ทวีศักดิ์ เกิดโภคา
ที่มา ประชาไท
Mon, 2015-08-24
ประชาไทคุยกับ 2 อดีต 2 ปัจจุบันทหารเกณฑ์ แบ่งปันมุมมองต่อการเกณฑ์ทหาร และเรื่องราวในรั้วลายพราง อนาจาร ซ้อม คอร์รัปชั่นมีอยู่เป็นเรื่องปกติ ส่วนมากชี้ การเกณฑ์ทหารคือการสูญเสียโอกาส แทนที่จะได้ทำงานต้องมาตัดหญ้าอยู่ในกรม
จากรายงานข่าวของมติชนออนไลน์ เมื่อวันที่ 20 ส.ค. ที่ผ่าน พลทหารเอนก (สงวนนามสกุล) หลบหนีออกมาจากบ้านนายทหาร เพื่อร้องเรียนต่อศูนย์บริการประชาชน สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากถูกนายทหารซึ่งเขาถูกส่งมาช่วยงานนำโซ่มาผูกเอวแล้วล่ามกับยางล้อรถยนต์ เนื่องจากได้รับมอบหมายให้ทำงานไม้ซึ่งเป็นงานที่ไม่ถนัด จึงเกิดความผิดพลาดและถูกลงโทษ เขาหลบหนีออกจากบ้านของนายทหารนอกราชการที่บ้านพักย่านพุทธมณฑลสาย 4 จ.นครปฐม เมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2558 และได้ไปร้องขอผู้ที่เกี่ยวข้องให้ช่วยปลดโซ่ออกแต่ไม่เป็นผล เขาได้รับความทรมานทั้งทางร่างกายและจิตใจจนทนไม่ไหวต้องหลบหนีออกมาแล้วจึงมาร้องขอความเป็นธรรมกับนายกฯ เพราะเกรงว่าจะไม่ปลอดภัย
ขณะเดียวกันวันนี้ (24 ส.ค.) พล.ร.ต.เบญจพร บวรสุวรรณ ได้เข้าให้ปากคำกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ สภ.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม หลังถูกพลทหารเอนก เข้าแจ้งความดำเนินคดีโดยกล่าวหาว่าถูก พล.ร.ต.เบญจพร ทำร้ายร่างกาย กักขังหน่วงเหนี่ยว และข่มขืนใจ โดยปฏิเสธข้อกล่าวหาและระบุว่ามีคนพยายามกลั่นแกล้งตน(อ่านข่าวที่นี่)
เรื่องราวดังกล่าวถูกหยิบมาพูดถึง และกลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในโชเชียลมีเดียอย่างมาก หลายคนตั้งคำถามกับความถูกต้องในเรื่องของการส่งทหารไปเป็นคนรับใช้ในบ้านของนายทหาร ตัดหญ้า ซักผ้า เฝ้าบ้าน และไปตลาดกับเมียนาย หลายคนถกเถียงถึงการดำรงอยู่ของทหารเกณฑ์ว่ายังจำเป็นอยู่หรือไม่ บางคนที่ไม่เคยเป็นทหารเกณฑ์ตั้งข้อสงสัยต่อระบบการเกณฑ์ทหาร การฝึกภายในกรมกองเป็นอย่างไร มีการกระทำอนาจารจริงหรือไม่ หลังจากฝึกเสร็จเป็นอย่างไร ทำไมทหารเกณฑ์ต้องไปทำงานบ้านนาย ถ้าไม่ไปบ้านนายแล้วจะอยู่ไหน ทำอะไรบ้าง ฯลฯ
จากมุมมองของคนนอก เรื่องราวของรั้วของชาติอย่างทหารเกณฑ์ดูเหมือนจะเป็นเรื่องในแดนพิศวง ต้องเข้าไปสัมผัสเองกับตัว ไม่ก็คลายความสงสัยโดยเล่าสู่กันฟัง จากยุคปากต่อปาก สู่ยุคหน้าจอและคีย์บอร์ด
