วันพุธ, สิงหาคม 03, 2559

ภาษีที่ดิน พ่นพิษ!!! เศรษฐีภูธร-ตระกูลดัง นั่งไม่ติด






สรุปข่าวอสังหาฯ ประจำสัปดาห์ 25 กรกฎาคม – 31 กรกฎาคม 2559 โดยยามเฝ้าเว็บ


ที่มา เวป Property Today

July 31, 2016


ภาษีที่ดิน พ่นพิษ!!! เศรษฐีภูธร-ตระกูลดัง นั่งไม่ติด

ภาษีที่ดิน พ่นพิษ 50 ตระกูลดัง-เศรษฐีเก่าไม่อยากแบกภาระจ่ายภาษีเร่ขายแลนด์แบงก์หันตุนเงินสด จีบโบรกเกอร์เปิดดีลซื้อขายคึกคัก “คอลลิเออร์สฯ-เซนจูรี่ 21” เผยโอกาสเจรจาจบเร็วขึ้น จาก 4 ปีหดเหลือ 6-8 เดือน เศรษฐีภูธรเอามั่งเปิดพอร์ตขายแปลงใหญ่ ทุนจีน-ญี่ปุ่นสบช่องชวนจอยต์เวนเจอร์ “สัมมากร” ห่วงบ้านเก่า-วังโบราณเสี่ยงถูกขายทอดตลาด

ผู้สื่อข่าวสำรวจขยายผลปัญหาผลกระทบจากนโยบายรัฐบาล คสช.ที่เตรียมบังคับใช้กฎหมายใหม่ “ร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ…” ภายในต้นปี 2560 พบว่า ในมุมเจ้าของที่ดินเริ่มมีความเคลื่อนไหวเปิดเจรจาซื้อขายที่ดิน โดยเฉพาะที่ดินย่านใจกลางเมืองซึ่งมีมูลค่าสูง และส่วนใหญ่เป็นของกลุ่มเศรษฐีตระกูลเก่าแก่เนื่องจากไม่ต้องการรับภาระค่าใช้จ่ายภาษีที่ต้องจ่ายทุกปี

แลนด์ลอร์ดตื่นภาษีที่ดิน

นางสาวพรทิพย์แก้วอยู่กรรมการบริหารฝ่ายที่ดินและการลงทุน บจ.เซ็นจูรี่ 21 (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาการขายอสังหาริมทรัพย์ เปิดเผยว่า ปีนี้แลนด์ลอร์ดมีความเคลื่อนไหวต้องการเปิดเจรจาขายที่ดินมากขึ้นจริง วิเคราะห์ว่าภาษีที่ดินฯ เป็นแรงผลักอีกส่วนหนึ่งที่เพิ่มเข้ามา จากเดิมเพิ่งบังคับใช้ พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ.2558 เมื่อ 1 ก.พ. 2559 ทำให้แลนด์ลอร์ดตัดสินใจขายที่ดินหลายแปลง โดยเฉพาะแปลงที่มีเจ้าของที่ดินร่วมหลายราย

ตัวอย่างที่ดินที่ประกาศขาย ล่าสุด แปลงที่ปิดดีลการซื้อขายอยู่ในโซนถนนประชาอุทิศ ห้วยขวาง ใกล้สำนักงานเขตห้วยขวาง ที่ดิน 10 ไร่ ขาย ตร.ว.ละ 2 แสนบาทต้น ๆ อีกแปลงอยู่บนถนนพระราม 9 ใกล้หัวมุมสี่แยกไฟแดงและใกล้คอนโดมิเนียมเดอะไลน์ อโศก-รัชดา ขายไปแล้วเช่นกันโดยไม่เปิดเผยราคา “ที่ดินเสนอขายคึกคักอยู่แนวถนนพระราม 9 รัชดาภิเษกตามแนวรถไฟฟ้า ติดถนนใหญ่ ราคา ตร.ว.ละ 4-5 แสนบาทขึ้นไป มีบางแปลงเป็นมรดกตกทอดและกรรมสิทธิ์ร่วมของกลุ่มทายาทตระกูลเก่า”

