วันศุกร์, มีนาคม 11, 2559

ยุคนี้... ผู้มีอำนาจ อยากเชิญใครไปกินข้าวก็ได้ ?!? (แต่กูไม่หิวอ่ะ)



902 คนเป็นอย่างน้อย?

Credit

ไพรวัลย์ วรรณบุตร

ooo

902 คนเป็นอย่างน้อยที่ถูกเรียกปรับทัศนคติและเยี่ยมถึงบ้าน ในยุครัฐบาล คสช.


ที่มา ILAW
25 กุมภาพันธ์ 2016

การเรียกบุคคลเพื่อไปปรับทัศนคติของรัฐบาล คสช.ยังคงเป็นเครื่องมือที่ถูกใช้อย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่หลังรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม 2557 ซึ่งผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายหลักคือคนหรือกลุ่มที่ คสช. และเจ้าหน้าที่รัฐโดยเฉพาะทหารต้องการควบคุมเมื่อถูกมองว่าออกมาเคลื่อนไหวตรงข้ามคสช. และมีแนวคิดขัดขวางการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดปัจจุบัน โดยเฉพาะนักการเมืองและกลุ่มแกนนำเสื้อแดง พรรคเพื่อไทยที่ออกมาวิพากวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล กระทั่งวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ก่อนนำไปสู่การถูกเรียกตัวเข้าค่ายทหารเพื่อปรับทัศนคติ บางรายถูกเจ้าหน้าที่ตามไปถึงบ้าน เช่นเดียวกับกลุ่มนักกิจกรรม นักวิชการ สื่อมวลชน หรือนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหว จัดเสวนา ออกแถลงการณ์ หรือทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ว่าไม่เห็นด้วยกับแนวคิดขับเคลื่อนประเทศของรัฐบาลชุดนี้ ต่างถูกเจ้าหน้าที่คุกคามด้วยวิธีต่างๆซ้ำร้ายกลุ่มที่ออกมาชุมนุมในประเด็นที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองระดับประเทศโดยตรงอย่างการเคลื่อนไหวเรื่องทรัพยากรธรรมชาติก็ได้รับผลกระทบถ้วนหน้า เพราะถูกมองว่าการเคลื่อนไหวเหล่านั้นเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ

5 ประเด็นที่ไอลอว์เห็นระหว่างติดตามสถานการณ์เจ้าหน้าที่รัฐคุกคามประชาชนในรัฐบาลปัจจุบัน

[1] จากเรียกรายงานตัวสู่การเยี่ยมถึงบ้าน: คุกคามเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือเทคนิคใหม่

