วันอังคาร, สิงหาคม 11, 2558

Thailandia: A Theater State สยามประเทศไทย รัฐนาฏกรรม (ควรอ่าน และ ต้องอ่านให้ได้ ครับ)




Thailandia: A Theater State
สยามประเทศไทย รัฐนาฏกรรม (ควรอ่าน และ ต้องอ่านให้ได้ ครับ)
ตอนท้าย นิธิ ทิ้งไว้ให้เรา คิดๆๆๆ ดังนี้ .............

"ความเป็นรัฐนาฏกรรม ซึ่งอยู่กับภูมิภาคนี้มานาน
ก็ยังหลงเหลืออยู่ไม่น้อย (เมื่อเทียบกับจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น ฯลฯ)
แต่ก็มีปริมาณไม่เท่ากันในแต่ละรัฐของอุษาคเนย์

ในรัฐที่ถูกฝรั่งปกครองโดยตรง
ความเป็นรัฐนาฏกรรมเหลืออยู่น้อย
แต่ในรัฐที่ถูกฝรั่งปกครองโดยอ้อม
ส่วนหนึ่งที่สำคัญของรัฐเหล่านี้
คือ ความเป็นรัฐนาฏกรรมสืบมาจนถึงทุกวันนี้

แต่นาฏกรรมที่ขาดความเชื่ออย่างที่คนโบราณเชื่อ จะเกิดขึ้นได้อย่างไร
(ในงานปลงศพของราชารัฐเล็กๆ แห่งหนึ่งในบาหลีในคริสต์ศตวรรษที่ 19
มีคนมาชมงานถึง 50,000 คน
คิดเป็น 5% ของประชาชนทั่วเกาะบาหลี ในเวลานั้น)

คำตอบคือการลงทุนอย่างมโหฬารในทุกทาง
เพื่อให้ละคร ที่จัดแสดงเป็นการแสดงที่ตื่นตาตื่นใจ
และประทับใจไปอีกนาน"


Charnvit Kasetsiri ...

นิธิ เอียวศรีวงศ์ : รัฐนาฏกรรม


(ที่มา มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับประจำวันที่ 1-7 มิถุนายน 2555)
วันที่ 02 มิถุนายน พ.ศ. 2555


หนึ่งในแนวคิดเกี่ยวกับรัฐเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อนสมัยใหม่ ซึ่งนักวิชาการด้านนี้ได้สร้างเอาไว้ก็คือ รัฐโบราณเหล่านี้ล้วนเป็นรัฐนาฏกรรม (theatrical state) รัฐคือโรงละคร มีหน้าที่แสดง

แสดงอะไรหรือครับ ก็แสดงความยิ่งใหญ่ ความรุ่งเรือง บารมีอันเปี่ยมล้นของพระราชา ความมีพลังอำนาจในการอุปถัมภ์ค้ำจุน รวมทั้งการจำลองอำนาจในจักรวาลออกมาเป็นรูปธรรมบนพื้นโลกในขนาดที่ย่อส่วนลงมา (เช่น มีพระศิวะหรือพระอินทร์ และเหล่าเทพบริวารคอยรับใช้)

จะสรุปให้เหลือสั้นๆ ก็ได้ว่า รัฐคือแบบจำลองของจักรวาลอันมีพระเจ้าถือเกียรติยศและอำนาจสูงสุด ความยิ่งใหญ่อลังการต่างๆ ของพระราชา ก็คือแบบจำลองของพระเจ้านั่นเอง

ผมควรเตือนท่านผู้อ่านด้วยว่า การแสดงดังกล่าวนี้ไม่ได้มีเหตุมาจากการที่พระราชายกตัวเองเป็นพระเจ้าเท่านั้น แต่ระเบียบของจักรวาลคือระเบียบของโลก "ละคร" ที่รัฐแสดงให้ดูนี้ คือการยืนยันระเบียบที่ทำให้ประชาชนอุ่นใจว่า ตัวจะสามารถมีชีวิตอย่างมั่นคง (แปลว่าไม่เปลี่ยนแปลง) และอย่างมีความสุขตามอัตภาพ คือสุขทุกข์ตามสถานภาพของตนเอง (ไม่ใช่สุขเท่าๆ กัน)

ทำไมรัฐโบราณของอุษาคเนย์จึงต้องเป็นรัฐนาฏกรรม?

