วันพุธ, มีนาคม 09, 2559

ที่ใดมีประชาธิปไตย ย่อมมีความโปร่งใส ประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความโปร่งใสก็จะน้อย เพราะตรวจสอบไม่ได้ไง Duh!



ที่ใดมีประชาธิปไตย ย่อมมีความโปร่งใส

ความโปร่งใสกับประชาธิปไตยไปด้วยกัน กล่าวคือ ที่ใดมีความเป็นประชาธิปไตยสูงที่นั้นมักมีความโปร่งใส หรือในอีกแง่หนึ่งที่ใดมีความโปร่งใสมาก แสดงว่าที่นั้นมีความเป็นประชาธิปไตยสูงไปด้วย

โดย ดร.โสภณ พรโชคชัย

การวิเคราะห์นี้เป็นการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะหรือปัจจัยที่แทนด้วยตัวแปรตั้งแต่สองตัวแปรขึ้นไป เพื่อให้ทราบถึงความสัมพันธ์ ทิศทางความสัมพันธ์ และลักษณะความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร หรืออีกนัยหนึ่งเป็นการวิเคราะห์โดยอาศัยค่าที่ทราบจากตัวแปรหนึ่ง แล้วนำไปพยากรณ์ค่าของอีกตัวแปรหนึ่ง ว่ามีความแปรผันในสัดส่วนเท่าใดหรือในระดับใดนั่นเอง และโดยที่มีเพียง 2 ตัวแปร จึงใช้แบบ Simple Regression Analysis ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรเพียง 2 ตัวว่าการเปลี่ยนแปลงของตัวแปรหนึ่งส่งผลต่ออีกตัวแปรหนึ่งอย่างไรในลักษณะที่เป็นเส้นตรง (Linear)

ในการให้คะแนนความโปร่งใส และคะแนนประชาธิปไตยใน 150 ประเทศนั้น สมมติให้คะแนนอันดับ 1เท่ากับ 10 คะแนน ส่วนอันดับสุดท้ายได้ 1 คะแนน นอกนั้นก็เรียงลำดับกันไป เพื่อจะได้นำคะแนนของทั้งสองตัวแปรนี้มาวิเคราะห์ดูว่ามีความสัมพันธ์กันเพียงใด และจากการวิเคราะห์การถดถอยพบว่าค่า R Square หรือค่าสัมประสิทธ์ของการตัดสินใจ (Coefficient of Determination) อยู่ที่ 0.743175 หรือประมาณ 74% และค่าเลขนัยสำคัญ (Significant F) หรือตัวเลขที่ได้จากการวัดเกือบเป็นศูนย์ ดังนั้นจึงอาจพอสรุปได้ว่าความโปร่งใสกับประชาธิปไตยมีความสัมพันธ์กัน

ประเทศที่มีความโปร่งใสอันดับ 1 (10 คะแนนเต็ม) คือ เดนมาร์ก ได้คะแนนประชาธิปไตยอันดับหนึ่งเช่นกัน (10 คะแนนเต็ม) ประเทศเด่น ๆ ได้แก่ นิวซีแลนด์ ฟินแลนด์ สวีเดน นอรเวย์ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ เนเธอร์แลนด์ แคนาดา ออสเตรเลีย เยอรมนี สหราชอาณาจักร เบลเยียม ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา ส่วนประเทศที่ย่ำแย่ทั้งสองด้านได้แก่ เวเนซูเอลา ลิเบีย เออริเทรีย อุสเบกิสถาน เตอเมนิสถาน อิรัก อาฟกานิสถาน ซูดาน โซมาเลีย และเกาหลีเหนือรั้งท้าย

อย่างไรก็ตามก็อาจมีบางประเทศที่ดูแย้งกันอยู่บ้างเช่น สิงคโปร์ได้คะแนนความโปร่งใส 9.64 ส่วนคะแนนประชาธิปไตย เป็น 5.71 แต่ก็เป็นในแดนบวกทั้งสองคะแนน ไม่ใช่ว่าได้คะแนนโปร่งใสสูง แต่เป็นประเทศเผด็จการ เป็นต้น กรณีนี้อาจต่างจากประเทศไทย ที่ได้คะแนนความโปร่งใส 5.99 แต่ได้คะแนนประชาธิปไตย3.30 ทั้งนี้เพราะเกิดรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อปี 2557