จากวิธีเดิมที่เจ้าหน้าที่นิยมใช้คือการเรียกตัวไปพบที่ค่ายทหาร เริ่มปรับเป็นการไปพบที่บ้าน ชวนไปกินกาแฟหรือกินข้าว ตั้งแต่มกราคม 2558 กลุ่มบุคคลที่รัฐบาล คสช. ต้องการเรียกตัวไปปรับทัศนคติส่วนใหญ่ยังคงเป็นนักการเมืองจากพรรคเพื่อไทย โดยบุคคลเหล่านี้ต่างล้วนเคยถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกตัวไปปรับทัศนคติมาแล้ว เช่น จาตุรนต์ ฉายแสง, พิชัย นริพทะพันธ์,วรชัย เหมะ โดยวิธีการของเจ้าหน้าที่ในช่วงนี้เป็นการเชิญไปที่ค่ายทหารและบางรายมีเจ้าหน้าที่ไปพบที่บ้าน เดือนกุมภาพันธ์ 2558 เจ้าหน้าที่ทหารค่ายกาวิละ จังหวัดเชียงใหม่ เชิญแกนนำเสื้อแดงเชียงใหม่ร่วมรับประทานอาหารและพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาและหาทางออกทางการเมืองร่วมกัน เมษายน 2558 รัฐบาลโดยศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปเชิญนักกฎหมาย นักวิชาการด้านสิทธิมนุษยชน นักกิจกรรมทางสังคม และทนายความจำนวนมากเข้าร่วมหารือเพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาความขัดแย้งที่สโมสรกองทัพบก โดยข้อมูลจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า ในการนี้มีผู้ถูกเชิญเข้าร่วมหารือทั้งหมด 82 ราย ซึ่งต่างเคยร่วมลงชื่อคัดค้านการใช้อำนาจตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว มาตรา 44 ส่วนในเดือนพฤษภาคม - กรกฎาคม 2558 จากการจัดกิจกรรมรำลึกครบ 1 ปี รัฐประหาร เมื่อ 22 พฤษภาคม 2558 มีนักกิจกรรมจำนวนมากถูกจับ จนนำมาสู่การจัดตั้งกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ออกมาเรียกร้องเสรีภาพจากรัฐบาล คสช.ผ่านการเคลื่อนไหวทางการเมือง กระทั่งถูกตั้งข้อหาชุมนุมทางการเมือง จากกรณีนี้ เจ้าหน้าที่เริ่มปรับเปลี่ยนวิธีหาข้อมูลเพิ่มเติมไปจากการเรียกรายงานตัวที่ใช้มาแต่เดิม โดยเดินทางไปหาเป้าหมายที่บ้านพักโดยไม่ได้นัดหมายไว้ อย่างกรณีที่เจ้าหน้าที่ทหารหลายพื้นที่เข้าพูดคุยกับครอบครัวนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ ซึ่งลักษณะการพูดมีทั้งเกลี้ยกล่อมผู้ปกครองให้พาลูกหลานมารายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ ไปจนถึงข่มขู่คุกคาม นอกจากนี้ เจ้าหน้าที่ยังออกจดหมายเชิญบุคคล ให้ไปพบโดยอ้างว่าต้องการติดตามบุคคลเป้าหมาย เช่น ณัฐ สัตยาพรพิสุทธ์ อดีตนักโทษคดี 112 สำหรับในเดือนสิงหาคม 2558 สุรพศ ทวีศักดิ์ นักวิชาการที่ใช้เฟซบุ๊กวิพากษ์วิจารณ์การเมือง ถูกเจ้าหน้าที่เข้าพบแล้วแจ้งว่า มาพบบุคคลเป้าหมายตามรอบ, ขณะที่พันธ์ศักดิ์ ศรีเทพ นักกิจกรรมกลุ่มพลเมืองโต้กลับ เป็นอีกรายที่เจ้าหน้าไปพบแล้วอ้างว่า "มาเยี่ยมตามปกติ" กันยายน - พฤศจิกายน 2558 เจ้าหน้าที่ยังคงเรียกกลุ่มนักการเมืองและแกนนำเมืองพรรคเพื่อไทยเข้าค่ายอย่างต่อเนื่อง ศิริวัฒน์ จุปะมัดถา ผู้ประสานงาน นปช.จังหวัดพะเยา ถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปพบอย่างน้อยสองครั้ง นอกจากนี้ในเดือนตุลาคม 2558 จิตรา คชเดช นักกิจกรรมแรงงานให้ข้อมูลว่าถูกเจ้าหน้าที่ไปพบที่บ้านถึงสามครั้งแต่ไม่พบตัว แม้กระทั่งคนที่ลี้ภัยทางการเมืองอยู่ต่างประเทศอย่างสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อดีตอาจารย์ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ก็แจ้งผ่านเฟซบุ๊กของเขาว่ามีเจ้าหน้าที่ทหารไปที่บ้านและเข้าพบแม่ของสมศักดิ์ โดยไปถ่ายภาพในบ้านและเมื่อถามว่ามาหาใครก็ไม่ตอบ และเดือนธันวาคม 2558 จากเหตุที่สิรวิชญ์ เสรีธิวัฒน์กำลังจะจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้มีการตรวจสอบการทุจริตในโครงการอุทยานราชภักดิ์ แม่ของสิรวิชญ์ ให้ข้อมูลว่า ทหารโทรศัพท์มาแจ้งว่าจะเดินทางมาพบที่บ้านในคืนวันที่ 5 ธันวาคม 2558 ตามคำสั่งจากกองทัพ โดยก่อนหน้านี้ทหารเคยขอให้แม่บอกสิรวิชญ์เลิกจัดกิจกรรมดังกล่าว ซึ่งสิรวิชญ์เป็น หนึ่งในนักกิจกรรมจากกลุ่มพลเมืองโต้กลับที่จัดกิจกรรมในต่อต้านรัฐบาลชุดปัจจุบันด้วยการตั้งคำถามกับรัฐบาลอย่างต่อเนื่อง

