วันอาทิตย์, สิงหาคม 21, 2559

เกษียร-ธนาพล-ปิ่นแก้ว อภิปรายหนังสือเบน แอนเดอร์สัน "ศึกษารัฐไทย: ย้อนสภาวะไทยศึกษา"





เกษียร-ธนาพล-ปิ่นแก้ว อภิปรายหนังสือเบน แอนเดอร์สัน "ศึกษารัฐไทย: ย้อนสภาวะไทยศึกษา"


ที่มา ประชาไท
Sat, 2016-08-20 23:41

ในการประชุมวิชาการประจำปี 2559 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวข้อ "รัฐ คนไท/ไทย ชายแดน และทิศทางใหม่ๆ ในไทยศึกษา" ระหว่างวันที่ 19-20 สิงหาคม 2559 ที่คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่นั้น

ในวันแรกของการประชุมคือวันที่ 19 สิงหาคม ศูนย์อาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดอภิปรายหนังสือ หัวข้อ "ย้อนสภาวะไทยศึกษา" โดย เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนโดย ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช โดยการเสวนานี้ยังเป็นโอกาสรำลึกถึงเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน หรือ "ครูเบน" นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ผู้ล่วงลับเมื่อเดือนธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา





คลิปอภิปรายหนังสือ หัวข้อ "ย้อนสภาวะไทยศึกษา" โดย เกษียร เตชะพีระ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนโดย ธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการนิตยสารฟ้าเดียวกัน ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ดำเนินรายการโดย เกรียงศักดิ์ เชษฐพัฒนวนิช โดยเสวนานี้เป็นส่วนหนึ่งของการประชุมวิชาการประจำปี 2559 คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ หัวข้อ "รัฐ คนไท/ไทย ชายแดน และทิศทางใหม่ๆ ในไทยศึกษา"





ทั้งนี้ เกษียร เตชะพีระ นำเสนอบทสรุปย่อเชิงแนวคิด (Conceptual Summary) ของหนังสือ "ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา" พิมพ์ในปี 2558 โดยสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน (อ่านคำนำสำนักพิมพ์) ซึ่งรวมบทความสำคัญเกี่ยวกับเมืองไทยของเบน โดยเกษียรอภิปรายถึงแนวคิดหลักๆ ข้อสรุปสำคัญ และขยายความผลกระทบในแง่วิชาการ และงานเล่มนี้ยังมีข้อจำกัดอย่างไร

โดยหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 "ครูเบน" เป็นหลักในการเขียนจดหมายเปิดผนึกประท้วงการรัฐประหารดังกล่าว และหวังว่าจะมีนักวิชาการด้านไทยศึกษาในสหรัฐอเมริการ่วมลงนามด้วย แต่ไม่มีนักวิชาการเหล่านั้นลงนามเลย มีเพียงจอร์จ เคฮิน (George Kahin) จากมหาวิทยาลัยคอร์แนล และเจมส์ สก็อต (James C. Scott) จากมหาวิทยาลัยเยล เพียงสองคนเท่านั้นที่ลงนามร่วมกับเบน โดยจดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ได้ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ The New York Times ความสะเทือนใจจากเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ผนวกกับความผิดหวังต่อนักวิชาการไทยศึกษาในสหรัฐอเมริกา กระตุ้นให้เบนเขียนบทความ 2 ชิ้น ซึ่งสำคัญมากสำหรับปริมณฑลไทยศึกษา คือ “Withdrawal Symptoms: Social and Cultural Aspects of the October 6 Coup” (1977) และ “Studies of the Thai State: The State of Thai Studies” (1979) ซึ่งเป็นบทที่ 2 และ 1 ของหนังสือ "ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา" ดังกล่าว

นอกจากการทบทวนหนังสือ "ศึกษารัฐไทย ย้อนสภาวะไทยศึกษา" แล้ว เกษียรยังทบทวนบทความชิ้นหนึ่งของเบน เรื่อง "Riddles of Yellow and Red” (ปริศนาเหลืองแดง) ที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร New Left Review (January-February 2016) ซึ่งมาจากการปาฐกถาของเบน ที่มหาวิทยาลัยซิงหัว กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ที่เบนพยายามอธิบายว่าความขัดแย้งเหลือง-แดง เป็นเรื่องอะไรกันแน่ พูดถึงความขัดแย้งในการเมืองไทยในรอบ 10 ปี โดยเกษียรยังอภิปรายด้วยว่าเขาไม่เห็นด้วยในประเด็นไหนบ้างในบทความของเบน

ทั้งนี้เกษียร เตชะพีระ จะนำเสนอส่วนของการวิจารณ์ผลงานของเบเนดิกท์ แอนเดอร์สัน เป็นบทความเพื่อลงพิมพ์ในนิตยสารศิลปวัฒนธรรมฉบับเดือนตุลาคมนี้อีกด้วย