชับผลประชามติรับร่าง รธน. ๕๙ ที่ได้เสียง ๓๔ เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ (ตัวเลขเห็นชอบ ๑๗ ล้านจากผู้มีสิทธิทั้งหมด ๕๐ ล้าน)

มิใยที่ Piyabutr Saengkanokkul นักกฎหมายมหาชนกลุ่มนิติราษฎร์ สำนักธรรมศาสตร์ ย้ำเตือนไว้ว่า

“เอาเข้าจริง Vote Yes ก็ไม่ใช่เสียงข้างมากของคนทั้งประเทศ เรื่องสำคัญอย่าง รธน. ไม่สามารถเคลมคนเพียง ๓๐ กว่าเปอรเซนต์ได้”

ทำนองเดียวกับที่ รุ่งคุณ กิติยากร เซเล็บสกุลโด่งผู้สนับสนุน กปปส. และ เป่านกหวีดปิดกรุงเทพฯ นั่งห้างให้ คสช. เข้าครองอำนาจเมื่อสองปีที่แล้ว

เขาตัดใจกระโดดออกมาหลังจากเห็นผลประชามติ ว่า “ไม่ได้เพียงแต่ไม่ยอมรับในร่างรัฐธรรมนูญนี้เท่านั้น แต่สิ่งที่ผมไม่ยอมรับนั้น รวมถึงสิ่งที่ได้มีการเรียกกันไปว่า 'ประชามติ' นี้”

ด้วยเหตุผลว่าเป็นการบิดเบือนเจตนารมณ์ของการทำ 'ประชามติ' อย่างน่าละอายใจ เพราะ

“ละเลย กีดกันประชาชนต่อข้อมูล ต่อมุมมองที่เขาควรได้รับรู้ มีจุดประสงค์เพียงให้รับรองเพื่อสร้างความชอบธรรมในระบบของตน” (https://goo.gl/YxLpHF)

ในเมื่อ ‘เห็บ’ สองตนที่ยังเกาะอยู่บนขนดหาง พยายามจะขยับที่ทางหมายย้ายไปปักหลักอยู่แถวกลางหลัง ให้มั่นคงมากกว่า

หนึ่งนั่นคือ ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตกรรมาธิการยกร่าง รธน. ประกาศตั้งพรรคการเมืองรองรับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรียุคเลือกตั้ง แต่หัวหน้า คสช. ก็ยังเขิน ทำไขสือว่า

“ผมไม่ได้ยิน ก็แล้วแต่เขา ใครจะพูดอะไรก็พูดไป” (http://www.thairath.co.th/content/687042)

กระนั้นยังอุตส่าห์มี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อีกตน “แนะนำให้ใช้โอกาสสถานการณ์การเมืองขณะนี้ ปฎิวัติระบบการเมือง โดยเฉพาะการเลือกตั้ง





โดยระบุว่า ลองมาหาวิธีเลือกตั้งให้ได้คนดี คนเก่ง คนซื่อสัตย์สุจริต คนมีวิสัยทัศน์กันดูดีไหม”

อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิตเสนอไอเดียจ๊าบ ให้ประชาชนเสนอชื่อบุคคลที่เห็นสมควรเป็นผู้แทนไปหย่อนหีบบัตร นับคะแนนคนที่ได้รับการเสนอชื่อมากที่สุดไปเป็นตัวแทนจากตำบลสู่อำเภอ สู่เขตเลือกตั้งแล้วให้ประชาชนเลือกเหลือคนเดียว

ส่วนสภาสูงให้พระมหากษัตริย์กับคณะ ‘บุคคลที่ทรงคุณงามความดี’ ซึ่งมาจากองคมนตรี ผู้พิพากษาศาลฎีกา อดีตประธานสภา อดีตนายกฯ พร้อมทั้ง ‘รัฐบุรุษและปราชญ์ชาวบ้าน’ ร่วมกันคัดเลือกและแต่งตั้ง

เขาว่านี่จะเป็นการ ‘ปฏิวัติ’ ระบอบการเมืองให้เป็น “สังคมธรรมาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข” ของแท้