[2] นิสิต นักศึกษา คณาจารย์มหาวิทยาลัยตกเป็นอีกหนึ่งเป้าหมายตลอดทั้งปี

นอกจากผู้ที่เคลื่อนไหวทางการเมืองในบทบาทนักการเมืองและนักกิจกรรมรณรงค์ต่อต้านรัฐประหารแล้ว ประเด็นถัดมาที่ไอลอว์เห็นเป็นการเรียกตัวผู้ที่จัดกิจกรรมเชิงวิชาการหรือเลือกใช้สถานศึกษาเป็นที่จัดกิจกรรม ซึ่งการจำกัดเสรีภาพทางวิชาการโดยรัฐบาล คสช. นั้นปรากฏในหลายรูปแบบตลอดทั้งปี อย่างเดือนมีนาคม 2558 ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (ศนปท.) รายงานหลังกิจกรรมชุมนุมและปราศรัยคัดค้านอำนาจของศาลทหารที่หน้าศาลทหารกรุงเทพว่ามีเจ้าหน้าที่ ไปคุกคามนักศึกษาที่บ้านอย่างน้อย 22 คน เพื่อให้ยุติการเคลื่อนไหว เมษายน 2558 ที่มหาวิทยาลัยบูรพา กลุ่มลูกชาวบ้านถูกเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจเข้าตรวจสอบงานเสวนาเกี่ยวกับการนำมหาวิทยาลัยออกนอกระบบและคุมตัวนิสิตสองคนไปสอบสวน กรกฏาคม 2558 เจ้าหน้าที่ตำรวจไปที่มหาวิทยาลัยนเรศวรเพื่อตรวจสอบ กรณีที่อาจารย์ลงชื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวนักกิจกรรมกลุ่มประชาธิปไตยใหม่ที่ถูกคุมขัง ส่วนที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา เจ้าหน้าที่ทหารขอเข้าพบอาจารย์ประจำสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษาเพื่อขอความร่วมมือว่า ก่อนจัดกิจกรรมขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลพื้นที่และขอให้ลดความเข้มข้นของเนื้อหากิจกรรมลงด้วย ด้านมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เจ้าหน้าที่ทหารกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อยจังหวัดมหาสารคามเรียกนิสิตอย่างน้อยเจ็ดคน ซึ่งเป็นกลุ่มนิสิตที่ไปลงพื้นที่ถ่ายทำสารคดีเรื่องลำน้ำฮวยที่จังหวัดเลย เพราะเกรงว่าอาจจะเกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มดาวดิน กันยายน 2558 สันติภาพ ศิริวัฒนไพบูลย์ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวประชาไทว่า มีทหารโดยอ้างว่ามาจากมณฑลทหารบกที่ 24 (มทบ.24) จำนวนสามนายติดตามประกบกลุ่มนักศึกษาและทีมอาจารย์ลงมายังพื้นที่โครงการวิจัยความเป็นธรรมทางสังคมด้านสุขภาวะ พ.ศ.2557 - 2558 พื้นที่จังหวัดอุดรธานี ในเดือนตุลาคม 2558 นั้น สาวตรี สุขศรี อาจารย์คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แจ้งว่า ทหารมาที่บ้าน สี่นาย โดยอ้างว่ามาทำความรู้จัก เนื่องจากมีการเปลี่ยนหัวหน้าหน่วย และในเดือนพฤศจิกายน 2558 อาจารย์มหาวิทยาลัย ห้าคนต้องเดินทางเข้าพบพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรช้างเผือก จังหวัดเชียงใหม่เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้าคสช. ฉบับที่ 3/2558 หลังร่วมกันอ่านแถลงการณ์ "มหาวิทยาลัยไม่ใช่ค่ายทหาร"