ประชาไทหยิบเรื่องราวจากผู้เคยมีประสบการณ์มีคำนำหน้าชื่อว่า พลทหาร รวมทั้งผู้ที่ยังดำรงสถานะทหารเกณฑ์ มาเล่าสู่กันฟังอีกครั้งหนึ่ง พร้อมสอบถามความคิดเห็นต่อการเป็นทหารเกณฑ์ ส่วนมากชี้ว่านี่คือการเสียโอกาสในโลกของการทำงาน และควรจะยกเลิกหรือปรับปรุง
00000
เปิดประสบการณ์ในรั้วลายพราง มุมมองต่อการเกณฑ์ทหารของทหารเกณฑ์
“ส่วนใหญ่ไม่อยากอยู่กองร้อยกันหรอกครับ เพราะว่าอยู่กองร้อยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มันจะมีระบบอาวุโสกับรุ่นพี่สูง มีการกระทบกระทั่งกันได้ง่าย อยู่บ้านนายมันมีอิสระ คุณไม่ต้องทำตามระบบแบบในกอง อยู่ที่บ้าน นายสั่งอะไรก็ทำน่ะครับ พูดง่ายๆ ก็เป็นคนรับใช้น่ะครับ ไปตลาดกับเมียนาย ไปล้างรถ ไปซักผ้า” อาร์ม
อาร์ม (ไม่ขอเป็นเผยชื่อและนามสกุล) เป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเข้ารับการเกณฑ์ทหาร แต่เขาจับได้ใบแดง เข้าเป็นทหารเกณฑ์เมื่อปี 2555 ที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในจังหวัดทางภาคตะวันออก เป็นระยเวลา 1 ปี ปัจจุบันทำงานเป็นสื่อมวลชน
อาร์ม เล่าคร่าวๆ ถึงระบบการฝึกในค่ายทหารว่า ช่วง 3 เดือนแรกจะเป็นช่วงที่ฝึกหนักเพื่อเตรียมร่างกายให้พร้อมสำหรับการเป็นทหาร มีการฝึกท่าทางต่างๆ ในการใช้อาวุธและการต่อสู้ และเรียนรู้การใช้ชีวิตแบบทหาร ซึ่งเป็นการเรียนรู้วัฒนธรรมอำนาจของทหาร
“มันเป็นการฝึกที่เน้นเรื่องระเบียบวินัย การเชื่อฟังผู้บังคัญบัญชา มากกว่าเทคนิคหรือความรู้วิทยาการทางการทหาร” อาร์ม กล่าว
เมื่อถามถึงเรื่องราวหลังจากการฝึกในช่วง 3 เดือนแรก พลทหารแต่ละคนจะต้องทำอะไรบ้าง อาร์มให้ข้อมูลโดยยกตัวอย่างของตัวเองว่า ในกองพลที่เขาสังกัดอยู่จะมีหน่วยฝึกอยู่ 3 หน่วยซึ่งจะแยกออกไปเป็นอีกหลายกองร้อย พลทหารแต่ละคนก็จะต้องเข้าประจำการที่กองร้อยซึ่งตัวเองมีรายชื่ออยู่
สำหรับกรณีการออกไปประจำการอยู่ที่บ้านนายทหารชั้นผู้ใหญ่นั้น อาร์มไม่แน่ใจว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ แต่ว่าหลังจากเข้าไปประจำกองร้อยได้ไม่นานนัก ก็จะมีการมาถามว่า มีใครอยากไปทำงานที่บ้านนายหรือไม่ ซึ่ง 'นาย' ที่ว่า จะต้องเป็นนายทหารที่มีคอนเนคชั่นกับผู้บังคับบัญชากองร้อยหรือในระดับที่สูงไปกว่านั้น จึงจะสามารถขอทหารให้ไปช่วยงานที่บ้านได้ และส่วนใหญ่ทหารเกณฑ์เองก็อยากไปเพราะว่าจะได้เงินเต็มจำนวนและได้เงินพิเศษจากนายเพิ่ม
