วันศุกร์, สิงหาคม 21, 2558

Must Read : มองท่าทีรัฐต่อเหตุ"ระเบิดราชประสงค์" จากศิษย์เก่าที่เกาะติดเหตุ"ระเบิดบอสตัน"




ที่มา มติชนออนไลน์
วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2558

(20 ส.ค.58) ศาสตราจารย์ ณัฎฐพงศ์ ทองภักดี อาจารย์ประจำคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ต่อกรณีเหตุระเบิดที่แยกราชประสงค์ โดยมองผ่านในฐานะอดีตนักเรียนเก่าที่ไปศึกษาที่เมืองบอสตัน มลรัฐแมตซาชูเซสต์ สหรัฐอเมริกา และได้ติดตามเหตุระเบิดในงานมาราธอนของเมืองบอสตัน เมื่อปี 2013 (2556) อย่างใกล้ชิด โดยข้อความดังกล่าว ระบุว่า

"ท่าทีภาครัฐกรณีระเบิดราชประสงค์: เน้นผิดจุด น่ากลัวอันตราย"

จากการที่เคยเรียนบอสตัน ตอนระเบิดที่เมืองบอสตัน เลยตามเรื่องต่อเนื่อง

เมื่อเกิดกรณีราชประสงค์เห็นที่รัฐบาล ตำรวจ ทหาร ตรวจสถานที่ เก็บหลักฐาน สัมภาษณ์ จึงเห็นความแตกต่างชัดเจน

เห็นได้ว่า การเน้นประเด็นที่ต่างกัน ทำให้มีพฤติกรรมที่ต่างกัน และทำให้สถานการณ์ในเมืองไทยเป็นอันตราย

1. กรณีประเทศไทย โฆษกฝ่ายรัฐบาลมาบอกชัดหลังเกิดเหตุไม่นาน ว่ามาจากกลุ่มที่เสียผลประโยชน์ในประเทศ รองนายก พูดต่อมาว่าทำเพื่อทำร้ายเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เป็นเรื่องการเมืองภายในประเทศ ผู้นำตำรวจก็พยายามบอกว่าเป็นคนไทยทำ ขนาดบอกว่าคนที่ดูคล้ายคนต่างชาติ อาจเป็นคนไทย ใส่วิก ใส่จมูก ทำตัวเป็นคนต่างชาติ ทั้งหมดพยายามให้เห็นว่าไม่ใช่เรื่องการก่อการร้ายจากต่างประเทศ นายกรัฐมนตรี ยังพูดเหมือนระเบิดครั้งก่อนๆว่าให้คนทำมามอบตัวก่อนถูกเก็บ

2. การพิสูจน์หลักฐานทำอย่างรวดเร็วมาก ระเบิดตอนค่ำ วันต่อมาก่อนเที่ยง ทำความสะอาดถนน และต่อมาซ่อมแซมศาลพระพรหมจนผู้คนไปได้ตามปกติ มีเวลาเก็บหลักฐานช่วงสว่างๆไม่กี่ชั่วโมง

3. ข่าวทางสื่อรัฐพยายามมีข่าวไปทาง เหตุการณ์ปกติ นักท่องเที่ยวก็ไม่ตื่นวิตกมากนัก ที่มาแล้วก็เที่ยวกันตามปกติ นักท่องเที่ยวต่างประเทศก็ไม่ตระหนกอะไร

4. มองภาพทั้งหมด จะเห็นว่า เป็นการพยายามที่จะเน้นว่าเหตุการณ์ไม่มีอะไรมาก เพื่อจะให้นักท่องเที่ยวมาตามปกติ การท่องเที่ยวไม่กระทบ เศรษฐกิจไม่กระทบ มันก็เหมือนระเบิดหรือความรุนแรงทางการเมืองที่ผ่านมา (ซึ่งจะสังเกตว่า ไม่เคยจับคนร้ายได้จริงๆ ไม่เคยรู้แรงจูงใจจริงๆ) เหตุการณ์ก็สงบได้

5. การเน้นเป็นเรื่องภายใน เรื่องความขัดแย้งทางการเมือง ยังเป็นประโยชน์ทางการเมืองของรัฐบาล (กรณีก่อนๆก็มีข้อครหาว่าทำให้จับฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เกี่ยวข้อง เช่น พยานกรณีวัดปทุมฯ) ทำให้มีความเกลียดชังฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง ทำให้เห็นปัญหาว่าการบริหารงานของรัฐบาลทหารทำได้ลำบากจากผู้เสียผลประโยชน์ ทั้งที่ ถ้าเป็นความขัดแย้งทางการเมืองไม่ว่าฝ่ายไหนทำ คนทำต้องเป็นทหารหรือตำรวจจึงจะมีความสามารถพอที่จะทำได้ ตาสีตาสามุ่งมั่นทางการเมืองยังไงขัดแย้งแค่ไหนก็ทำไม่ได้