[3] คุกคามสื่อ: ปรับการนำเสนอความจริงให้ตรงใจรัฐบาล

จากการทำหน้าที่สื่อคือการนำเสนอข่าวสารตามข้อเท็จจริงสู่สาธารณะที่มีหลายกรณีนำไปสู่การเรียกปรับทัศนคติโดย คสช. ที่ชัดเจนที่สุดของปีนี้คงจะหนีไม่พ้นกรณีของ ประวิต โรจนพฤกษ์ ผู้สื่อข่าวอาวุโสของเนชั่นทีวี ที่ออกมาแสดงความเห็นวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลอยู่ตลอด ก่อนถูกเจ้าหน้าที่ทหารเรียกเข้าค่ายไปปรับทัศนคติอยู่หลายคืน ในช่วงกันยายนและตุลาคม 2558 มีสื่อมวลชนถึงสองรายถูกเรียกไปปรับทัศนคติในค่ายทหาร คือ ศักดา แซ่เอียว หรือเซีย ไทยรัฐที่ต้องเข้าชี้แจงเรื่องเนื้อหาการ์ตูนที่สะท้อนปัญหาบ้านเมือง และทวีพร คุ้มเมธาจากสำนักข่าวประชาไท จากกรณีภาพอินโฟกราฟฟิคเกี่ยวกับคดี 112 ที่เจ้าหน้าที่มองว่าอาจทำให้ผู้อ่านเข้าใจผิดได้ ในเดือนเดียวกันนี้ มีทหารมาที่สำนักงานของสำนักข่าวประชาไทเพื่อสอบถามข้อมูลและติดตามคนที่เคยถูกเรียกรายงานตัวตามคำสั่ง คสช. สิงหาคม 2558 สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันรายงานว่า มีเจ้าหน้าที่ทหารในเครื่องแบบมาเลือกซื้อหนังสือที่สำนักพิมพ์ ต่อมาธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการแจ้งว่ามีเจ้าหน้าที่แวะมาที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันโดยชี้แจงว่า มาแนะนำตัวตามปกติ เนื่องจากเจ้าหน้าที่ปรับเปลี่ยนกำลังและหน้าที่ความรับผิดชอบ

[4] แม้เรื่องปากท้องและความเดือดร้อนในท้องถิ่นยังถูกห้ามเคลื่อนไหวในยุคนี้

นอกจากนี้ ผู้ที่ออกมาเคลื่อนไหวในประเด็นที่ไม่ใช่การต่อต้านการรัฐประหารหรือ คสช. ก็ถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปปรับทัศนคติถ้วนหน้า เช่น ชาวบ้านในจังหวัดร้อยเอ็ดที่เคลื่อนไหวเรื่องที่ดิน, กลุ่มสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี, ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ จากเครือข่ายประชาชนปฏิรูปพลังงานไทย, กลุ่มอนุรักษ์ดงมูลและกลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่นที่เคลื่อนไหวจากเหตุไม่เห็นด้วยกับเขตเศรษฐกิจพิเศษ กลุ่มคนเหล่านี้ต่างก็ถูกเจ้าหน้าที่เรียกไปปรับทัศนคติจากความพยายามในการเคลื่อนไหวในประเด็นที่แตกต่างกันนั้น