(http://www.matichon.co.th/news/246820)

แต่ คสช. นั้นไม่ไหวหวั่น ได้แต่พูดคำเดียวซ้ำซ้อนไม่เคลื่อนคลาย “โร้ดแม็พ โร้ดแม็พ โร้ดแม้พ”

พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษก คสช. “จะยังคงเดินหน้าตามโรดแม็พต่อไป” เช่น ในกิจการระหว่างประเทศ ก็ “จวกอียู ให้ข้อมูลไทยด้านลบ”

ต่อกรณีที่รองประธานกรรมาธิการสภายุโรป “ออกแถลงการณ์เรื่องการออกเสียงประชามติเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญในประเทศไทย ขอให้รัฐบาลไทยยกเลิกการจำกัดเสรีภาพเพื่อสร้างสภาวะเอื้อต่อประชาธิปไตยอย่างแท้จริงนั้น”

พ.อ.วินธัย บอกว่า “ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดสถานการณ์ อีกทั้งไม่ได้เห็น หรือมาสัมผัสบรรยากาศประชามติจริงๆ โดยอาจจะรับฟังข้อมูลในแบบผิวเผินทางเดียว แต่กลับไปให้ข้อมูลในลักษณะทำนองลบต่อประเทศไทย

ก็จะยิ่งทำให้ประชาชนรู้สึกสับสน ต่อท่าทีและมารยาทในความเป็นกลางได้”

(http://www.dailynews.co.th/politics/514902)





ก่อนหน้านี้สองวัน นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว. ต่างประเทศออกมาตัดพ้อรัฐบาลสหรัฐที่แถลงแบบเดียวกันว่า “เหตุใดไม่เข้าใจไทย” ไปแล้ว

ด้านเศรษฐกิจนี่เจ๋งมาก หลังจาก ครม.เห็นชอบข้อเสนอให้ผู้ป่วย ‘ร่วมจ่าย’ ค่ารักษาพยาบาลในโครงการสุขภาพถ้วนหน้า (๓๐ บาทรักษาทุกโรค) ในอัตรา ๓๐-๕๐ เปอร์เซ็นต์แล้ว

“รัฐบาลปรับอัตราค่าจ้างต่อวัน ตามมาตรฐานฝีมือ ๒๐ สาขา” ด้วยอัตราค่าจ้างต่อวัน สูงสุดที่ ๕๕๐ บาท

“กระทรวงแรงงานได้ออกประกาศคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่องอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ (ฉบับที่ ๕) ลงวันที่ ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๙ และจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑๐ สิงหาคม ๒๕๕๙ นี้เป็นต้นไป”

(http://uphuy.blogspot.com/2016/08/550-10.html?m=1)

อ่า ผู้ใช้แรงงานอย่าเพิ่งดีใจไปมากล่ะ เพราะนี่ไม่ใช่อัตราค่าจ้างขั้นต่ำเหมือน ๓๐๐ บาทต่อวัน แต่เป็นอัตราค่าจ้าง ที่ “ใช้มาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นเกณฑ์วัด”

อันจะมีค่าทักษะฝีมือ ความรู้ ความสามารถ มาใช้คำนวณปรับจากขั้นต่ำเดิม ๓๐๐ บาท ที่อาจยกเลิกไปเมื่อไหร่ไม่รู้ ฐานที่มีขั้นสูงมาแทนแล้ว (เห็นข่าวแว่วๆ เมื่อสองเดือนก่อน แต่ไม่ยืนยัน)

ทางด้านการเมืองเจ๋งกว่า เมื่อโฆษกไก่อูออกมาแจ๋อีก พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี “สงสัยยิ่งลักษณ์ให้ปากคำจำนำข้าวหวังผลการเมือง”

“เพราะไม่เพียงการให้ปากคำในชั้นศาลที่บิดเบือนเท่านั้น ยังมีการจงใจเผยแพร่เอกสารบันทึกการประชุม ผ่านโซเชียลมีเดีย ทั้งไลน์และเฟซบุ๊ก เพื่อให้สังคมเกิดความสับสนและเข้าใจผิดต่อนายกรัฐมนตรีอีกด้วย”