คําตอบมีสองอย่าง คืออย่างง่ายและอย่างยาก ผมขอพูดถึงคำอธิบายอย่างง่ายก่อน

หากไม่นับหว่างเด๊ของเวียดนามแล้ว พระราชาของรัฐอุษาคเนย์โบราณ หาได้มีพระราชอำนาจมากล้นจริงจังไม่ เริ่มจากการเปรียบเทียบกับเวียดนามก็ได้ แม้ว่าพระราชามีข้าราชการปฏิบัติงานตามพระราชโองการ แต่ข้าราชการเหล่านี้ไม่ได้มาจากการสอบคัดเลือกอย่างการสอบของเวียดนาม (ซึ่งเอาอย่างมาจากจีน) ซึ่งเปิดให้ประชาชนคนทั่วไปสามารถสมัครสอบได้ แต่มักเป็นลูกท่านหลานเธอหรือมาจากตระกูลซึ่งมีอำนาจในตัวเอง ที่พระราชาต้องประนีประนอมด้วย

ดังนั้น ระบบราชการจึงเป็นหอกข้างแคร่ของพระราชาเสมอ ไม่มีก็ไม่ได้ มีก็ต้องระวังตัวทุกฝีก้าว

นอกจากนี้ พระราชาไม่มีกองทัพประจำการ ไม่มีเครื่องมือสื่อสารคมนาคม (ไม่จำเป็นต้องคิดถึงโทรเลขหรือโทรทัศน์เสมอไป แต่ไม่มีแม้แต่ระบบม้าเร็วอย่างที่เปอร์เซีย, โรมัน, จีน มี) ไม่มีโรงเรียนเพื่อการศึกษามวลชน ไม่มีตำรวจ ไม่มีเจ้าพนักงานเก็บภาษี พูดง่ายๆ คือไม่มีเครื่องมือแห่งอำนาจของรัฐอย่างที่จะทำให้พระองค์มีพระราชอำนาจจริงๆ สักอย่าง

อำนาจจึงต้องตั้งอยู่บนการแสดง หรือเป็นอำนาจเชิงสัญลักษณ์ หนึ่งในการแสดงที่สำคัญคือพระราชพิธีต่างๆ ซึ่งรัฐต้องทำให้ได้ชมกันเป็นประจำ ในเมืองไทยนั้นทำกันทุกเดือนเลยทีเดียว ดังที่ปรากฏในกฎมณเฑียรบาลของกฎหมายตราสามดวง สิ่งหนึ่งที่แทบจะขาดไม่ได้ในพระราชพิธีต่างๆ คือขบวนแห่ ภาพเขียนฝาผนังในพระอุโบสถวัดพระแก้วคือภาพขบวนเสด็จพยุหยาตราทางชลมารคและสถลมารค เหมือนหนึ่งเป็นตำรา (แปลว่าที่ "ตรา" เอาไว้) สำหรับเป็นแบบอย่างที่ถูกต้องตลอดไป

(อันที่จริง มีตำราที่เป็นลายลักษณ์อักษรเกี่ยวกับขบวนแห่ทั้งสองประเภทนี้ ซึ่งสืบค้นจากความทรงจำของคนเก่าๆ และจดไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ 1 ด้วย)

ขบวนแห่เป็น "ละคร" ที่ให้สารสำคัญบางอย่าง จึงต้องเคร่งครัดกับแบบธรรมเนียม สารที่ว่านั้นคืออะไรบ้าง ผมคิดว่ามีดังต่อไปนี้ ความมั่งคั่งหรูหราอุดมสมบูรณ์ เพราะทุกคนแต่ง "เต็มยศ" แม้แต่ไพร่เลวที่ถูกเกณฑ์เข้าขบวน ก็ยังสวมเสื้อสีต่างๆ อันเป็นหน้าที่ของคลังศุภรัตน์ต้องจัดหาให้