[5] การจำกัดเสรีภาพไม่มีทีท่าว่าจะคลี่คลาย

เราจะเห็นได้ว่า เจ้าหน้าที่มียุทธวิธีที่จะเรียกบุคคลไปรายงานตัวและปรับทัศนคติที่หลากหลายมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคมและปรับภาพลักษณ์ให้มีท่าทีจากปราบปรามการเคลื่อนไหวทางการเมืองเป็นการขอความร่วมมือเพื่อให้เจ้าหน้าที่และรัฐบาลทำงานสะดวกมากขึ้น อย่างไรก็ตาม รัฐบาล คสช.เอง ก็ยังไม่มีแนวโน้มที่จะผ่อนคลายการสะกัดกั้นกลุ่มกิจกรรมที่แสดงออกในการต้านรัฐบาลอย่างชัดเจน ไม่ว่าประเด็นที่ออกมาเคลื่อนไหวนั้นจะถูกมองว่าหวังผลทางการเมืองคือการต่อขับไล่รัฐบาล คสช. หรือไม่ แต่ในเดือนนี้ การยับยั้งกิจกรรมสาธารณะที่ยังปรากฏอยู่ทั่วไปย่อมเป็นประจักษ์พยานที่ช่วยพยากรณ์ได้ว่าการจำกัดเสรีภาพโดยรัฐบาลที่เคยเป็นมาย่อมจะเป็นไปอย่างต่อเนื่อง และไม่มีโอกาสที่จะยุติคลี่คลายในอนาคตอันใกล้นี้ ดังกรณีต่อไปนี้

11 กุมภาพันธ์ 2559 โดยทหารจากกองพลทหารม้าที่ 1 จังหวัดเพชรบูรณ์ เชิญแกนนำกลุ่มค้านเหมืองเพชรบูรณ์หารือ (http://bit.ly/1oEvWuO) ขอความร่วมมือให้ยื่นเรื่องร้องเรียนเฉพาะในจังหวัดไม่ให้ชาวบ้านไปยื่นเรื่องร้องเรียนที่กรุงเทพฯ

12 กุมภาพันธ์ 2559 ทหารจากมณฑลทหารบกที่ 24 จังหวัดอุดรธานี (http://bit.ly/1PUKoHM) เรียกชาวบ้านให้เข้าไปทำความเข้าใจร่วมกัน เนื่องจากเมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2559 ชาวบ้านจัดขบวนแห่ไปขอพรที่อนุสาวรีย์กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งมีผู้ถือป้ายรณรงค์เรื่องเหมืองแร่โปแตชและอ่านคำประกาศที่มีคำว่า ‘เผด็จการอำนาจนิยมจงพินาศ’

19 กุมภาพันธ์ 2559 ที่จังหวัดสงขลา บุคคลซึ่งอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจตระเวนชายแดน แต่งกายด้วยเครื่องเเบบสีเขียว ประมาณ 10 นาย มาขอพบ อัญชนา หีมมีหน๊ะ นักกิจกรรมภาคใต้ หลังการเผยแพร่รายงานสถานการณ์การทรมาน (http://bit.ly/20SkSWC) โดยไม่มีหมายจับหรือหมายค้น เจ้าหน้าที่จอดรถสามคันล้อมรอบบ้านของอัญชนา พร้อมทั้งซักประวัติ ถ่ายรูปบ้านและแม่ของอัญชนาไว้ก่อนกลับไป หลังไม่ได้พบอัญชนา

ทั้งหมดนี้เป็นการนำเสนอข้อเท็จจริงเพียงส่วนหนึ่ง จากเหตุที่นับตั้งแต่หลังรัฐประหารถึงกุมภาพันธ์ 2559 มีบุคคลถูกเรียกรายงานตัว ปรับทัศนคติ และเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมถึงบ้านรวมแล้วอย่างน้อย 902 คน และตัวเลขนี้ย่อมมีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยไป โดยไม่มีใครหยุดได้นอกจากรัฐบาล คสช.