วันพฤหัสบดี, มีนาคม 10, 2559
ปาฐกถาทักษิณ World Policy Institute นครนิวยอร์ก ฉบับเต็ม จาก เพจ 'กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ'
ปาฐกถาทักษิณ ฉบับเต็ม
- - - - - - - - -
เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 59 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อช่วงเย็นวันที่ 9 มี.ค. ที่นครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ได้ขึ้นบรรยายถึงความท้าทายของเศรษฐกิจโลกในยุคปัจจุบันและทิศทางของประเทศไทย ที่งาน “สนทนาเป็นการส่วนตัวกับทักษิณ ชินวัตร” (Thaksin Shinawatra in Private Discussion) ซึ่งจัดโดยสถาบันนโยบายโลก (World Policy Institute)
ดร.ทักษิณ กล่าวว่า
ต้องขอขอบคุณสถาบันนโยบายโลก ที่ให้โอกาสได้มาร่วมบอกเล่าหลักคิดของผม และแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเรื่องความท้าทายต่างๆ ซึ่งเกิดมาจากคำถามที่ว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าและผ่านพ้นช่วงแห่งความเปลี่ยนแปลงและระยะเปลี่ยนผ่านได้อย่างไร โดยเฉพาะในแง่มุมที่เชื่อมโยงกับด้านเศรษฐกิจ ภูมิภาค และโลกในบริบทปัจจุบัน
พวกเราทุกคนคงทราบกันดีว่า ไม่มีสังคมใดในศตวรรษที่ 21 ที่จะสร้างความก้าวหน้าและความกินดีอยู่ดีให้แก่ประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง หากสังคมคมนั้นขาดซึ่งหลักพื้นฐาน 2 ประการ
ประการที่หนึ่ง ได้แก่ ความมีเสถียรภาพทางการเมือง ประการที่สอง ได้แก่ ศักยภาพในการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งนำไปสู่การเจริญเติบโตของประเทศ และความพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงความสร้างสรรค์ให้กลายเป็นความมั่งคั่งที่ต่อเนื่อง ราวกับว่าในปัจจุบันมีโมเดลคู่แข่งการพัฒนาทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมืองที่สำคัญอยู่ 2 ประเภท
หนึ่ง ได้แก่ ระบบทุนนิยมตลาดเสรีซึ่งมีระบอบ “ประชาธิปไตยแบบเปิด” เป็นรากฐานของการพัฒนาเศรษฐกิจ
อีกโมเดลหนึ่ง ได้แก่ ระบบทุนนิยมซึ่งนำโดยรัฐ (รูปแบบของสาธารณรัฐประชาชนจีน) ที่กำกับด้วยอำนาจศูนย์กลางจากพรรคเดียว
- - - - - - - - -
ดร.ทักษิณ กล่าวต่อว่า
ทั้งสองโมเดลได้รับการพิสูจน์ว่าสามารถนำไปปรับใช้จนประสบความสำเร็จจากอดีตจนถึงปัจจุบัน โดยโมเดลของสาธารณรัฐประชาชนจีน เหมาะสมกับความเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติของคณะผู้นำในประเทศ ณ เวลาขณะนั้น
ทั้งนี้ ความเปลี่ยนแปลงทางด้านทัศนคติดังกล่าว เกิดขึ้นพร้อมๆ กับความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจในโลกตะวันตก ที่ “การค้าเสรี” ได้สร้างประโยชน์แก่สาธารณรัฐประชาชนจีนที่กำลังปรับตัว จากระบบตลาดปิด สู่ระบบตลาดเปิดครึ่งใบ
อย่างไรก็ตาม คงต้องยอมรับว่าทั้งสองโมเดลจะต้องถูกปรับให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีการผลิตแบบอุตสาหกรรม จากรูปแบบ “การผลิตสินค้าในประเทศเดียว” สู่ “ระบบเครือข่ายการออกแบบ การสรรหาปัจจัยการผลิต และการผลิตที่มีลักษณะข้ามชาติ เพื่อที่จะนำสินค้าชิ้นหนึ่งๆ ออกสู่ตลาด”
ความเปลี่ยนแปลงนี้ ได้กลับตาลปัตรโครงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศต่างๆ และส่งผลให้การปรับตัวทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนในอดีต
พวกเรายังต้องทราบอีกว่า ความก้าวหน้าของเทคนิคและเทคโนโลยีการบริหารความมั่งคั่งได้กลับตาลปัตรความสัมพันธ์ระหว่างทุนและวิธีการผลิต
ทั้งนี้ พวกเราทั้งหลายคงต่างเห็นพ้องกันว่า “สภาวะปกติใหม่ของโลกปัจจุบัน” (New Normal) จะเป็นภัยคุกคามต่อความอยู่รอดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับว่าคุณพร้อมและมีศักยภาพที่จะเปลี่ยนแปลงหรือไม่