ข้อหาแรงนะนี่ สำหรับบ้านเมืองยุคที่ คสช. ครองเมือง มีคนกล่าวหาหัวหน้าใหญ่ทำนองนี้ติดคุกกันไปแล้วหลายราย

อันเนื่องมาแต่คำให้การของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อ้างต่อศาลว่า พล.อ.ประยุทธ์ “สั่งการให้ประเมินความเสียหาย โดยไม่ต้องพิจารณาประเด็นความยุติธรรม”

ไก่อูชี้ “เมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ผู้ที่พูดประเด็นดังกล่าวเป็นกรรมการท่านหนึ่งที่เข้าร่วมประชุม ไม่ใช่คำพูดของนายกรัฐมนตรี”

(http://www.matichon.co.th/news/245974)

เรื่องนี้ทั้ง ‘แนวหน้า’ กะ ‘ทีนิวส์’ กำลังลุ้นรอต่อยอดอย่างจดจ่อ ที่ต่อไปแล้วไม่ต้องรอ เป็นเรื่องคนของ ‘เจ๊’ ไม่ได้ประกันหนที่สอง ในคดีทำเอกสารบิดเบือน รธน.





“นายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ นางสาวทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ หลานสาว อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย พร้อมพวกรวม ๑๐ คน” ที่ทีนิวส์เขียนข่าวว่า

“เจ้าตัวครวญน่าสงสาร ผู้ต้องหาเป็นผู้หญิงหลายคนถึงปล่อยโฮ ร่ำไห้ตลอดเวลา”

“ผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ ๓๓ ระบุว่า การพิจารณาให้ประกันตัว ขึ้นกับดุลยพินิจของศาล...ทั้งนี้ล่าสุด ศาลทหารยังไม่ให้ประกันตัว ซึ่งทนายจะยื่นประกันอีกครั้ง ๑๕ ส.ค. นี้”

(http://deeps.tnews.co.th/contents/199207/)

โดยที่คดีนี้ ‘สายล่อฟ้า’ ไทยรัฐ ‘ฟันยับ’ ไปแล้วว่า “จดหมายปลอมที่แจกจ่ายไปนั้น มีข้อสังเกตุอยู่อย่างหนึ่งคือ บนซองจดหมายนั้นตีตรา ครุฑ แปะเอาไว้ด้วย...

เพื่อหวังโยนความผิดไปให้ คสช. ว่ากระทำการเอง”

โทษฐานกล่าวหาหรือโยนความผิดให้ คสช. ในกระบวนการศาลปกติต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายกันหลายซับหลายซ้อน แต่ภายใต้อำนาจรัฏฐาธิปัตย์ มาตรา ๔๔ ของ คสช. เบาะๆ ติดคุกหัวโต

ดังเช่นที่ วัฒนา เมืองสุข เขียนถึงเรื่อง ‘ความยุติธรรมของผู้ชนะ’ กรณี “คุณรังสรรค์ มณีรัตน์ อดีต ส.ส. ลำพูน ถูก คสช. ใช้อำนาจตามมาตรา ๔๔ จับและนำมาควบคุมตัวที่ มทบ. ๑๑ เพราะเผยแพร่ความคิดเห็นเรื่อง ๓๐ บาทรักษาทุกโรค สิทธิการเรียนฟรีของเด็ก และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ”

มิใยอีกเช่นกัน ที่ข้อเรียกร้องของนายวัฒนามีทางเป็นหมัน เพราะต่างกันอย่างสิ้นเชิงกับทางปฏิบัติของ คสช.

