วันจันทร์, มีนาคม 14, 2559

ข้อมูลการอุ้มหาย "โจ-ศราวุธ บำรุงกิตติคุณ" แอดมินเพจการเมือง "เปิดประเด็น" ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เรียกร้องให้ คสช. ปล่อยตัวนายสราวุธ บำรุงกิตติคุณโดยเร็วที่สุด




ข้อมูลการอุ้มหาย "โจ-ศราวุธ บำรุงกิตติคุณ" แอดมินเพจการเมือง "เปิดประเด็น"

ทหารบุกไปที่บ้าน ซึ่งชื่อของเขาอยู่ที่บ้านแม่ แม่เขาได้โทรบอกว่าทหารมาตามที่บ้าน แต่ตัวเขาไม่อยู่เลยมาเอาโทรศัพท์ไป แล้วจึงไปตามตัวที่ร้านกราฟฟิคที่เขาเช่า อยู่บริเวณสี่แยกการุณ เยื้องโชว์รูมรถดรีมคาร์ ก่อนถึงคลินิคหมอมานิตย์

แม่เขาโทรบอกแฟนเขา ว่าทหารมาตามถึงบ้าน ขณะที่เขาแชทหาอดีตทหารอากาศ "ชนินทร์ คล้ายคลึง" (ผู้พันสู้) ว่าโดนทหารตาม แล้วทหารก็ไปรวบตัวเขาได้ ในคืนวันที่ 9 มีนาคม 2559

เขาถูกส่งไปยังค่ายวิภาวดีรังสิต จังหวัดสุราษฎร์ธานี ทหารแจ้งกับที่บ้านว่า ทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ก่อนจะพาตัวไปสอบสวนและดำเนินคดีที่กรุงเทพฯ ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) (เรือนจำชั่วคราวสำหรับนักโทษการเมือง)

[เพิ่มเติม] สถานที่เดียวที่หมอหยองติดเชื้อในกระแสเลือด และสารวัตรเอี๊ยดผูกคอตายในห้องสี่เหลี่ยมที่ไม่มีลูกกรง

ดังนั้น คสช. ปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่มีส่วนรู้เห็น เบอร์ญาติเขาก็ได้มาแล้ว เดี๋ยวจะผสานให้ทาง ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ติดตามต่อไป หากเขาเสียชีวิตหรือหายสาบสูญ เป็นเพราะรัฐบาล คสช.

@ หยุดดัดจริตประเทศไทย
14 มีนาคม 2559

....




แถลงการณ์ต่อการบังคับให้สูญหาย นายสราวุธ บำรุงกิตติคุณ


ตามที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับเรื่องร้องเรียนจากญาติของนายสราวุธ บำรุงกิตติคุณ ผู้ดูแลเพจ“เปิดประเด็น” ซึ่งเป็นเพจที่นำเสนอข้อมูลวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลภายใต้คณะรักษาความสงบแห่งชาติว่าเจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจกว่า 30 นายได้ควบคุมตัวนายสราวุธไปจากที่พักในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2559 โดยในการควบคุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ทหารและเจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้แจ้งเหตุในการควบคุมตัว ไม่แจ้งสถานที่ควบคุมตัวและไม่ได้แสดงหมายจับ และญาติไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับนายสราวุธได้ในระหว่างการควบคุมตัว จนกระทั่งวันที่ 11 มีนาคม 2559 พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ทีมโฆษกของคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้ให้สัมภาษณ์กับสื่อสารมวลชนว่าไม่ทราบถึงการควบคุมตัวนายสราวุธโดยเจ้าหน้าที่ทหารเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และไม่ทราบถึงสาเหตุในการควบคุมตัวดังกล่าว