อย่างที่สอง คือสถานภาพอันสูงสุดของพระราชา หรือบุคคลที่พระราชามอบหมายให้ทำหน้าที่แทน หรือพระโกศ พระราชยานที่ประทับตั้งอยู่กึ่งกลางขบวนค่อนไปข้างหน้า แวดล้อมด้วยไพร่พลหน้าหลัง มีเครื่องยศนับตั้งแต่บังสูรย์และอื่นๆ ล้อมหน้าหลัง

อย่างที่สาม คือการแสดงช่วงชั้นทางสังคม ขุนน้ำขุนนางหรือแม้แต่พระบรมวงศานุวงศ์ จะเดินในขบวนแห่ตรงไหน ใกล้ไกลจากพระราชาเท่าไร ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คิดเอาเอง หรือแทรกลงไปในที่ว่างตามใจชอบ แต่ต้องจัดขึ้นให้ตรงกับสถานภาพที่แท้จริงของแต่ละคน สารของ "ละคร" ตรงนี้ ช่วยตอกย้ำระเบียบทางสังคมของรัฐโบราณเหล่านี้ คือความไม่เสมอภาคเป็นระเบียบที่ขาดไม่ได้ในสังคมที่สงบสุข

ผู้อ่านบางท่านอาจท้วงผมว่า ในเมืองไทยโบราณ เขาห้ามประชาชนเงยหน้าขึ้นดูพระราชา ต้องหมอบก้มหน้าอยู่กับพื้นเท่านั้น "ละคร" จึงแสดงโดยไม่มีคนดู และไม่มีผลในทางสังคมและการเมืองอย่างไร

ผมก็อยากชี้ให้เห็นว่า ประชาชนผู้หมอบก้มหน้าบนหนทางเสด็จพระราชดำเนินนั้น เป็นฉาก "ละคร" ที่ขาดไม่ได้ของขบวนแห่ ผมไม่ทราบว่าในสมัยนั้นเขาเกณฑ์มาให้นั่งก้มหน้าอย่างนั้นหรือไม่ คิดว่าคงไม่ เพราะรัฐโบราณไม่มีสมรรถภาพพอจะเกณฑ์ได้ แต่ถึงอย่างไร เมื่อพระราชยานที่ประทับผ่านไปแล้ว ก็ย่อมเงยหน้าขึ้นชมขบวนแห่ได้ และหลังรัชกาลที่ 4 ก็ไม่ได้ห้ามชมพระบารมีอีกแล้ว

นี่เป็นตัวอย่างของรัฐนาฏกรรมโดยคำอธิบายอย่างง่าย สรุปก็คือนาฏกรรมเข้ามาแทนที่อำนาจที่เป็นจริง

ผมขอไม่พูดถึง "ละคร" อื่นๆ นอกจากพระราชพิธี เช่น พระราชวัง, วัดหลวง มัสยิดหลวง, ละครหรือการแสดงของหลวง, เครื่องราชูปโภค, นางห้าม, ฯลฯ ล้วนส่งสารอย่างเดียวกัน

คำอธิบายอย่างยากนั้น ผมเอามาจากหนังสืออันลือชื่อเรื่อง Negara, The Theatre State in Nineteenth-Century Bali ของศาสตราจารย์ Clifford Geertz

บาหลีในช่วงนั้นประกอบด้วยรัฐเล็กรัฐน้อยมากมาย และพระราชาหาได้มีอำนาจจริง (อย่างรัฐบาลปัจจุบัน) สักแห่งเดียว แต่ Geertz ไม่ได้คิดว่า ความเป็นรัฐนาฏกรรมของรัฐบาหลีเหล่านั้น เป็นเครื่องมือทางการเมืองในการรักษาเพิ่มพูนอำนาจของผู้ปกครอง