“การตั้งข้อหาคนตามอำเภอใจเพื่อให้ทหารจับกุมเอามาขังโดยไม่ต้องมีหมาย จะยังคงเกิดกับฝ่ายที่เห็นต่างกับ คสช. ต่อไป

ทั้งที่เมื่อประเทศมีรัฐธรรมนูญแล้ว คำสั่งที่ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน เช่น การให้อำนาจทหารจับ ค้นและกักขังผู้คนโดยไม่ต้องมีหมาย หรือการเอาพลเรือนไปขึ้นศาลทหาร ควรถูกยกเลิกเพื่อปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนยุติธรรมปกติ เพราะขัดต่อหลักนิติธรรมทั้งสิ้น”

(https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=505486409647594&id=100005587187129)

ยังไม่หมดเรื่องเร่งรุดขมึงเกลียวอำนาจของ คสช. เมื่อผู้ต้องหา พรบ.ประชามติคนหนึ่ง อดอาหารประท้วงอยู่ในคุกเป็นวันที่ห้าแล้ว





อานนท์ นำภา เขียนถึง ไผ่ ดาวดิน หรือนายจตุภัทร บุญภัทรรักษา ที่ยังติดอยู่ในเรือนจำภูเขียว ชัยภูมิ ว่า

“โตโต้ คือคนที่น่านับถือของคนที่ไม่ยอมรับขบวนการประชามติโดยการ ‘ฉีกบัตร’ ไผ่ ดาวดิน คือคนที่น่านับถือของคนที่ยอมเสียสละเสรีภาพ เพื่อสะท้อนให้เห็นถึงความไม่ยุติธรรมของประชามติ

แน่นอนว่ายังมีชาวบ้านอีกมากมายที่เสียสละ และถูกอำนาจมืดของกฎหมายกดขี่อยู่อย่างพวกเขาทั้งสอง...

ด้วยความเคารพและศรัทธาครับ”





แม้นว่า นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิ (กสม.) จะออกมาแสดงความห่วงใย และ “ฝากไปยังอัยการให้ทำสำนวนไม่ส่งฟ้อง

เพราะคดีนี้ไม่ใช่นักโทษอาชญากรรม แต่เป็นโทษคดีทางความคิดที่มีความเห็นต่างจากรัฐบาลและคนส่วนใหญ่ก็เท่านั้นเอง เพื่อประเทศเราจะได้เดินหน้าสู่ความปรองดองได้อย่างแท้จริง” ก็ตาม

น่าจะไม่มีใครฟังกันแล้ว เพราะความปรองดองหมดสิ้นมนต์ขลัง ความมั่นคงแบบแบบฝ่ายหนึ่งกดหัวอีกฝ่ายหนึ่งนั่นต่างหากที่ผลประชามติรับร่าง รธน. ฉบับ ‘มีชัย’ ได้สะท้อนให้เห็น

ที่ซึ่งนานาชาติรู้ดี ว่าภายในใต้ครอบกะลาที่เรียกว่าอาณาจักรไทยใบนี้ ไม่มีการคำนึงถึงความเป็นอยู่ภายนอกบนโลกรอบๆ ตัว

เมื่อสองวันก่อน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงแจ้งถึงโครงการแจกซิมคาร์ดติดเครื่องโทรศัพท์ของนักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อที่ทางการไทยจะได้ติดตามสอดแนมการเคลื่อนไหวตลอดเวลาที่อยู่ในประเทศไทยได้

มาเมื่อวานทางการตำรวจไทยก้าวคืบไปอีกขั้น พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา โฆษก สตช. แถลงว่ากฎระเบียบใหม่ให้ตำรวจสามารถดักฟังโทรศัพท์ของประชาชนได้เพื่อความมั่นคง กำลังอยู่ในขั้นตอนการนำมาบังคับใช้ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติไว้แล้ว

“ความคิดเช่นนี้เป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดความหวาดหวั่นอย่างยิ่ง” สุณัย ผาสุก ตัวแทนองค์กรฮิวแมนไร้ท์ว้อทช์กล่าวต่อสำนักข่าวรอยเตอร์ว่า

“มันเป็นการให้อำนาจอย่างระห่ำและตามอำเภอใจแก่เจ้าพนักงาน ในการตั้งข้อหาเรื่องความมั่นคง”

(http://www.channelnewsasia.com/…/thai-police-w…/3033874.html)

ความมั่นคงนี่แหละที่ทำให้ คสช. ได้การรับรองต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับเผด็จการระรอกใหม่ ตามต้องการ