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า “การที่เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งได้รับการแต่งตั้งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยได้อาศัยคำสั่งหัวคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ฉบับที่ 3/2558 ควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน โดยไม่มีหมายจับ ไม่เปิดเผยสถานที่ควบคุมตัวอย่างแน่ชัด ญาติไม่สามารถติดต่อได้ ทำให้นายสราวุธขาดหลักประกันสิทธิเสรีภาพ และเป็นการควบคุมตัวโดยอำเภอใจ อันเป็นการละเมิดพันธกรณีตามข้อ 9 ของกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง(ICCPR) อีกทั้งการกระทำดังกล่าวยังเป็นการริดรอนสิทธิเสรีภาพของบุคคล ตามมาด้วยการปกปิดสถานที่ควบคุมตัวและปฏิเสธจะทราบชะตากรรมโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ทำให้บุคคลอยู่ภายนอกการคุ้มครองของกฎหมาย นายสราวุธจึงถือเป็นบุคคลที่ถูกบังคับสูญหายตั้งแต่วันที่ 9มีนาคม 2559 อันเป็นการละเมิดต่อพันธกรณีอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการคุ้มครองบุคคลทุกคนจากการหายสาบสูญ โดยถูกบังคับ (International Convention for the Protection of All Persons from Enforced Disappearance: CED)ซึ่งตั้งแต่ประกาศใช้คำสั่งดังกล่าวไม่มีกรณีใดเลยที่เจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยหรือเจ้าหน้าที่ทหารแจ้งสถานที่ควบคุมตัวอย่างเป็นทางการ”

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงขอเรียกร้องให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติเคารพต่อพันธกรณีด้านสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคีและยุติการใช้อำนาจในการควบคุมตัวบุคคลตามคำสั่งหัวหน้าคสช.ฉบับที่ 3/2558 และขอให้ปล่อยตัวนายสราวุธ บำรุงกิตติคุณโดยเร็วที่สุด

ด้วยความเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชน

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน


...



ooo


ที่มา FB
iLaw

จากข่าวลือ 'Sarawut Bamrungkittikhun' ถูกทหารจับตัวไป ถึงตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน แต่พรุ่งนี้ (15มี.ค.) ครบ 7 วัน ยังไงก็ต้องปล่อยตัว ทั้งที่การจะควบคุมตัวใคร 7 วัน ต้องมีหลักฐานเกี่ยวกับความผิดเฉพาะที่ระบุไว้เท่านั้น ไม่ใช่จับใครก็ได้ แม้ทหารออกมาปฏิเสธความเกี่ยวข้อง แต่ก่อนหน้านี้ก็ปฏิเสธผิดๆ มาหลายครั้งแล้ว

ตามที่มีกระแสข่าวลือกันในเฟซบุ๊ก ตั้งแต่วันที่ 9 มีนาคม 2559 ว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กชิ่อ 'Sarawut Bamrungkittikhun' ถูกทหารจับตัวไป จนถึงปัจจุบันยังไม่ทราบชะตากรรม และมีข่าวลือต่อมาว่า คนที่ถูกจับเป็นแอดมินเพจหยุดดัดจริตประเทศไทย ต่อมา 11 มีนาคม 2559 เพจหยุดดัดจริตประเทศไทย ออกมาชี้แจงว่า แอดมินของเพจไม่ได้ถูกจับ แต่คนที่ถูกจับตัวไปแท้จริงแล้วคือ เคยเป็นอดีตทีมงานและปัจจุบันได้เปิดเพจของตัวเองชื่อว่าเพจ "เปิดประเด็น"

จนถึงปัจจุบัน ยังไม่ปรากฎข้อเท็จจริงที่แน่ชัดว่าการควบคุมตัวบุคคลดังกล่าวเกิดขึ้นโดยใคร เหตุแห่งการจับกุมคืออะไร และปัจจุบันถูกควบคุมตัวอยู่ที่ไหน นอกจากนี้ วันที่ 12 มีนาคม 2559 พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ รองหัวหน้าศูนย์ประชาสัมพันธ์ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะทีมโฆษก คสช. ระบุว่า ยังไม่ทราบรายละเอียดที่ชัดเจน และไม่ทราบว่า แอดมินเพจเปิดประเด็น ถูกทหารเชิญตัวไปจริงหรือไม่ และถูกเชิญตัวด้วยเหตุผลใด โดยขอเวลาในการตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน (http://goo.gl/Ptcl44)