- - - - - - - - -
ดร.ทักษิณ บรรยายอีกว่า
ประเทศไทยก็ต้องเผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ ซึ่งไม่สามารถหลีกเลี่ยงการเผชิญหน้ากับสภาวะปกติใหม่ในเวทีโลก
ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว รูปแบบทางการค้าได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างมีนัยสำคัญ คุณูปการจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตของประชากรที่เพิ่มสูงขึ้น ได้ส่งผลให้อีคอมเมิร์ซกลายเป็นกลจักรใหม่ที่คอยส่งเสริมให้เกิดความเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่บ้าง ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา
จากรายงานของการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) เมื่อปีที่ผ่านมา พบว่าการค้าอีคอมเมิร์ซประเภทธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) ของโลกในปี พ.ศ. 2556 มีมูลค่ามากกว่า 15 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่อีคอมเมิร์ซประเภทธุรกิจกับผู้บริโภคของโลกยังคงอยู่ที่ระดับราว 1.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
รูปแบบการค้าดังกล่าวกลับมีอัตราการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ซึ่งมีการประมาณการว่าอีคอมเมิร์ซประเภทธุรกิจกับผู้บริโภคจะขยายตัวจากระดับร้อยละ 20 สู่ระดับร้อยละ 37 ระหว่างปี พ.ศ. 2556 ถึง 2561
นอกจากนี้ การค้าอีคอมเมิร์ซข้ามแดนที่ค่อยๆ ขยายตัวขึ้น ยังส่งผลให้ปริมาณการขนส่งพัสดุภัณฑ์ขนาดเล็กระหว่างประเทศของโลกเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 48 ระหว่างปี พ.ศ. 2554 ถึง 2557
- - - - - - - - -
สำหรับภูมิภาคเอเชียและโลกตะวันตก ผมเชื่อว่าข้อมูลความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจดังกล่าวคือเค้าลางของโอกาสการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจใหม่ ที่ “การเข้าถึงเครือข่าย คือหัวใจของความสำเร็จ" โดยในที่นี้ หมายถึงเครือข่ายผู้บริโภคและปัจจัยการผลิตที่มีลักษณะข้ามชาติ แตกต่างออกไปจากรูปแบบเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 20 ซึ่ง “การเข้าถึงศูนย์กลาง” คือเงื่อนไขของความสำเร็จ
ในปัจจุบัน นักธุรกิจผู้ไม่ได้เป็นเจ้าของโรงงานขนาดใหญ่หรือบรรษัทข้ามชาติ สามารถเข้าถึงลูกค้าจากทั่วทุกมุมโลกและตอบสนองความต้องการบริโภคสินค้าของพวกเขาได้ โดยการเข้าถึงเครือข่ายการผลิตและการกระจายสินค้า ซึ่งเกิดขึ้นได้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสารยุคใหม่ เศรษฐกิจในวันนี้กระจายตัวออกจากศูนย์กลางอำนาจเดิมมากขึ้นเรื่อยๆ
โดยปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นควบคู่กับการกระจายตัวของการบริโภคและการผลิต พวกเราคงสามารถจินตนาการได้ง่ายๆ ถึงสถานการณ์ที่นักธุรกิจชาวอเมริกันสามารถขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์โดยตรงให้แก่ผู้บริโภคในฝั่งตะวันตกของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยที่นักธุรกิจเหล่านั้นไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปทำธุรกรรมที่นครปักกิ่งหรือเซี่ยงไฮ้ ในทางตรงกันข้าม ผู้ผลิตชาวจีนสามารถขายสินค้าให้แก่ผู้บริโภคในแถบนิวอิงแลนด์และมิดแอตแลนติกของประเทศสหรัฐอเมริกา โดยไม่ต้องผ่านนครนิวยอร์ก
“เศรษฐกิจเครือข่าย” ได้ส่งเสริมให้ประชาชน ซึ่งประกอบธุรกิจขนาดเล็กและขนาดใหญ่ มีศักยภาพในการผลิตและเข้าถึงลูกค้าได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง
พวกเราในฐานะประชาคมโลกต้องให้ความสำคัญเป็นพิเศษแก่การสรรหาวิถีทางให้ประเทศต่างๆ สามารถร่วมลงทุนและร่วมเสี่ยงกับประชาชน เพื่อสร้างแนวร่วมการสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ
- - - - - - - - -
ในปัจจุบัน ผมคิดว่ามียุทธศาสตร์ 2 ประการที่มีศักยภาพในการเร่งการเติบโตและยกระดับ “คุณภาพของการเติบโตทางเศรษฐกิจ” ที่เกิดขึ้นจากระบบเศรษฐกิจเครือข่าย
ประการที่หนึ่ง คือ ยุทธศาสตร์ “One Belt, One Road” (OBOR) หรือยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ ที่นำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ระหว่าง 60 ประเทศ ซึ่งมีรายได้ประชาชาติรวมกันคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 50 ของรายได้ประชาชาติของโลก
ยุทธศาสตร์อีกประการหนึ่ง คือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership, TPP) ที่นำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว 12 ประเทศ มีรายได้ประชาชาติรวมกันมากกว่าร้อยละ 40 ของรายได้ประชาชาติของโลก
ทั้งนี้ ผมไม่ได้มองว่ายุทธศาสตร์ทั้งสองเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน แต่เป็นกระบวนการคู่ขนาน ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่ง จะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมให้แก่ทั้งภูมิภาคเอเชียและโลกตะวันตก พวกเราคงต้องก้าวข้ามมุมมองแบบเหมารวมที่ว่า สาธารณรัฐประชาชนจีนและประเทศสหรัฐอเมริกาเป็นเพียงมหาอำนาจทางการเมืองซึ่งเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน
ในสภาพความเป็นจริง พัฒนาการในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา น่าจะทำให้พวกเราได้เห็นถึงการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ สาธารณรัฐประชาชนจีนเป็นผู้ถือครองพันบัตรรัฐบาลสหรัฐรายใหญ่ที่สุดคิดเป็นมูลค่า 1.24 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
สหรัฐอเมริกาถือเป็นประเทศคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดของสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยมีมูลค่าการค้ารวม (Total Trade) ที่ระดับ 5.21 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ การลงทุนโดยตรง (FDI) ของสหรัฐอเมริกาในสาธารณรัฐประชาชนจีนคิดเป็นมูลค่า 6.58 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่การลงทุนโดยตรงของสาธารณรัฐประชาชนจีนในสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ระดับมูลค่า 1.19 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
- - - - - - - - -
เมื่อพิจารณาถึงการพึ่งพากันทางเศรษฐกิจดังกล่าว ผมเชื่อว่าภูมิภาคเอเชีย ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ระหว่างยุทธศาสตร์การพัฒนาอันสำคัญของสองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจ ควรให้ความสำคัญแก่การขยายความร่วมมือเพื่อสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกับประเทศคู่ค้าต่างๆ
ภูมิศาสตร์การเมืองของภูมิภาคเอเชียแห่งศตวรรษที่ 21 ควรเป็นเรื่องของการส่งเสริมการสร้างเครือข่ายความมั่งคั่งให้แก่ประชาชนแบบระหว่างประเทศและระหว่างภูมิภาค
- - - - - - - - -
ในขณะที่หลายคนอาจเน้นย้ำถึงลักษณะเฉพาะที่แตกต่างออกไปของประเทศไทยในแง่มุมทางประวัติศาสตร์และทิศทางการพัฒนา
แต่ประเทศไทย คงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความท้าทายของโลกในศตวรรษที่ 21 ได้ ตลอดช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง
สัดส่วนมูลค่าการส่งออกต่อรายได้ประชาชาติของประเทศไทยและมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างชาติในประเทศไทยได้แสดงให้พวกเราได้เห็นอย่างชัดเจนถึงทิศทางของเศรษฐกิจไทยที่เชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นเข้ากับชะตากรรมของเศรษฐกิจโลก