“ผบ.กองร้อยก็จะประกาศบอก บ้านนายที่จังหวัดนั้นๆ นายยศอะไร นายชื่ออะไร ต้องการคนไปช่วยงาน ซึ่งมันก็จะการผลัดเปลี่ยนคนทุกปี เพราะทหารปลดประจำการทุกปี ส่วนพวกที่เป็นพลทหารก็จะแย่งกันไป เพราะไปอยู่บ้านนายสบายกว่าอยู่ในกรม”
“พวกเรามีการเรียนรู้จากรุ่นพี่นะ ว่าบ้านนายคนไหนดี ไม่ดี แม่นาย เมียนายคนไหนเคยด่าทหารจนต้องหนีกลับบ้าน แบบนั้นก็ไม่อยากไปกัน”
“ส่วนใหญ่ไม่อยากอยู่กองร้อยกันหรอกครับ เพราะว่าอยู่กองร้อยไม่ค่อยดีเท่าไหร่ มันจะมีระบบอาวุโสกับรุ่นพี่สูง มีการกระทบกระทั่งกันได้ง่าย อยู่บ้านนายมันมีอิสระ คุณไม่ต้องทำตามระบบแบบในกอง อยู่ที่บ้าน นายสั่งอะไรก็ทำน่ะครับ พูดง่ายๆก็เป็นคนรับใช้น่ะครับ ไปตลาดกับเมียนาย ไปล้างรถ ไปซักผ้า” อาร์มกล่าว
ในส่วนของความคิดเห็นเรื่องการเกณฑ์ทหาร อาร์มมองว่า การเกณฑ์ทหารจริงๆ แล้วไม่ควรมีอยู่ เนื่องจากผิดหลักการประชาธิปไตย และที่มากไปกว่านั้น เขาเห็นว่า ระบบการเกณฑ์ทหารเป็นการใช้ทรัพยการบุคคลที่ไม่คุ้มค่า หากประมาณจากสถานการณ์ทางการเมืองและความมั่นคงของประเทศในปัจจุบัน ทหารเกณฑ์เป็นกองกำลังที่ช่วยอะไรไม่ได้มาก เนื่องจากการสู้รบต้องมีความถนัดและความชำนาญเฉพาะด้าน การมีอยู่ของทหารเกณฑ์ทำให้ประเทศชาติเสียงบประมาณซึ่งเป็นภาษีของประชาชนปีละประมาณนับหมื่นล้านบาท
“คุณอย่าลืมนะครับ เด็กคนหนึ่งที่โตขึ้นมา ได้รับการอบรม ไปศึกษาหาความรู้ บางคนจบปริญญาตี ปริญญาโท คิดดูนะครับ ต้องมาทำงานแบบนี้น่ะครับ ตัดหญ้าอยู่ในกองร้อย มันไม่ถูกเลย มันเป็นการใช้แรงงานคนในลักษณะที่ผิดน่ะ แทนที่เขาจะได้ออกไปทำงานทำการข้างนอก บางคนบอกทหารได้ช่วยแก้ภัยพิบัติ มันก็ไม่ใช่หน้าที่ของทหารอยู่ดี” อาร์มกล่าว
อาร์มเล่าต่ออีกว่า ทุกทีที่มีการฝึก อาร์มมองว่าเป็นการละเมิดสิทธิทั้งสิ้น เพราะมันเป็นการบังคับโดยไม่รับฟังความสมัครใจ ส่วนในประเด็นทางเพศเช่นที่เห็นกันตามสื่อออนไลน์ อาร์มระบุว่า มีจริง อย่างเช่นการเดินจูงอวัยวะเพศของคนอื่นต่อๆ กันไปอาบน้ำ แต่ก็ไม่ได้เป็นทุกที่ ซึ่งในมุมมองความคิดของครูฝึกที่สั่งให้ทำแบบนั้นมองว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นการสร้างความเป็นพวกพ้อง เป็นเรื่องปกติ เป็นเรื่องตลกขำขัน และเป็นการเปิดใจกันและกัน
