วันพฤหัสบดี, มีนาคม 17, 2559

ตรรกะเหลือล้ำ “เพื่อไม่ให้ยึดอำนาจ ก็ให้อยู่ในอำนาจเสียสิ”




ขอบคุณอธึกกิตคิดเลขให้ดู เรื่อง สว.ใบสั่ง ที่ คสช. บอกให้มีชัยเพิ่มในบทเฉพาะกาลร่างรัฐธรรมนูญใหม่




“ยิ่งกว่านายกฯ คนนอกใน รธน. ๒๕๓๔ เพราะให้ สว.ลากตั้งมีอำนาจลงมติไม่ไว้วางใจรัฐบาลเหมือน รธน. ๒๕๒๑ ถ้ารัฐบาลมีไม่ถึง ๓๗๖ เสียง สว. ๒๕๐ เสียงก็ร่วมมือฝ่ายค้าน ๑๒๕ เสียงขึ้นไป ล้มรัฐบาลได้” (Atukkit Sawangsuk)

ข้อนี้ทั่นรองฯ วิษณุ (เครืองาม) บอกว่า “เพื่อไม่อยากให้บิดเบือนเสียงที่มาจากการเลือกตั้งไปสู่ประโยชน์ส่วนตัวเพราะฉะนั้นคงจะต้องให้สมาชิกสภาในระยะแต่งตั้งชุดหนึ่งเข้ามามีส่วนมากพอประมาณ”

ส่วนทั่นรองฯ ประวิตร (วงษ์สุวรรณ) อ้างว่า “เราไม่อยากให้รัฐประหารขึ้นอีก เพราะผู้บัญชาการเหล่าทัพจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้”

(http://www.matichon.co.th/news/73125 และhttp://www.matichon.co.th/news/73063)

มันจึงหนีไม่พ้นแบบที่ โสรัจจ์ หงศ์ลดารมภ์ ว่าไว้ “เอาเลือกตั้งแบบพวงใหญ่กลับมาอีก” และจริงอย่างอธึกกิตจวก “ถอยหลังย้อนยุคยิ่งกว่า ๔๐ ปี...วางระบบเลือกตั้งเขตใหญ่ ๓ คนแต่ให้ประชาชนเลือกคนเดียว คะแนนหัวแตกหมด พรรคเดียวกันยังต้องสู้กันเอง”




ตรงกับที่พรรคเพื่อไทยประกาศคัดค้าน “เห็นว่าข้อเสนอของ คสช....เป็นความต้องการของ คสช. โดยตรง ที่ต้องการจะควบคุมอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินต่อไป โดยผ่านตัวแทนที่ตนเองแต่งตั้งขึ้นโดยทางอ้อม”

(http://www.ptp.or.th/news/468)

การตีสำนวนแถกแถโดยทั่นรองฯ ทั้งสอง ไม่ได้ทำให้แบบบทของ คสช. หลุดพ้นกระดองเผด็จการไปได้ เช่นเดียวกับไม่สามารถสร้างภาพพจน์ประชาธิปไตยตบตาชาวโลก

อย่างนี้อย่าว่าแต่สื่อและนักวิชาการไทยตีตรา คสช. ว่า “ถอยหลังสุดคลอง” เลย แม้แต่นักการทูตตะวันตกก็ยังชี้ให้เห็นว่าคณะทหารไทย “สวนกระแสประวัติศาสตร์และอาเซียน” กับการรวบยอดอำนาจและบ่อนทำลายสิทธิมนุษยชน

นายสตีเฟ็น ลิลลี่ ผู้อำนวยการแผนกเอเซียแปซิฟิคของกระทรวงต่างประเทศสหราชอาณาจักรและเครือจักรภพ อดีตเอกอัคราชทูตอังกฤษประจำฟิลิปปินส์ ไปแสดงปาฐกถาที่มูลนิธิคาร์เนกี้เพื่อสันติภาพระหว่างประเทศ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อสองวันก่อน กล่าวถึงความคืบหน้าทางประชาธิปไตยในเอเซียตะวันออกเฉียงใต้

