วันพฤหัสบดี, มีนาคม 10, 2559

ทักษิณพูดในนิวยอร์ค ในมิติที่จะส่งผลกระทบทางการเมือง... 'เซม เซม’-calculated-ไม่เกรงใจแต่ก็ไม่ท้าชน





ขนาดพูดที่สถาบันกระจอกเนี่ย สื่อไทยสายหลักลงข่าวกับพรึ่บ จะใครเสียอีกถ้าไม่ใช่คนที่เจ้ากรมโฆษณาชวนเชื่อ ‘บักดอน กต.’ ตีตราว่า ‘ไม่มีราคา’

เอาหลักๆ มติชน ไทยรัฐ โพสต์ทูเดย์ แค่นี้ก็ได้เนื้อเหลือเฟือแล้ว โดยที่พ้องกันคือประเด็นร่างรัฐธรรมนูญใหม่

“จะไม่สามารถวางโครงสร้างพื้นฐานในเชิงสถาบัน ที่จะส่งเสริมให้มีการลงทุน การผลิต และความร่วมมือระหว่างไทยกับต่างประเทศได้ เนื่องจากอาจเปิดช่องให้มีการแทรกแซงอำนาจฝ่ายบริหารและนิติบัญญัติ โดยอำนาจพิเศษของวุฒิสภาที่มาจากการแต่งตั้งและฝ่ายตุลาการ” (จากข่าวไทยรัฐ)

นอกนั้นทักษิณ ชินวัตร พูดอะไรใหม่บ้าง ในการปาฐกถาที่ Metropolitan Club of Manhattan โดยการจัดของ World Policy Institute นครนิวยอร์ค




ทักษิณพูดถึงแบบแผนทางเศรษฐกิจสองแนว โมเดลหนึ่งคือแบบทุนนิยมเสรีของตะวันตก อีกโมเดลเป็นทุนนิยมรัฐ ที่กำกับโดยอำนาจส่วนกลางแบบจีน

“ต้องยอมรับว่าทั้งสองโมเดลจะต้องถูกปรับให้เหมาะสมกับสภาพความเป็นจริงใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วทางด้านเทคโนโลยีการผลิตแบบอุตสาหกรรม...

ความเปลี่ยนแปลงนี้ได้กลับตาลปัตรโครงสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจภายในประเทศต่างๆ และส่งผลให้การปรับตัวทางเศรษฐกิจไม่ใช่เรื่องง่ายเหมือนในอดีต” (จากมติชน)

เพราะความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี่ทำให้เกิดระบบ ‘เศรษฐกิจเครือข่าย’ ที่ขณะนี้มีประชันกันอยู่สองแนวทาง

“ประการที่หนึ่งคือ ยุทธศาสตร์ ‘One Belt, One Road’ (OBOR) หรือยุทธศาสตร์เส้นทางสายไหมใหม่ ที่นำโดยสาธารณรัฐประชาชนจีน เพื่อพัฒนาความเชื่อมโยงด้านการคมนาคมและโลจิสติกส์ระหว่าง ๖๐ ประเทศ ซึ่งมีรายได้ประชาชาติรวมกันคิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ ๕๐ ของรายประชาชาติของโลก

และยุทธศาสตร์อีกประการหนึ่งคือ ความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (Trans-Pacific Partnership, TPP) ที่นำโดยประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีประเทศเข้าร่วมเป็นสมาชิกแล้ว ๑๒ ประเทศ มีรายได้ประชาชาติรวมกันมากกว่าร้อยละ ๔๐ ของรายได้ประชาชาติของโลก” (จากมติชน)

นั่นเป็นการแสดงวิสัยทัศน์ในระนาบสากล จะเจ๋งไม่เจ๋งอีกเรื่อง ดีกว่า “คัม คัม” ไม่เช่นนั้นเขาคงไม่ตั้งหัวเรื่องทั้งงานว่า “Thaksin Shinawatra in Private Discussion”

“ขณะที่ความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่มักถูกมองแบบเหมารวมว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อกัน อดีตนายกฯ ไทยมองว่าการปกครองที่แตกต่างกัน ซึ่งนำไปสู่นโยบายเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศที่แม้จะเป็นคนละขั้ว แต่เป็นกระบวนการคู่ขนาน ซึ่งเมื่อถึงจุดหนึ่งจะสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมให้แก่ทั้งภูมิภาคเอเชียและโลกตะวันตก” (จากโพสต์ทูเดย์)