“จริงๆ แล้ว เราก็ควรจะอยู่ 6 เดือน แต่พออยู่ไปสักพัก ผู้กองเขาก็เรียกคนที่อยู่ 6 เดือนเข้ามาพบ แล้วบอกว่าเดี๋ยวจะให้พวกเอ็งกลับบ้านก่อน คือหลังจากฝึกหนัก 2 เดือนเราไม่ต้องมากรมทหารอีกเลย มาก็แค่มาเซ็นต์ชื่อเฉยๆ ด้วยวิธีการนี้ผู้กองเขาก็จะเก็บเงินเดือนของพวกเราที่จะฝากเข้าธนาคารทหารไทยเดือนละ 9 พัน ก็คือเอาบัตรเอทีเอ็มเราไปเลย” มิกกล่าว
มิก (ไม่ขอเปิดเผยชื่อและนามสกุล) เป็นอีกคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับการเกณฑ์ทหาร แต่หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เขาเข้าร้องขอสมัครเป็นทหารเกณฑ์เองด้วยเหตุที่ว่า หากไม่ชอบอะไรสักอย่างก็ต้องเข้าไปเรียนรู้มันอย่างจริงจัง เพื่อที่จะได้มีประสบการณ์ และวิพากษ์วิจารณ์มันได้อย่างเต็มที่
อีกเหตุผลหนึ่งคือ การเรียนจบปริญญาตรีแล้วขอสมัครเข้าเป็นทหารเกณฑ์จะมีระยะเวลาประจำการเพียงแค่ 6 เดือน แต่สำหรับเขา หลังจากผ่านการฝึกใน 10 สัปดาห์แรกเสร็จ เขาก็ถูกปล่อยกลับบ้านและไม่ต้องเข้าไปฝึกอีกเลย พร้อมยกเงินเดือนที่จะได้ในแต่ละเดือนให้กับผู้บังคับบัญชากองร้อยที่ตัวเองสังกัด
“จริงๆ แล้วเราก็ควรจะอยู่ 6 เดือน แต่พออยู่ไปสักพักผู้กองเขาก็เรียกคนที่อยู่ 6 เดือนเข้ามาพบ แล้วก็บอกว่าเดี๋ยวจะให้พวกเอ็ง กลับบ้านก่อน คือหลังจากฝึกหนัก 2 เดือนเราไม่ต้องมากรมทหารอีกเลย มาก็แค่มาเซ็นต์ชื่อเฉยๆ ด้วยวิธีการนี้ผู้กองเขาก็จะเก็บเงินเดือนของพวกเรา ที่จะฝากเข้าธนาคารทหารไทยเดือนละ 9 พัน ก็คือเอาบัตรเอทีเอ็มเราไปเลย” มิกกล่าว
มิกเล่าว่า ก่อนที่จะตัดสินใจเข้าสมัครเป็นทหารเกณฑ์ในค่ายทหารอากาศแห่งหนึ่งในภาคกลาง ได้ตามอ่านข้อมูลเกี่ยวกับการเป็นทหารเกณฑ์มาก่อน ข้อมูลที่ได้รับรู้มาคือ ถ้าเป็นทหารบกจะมีการฝึกที่หนักกว่าทหารเหล่าอื่น และมีกิจกรรมที่พิเรนเยอะกว่า หากเทียบกับทหารอากาศ จึงสมัครเข้าเป็นทหารอากาศ ข้อดีของการร้องขอสมัครเข้าไปเป็นทหารเอง คือ ผู้สมัครสามารถเลือกกองพันได้เอง จะเป็นทหารบกหรือทหารอากาศ เลือกสถานที่ที่จะประจำการ ซึ่งต้องมีการศึกษาข้อมูลมาก่อนพอสมควรถึงจะรู้ว่าที่ไหนดีที่สุดหรือพอจะรับได้
“อย่างเช่น ให้จูงงวงช้างกันเข้าไปอาบน้ำ คือจูงกระจู๋กันนั้นแหละ อะไรแบบเนี้ยะ ทหารบกมีเยอะ แต่ทหารอากาศเขาจะไม่ค่อยเล่นอะไรพิเรนแบบนี้ โดยรวมแล้วไม่มีอะไรที่เรารับไม่ได้” มิกกล่าว
ในเรื่องของการลงโทษ มีหลายระดับตั้งแต่การสั่งให้ทำท่าฝึกจนถึงการซ้อม (ทำร้ายร่างกาย) ในกรณีที่มิกได้เห็นมากับตาในช่วงที่อยู่ในค่ายทหารคือมีพลทหารถูกจ่าซ้อม เพราะไม่ยอมรับว่าเป็นคนขโมยของ