นายพีระพงศ์ จรูญเอก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ออริจิ้น พร็อพเพอร์ตี้ เปิดเผยว่า ปัจจุบันที่ดินย่านซีบีดีหรือศูนย์กลางธุรกิจ อาทิ สุขุมวิทตอนต้น ซอยทองหล่อ สีลม สาทร ปกติมีการเสนอขาย 1-2 แปลง/เดือน ล่าสุดมีที่ดินกลางเมืองเสนอขาย 20 แปลง/เดือนแล้ว บางแปลงยอมลดราคาลงเพื่อให้ปิดการขายเร็ว เช่น จาก ตร.ว.ละ 1 ล้านบาทลดเหลือ 7 แสนบาท “ภาษีที่ดินเป็นโอกาสที่ดีมากของดีเวลอปเปอร์เพราะมีที่ดินให้เลือกมากขึ้น บริษัทเพิ่มงบฯซื้อที่ดินปีนี้จาก 2,000 ล้านเพิ่มเป็น 3,000 ล้านบาท” นายพีระพงศ์กล่าว

50 ตระกูลดังขยับตัว

นายสัญชัย เอกคุณากูล รองกรรมการผู้จัดการ บจ.คอลลิเออร์ส (ประเทศไทย) กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้บริษัทตั้งเป้ามีรายได้จากธุรกรรมซื้อขายที่ดินเปล่า 40% ของรายได้รวม ข้อสังเกตมีเจ้าของที่ดินรายกลาง-รายเล็กหรือถือครองที่ดินไม่เกิน 10 ไร่ ราคาต่ำกว่า ตร.ว.ละ 2 แสนบาท เข้ามาขอให้จับคู่ซื้อขายมากขึ้น อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เจ้าของที่ดินเริ่มเห็นความจำเป็นในการขายที่ดินเปล่าออกไป แต่ยังไม่เห็นสัญญาณว่าราคาจะปรับตัวลดลงแต่อย่างใด เพียงแต่เปิดออปชั่นเจรจาจบได้ง่ายกว่าแต่ก่อน

“สำหรับคนมีที่ดินเยอะ ๆ หรือที่ดินราคาแพงในมือ ตั้งแต่มีภาษีมรดกก็กระจายความเสี่ยงด้วยการโอนเปลี่ยนมือไปรอบหนึ่งแล้ว รอบนี้ (ภาษีที่ดินฯ) เป็นการนำส่วนที่เหลือมานั่งดูว่าจะทำประโยชน์อะไรได้มากกว่า รูปแบบการขายก็พัฒนามากขึ้น แต่เดิมขายที่ดินเปล่า ปัจจุบันมีการศึกษาความเป็นไปได้ในการลงทุนหรือทำฟีซิบิลิตี้ และเน้นขายให้กับดีเวลอปเปอร์เพราะได้ราคาดีกว่าขายให้นักอุตสาหกรรมหรือนักลงทุนประเภทอื่น”

นอกจากนี้ความต้องการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีประเภทที่ดินเปล่าทำให้เปิดเงื่อนไขในการร่วมทุนหรือจอยต์เวนเจอร์มากขึ้นด้วย ซึ่งคอลลิเออร์สฯ มีลูกค้าแสดงความสนใจนำที่ดินเปล่ามาร่วมลงทุนพัฒนาโครงการกับนักลงทุนต่างชาติมากขึ้น โดยเฉพาะนักลงทุนจีนและญี่ปุ่น ล่าสุดอยู่ระหว่างเจรจา 2-3 ราย ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

บ้านเก่า-วังโบราณเสี่ยงถูกขาย

นายกิตติพล ปราโมช ณ อยุธยา กรรมการผู้จัดการ บมจ.สัมมากร เปิดเผยว่า ผลจากการเก็บภาษีที่ดินทำให้ที่ดินกลางเมืองราคาสูงและเจ้าของที่ดินที่ไม่มีกำลังพอจ่ายภาษีที่ดินทุกปี ต่างจากเดิมที่การเก็บที่ดินไว้ไม่มีต้นทุนค่าใช้จ่ายอะไรเลย