ปัญหาทั้งหมดมาอยู่ที่ว่า ในโลกปัจจุบัน เมื่อเราพูดถึงรัฐ ความคิดที่อยู่หลังหัวของเรา คือแนวคิดเรื่องรัฐแบบตะวันตก ซึ่งเริ่มพัฒนามาตั้งแต่ประมาณคริสต์ศตวรรษที่ 15 เช่น รัฐเป็นผู้ผูกขาดความรุนแรงทั้งหมดไว้แต่ผู้เดียว รัฐคือเจ้าของอาณาบริเวณ (ทางภูมิศาสตร์) อันหนึ่ง ฯลฯ

แต่รัฐบาหลี (ซึ่ง Geertz พูดไว้ชัดเจนว่า นัยยะของมันใช้อธิบายรัฐโบราณของอุษาคเนย์ได้หมด) ไม่ใช่ "รัฐ" อย่างนั้น และด้วยเหตุดังนั้นเขาจึงใช้คำบาหลีเรียกแทน นั่นคือ "นคระ" และเนื้อหาสำคัญของ "นคระ" คือรัฐนาฏกรรม

ตัวนาฏกรรมนั่นแหละครับคือรัฐ

จะพูดว่ารัฐไม่ใช่อำนาจทางการเมืองก็เกือบจะใช่เพราะอำนาจในการจัดการชีวิตคนในสังคมบาหลีนั้น แม้มีหลายสถาบันหรือองค์กร แต่ก็ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของ "นคระ" เด็ดขาดสักอย่างเดียว หลายองค์กรนั้นไม่เกี่ยวกับ "นคระ" เลย

แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า "นคระ" ไม่มีความสำคัญ "นคระ" ให้ความหมายแก่ชีวิตของผู้คน เป็นหมุดหมายที่ขาดไม่ได้ของระบบเกียรติยศหรือช่วงชั้นทางสังคม (ซึ่งไม่ได้ขึ้นกับตำแหน่งแหล่งที่ในรัฐ แต่ขึ้นกับสายสัมพันธ์ของกลุ่มเครือญาติชนิดหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะของบาหลีเอง เรียกในภาษาบาหลีว่า "ดาดิอา")

ในขณะเดียวกัน "ละคร" ที่ "นคระ" แสดงให้ดู ก็ช่วยกำหนดตำแหน่งแหล่งที่ของผู้คนแต่ละคนในจักรวาล เป็น "ตัวฉัน" ที่จะใช้ในการสัมพันธ์กับโลกข้างนอกตัวเรา นับตั้งแต่คนในครอบครัวไปจนถึงเพื่อนบ้าน, พ่อค้าแม่ค้า, พราหมณ์, คนเก็บภาษี, ไปจนถึงพระเจ้า และโลกหน้า ฯลฯ

Geertz กล่าวว่า "รัฐพิธีไม่ใช่ลัทธิพิธีของรัฐ แต่เป็นข้อถกเถียงซึ่งกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีกด้วยศัพท์ของพิธีกรรมที่ใช้กันอย่างสม่ำเสมอ เพื่อบอกว่าสถานภาพทางโลกล้วนมีฐานในจักรวาล ความเป็นช่วงชั้นคือหลักการที่ครอบงำจักรวาล และบอกว่าชีวิตมนุษย์เป็นแต่เพียงการจำลองอย่างใกล้เคียงบ้างไม่ใกล้เคียงบ้างของชีวิตเทพยเจ้า"

และ"พิธีฉลองของรัฐในบาหลีโบราณเป็นละครอภิปรัชญา นั่นคือละครที่ออกแบบมาเพื่อแสดงทัศนะเกี่ยวกับธรรมดาของความเป็นจริง และในขณะเดียวกัน ก็เพื่อกำหนดให้สภาพชีวิตที่เป็นอยู่สอดคล้องกับความเป็นจริงสูงสุดนั้น นั่นก็คือละครที่เสนอธรรมะ [สภาวะที่เป็นอยู่จริง] และเพราะได้เสนอธรรมะจึงเท่ากับทำให้มันเกิดขึ้น หรือทำให้มันเป็นจริง"