อีกประเทศหนึ่งที่น่าสนใจก็คือภูฏาน ได้คะแนนความโปร่งใส 8.66 แต่คะแนนประชาธิปไตยคือ 5.65 อาจเป็นเพราะยังปกครองโดยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราช ในทางตรงกันข้าม ก็มีประเทศที่มีความโปร่งใสต่ำมาก แต่มีประชาธิปไตยสูงกว่าค่าเฉลี่ย (5%) ได้แก่ ประเทศยูเครน ปาปัวนิวกินี และปารากวัย ประเทศทั้งหลายนี้ถือเป็นข้อยกเว้น หรือเรียกว่าค่าสุดต่างหรือค่าผิดปกติ (Outliers) ซึ่งอาจมีเหตุผลอื่นที่ไม่อาจอธิบายได้ด้วยตัวแปร 2 ตัวแปรนั่นเอง

เมื่อเจาะลึกในกรณีสิงคโปร์ ถ้าถือเอาคะแนนประชาธิปไตยที่ได้คือ 5.71 เป็นเกณฑ์ คะแนนความโปร่งใสควรเหลือแค่ 5.72 แทนที่จะเป็น 9.64 ทั้งนี้คะแนน 5.72 มาจากการวิเคราะห์การถดถอยที่ได้ค่าคงที่(Constant) ที่ 0.770833922 นำตัวเลขนี้มาบวกด้วยผลคูณระหว่างคะแนนประชาธิปไตยของสิงคโปร์ (5.71)กับค่าคงที่จากสูตร (0.865692563) อย่างไรก็ตามในความเป็นจริง สิงคโปร์มีความโปร่งใสสูงมาก โดยนัยนี้คะแนนประชาธิปไตยจึงอาจมีปัญหาความไม่ถูกต้อง ในทางตรงกันข้าม หากนำคะแนนความโปร่งใสมาเป็นตัวแปรอิสระ แล้วให้คะแนนประชาธิปไตยเป็นตัวแปรตามบ้าง สิงคโปร์ที่มีความโปร่งใสที่คะแนน 9.64 ควรได้คะแนนประชาธิปไตยเท่ากับ 9.03 (ค่าคงที่ ที่ 0.756176448 บวกด้วยคะแนนความโปร่งใสที่คูณด้วยค่าคงที่จากสูตร (0.858474077)

อาจกล่าวได้ว่า สิงคโปร์เป็นประเทศที่มีความเป็นประชาธิปไตยสูงไม่น้อย (http://bit.ly/1MKUzhT) หลายคนมองว่าสิงคโปร์เป็นเผด็จการ ลีกวนยิวเคยพูดว่าคนไม่เท่ากัน เหมือนนิ้วมือของเราเอง แต่ความจริงอยู่ที่การตีความ ในอีกแง่หนึ่งก็คือ สิงคโปร์มีความเป็นประชาธิปไตยเพราะมีการเลือกตั้งอย่างเสรีมาโดยตลอดโดยไม่เคยมีข่าวการซื้อเสียงหรือบังคับลงคะแนนแต่อย่างใด ถ้าลีกวนยิวทำรัฐประหาร คนสิงคโปร์ผู้มีการศึกษาเป็นอย่างดี ดีกว่าชาวตะวันตกเสียอีก คงไม่ยอมเป็นแน่ บ้างก็ว่าเสรีภาพของสื่อมีจำกัด แต่ในความเป็นจริง เขาไม่ให้สื่อมีอภิสิทธิ์ละเมิดคนอื่นต่างหาก สื่อไม่อาจลงข่าวยั่วยุสร้างความแตกแยก การที่รัฐบาลสิงคโปร์ไม่ยอมให้มีการประพฤตินอกลู่นอกทาง

โดยนัยของการวิเคราะห์นี้ จึงอาจอนุมานได้ว่า หากประเทศที่มีการปกครองที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ความโปร่งใสก็จะน้อย เพราะตรวจสอบไม่ได้ หากใครไปตรวจสอบก็อาจพบกับ "เภทภัย" จากผู้มีอำนาจเผด็จการ เป็นต้น และยิ่งประเทศใดอยู่ในภาวะที่ไม่เป็นประชาธิปไตยนานเข้า ก็ยิ่งจะมีความโปร่งใสน้อยลง บรรดาผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้มีอำนาจวาสนายศศักดิ์ (ไม่ได้ผ่านการเลือกตั้ง) ก็ยิ่งคุ้นเคยและเสพติดอำนาจ ทำให้ประเทศยิ่งจะเลวร้ายลงนั่นเอง

มาช่วยกันส่งเสริมความโปร่งใส ไม่โกงและประชาธิปไตยเถิดครับ



...


http://www.prachatai.com/journal/2016/03/64530

ลุงดอนจะเอาฮาไปถึงไหน?