จุดโฟกัสอยู่ที่หากเป็นที่ดินมรดกทางประวัติศาสตร์เป็นบ้านเก่าแก่หรือวังโบราณบนแปลงที่ดินซึ่งตกทอดในตระกูลและยังรักษาอยู่ในสภาพดีถ้าหากเจ้าของปัจจุบันไม่มีกำลังทรัพย์พอชำระภาษีที่ดินอาจต้องยอมขายที่ดินให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งการพัฒนาย่อมต้องรื้อถอนบ้านที่ควรจะได้รับการอนุรักษ์ แต่ถ้าหากมีการซื้อขายเปลี่ยนมือและรื้อถอนจริง มองว่าเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างมาก

“ผมเสียดายบ้านเก่าสวย ๆ ที่อาจจะต้องถูกรื้อถอน อย่างบ้านเก่าของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ในซอยสวนพลู ปัจจุบันถ้าตีราคาประเมินจะสูงมาก ซึ่งเจ้าของปัจจุบันน่าจะไม่มีกำลังพอจ่ายภาษี” นายกิตติพลกล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ขณะนี้มีการจับตามองบ้านเก่าแก่ที่มีประวัติศาสตร์ เช่น บ้านซอยสวนพลูที่ปัจจุบันเป็นกรรมสิทธิ์ของ ม.ร.ว.รองฤทธิ์ ปราโมช บุตรชายของ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เนื้อที่ 5 ไร่ ตั้งอยู่ในซอยนราธิวาสราชนครินทร์ 7 หรือซอยพระพินิจ เชื่อมต่อกับซอยสวนพลู

ภายในมีเรือนไม้ 3 หลัง ได้รับการจดทะเบียนเป็นโบราณสถานโดยกรมศิลปากร และเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ให้บุคคลภายนอกเข้าชม กรมธนารักษ์จัดทำราคาประเมินที่ดินในซอยพระพินิจรอบปี 2559-2562 เฉลี่ย ตร.ว.ละ 1.8 แสนบาท ดังนั้นราคาที่ดินบ้านเก่า ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช จึงคาดว่ามีราคา 360 ล้านบาท

สถานการณ์ปฏิเสธสินเชื่อที่อยู่อาศัยพุ่ง

วงการอสังหาริมทรัพย์วันนี้ ถ้าพูดถึงตัวเลขการรับรู้รายได้ ตัวเลขกำไร ยังถือว่าหล่อ ยังถือว่าสวยกันแทบถ้วนหน้า โดยเฉพาะบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ นับว่าหล่อมากเลยทีเดียว แต่อย่าลืมว่า ตัวเลขโอนกรรมสิทธิ์ที่ทำให้เกิดการรับรู้รายได้ตั้งแต่ต้นปีมา เป็นตัวเลขยอดจองเมื่อปีที่แล้วสำหรับที่อยู่อาศัยแนวราบ เป็นตัวเลขเมื่อปีก่อนโน้นสำหรับคอนโดมิเนียม มิใช่ตัวเลขยอดจองที่เกิดในปีนี้

ปีนี้ จำนวนผู้บริโภคแวะเข้าเยี่ยมชมโครงการลดน้อยลง สถิติยอดจองซื้อใหม่ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนๆ หน้านี้ เป็นเรื่องที่เข้าใจได้และทำใจไว้แล้วระดับหนึ่ง เพราะขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อโดยรวมตัวเลข backlog หรือยอดจองซื้อสะสมของบริษัทอสังหาฯ ลดน้อยลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้านั้นก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้เช่นกัน