“เพื่อนคนหนึ่ง เขาถูกจับได้ว่าขโมยของคนอื่นมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็ไม่ยอมรับสารภาพ พวกจ่าแกก็ซ้อม เตะ ต่อย มึงจะรับมั้ย มึงจะรับมั้ย ใช้ไม้เฆี่ยนด้วย” มิกกล่าว
ในส่วนของมิกเอง เขาบอกว่า เขาไม่เคยถูกทำร้ายเพราะก่อนจะเข้าไปก็ไปอ่านประสบการณ์จากคนอื่นๆ มาหมด และตระหนักเสมอว่าในค่ายทหารเป็นสถานที่ซึ่งกฎหมายเข้าไม่ถึง จึงต้องทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัดและวางตัวให้เหมาะสม
เมื่อถามถึงเรื่องมุมมองต่อการเกณฑ์ทหาร มิกมองจากประสบการณ์โดยตรงของตัวเอง จากที่ถูกปล่อยให้กลับบ้านและนายเป็นคนรับเงินเดือนในส่วนที่เขาจะได้เอาไว้เอง โดยเห็นว่า นี่คือภาพสะท้อนของความไม่จำเป็นที่จะต้องมีทหารเกณฑ์ในจำนวนมากๆ เนื่องจากเท่าที่เป็นอยู่ก็มีจนเกินความจำเป็นแล้ว
“มันแสดงว่าประชาชนต้องจ่ายภาษีโดยสูญเปล่าไปกับกำลังพลที่มันเกินความจำเป็น อย่างน้อยก็ควรลดจำนวนทหารเกณฑ์ลงให้เหลือเท่าที่จำเป็น” มิกกล่าว
ในส่วนเรื่องเงินเดือนทหารเกณฑ์ มิกบอกว่า เดือนแรกที่เขาได้รับจริงๆ คือ ประมาณ 2 พันบาท เนื่องจากถูกหักค่าใช้จ่าย ค่าชุดฝึก ค่าเสื้อพละ ฯลฯ ซึ่งนี่เป็นเรื่องปกติที่เป็นคล้ายกันทุกค่าย แต่เรื่องที่มิกไปเจอมากับตัวคือ ถูกสั่งเรียกเก็บเงินเพิ่มอีกคนละ 800 บาท ซึ่งมิกเป็นคนที่ถูกเลือกให้เป็นผู้ช่วยงานนายทหาร หน้าที่ของเขาคือการรวบรวมเงินจากเพื่อน แต่เขาก็ไม่สามารถอธิบายได้ว่าเงินนั้นเป็นเงินค่าอะไร
“คือมันไม่ชัดเจน มันไม่มีบิล ถ้าเขาบอกว่าจะเก็บ ก็ต้องให้เขา คือระบบวัฒนธรรมแบบทหาร เราไม่สามารถทำตัวเหมือนโลกภายนอกได้ เช่นจะไปถามว่าพี่เก็บตังค์ผมค่าอะไร ถ้าพี่ไม่อธิบายผมไม่จ่าย แบบนี้ไม่ได้ เราต้องเชื่อฟังเบ็ดเสร็จ” มิกกล่าว
“อย่างเรื่องระบบการเกณฑ์ทหาร ถ้าจะมีต่อไปผมก็อยากให้มันปรับปรุงหน่อย จัดระบบคัดกรองใหม่ไปเลย อย่ามาคัดเลือกแบบสุ่มอย่างทุกวันนี้ อยากให้มีการเปิดรับสมัครโดยตรงไปเลย เพราะเท่าที่ดูส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครสมัครใจกันเลย แล้วก็สร้างแรงจูงใจดีๆ มันจะทำให้ได้คนที่อยากเป็นจริงๆ ไม่ต้องบังคับ มีสวัสดิการ มีเงินเดือน อะไรก็ว่าไป”