อย่างไรก็ดี การหายตัวไปของ 'Sarawut Bamrungkittikhun' นับเป็นวันที่ 6 แล้ว (นับตั้งแต่วันที่ 9 มี.ค. ถึง 14 มี.ค.) ดังนั้น หากนี้เป็นการควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ทหารจริง ในวันที่ 15 มี.ค. ก็จะครบอำนาจการควบคุมตัว 7 วัน ตามอำนาจคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 และต้องปล่อยตัว 'Sarawut Bamrungkittikhun' ภายในวันที่ 15 มี.ค. ทันที เว้นแต่จะมีการพาตัวไปศาลเพื่อขออำนาจศาลฝากขังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป

++ข้อสังเกตต่ออำนาจการควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช.++

หนึ่ง หากเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นการควบคุมตัวโดยทหารจริง อำนาจการจับกุมตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ระบุไว้ว่าต้องเป็นผู้กระทำความผิดซึ่งหน้าเท่านั้น อีกทั้งต้องเป็นความผิดตามที่ระบุในคำสั่งดังกล่าว ได้แก่ ความผิดต่อองค์พระมหากษัตริย์ ฯลฯ (มาตรา 107-112) /ความผิดต่อความมั่นคงของรัฐภายในราชอาณาจักร (มาตรา 113 - 118) / ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยอาวุธเครื่องกระสุนปืน ฯลฯ ที่ใช้เฉพาะในการสงคราม / ความผิดอันเป็นการฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่ง คสช. หรือ หัวหน้า คสช.

แต่หลายครั้ง ที่เจ้าหน้าที่อ้างอำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 เข้าจับกุมประชาชน โดยไม่มีการกระทำความผิดเกิดขึ้นซึ่งหน้า และบางครั้งก็ไม่ใช่การจับกุมเพราะสงสัยในความผิดฐานฝ่าฝืนประกาศหรือคําสั่ง คสช. หรือ หัวหน้า คสช. เช่น การควบคุมตัว "วัฒนา เมืองสุข" เมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2559 (https://goo.gl/2mhPm8) ที่ทหารเข้ามาที่บ้านและควบคุมตัวไป ค่าย มทบ.11 แล้วจากนั้นจึงนำตัวส่งพนักงานสอบสวน สน.นางเลิ้ง เพื่อแจ้งข้อหาตาม พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์ฯ ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่เกี่ยวข้องกับประกาศหรือคําสั่ง คสช. หรือ หัวหน้า คสช.

สอง เจ้าหน้าที่ไม่มีอำนาจการควบคุมตัวบุคคลได้ 7 วัน โดยอำเภอใจ กล่าวคือ อำนาจตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ระบุว่า การจะควบคุมตัวบุคคลนั้นต้องไม่เกิน 7 วัน และต้องเป็นกรณีที่มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลใดได้กระทําความผิดตามที่ได้ระบุไว้ และการควบคุมตัวต้องเป็นไปเพราะการสอบถามข้อมูลการกระทำความผิดไม่แล้วเสร็จ ไม่ใช่เจ้าหน้าที่จะควบคุมตัวใคร เมื่อไร ด้วยเหตุใด ก็ได้

แต่ก็ปรากฏว่า หลายครั้งเจ้าหน้าที่เข้าควบคุมตัวประชาชนโดยอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ทั้งที่ไม่เคยมีความชัดเจนว่า มีเหตุอันควรสงสัยโดยมีหลักฐานตามสมควรว่าบุคคลได้กระทําความผิดจริงหรือไม่ เช่น กรณีการควบคุมตัว สมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส.อุบลราชธานี เขต 10 พรรคเพื่อไทย เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2558 (http://goo.gl/rqQ1qs) เพราะโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า "ราคาข้าวเปลือกตกต่ำ อยากได้จำนำข้าวเหมือนรัฐบาลยิ่งลักษณ์" หรือการควบคุมตัว พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรมว.พลังงาน เมื่อวันที่ 30 มกราคม 2558 (http://goo.gl/3p3udy) จากการวิพากษ์วิจารณ์การบริหารงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลว่าจะมีปัญหามากขึ้น หากเลื่อนการเลือกตั้งออกไปอีก รวมถึงการให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ เป็นต้น