สถานการณ์ปีนี้ สิ่งที่น่าวิตกมากที่สุดจนพูดกันไม่ค่อยออก คืออัตราการปฏิเสธปล่อยสินเชื่อรายย่อยเพื่อซื้อที่อยู่อาศัย เพิ่มสูงขึ้นมาก บ้างว่า สูง 30-40% บ้างว่าสูงถึง 40-50% ถือเป็นอัตราที่หนักหนาสาหัสมากสำหรับอสังหาริมทรัพย์ เพราะเท่ากับทั้งโครงการขายได้เต็มร้อยเปอร์เซ็นต์ ลูกค้าตั้งหน้าตั้งตาผ่อนดาวน์มาเป็นปี แต่เมื่อยื่นกู้แบงก์ปฏิเสธปล่อยเชื่อก็เท่ากับว่าลูกค้าก็เสียโอกาสเสียเวลาไป ทางโครงการก็ต้องนำมาทำตลาดขายใหม่เกือบครึ่งหนึ่งของโครงการ เกิดค่าใช้จ่ายการตลาดต่างๆ ขึ้นใหม่อีกรอบในการขายสินค้าเดิม

เหตุที่ธนาคารปฏิเสธมากขึ้นก็เพราะกลัวหนี้เสีย ธนาคารทุกแห่งมีการปรับหลักเกณฑ์การปล่อยกู้ สินเชื่อที่อยู่อาศัย ที่เข้มงวดขึ้น เดิมธนาคารใช้ประวัติเครดิตของผู้กู้ในอดีต รายได้ปัจจุบัน และหลักทรัพย์จำนอง เพื่อพิจารณาปล่อยสินเชื่อ แต่ทุกวันนี้ธนาคารยังมีการคาดการณ์ล่วงหน้า ว่าอาชีพของผู้กู้จะมั่นคงต่อไปหรือไม่ รายได้พิเศษ เบี้ยเลี้ยง โอทีจะนำมาคิดเป็นรายได้รวมหรือไม่ เศรษฐกิจไม่ดี แบงก์กลัวความเสี่ยงหนี้เสีย จึงเข้มงวดและปฏิเสธปล่อยกู้มากขึ้น เมื่อปฏิเสธมากขึ้นเศรษฐกิจโดยรวมก็แย่ลง กลายเป็นวงจรขาลงไปแล้ว

ธนาคารพาณิชย์เองก็ไม่รู้จะเดินหน้ายังไง ทุกวันนี้รับฝากเงินก็ไม่อยากรับฝาก เพราะสภาพคล่องล้นแบงก์อยู่ ปล่อยกู้นั้นอยากปล่อยแต่ก็กลัว จึงปฏิเสธ ซึ่งสรุปว่าไม่ได้ปล่อยนั้นเอง ถ้าสภาพเป็นอยู่อย่างนี้ การส่งเสริมธุรกิจการส่งเสริม SME ก็เป็นเพียงการส่งเสริมด้วยคำโฆษณาประชาสัมพันธ์ทางวิทยุโทรทัศน์เท่านั้น แต่ชีวิตธุรกิจจริงๆ เป็นคนละเรื่องกัน

นอกจากนี้ ในระยะต่อไป ธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม จะต้องปรับตัวเข้าสู่ระบบการจัดเก็บภาษีใหม่ที่ผลักดันให้มีการใช้บัญชีเดียว ผลักดันให้ใช้ อีเพย์เมนต์ เพื่อทำให้การจัดเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ก็เป็นเรื่องที่ถูกต้องและเป็นหน้าที่ของสรรพากรที่จะทำเช่นนั้น แต่สำหรับธุรกิจขนาดกลางขนาดย่อม ต้องจ่ายภาษีมากขึ้นในสถานการณ์ที่ชะลอตัว ผลประกอบการแย่ลง เอาว่า มารอติดตามดูกันต่อไปดีกว่า ครั้งนี้ จะเป็นการหลับยาว ซึ่งยังมีโอกาสตื่น หรือเป็นการหลับไม่ตื่น