มาโนช (ขอสงวนนามสกุล) เป็นบัณฑิตใหม่จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หลังจากเรียนจบปริญญาตรี เขาตั้งใจเรียนต่อปริญญาโทที่คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ถึงที่สุดแล้วเขาสอบผ่านและมีชื่อสามารถเข้าเรียนปริญญาโทในสาขามนุษยวิทยาได้ แต่เรื่องไม่ง่ายแบบนั้น เขาเสียโอกาสในการสอบไปเพราะเข้ารับการเกณฑ์ทหารและจับได้ ใบแดง ทหารบก ผลัด 2 เข้าประจำการที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในภาคเหนือ ซึ่งตอนนี้รอปลดประจำการในอีก 2 เดือนข้างหน้า (ประมาณเดือนพฤศจิกายน)
“ช่วงแรกฝึกหนัก มีตบ มีตี เป็นเรื่องปกติเลย สัปดาห์แรกถ้าจำไม่ผิด ปกติหลังจากฝึกเสร็จ อาบน้ำตอนเย็นก็จะมีการเข้าอบรมตอนทุ่มนึง ปกติจะต้องไปรวมกันข้างนอกที่สนาม แต่วันนั้นฝนตกก็ไม่ได้ออกไปกัน แล้วต้องมารวมกันข้างในโรงนอน นายสิบเขาก็มาคุยประสบการณ์การเป็นทหารให้ฟัง แต่ทีนี้มีคนคุยกัน คนที่คุยก็โดนลากออกไปข้างนอก สั่งให้ถอดชุดเหลือแต่กางเกงใน โดนต่อย โดนเตะ นอนกลิ้งอยู่อย่างนั้น” มาโนชกล่าว
มาโนชให้ข้อมูลต่อว่า เรื่องที่ได้รับการอบรมในแต่ละคืนจะเป็นการพูดถึงประสบการณ์ในการเป็นทหาร ปลูกฝังเรื่องความรักชาติ บางครั้งก็จะมีนายทหารยศร้อยตรี ร้อยโทมาปลูกฝังความรักชาติ การทำเพื่อชาติ
มาโนชเล่าว่า หลังจากผ่านช่วงฝึกหนักมา เขาถูกแยกไปทำงานด้านเอกสาร คัดแยกเอกสาร พิมพ์งาน ส่งเอกสารภายในกรม เสาร์อาทิตย์ได้ตัดหญ้าเป็นบางครั้ง ส่วนมากไม่ค่อยได้ทำหน้าที่ทหารจริงๆ
เขาเล่าต่อว่า เพื่อนๆ ในรุ่นส่วนมาก 90 เปอร์เซ็นต์ไม่ได้มีใครอยากเป็นทหารต่อ ส่วนใหญ่อยากกลับบ้าน อยากกลับไปทำงาน
“อย่างเรื่องระบบการเกณฑ์ทหาร ถ้าจะมีต่อไปผมก็อยากให้มันปรับปรุงหน่อย จัดระบบคัดกรองใหม่ไปเลย อย่ามาคัดเลือกแบบสุ่มอย่างทุกวันนี้ อยากให้มีการเปิดรับสมัครโดยตรงไปเลย เพราะเท่าที่ดูส่วนใหญ่ไม่ค่อยมีใครสมัครใจกันเลย แล้วก็สร้างแรงจูงใจดีๆ มันจะทำให้ได้คนที่อยากเป็นจริงๆ ไม่ต้องบังคับ มีสวัสดิการ มีเงินเดือน อะไรก็ว่าไป” มาโนช กล่าว
เมื่อถามถึงเรื่องการอนาจารในค่ายทหาร มาโนช ระบุว่า การล่วงละเมิดทางเพศในลักษณะมีเพศสัมพันธ์ยังไม่เคยเห็น ที่เห็นว่าหนักที่สุดคือ การสั่งให้ทหารใหม่ส่งตัวแทนในตัวละหมู่ออกมาสำเร็จความใคร่แข่งกัน เขาเล่าว่าในรุ่นเขามีบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ 3 คน ซึ่งบางครั้ง 3 คนนั้นก็จะถูกสั่งให้ออกไปสำเร็จความใคร่แข่งกัน