อ่านรายละเอียดการใช้อำนาจตาม คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ได้ที่ http://ilaw.or.th/node/3627

++ พฤติกรรมในการชี้แจงข้อเท็จจริงของรัฐที่ขัดต่อความเป็นจริง ++

แม้จะยังระบุไม่ได้ว่า 'Sarawut Bamrungkittikhun' ถูกควบคุมตัวโดยทหารจริงหรือไม่ แต่หลายครั้งก่อนหน้านี้ ที่เจ้าหน้าที่ัรัฐออกมาชี้แจงต่อสาธารณะว่าไม่ได้ควบคุมตัวบุคคล แต่สุดท้ายก็ต้องกลับคำตัวเองภายหลัง ยกตัวอย่างกรณีการจับกุมตัว "หมอหยอง" หรือ สุริยัน สุจริตพลวงศ์ หมอดูชื่อดัง พร้อมพรรคพวก ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจพยายามจะออกมาปฏิเสธ แต่ท้ายที่สุดแล้วความจริงก็ปรากฎว่าถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวและมาขออำนาจศาลทหารฝากขัง

และถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้นอีกเล็กน้อยก็มีกรณีที่ใกล้เคียงกัน คือ การจับกุม พล.ต.ต.พงศ์พัฒน์ และพรรคพวก ที่หน่วยงานของรัฐก็ออกมาปฏิเสธข่าวลือ แต่ท้ายที่สุดก็อยู่ในการควบคุมตัวของรัฐเช่นเดียวกัน

อ่านรายละเอียด >> http://freedom.ilaw.or.th/Royal%20Cliam

นอกจากนี้หากย้อนไปภายหลังรัฐประหารไม่นานนัก ก็มีกรณีการควบคุมตัวกริชสุดา คุณะแสน โดยเธออยู่ภายใต้กายควบคุมตัวของทหารวมเวลาถึง 28 วัน ซึ่งระหว่างที่มีการตามหาตัวในช่วงแรกนั้น ทางเจ้าหน้าที่ไม่ได้ออกมาชึ้แจงใดๆ จนสุดท้ายโฆษก คสช. ก็ออกมาชี้แจงยอมรับ ซึ่งกริชสุดาอยู่ในการควบคุมของรัฐเกินอำนาจควบคุมตัว 7 วัน ตามกฎอัยการศึก (กฎหมายที่บังคับใช้ในตอนนั้น)

อ่านรายละเอียด >> http://goo.gl/XR1YEz

กล่าวโดยสรุปว่า หากการควบคุมตัว Sarawut Bamrungkittikhun ทำโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐ คงมีหลายคำถามที่รัฐจะต้องตอบว่า บุคคลดังกล่าวต้องสงสัยว่ากระทำความผิดอะไร เป็นความผิดซึ่งหน้าหรือไม่ มีความจำเป็นมากน้อยแค่ไหนที่ต้องใช้อำนาจการควบคุมตัวถึง 7 วัน และต้องปล่อยตัวทันทีเมื่อครับ 7 วัน ในวันที่ 15 มีนาคม 2559

แต่หากรัฐยังดึงดัน ทำทุกอย่างให้คลุมเครือ ขัดแย้งกับประกาศที่เขียนขึ้นเองบังคับใช้เองเช่นนี้ ก็เท่ากับทำให้ ประชาชนไทยตกอยู่ในภาวะที่เสี่ยงต่อการถูกลักพาตัว อุ้มหาย โดยเจ้าหน้าที่รัฐได้อย่างอิสระ