- - - - - - - - -
เมื่อพิจารณาถึงบริบทดังกล่าว พวกเราควรพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประเทศไทยด้วยคำถามง่ายๆ ที่ว่า "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับล่าสุดนี้จะช่วยส่งเสริมให้ประเทศสามารถเติบโตและแข็งแกร่งได้มากยิ่งขึ้นในภาวะโลกปัจจุบันหรือไม่"
หรือกล่าวในอีกแง่หนึ่ง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจะสามารถวางโครงสร้างพื้นฐานเชิงสถาบันที่เพียงพอเพื่อการลงทุน การผลิต การสร้างความร่วมมือ และธุรกิจให้แก่ประเทศไทยได้หรือไม่
- - - - - - - - -
เมื่อพิจารณาถึงเค้าโครงของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันคงเป็นไปได้ยากที่จะได้มาซึ่งรัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและความท้าทายในศตวรษที่ 21
ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้ ได้กำหนดให้วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คนซึ่งจะถูกแต่งตั้งโดย “ผู้เชี่ยวชาญ” วุฒิสภาจะมีอำนาจมากยิ่งขึ้นในการยับยั้งการออกพระราชบัญญัติต่างๆ
ศาลรัฐธรรมนูญจะมีขอบเขตอำนาจในการตัดสินคดีที่มากยิ่งขึ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะมีอำนาจในการไต่สวนและวินิจฉัยคดี เมื่อมีบุคคลใดก็ตามได้ดำเนินการร้องเรียน โดยไม่ได้มีเงื่อนไขที่ว่ากรณีดังกล่าวต้องเป็นข้อพิพาทจริงที่องค์กรทางการเมืองหรือศาลอื่นได้ดำเนินการยื่นเรื่องแก่ศาลรัฐธรรมนูญ
- - - - - - - - -
หากพวกเราคิดว่าหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตย คือ รากฐานเพื่อการสร้างความเจริญเติบโตและเสถียรภาพของประเทศ เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารเศรษฐกิจของประเทศในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว
ผมหวังว่าคงจะไม่มีการใช้อำนาจที่เกินกว่าความจำเป็นอีกในอนาคต
กรณีศึกษาในประเทศต่างๆ ได้แสดงให้พวกเราเห็นว่า การใช้อำนาจ โดยไม่ได้มีการถ่วงดุลและตรวจสอบ อาจกลายเป็นการใช้อำนาจอย่างไม่เหมาะสมและเป็น “ยุทธวิธีเตะถ่วงงาน” จนสุดท้ายก่อให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของประเทศ
- - - - - - - - -
ผมเชื่อว่ารากฐานของประเทศในการสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและความเจริญรุ่งเรือง คือ การสร้างความเชื่อถือในประชาคมโลก
รัฐธรรมนูญควรยึดหลักนิติธรรมและปกป้องเสรีภาพในการแสดงออก โดยอย่างน้อยต้องเป็นไปตามมาตรฐานขั้นต่ำ เพื่ออำนวยความสะดวกและเกื้อหนุนให้เกิดความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประชาชนในประเทศกับประชาคมโลก
การค้าและการลงทุนจะไม่สามารถเจริญงอกงามได้ หากไม่มีหลักนิติธรรม เพราะหลักนิติธรรมคือรากฐานของการสร้างความเชื่อมั่น
- - - - - - - - -
ในช่วงแห่งความเปลี่ยนแปลง และระยะเปลี่ยนผ่านนี้ ประเทศไทยต้องประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของตนเองเสียใหม่ และสรรหาวิถีทางที่สมเหตุสมผลเพื่อสร้างเสถียรภาพทางการเมืองและพลวัตรทางเศรษฐกิจ
ผมเพียงแค่นำเสนอถึงวิธีคิดและพิจารณาปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกปัจจุบัน
- - - - - - - - -
ขอขอบคุณท่านสุภาพบุรุษ สุภาพสตรีทุกท่าน
จบการปาฐกถา
- - - - - - - - -
ข่าวยังรายงานด้วยว่า ด้านหน้าอาคารสถาบันนโยบายโลก (World Policy Institute) ณ นครนิวยอร์ก ของสหรัฐฯ มีกลุ่มแนวร่วมนปช.สหรัฐอเมริกา จำนวนหนึ่ง ได้เดินทางไปสนับสนุน หน่วยงานดังกล่าวที่เชิญ ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ขึ้นบรรยายพิเศษเกี่ยวกับบทบาทของไทยบนเวทีโลก เศรษฐกิจ
กูต้องได้ 100 ล้าน จากทักษิณแน่ๆ