“เปรียบเทียบตัวอย่างทางบวกเห็นได้จากที่เกิดขึ้นเร็วๆ นี้ในเอเซียอาคเนย์ อย่างเช่นการพัฒนาประชาธิปไตยในอินโดนีเซีย และการเปลี่ยนผ่านที่กำลังดำเนินอยู่ในพม่า

ไทย ประเทศประชาธิปไตยซึ่งเพิ่งมีรัฐประหารอีกครั้งเมื่อเดือนพฤษภาคม ๒๕๕๗ และกำลังเดือดร้อนกับปัญหาสิทธิมนุษยชนของคณะทหารผู้ปกครอง โดดโด่อยู่แห่งเดียวในทางลบ”

นายสตีเฟ็นกล่าวกับวารสารออนไลน์ เดอะดิโพลแม็ท ว่ามาตรการแซงชั่นที่ประเทศอังกฤษและสหภาพยุโรปใช้กับประเทศไทยหลังรัฐประหาร เพราะไม่สามารถยอมรับการล้มล้างประชาธิปไตยและการละเมิดสิทธิมนุษยชนได้นั้น

ผอ. ลิลลี่ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศอังกฤษบอกด้วยว่า “ความสำคัญของการรักษามิตรภาพกับประเทศไทยไว้ มีแก่นกลางอยู่ที่ รัฐบาลทหารจะต้องแสดงให้เห็นว่าได้ดำเนินการตามรายการต่างๆ ที่ชุมชนนานาชาติแจ้งเอาไว้ว่ามีความกังวลอะไรบ้าง”

“ความคืบหน้าเหล่านั้นควรที่จะเป็นมากกว่าเรื่องข้อกังวลต่อการรื้อฟื้นประชาธิปไตย อันรวมถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน อาทิ การดำเนินคดีต่อพลเรือนในศาลทหาร การควบคุมตัวผู้วิจารณ์รัฐบาลเอาไปปรับทัศนคติ และการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์เพื่อข่มขู่บีบคั้นฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง”

“เราต้องการที่จะเห็นรัฐบาลของคณะทหาร ดำเนินการอย่างจริงใจและจริงจังสนองต่อข้อกังวลของสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา”

(http://thediplomat.com/…/thailand-going-against-the-tide-o…/)

อีกสิ่งหนึ่งที่นักการทูตอังกฤษเอ่ยถึงต่อท่าทีของ คสช. ที่จะต้องแสดงให้เป็นประจักษ์ ในบทบาทแห่งความเป็นชาติอารยะ น่าเชื่อถือว่าสามารถปฏิบัติตนตามพันธะกรณีระหว่างประเทศได้ ในโอกาศอันใกล้ที่จะมาถึงในช่วงเดือนเมษา-พฤษภานี้

ภาคีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติจะถึงกำหนดการพิจารณาตรวจสอบสภาวะสิทธิมนุษยชนสากล (Universal Periodical Review) ของสมาชิกแต่ละประเทศในรอบสี่ปี ซึ่งประเทศไทยในยุค คสช. ยังติดกับอย่างเหนียวแน่นในเรื่อง ‘การบังคับให้คนสูญหาย’




“จากกระบวนการ UPR รอบแรกไทยรับข้อเสนอแนะ ๖ ข้อในประเด็นนี้ แต่ที่ผ่านมามีความก้าวหน้าเพียงเล็กน้อย จนปัจจุบันประเทศไทยมีการแจ้งคดีการบังคับสูญหายกว่า ๘๙ คดี คณะทำงานระบุว่ากว่า ๘๑ กรณียังไม่ได้รับการคลี่คลาย และมีเพียง ๒ กรณีเท่านั้นที่รัฐบาลไทยชี้แจง”

(http://isranews.org/isra-news/item/45564-artical_45564.html)

เรื่องนี้ประเทศไทยได้ลงนามอนุสัญญาระหว่างประเทศเรื่องคนสูญหายไว้เมื่อต้นปี ๒๕๕๕ แต่จนบัดนี้ยังไม่ได้ให้สัตยาบัน อนุสัญญาดังกล่าวจึงไม่สามารถบังคับใช้ได้ในประเทศไทย