ชัดเจน ไม่เข้าข้างใคร ไม่ได้รักพี่เสียน้อง ไม่ต้องเหยียบเรือสองแคม แต่เขาว่ามันเป็น “กระบวนการคู่ขนาน”

“ประเทศไทยคงไม่สามารถหลีกเลี่ยงความท้าทายของโลกในศตวรรษที่ ๒๑ ได้ ตลอดช่วงกว่าครึ่งศตวรรษที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยได้ถูกเชื่อมโยงเข้ากับเศรษฐกิจโลกอย่างต่อเนื่อง”

ทว่า “เมื่อพิจารณาถึงเค้าโครงของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มันคงเป็นไปได้ยากที่จะได้มาซึ่งรัฐบาลที่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนและความท้าทายในศตวรษที่ ๒๑...

หากพวกเราคิดว่าหลักการแบ่งแยกอำนาจอธิปไตยคือรากฐานเพื่อการสร้างความเจริญเติบโตและเสถียรภาพของประเทศ หัวข้อสำคัญที่พวกเราต้องพิจารณาคงเป็นเรื่องที่ว่า อำนาจตุลาการจะล่วงล้ำอำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารหรือไม่

เพื่อให้รัฐบาลสามารถบริหารเศรษฐกิจของประเทศในยุคที่เศรษฐกิจโลกกำลังชะลอตัว ผมหวังว่าคงจะไม่มีการใช้อำนาจตุลาการที่เกินกว่าความจำเป็นอีกในอนาคต”

(http://www.matichon.co.th/news/64941, http://www.posttoday.com/politic/420636, http://www.thairath.co.th/content/588637)

นอกนั้นสิ่งที่ทักษิณพูดในนิวยอร์คเมื่อวานนี้ (๙ มีนาคม) ในมิติที่จะส่งผลกระทบทางการเมือง น่าจะเรียกได้ว่า ‘เซม เซม’ และ ‘very calculated’ ไม่เกรงใจแต่ก็ไม่ท้าชน สำหรับ คสช. ก็ขอให้มาคุย

กับแฟนคลับเสื้อแดง “When I voice my concern, my supporters will come out to campaign.” ถึงกระนั้น “ผมทำอะไรไม่ได้มาก เพราะไม่ได้อยู่ในประเทศ”




นั่นเมื่อ Thomas Fuller อดีตผู้สื่อข่าวเดอะนิวยอร์คไทมส์ประจำเอเซียอาคเนย์ ปัจจุบันหัวหน้ากองบรรณาธิการประจำซาน ฟรานซิสโก ตั้งคำถามหลังจากเสร็จสิ้นการปาฐกถาว่า “คุณจะใช้ทรัพยากรและทรัพย์สินของคุณรณรงค์ต่อต้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ไหม”

ธอมัสถามอีกว่า “คุณเลิกล้มความคิดที่จะกลับ (ประเทศไทย) แล้วหรือ” ทักษิณตอบอย่าง “ตั้งใจให้กำกวม” หรือ “อาจจะตีความไปทางไหนๆ ก็ได้” ว่า “เขายังไม่ยอมแพ้” หรอก

แต่ “ผมไม่อยากเข้าไปพัวพันกับการเมือง” จากนั้นเขาเสริมต่อว่า “ผมพร้อมที่จะเสียสละ อยู่ห่างๆ ถ้าประเทศชาติสามารถขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้ และสิทธิเสียงของประชาชนได้รับการเคารพ”

(ดูเพิ่มคำให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมได้จาก https://asiancorrespondent.com/…/thaksin-says-he-will-neve…/)

ส่วนหนึ่งในคำตอบคำถามของทักษิณต่อคุณฟุลเลอร์ในนิวยอร์คอย่าง bold and witty ที่ไม่ต้องไว้หน้ามากนัก ก็เมื่อเขาเอ่ยถึงกลุ่มผู้ประท้วงสิบกว่าคนซึ่งไม่เพียงยกป้ายต่อต้านอยู่บนทางเท้าด้านตรงข้ามเม็ทโทรโพลิตันคลับ แต่ส่งเสียงดังด่าทอด้วย

“ผมหวังว่าพวกเขาคงพอใจกับการได้ใช้เสรีภาพในการแสดงออกนะ”