รัฐเตรียมปล่อยกู้ดอก 0% นาน 7 ปีหวังอุ้มผู้ประกอบการSME

ผู้ประกอบการ SME ยิ้ม หลังรัฐบาลอนุมัติเงินกู้วงเงินรวม 3,000 ล้านผ่านกองทุนพลิกฟื้น เปิดโอกาสผู้ประกอบการกู้ไม่เกินรายละ 1 ล้าน ปลอดดอกเบี้ยนาน 7 ปี

นางสาลินี วังตาล ผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการ สสว. ได้มีมติเห็นชอบร่างระเบียบว่าด้วยการกู้ยืมเงินจากกองทุนพลิกฟื้นรวม 3,000 ล้านบาทเพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME) ที่ประสบปัญหา เช่น มีปัญหาหนี้ค้างชำระ ถูกฟ้องร้องดำเนินคดี อยู่ระหว่างการบังคับคดี เป็นต้น ส่งผลให้ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนในระบบได้

ทั้งนี้ วงเงินกู้ 3,000 ล้านบาทนั้น ประกอบด้วยงบเดิมที่ทาง สสว. มีอยู่แล้ 1,000 ล้านบาท และอีก 2,000 ล้านบาทจากการอนุมัติเพิ่มเติมของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 ที่ผ่านมา โดยรายละเอียดเบื้องต้นของสินเชื่อดังกล่าวคือ จะให้ผู้ประกอบการสามารถกู้ได้รายละไม่เกิน 1 ล้านบาท โดยไม่ต้องเสียดอกเบี้ยเป็นระยะเวลานาน 7 ปี

นอกจากนี้ ครม. ยังได้อนุมัติแผนส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ฉบับที่ 4 (พ.ศ. 2560-2564) ซึ่งจะเริ่มใช้ในปีงบประมาณ 2560 โดยเพิ่มแผนพัฒนาที่ครอบคลุมผู้ประกอบการในกลุ่มสตาร์ทอัพ ละผู้ประกอบการภาคเกษตรให้เป็นเกษตรและบริการ อีกทั้งยังมุ่งพัฒนาผู้ประกอบการให้เข้าสู่ยุค SME 4.0 ที่เน้นการนำเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาใช้ในการประกอบธุรกิจมากขึ้น

เศรษฐกิจซบลูกหนี้แบงค์ส่อวิกฤตขาดส่งค่างวดบ้าน

LH bank หวั่นพิษเศรษฐกิจฉุดกำลังผ่อนค่างวดบ้านล่าช้า เร่งหาแนวทางปรับโครงการสร้างหนี้ ผ่อนชำระค่างวดบ้านน้อยลง ระยะเวลา 3 ปี เผยปัจจุบันมีลูกค้าสินเชื่อบ้านมาปรับโครงสร้างหนี้ 10-15 รายต่อเดือน

นางสุธารทิพย์ พิสิฐบัญฑูรย์ รองกรรมการผู้จัดการ กลุ่มสินเชื่อ ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังปี 2559 ยังมีความไม่ชัดเจน อันสืบเนื่องมาจากภาวะเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ดี กลยุทธ์ในครึ่งปีหลังของธนาคารยังเดินกลยุทธ์อย่างระมัดระวัง โดยตั้งเป้าหมายการเติบโตของสินเชื่อที่ 10-12% และยังคงเน้นการปล่อยสินเชื่ออย่างมีคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อประเภทใดในทุกขนาดธุรกิจ สำหรับกลยุทธ์ด้านการนำเสนอผลิตภัณฑ์ ธนาคารยังคงเน้นการพัฒนานวัตกรรม บริการทางการเงินใหม่ๆ เพื่อเพิ่มความสะดวกสบายให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะด้านดิจิตอลแบงกิ้ง อาทิ Mobile Application หรือ LH Bank M Choice ที่เน้นฟังก์ชั่นการใช้งานที่ง่าย ตอบโจทย์ลูกค้าให้สามารถ โอนเงิน เช็คยอดเงิน ชำระค่าสาธารณูปโภคต่างๆได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว

ทั้งนี้ ทางธนาคารได้สนับสนุนนโยบายภาครัฐที่ผลักดันระบบการรับ-โอนเงินของประเทศ คือ บริการพร้อมเพย์ (PromptPay) ธนาคารได้ออกโปรโมชั่น โดยมอบสิทธิพิเศษสำหรับลูกค้าที่ผูกบัญชี LH Bank พร้อมเพย์ กับบัญชีเงินฝากของ LH Bank โดยลูกค้าสามารถโอนเงินไปต่างธนาคาร (ORFT) โดยไม่เสียค่าธรรมเนียมไม่จำกัดจำนวนครั้ง สำหรับการโอนเงินผ่านช่องทาง LH Bank Speedy(Internet Banking) และ LH Bank M Choice (Mobile Application) ตั้งแต่วันนี้ – 31 ตุลาคม 2559 และนอกจากลูกค้าจะได้รับโปรโมชั่นพิเศษดีๆ แบบนี้แล้ว ลูกค้ายังได้รับสิทธิพิเศษเพิ่มมากขึ้นเมื่อสมัครใช้บริการ LH Bank พร้อมเพย์ กับธนาคาร

อย่างไรก็ตาม จากปัญหาเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งส่งผลให้ลูกค้าสินเชื่อบ้านบางรายเริ่มมีปัญหาไม่สามารถผ่อนชำระค่างวดบ้านได้ตามกำหนด ธนาคารจึงได้เข้าไปช่วยเหลือปรับโครงสร้างหนี้ ให้ผ่อนชำระค่างวดบ้านน้อยลง เป็นระยะเวลา 3 ปี หลังจากนั้นให้กลับมาผ่อนชำระในอัตราปกติ โดยปัจจุบันในแต่ละเดือนมีลูกค้าสินเชื่อบ้านมาปรับโครงสร้างหนี้ 10-15 รายต่อเดือน

ทั้งนี้การปล่อยสินเชื่อบ้าน ธนาคารจะเน้นคุณภาพหนี้ และระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ โดยไม่เร่งปล่อยสินเชื่อบ้านให้โตตามเป้าหมายที่เดิมกำหนดไว้ 5% ส่วนสินเชื่อที่ปล่อยให้กับผู้ประกอบการไปทำโครงการอสังหาริมทรัพย์นั้น ธนาคารได้มีการชะลอการปล่อยสินเชื่อให้กับโครงการใหม่ เนื่องจากปัจจุบันสต๊อกบ้านเหลืออยู่จำนวนมาก ส่วนสินเชื่อที่ปล่อยให้กับผู้ประกอบการไปแล้ว ขณะนี้ยังสามารถผ่อนชำระได้ตามปกติ ไม่มีหนี้เสีย สำหรับยอดสินเชื่อบ้านของธนาคารล่าสุดมีพอร์ตสินเชื่อที่ 30,000 ล้านบาท มีหนี้เอ็นพีแอล 1.7-1.8% ของสินเชื่อรวม

“ตลาดบ้านในปีนี้มีอัตราการเติบโตช้าลง เนื่องจากสต๊อกบ้านเดิมเหลืออยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ต่างออกแคมเปญลดแลกแจกแถม ขณะที่ตลาดคอนโดมิเนียม ตามแนวรถไฟฟ้ายังเติบโตดี เนื่องจากมีกำลังซื้อจากกลุ่มคนมีเงินสัดส่วนถึง 30% ของกำลังซื้อทั้งหมด ขณะที่ตลาดสินเชื่อบ้านในปัจจุบันมีการแข่งขันรุนแรง ธนาคารพาณิชย์บางแห่งเสนอดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านคงที่ 3 ปี ในอัตรา 3.3% ต่อปี จากดอกเบี้ยสินเชื่อบ้านคงที่ 3 ปี ของตลาดอยู่ที่ 4% ต่อปี”

...

อ่านข่าวอื่นต่อได้ที่
http://www.propertytoday.in.th/news/w5july2016