วันเสาร์, สิงหาคม 29, 2558

จาตุรนต์ ฉายแสง ซัดพล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา กล่าวถึงนักการเมืองที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เสนอไปหาหนังสือเกี่ยวกับความยุติธรรมมาอ่านสัก 1-2 เล่ม จะได้เข้าใจว่าคำว่า "ยุติธรรม"





ขอให้ความเห็นต่อการที่พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา กล่าวถึงนักการเมืองที่ประกาศไม่รับร่างรัฐธรรมนูญหน่อยเถอะครับ

ที่ว่านักการเมืองเป็นผู้สร้างปัญหาไว้ทั้งนั้นไม่เป็นความจริงแน่ๆ ต้องยอมรับว่านักการเมืองบางส่วนสร้างปัญหาไว้ แต่ก็ยังมีอีกหลายฝ่ายสร้างปัญหาเช่นกัน จะให้สาธยายก็จะยาวไป

ส่วนที่ถามว่าตอนมีอำนาจอยู่ก่อน 22 พฤษภาคม 57 ทำไมไม่แก้นั้น ความจริงก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลในช่วงนั้นแก้ปัญหาความขัดแย้งไม่ได้และไม่สามารถรักษากฎหมายได้ แต่ที่ไม่ค่อยได้พูดกันคือเหตุใดจึงแก้ไม่ได้ และฝ่ายที่มีหน้าที่ด้านความมั่นคงทำไมจึงไม่ให้ความร่วมมือในการแก้ แต่จะช่วยแก้ต่อเมื่อยึดอำนาจแล้วเท่านั้น

ที่อยากจะให้ความเห็นต่อไปคือ เมื่อยึดอำนาจด้วยข้ออ้างว่าจะมาช่วยแก้ความขัดแย้งแล้ว ผู้มีอำนาจควรจะหาทางวางระบบที่จะสามารถป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาเช่นเดิมขึ้นอีก คือต้องคิดว่าทำอย่างไรเมื่อบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยแล้ว รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งสามารถรักษากฎหมายได้และสามารถใช้กลไกของรัฐในการแก้ปัญหาความไม่สงบได้ ผู้มีอำนาจไม่ควรใช้ความสงบของบ้านเมืองเป็นตัวประกันแล้วมาวางระบบเพื่อที่จะมีอำนาจเบ็ดเสร็จปกครองประเทศต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุดอย่างที่ปรากฏในร่างรัฐธรรมนูญนี้

ที่นักการเมืองแสดงความไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญกันอยู่นี้ ความจริงก็ไม่มีตำแหน่งอะไรกัน จะมองว่าเป็นการชี้นำประชาชนหรือไม่ก็แล้วแต่ใครจะมอง และแม้เป็นการชี้นำและมีคนตามก็ไม่ผิดตรงไหน เพราะไม่มีอำนาจจะไปให้คุณให้โทษใครได้ ผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่โดยเฉพาะตำแหน่งที่ควรจะวางตัวเป็นกลางอย่างนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นต้น ต่างหากที่ไม่ควรชี้นำ

ในฐานะที่ผมเคยเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมมาก่อน อยากจะแนะนำให้พล.อ.ไพบูลย์ไปหาหนังสือเกี่ยวกับความยุติธรรมมาอ่านสัก 1-2 เล่ม จะได้เข้าใจว่าคำว่า "ยุติธรรม" ในความหมายที่เข้าใจกันในอารยประเทศนั้น หลักการสำคัญข้อแรกๆคือ การรับรองเสรีภาพโดยเฉพาะเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและเสรีภาพทางการเมือง รัฐมนตรียุติธรรมพึงมีหน้าที่คุ้มครองเสรีภาพประชาชน ถ้าไม่สามารถทำได้ อย่างน้อยก็ไม่ควรออกมาจำกัดเสรีภาพประชาชนเสียเอง

นอกจากนี้ รัฐมนตรียุติธรรมยังควรคอยป้องกันไม่ให้ระบบยุติธรรมถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อประโยชน์ทางการเมือง เช่น ควรแนะนำนายกฯว่าไม่ควรเอาเรื่องคดีมาขู่คนที่เขาแสดงความเห็นแตกต่าง

สำหรับเรื่องความขัดแย้งที่พล.อ.ไพบูลย์บอกว่า รัฐบาลก่อนก็ขัดแย้งและว่าผมไม่เห็นเสนอว่าจะทำให้ไม่ขัดแย้งได้อย่างไรนั้น อยากจะขอชี้แจงว่าในช่วงที่รัฐบาลที่แล้วบริหารอยู่มีความขัดแย้งจริง ปัญหาคือ ถึงวันนี้ความขัดแย้งก็ยังคงอยู่และที่เป็นห่วงคือ กำลังจะเพิ่มมากขึ้นอีกด้วย ที่ผ่านมาไม่ใช่ผมไม่เสนอความเห็นเกี่ยวกับแก้ปัญหาความขัดแย้ง แต่ส่งให้พวกท่านไปแล้วก็เอาเก็บเข้าลิ้นชักกันไปหมด

แต่หากต้องการป้องกันไม่ให้มีความขัดแย้งมากขึ้นในอนาคต ก็ขอแนะนำว่าทำได้ง่ายนิดเดียว คือ ให้คว่ำร่างรัฐธรรมนูญนี้เสีย

.................

ภาพจาก uk.reuters.com

ที่มา FB
Chaturon Chaisang