แม้จะมีการเสนอร่างกฎหมายป้องกันการทรมานเข้าสู่สภานิติบัญญัติของ คสช. แต่ สนช. ก็ยังไม่อาจพิจารณาผ่านร่างสัตยาบันนี้ได้ แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็น สนช. ที่ผ่านกฎหมายได้อย่างรวดเร็วหาที่ไหนทัดเทียม ใกล้จะติดอันดับกินเนสอยู่รอมร่อก็ตาม

การเตะถ่วงสัตยาบันอนุสัญญาคนสูญหาย ในขณะที่ทหารลิ่วล่อ คสช. ทำการจับกุมบุคคลที่ต้องสงสัย (หรือทหารเข้าใจผิดเอง) ไปควบคุมตัวไว้ ๗ วันตามคำสั่งคณะรัฐประหาร โดยไม่แจ้งข้อหา ไม่แจ้งญาติพี่น้อง ไม่บอกด้วยซ้ำว่าเอาไปกักกันที่ไหน (หลายรายถูกใช้ผ้าผูกตา) ดังกรณีนายสราวุธ บำรุงกิตติคุณ ผู้จัดทำเพจเฟชบุ๊ค ‘เปิดประเด็น’ เมื่ออาทิตย์ที่แล้วเป็นตัวอย่าง



อาจเป็นความสะดวกและได้ผลดียิ่งแก่ คสช. ในทางข่มขู่ให้หวาดกลัว แต่นี่แหละคือหลักฐานสำคัญสำหรับการพิจารณาความประพฤติในทางเผด็จการ ทวนกระแสโลกอารยะ ของคณะทหารไทย

“จิตตก คุณลองคิดดูแล้วกันว่าถูกกักบริเวณต่อต่อกัน ๖ วันโดยติดต่อใครไม่ได้เลย จะเป็นอย่างไร ทุกข์ของเรายังพอสวดอธิษฐาน แต่คนที่เป็นห่วงเราล่ะ” นายสราวุธเล่าถึงประสบการณ์ถูกทหารควบคุมตัวจากสุราษฎร์ไปไว้ที่ มทบ. ๑๑

“สิ่งที่กระทบความรู้สึกคือ เขาไม่รู้ชะตากรรมของตัวเองว่าจะถูกควบคุมตัวนานแค่ไหน และกำลังถูกตรวจสอบเรื่องอะไร...

พานั่งเครื่องบินไปถึงกรุงเทพฯ มีเจ้าหน้าที่สอบสวนอีกชุด ถามว่าผมเป็นเครือข่ายหมิ่นสถาบันหรือเปล่า ผมตกใจแทบสิ้นสติเลย เพราะผมไม่ชอบเฮทสปีช ไม่ชอบภาพตัดต่อใส่ร้าย ไม่ว่าจะเกี่ยวกับสถาบันหรือไรก็ตาม”

(https://www.facebook.com/BBCThai/photos/a.1527194487501586.1073741828.1526071940947174/1749202145300818/?type=3&theater)

อย่างนี้ที่ผู้สื่อข่าวถามบิ๊กป้อมเรื่องจะให้ผู้บัญชาการเหล่าทัพเข้าไปนั่งเป็น สว.สรรหา คอยกำกับรัฐบาลนั้นจะไม่ใช่รัฐประหารซ่อนรูปละหรือ ทั่นรองฯ ฝ่ายกลาโหมตอบว่า

“เราไม่อยากให้รัฐประหารขึ้นอีก เพราะผู้บัญชาการเหล่าทัพจะได้ช่วยแก้ไขปัญหาได้”

เออนะ ตรรกะเหลือล้ำ ตีความใต้ผิวได้เลยว่า “เพื่อไม่ให้เขายึดอำนาจ ก็ให้เขาอยู่ในอำนาจเสียสิ”

ขอยืมคำของอธึกกิตมาใช้หน่อย “คนพวกนี้พูดเหมือน ‘คนไทยยังโง่อยู่’ ต้องให้กรูปกครองต่อไป”

ใช่เลย “บางที คสช.อาจถูกก็ได้ คนไทยยังโง่อยู่ โดยเฉพาะพวกคนชั้นกลางมีการศึกษาที่เชียร์ทหารไม่ลืมหูลืมตานั่นเอง”