วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 11, 2559

“30% รักษาทุกโรค” ใกล้เป็นจริงแล้ว (ขออภัยไม่ใช่ 'ไทโป')




ภาพจาก อินเตอร์เน็ต

“30% รักษาทุกโรค” ใกล้เป็นจริงแล้ว


ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
9 สิงหาคม 2559
โดย...นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ


ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ผ่านการรับร่างจากการลงประชามติแล้ว โอกาสที่จะเห็น “30% รักษาทุกโรค” ก็ยิ่งดูจะมีโอกาสเป็นจริงมากขึ้น

นับตั้งแต่ปี 2544 ที่เริ่มเดินหน้านโยบาย “30 บาทรักษาทุกโรค” นโยบายที่มีความโดดเด่นที่สุดนโยบายหนึ่งที่เปลี่ยนประเทศไทย เพราะนโยบายนี้ได้ทำให้คนไทยทุกคนมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทำให้มีการเปลี่ยนทัศนะจากการดูแลชาวบ้าน ที่เดิมเป็นการสงเคราะห์ เปลี่ยนมาเป็นสิทธิ

นโยบายนี้เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้คำพูดที่ว่า “โรงพยาบาลเป็นโรงฆ่าสัตว์” ลดลงไป เพราะแต่เดิมไม่มีเงินก็รักษาแบบคนไม่มีเงิน แต่ปัจจุบันรวยจนมีสิทธิได้รับการรักษาเกือบจะเท่าเทียมกัน

ที่สำคัญนโยบายดังกล่าวได้เปลี่ยนระบบบริหารจัดการสาธารณสุขไทย เกิด “สปสช.” ขึ้นมาบริหารถ่วงดุลคู่ขนานกับ “สธ.” มี สปสช.เป็นองค์กรที่ซื้อบริการแทนประชาชน ทำให้มีประสิทธิภาพมากกว่าเดิมที่ สธ.ชงเองกินเอง

15 ปีผ่านไปท่ามกลางอุปสรรคมากมายในการบริหารจัดการ แรงเสียดทานจากระบบเดิมก็มีมาก จนในระยะ 5 ปีหลังฝ่ายกลุ่มคนต้านระบบหลักประกันสุขภาพ ได้มีการรวมตัวขึ้นมาอย่างเป็นระบบ แม้ล้ม “บัตรทอง” ไม่ได้ แต่ก็จะเปลี่ยนระบบให้อ่อนแอลงได้ ตัดแข้งตัดขาให้ประสิทธิภาพลดลงได้

และหัวใจประการสำคัญที่ใช้เป็นกลยุทธ์หัวหมู่ทะลวงฟันก็คือ ทำให้ชนชั้นนำรู้สึกว่า บัตรทองเป็น “ภาระของชาติ” “งบไม่พอ ใช้งบเยอะ” “ทำให้คนไทยไม่ดูแลสุขภาพ เอะอะก็ไปให้หมอรักษาเพราะฟรี” จึงต้องให้มีการร่วมจ่ายเพื่อลดภาระงบประมาณ

บัดนี้ความรู้สึกว่า “บัตรทองเป็นภาระ” ได้เข้าไปฝังในสมองของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.เรียบร้อยแล้ว ซึ่งดูได้จากการให้สัมภาษณ์หลายครั้ง และการร่วมจ่ายเมื่อป่วยกลายเป็นทางออกที่รัฐบาล และ สนช.กำลังร่วมกันผลักดันอย่างจริงจัง

คณะกรรมาธิการสาธารณสุข ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็มีความเห็นว่า บัตรทองเป็นภาระ และต้องสร้างระบบการร่วมจ่ายเมื่อเจ็บป่วยขึ้นมา ช่วยลดภาระงบประมาณ มีข้อเสนอร่วมจ่ายที่ 30-50% ของราคาค่ารักษาพยาบาล ยกเว้นคนจนมาก ซึ่งก็จะยกเว้นให้ในฐานะเป็นผู้ยากไร้

แน่นอนว่าจะทำให้คนกว่า 30 ล้านคนต้องเข้าสู่ “ความไม่มั่นคงทางสุขภาพ” เพราะแม้จะมีเงินออมหลักหมื่น หลักแสน แต่หากโชคร้ายป่วยเป็นโรคเรื้อรัง หรือโรคร้ายแรง จากคนที่เคยมีเงินออมจะกลายเป็นมีหนี้สินได้ในไม่กี่สัปดาห์ ภาพการการขายที่นาหรือขายทรัพย์สินเพื่อมารักษาโรคจะกลับมาอีกครั้ง

ร่างรัฐธรรมนูญในมาตรา 47 ก็เขียนไว้ชัดเจนว่า ผู้ยากไร้จะได้รับการรักษาฟรี รวมทั้งเด็ก ผู้สูงอายุ และคนพิการ จนทำให้ตีความได้ว่า “คนนอกจาก 4 กลุ่มนี้” อาจต้องร่วมจ่าย

อีกทั้งรัฐบาลได้กำหนดให้มีการลงทะเบียนคนจนภายใน 15 สิงหาคม 2559 อะไรจะสอดคล้องกันถึงเพียงนี้ จนหลายคนเชื่อว่า ใครไม่ลงทะเบียนคนจนแสดงว่าไม่ยากไร้ รัฐจะดูแลระดับหนึ่ง แต่หากเจ็บป่วยต้องร่วมจ่าย “การแพทย์ชั้นสอง” สำหรับคนที่ไม่มีเงินร่วมจ่ายกำลังจะกลับมาอีกครั้ง

การร่วมจ่ายเมื่อป่วย โดยหลักการคือ การซ้ำเติมผู้ป่วย สร้างความทุกข์ให้แก่ทั้งผู้ป่วยและครอบครัว สร้างความลำบากใจให้แก่แพทย์ พยาบาล หากจะแก้ปัญหางบไม่พอ ก็ควรใช้ระบบภาษีช่วย เก็บภาษีบาป ภาษีสินค้าฟุ่มเฟือยเพิ่มมาเพื่อการนี้ จึงจะถูกต้องตามหลักการเฉลี่ยทุกข์เฉลี่ยสุข ซึ่งเป็นหลักการสากลเพื่อการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของทุกคนในสังคม

วันนี้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการรับรองแล้ว ความเสี่ยงต่อการเปลี่ยนจาก “30 บาทรักษาทุกโรค” เป็น “30% รักษาทุกโรค” น่าจะมากขึ้น เพราะ คสช. และรัฐบาลอาจเชื่อมั่นในเสียงที่ตนได้รับจนเกิดการตัดสินใจที่ผิดๆ

นโยบายหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือ สวัสดิการสังคมที่ดีที่สุดเท่าที่คนไทยเคยมีมา การให้ชาวบ้านร่วมจ่ายเมื่อป่วยคือ การลดชั้นสวัสดิการที่ดีที่สุดลง และหากเกิดขึ้นจริง แม้ปากของรัฐบาลจะบอกว่าไม่ได้ล้มบัตรทอง แต่เนื้อแท้ก็คือการเปลี่ยนไส้ ทำลายหลักประกันสุขภาพของประชาชนนั่นเอง

ระวัง “30% รักษาทุกโรค” จะตามมาในอีกไม่นาน?!?!