ความยิ่งใหญ่ของพระราชาในนาฏกรรมที่แสดงให้ดู จึงทำให้ชาวบ้านกลายเป็นส่วนหนึ่งของความยิ่งใหญ่นั้นด้วย "พระราชาคือสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ของชาวนา"

สัญลักษณ์สำคัญของ "นคระ" ทั้งสามอย่างย่อมกลืนกันไปกับสภาพที่เป็นจริงของสังคมบาหลี สัญลักษณ์อย่างแรกคือศิวลึงค์ อันเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นพระราชา ความเป็นพระราชาย่อมเป็นสัญลักษณ์ของนายเหนือหัว และนายเหนือหัวคือสัญลักษณ์ของประโยชน์สุขร่วมกัน

สัญลักษณ์อย่างที่สองคือปัทมะหรือดอกบัว (ที่ประทับของพระเจ้า-ปัทมาสน์) อันเป็นสัญลักษณ์ของพระราชวัง พระราชวังคือสัญลักษณ์ของราชอาณาจักร และราชอาณาจักรคือสัญลักษณ์ของหมู่บ้าน

สัญลักษณ์อย่างที่สามคือ Sekti (จาก "ศักติ" ในสันสกฤตคืออำนาจในทางโลก ภาษาไทยคงเป็นอานุภาพและบารมี) คือสัญลักษณ์ของสถานภาพ สถานภาพคือสัญลักษณ์ของอาญาสิทธิ์ และอาญาสิทธิ์คือสัญลักษณ์ของความเคารพนบนอบ

สัญลักษณ์หมดนะครับ ไม่ใช่อำนาจหรือที่มาของอำนาจซึ่งเป็นวิธีอธิบายองค์ประกอบของรัฐแบบตะวันตก

รัฐโบราณของภูมิภาคนี้ถูกครอบงำด้วยอำนาจทางการเมืองและเศรษฐกิจของจักรวรรดินิยมตะวันตกในคริสต์ศตวรรษที่ 19 จนหมด ต่างก็สร้างกลไกแห่งอำนาจแบบรัฐสมัยใหม่ขึ้นแทนที่นาฏกรรมกันทุกประเทศ

จริงอยู่ นาฏกรรมเป็นหนึ่งในเครื่องมือแห่งอำนาจของรัฐทุกรัฐ แม้ในสมัยปัจจุบัน (อังกฤษกำลังจะฉลอง 60 ปีแห่งการครองราชย์ของสมเด็จพระบรมราชินีนาถอย่างยิ่งใหญ่) แต่เพราะเป็นเครื่องมือแห่งอำนาจ รัฐเหล่านั้นจึงไม่ใช่รัฐนาฏกรรม

ความเป็นรัฐนาฏกรรมซึ่งอยู่กับภูมิภาคนี้มานานก็ยังหลงเหลืออยู่ไม่น้อย(เมื่อเทียบกับจีน, อินเดีย, ญี่ปุ่น ฯลฯ) แต่ก็มีปริมาณไม่เท่ากันในแต่ละรัฐของอุษาคเนย์ ในรัฐที่ถูกฝรั่งปกครองโดยตรง ความเป็นรัฐนาฏกรรมเหลืออยู่น้อย แต่ในรัฐที่ถูกฝรั่งปกครองโดยอ้อม ส่วนหนึ่งที่สำคัญของรัฐเหล่านี้คือความเป็นรัฐนาฏกรรมสืบมาจนถึงทุกวันนี้

แต่นาฏกรรมที่ขาดความเชื่ออย่างที่คนโบราณเชื่อจะเกิดขึ้นได้อย่างไร (ในงานปลงศพของราชารัฐเล็กๆ แห่งหนึ่งในบาหลีในคริสต์ศตวรรษที่ 19 มีคนมาชมงานถึง 50,000 คน คิดเป็น 5% ของประชาชนทั่วเกาะบาหลีในเวลานั้น)

คำตอบคือการลงทุนอย่างมโหฬารในทุกทาง เพื่อให้ละครที่จัดแสดงเป็นการแสดงที่ตื่นตาตื่นใจและประทับใจไปอีกนาน