 

6. การสืบสวนของไทยจึงไม่เน้นหลักฐานที่จะนำไปสู้ข้อสรุป แต่พยายาหาหลักฐานอธิบายข้อที่คิดไว้ บางทีจึงเป็นเรื่องไม่เป็นเรื่อง เช่น การมาหาตัวคนเขียน FB บอกว่าจะมีเหตุร้าย

7. ในขณะที่กรณี Boston (เมืองบอสตัน-แอดมิน) จะเน้นเรื่องความปลอดภัยของประชาชน เพราะฉะนั้นพอเกิดเหตุ เขาจึงถือว่าไม่ปกติ ให้มีความระมัดระวัง การตรวจพิสูจณ์หลักฐานทำตามมาตรฐาน มีการปิดสถานที่ ปิดถนน จนทำเรียบร้อย (ไม่มีข้อมูลว่าใช้เวลาเท่าไร แต่มีรูปแสดงว่า 24 ชั่วโมง ต่อมาก็ยังไม่เปิด) ไม่มีการพูดถึงเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องการท่องเที่ยว

8. บอสตันจะเน้นการหา คนร้ายและแรงจูงใจ เพราะจะทำให้รู้ว่า จะมีโอกาสที่จะมีการวางระเบิดอีกต่อไปหรือไม่ โดยใช้หลักฐานเป็นตัวเดินเรื่อง ทางการจะแถลงความคืบหน้าตามหลักฐานที่บอก ไม่มีการคาดเดาล่วงหน้า(แต่ส่อก็จะมีการคาดเดาเป็นปกติ) โดยเฉพาะอย่างยิ่งว่าไม่สนใจว่าใครอยู่เบื้องหลัง

9. เมื่อได้ภาพจากกล้องวงจรปิด ทางการได้ทำการเผยแพร่ และได้ขอให้สื่อทำการเผยแพร่ให้กว้างขวาง เพื่อหาเบาะแส ซึ่งสื่อทั้งทีวีและสิงพิมพ์ ได้เสนออย่างต่อเนื่อง จนทำให้มีผู้ที่รายงายว่าเป็นใคร ทำให้รู้ตัว มีการจะจับกุม แต่คนร้ายหนีก่อน

สุดท้ายมีการปะทะกันที่เมือง Watertown (วอเธอร์ทาวน์) ใกล้ๆ Boston (เมืองบอสตัน) คนร้ายตาย 1 คน จับได้ 1 คน (ถูกตัดสินประหารเมื่อไม่นานมานี้- (โซการ์ ซานาเอฟ ถูกประหารชีวิตเมื่อ 24 มิถุนายน 2015-แอดมิน)) ตอนที่มีการปะทะ ตำรวจก็ปิดเมือง ไม่ให้ใครออกจากบ้าน เพราะอันตราย สื่อทีวีก็ออกรายการสด





10. การที่เขารู้ตัวคนร้าย ทำให้รู้แรงจูงใจว่า เป็นพวกหัวรุนแรงที่ทำแบบอิสระ และตั้งใจจะทำต่อไป มีแผนจะไปทำที่ DC.(กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.-แอดมิน) การจับกุมจึงเป็นการรักษาความปลอดภัยของประชาชน

11. การสืบสวนตามข้อเท็จจริงจึงสำคัญมาก หาคนร้าย หาแรงจูงใจ การพยายามให้ดูว่าเป็นเรื่องปกติ จับใครก็ได้เรื่องจบ พยายามรักษาการท่องเที่ยว ไม่เป็นผลดี เพราะหากไม่รู้ความจริง การรักษาความปลอดภัยก็ทำได้ยาก คนต่างประเทศเขาก็ไม่ได้ฟังข่าวจากรัฐบาลไทย เขาฟังจากสื่อต่างประเทศ ซึ่งเขาจะรายงานตามหลักฐานที่มีด้วย ไม่ใช่รายงานข่าวรัฐบาลไทยฝ่ายเดียว

12 การพยายามทำให้ดูว่าเป็นเรื่องปกติ เรื่องเดิมๆ จึงเป็นอันตราย ที่สำคัญ ระเบิดในเมืองไทยที่ผ่านมา มีหลายกรณีที่จับไม่ได้ ที่จับได้เช่น กรณีวางระเบิดไว้ที่รถ เพื่อระเบิดตอนรถนายกทักษิณผ่าน ก็ไม่รู้ว่าแรงจูงใจคืออะไร ใครสั่ง หลายกรณีที่จับได้ (เช่นที่ศาลอาญา) ก็มีข้อกังขาว่าเป็นแพะและเพื่อจับฝ่ายตรงข้ามหรือไม่ ระเบิดที่ราชประสงค์มีลักษณะต่างจากเดิมมาก การสืบสวนจับกุมจะทำเหมือนเดิมไม่ได้