“หน้าที่หลักของทหารที่อยู่ในกองร้อย คือ ตัดหญ้า อีเว้นท์ของทหารก็มีเยอะ มีทั้งโครงการสร้างบ้าน สร้างฝาย โครงการเยอะต้องออกข้างนอกตลอด ส่วนใหญ่ที่ฝึกกันมาก็แทบไม่ได้ใช้ทำอะไรเลย มากสุดก็มีการทบทวนท่าทางต่างๆ เตรียมรอชุดตรวจเข้ามาตรวจ เราก็ต้องทำท่าทางที่เคยฝึกไว้ให้ได้”
ตั้ม (ขอสงวนชื่อและนามสกุล) เป็นทหารเกณฑ์ผลัด 2/57 เรียนจบปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อำเภอที่เข้ารับการคัดเลือกทหารในปีที่ผ่าน มีความต้องการทหารจำนวน 15 นาย มีชายไทยต้องเข้ารับการคัดเลือกประมาณ 100 คน เขากลายเป็น 1 ใน 15 คน ที่ต้องรับใช้ชาติที่ค่ายทหารแห่งหนึ่งในภาคเหนือ
ตั้มบอกเราว่า แม้เขาเองจะไม่เห็นด้วยกับระบบการเกณฑ์ทหาร แต่ก็ไม่ได้มีทางเลือกอะไรนัก การเข้าไปอยู่ในค่ายถึงตอนนี้เป็นระยะเวลา 10 เดือน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการปรับตัว
ตั้มเล่ารายละเอียดถึงกระบวนการฝึก โดยระบุว่าตอนที่เข้าไปอยู่ค่ายช่วง 3 วันแรก ยังไม่ได้มีการฝึกหนัก เป็นเพียงการสอนให้รู้จักระบบระเบียบภายในค่ายทหาร การฝึกหนักจะเริ่มเข้มข้นขึ้นหลังจากมีพิธีการเปิดการฝึกอย่างเป็นทางการ
ระเบียบปฏิบัติประจำวันจะเป็นไปตามแบบแผน ตั้มเล่าว่า ทหารเกณฑ์ใหม่ทุกคนที่อยู่ในช่วงฝึกจะต้องทำอะไรทุกอย่างพร้อมกัน เป็นเหมือนเดิมทุกวัน แต่ช่วงที่ตารางชีวิตของแต่ละคนจะแตกต่างกันคือ ตอนที่ฝึกเสร็จและแยกไปประจำการตามหน่วยต่างๆ
“ตามที่เราเรียนกันมาเรื่องระบบอำนาจนิยม ......(เงียบ).....จ่าแกมาตรวจการน่ะ มันก็เรื่องอำนาจนิยมนี่แหละ มันกดดันกดขี่ ก็อย่างที่เราเห็นในคลิปต่างๆ นั่นแหละ มันก็มีแก้ผ้า เล่นอะไรแปลกๆ แต่ก็ไม่เห็นมีใครเข้ามาดูแลจริงจัง ส่วนใหญ่เป็นครูฝึกทหารใหม่ (ทหารเกณฑ์รุ่นพี่) สั่งให้ทำ พวกจ่าเขาก็ดูแลได้ไม่ตลอด”
“การแยกหน่วยฝึก เขาก็จะมีการแยกให้เราตั้งแต่แรก พ่อแม่ใครไม่อยากให้ลูกหลานต้องเข้าไปทำอะไรหนักๆ หรือไปอยู่หน่วยรบก็จะต้องรีบไปติดต่อ หาเส้นสายให้ช่วยแทงเรื่องให้ลูกไปอยู่ประจำการหน่วยที่สบายๆ หน่อย เช่นไปอยู่โรงพยาบาลค่าย หรือไปอยู่ สห.” ตั้มกล่าว
“หน้าที่หลักของทหารที่อยู่ในกองร้อยคือ ตัดหญ้า อีเว้นของทหารก็มีเยอะ มีทั้งโครงการสร้างบ้าน สร้างฝาย โครงการเยอะต้องออกข้างนอกตลอด ส่วนใหญ่ที่ฝึกกันมาก็แทบไม่ได้ใช้ทำอะไรเลย มากสุดก็มีการทบทวนท่าทางต่างๆ เตรียมรอชุดตรวจเข้ามาตรวจ เราก็ต้องทำท่าทางที่เคยฝึกไว้ให้ได้” ตั้มกล่าว
สำหรับหน่วยที่ต้องออกไปรบจริงๆ ตั้มเล่าว่าจะมีการคัดเลือกโดยไม่ได้ถามความสมัครใจ จะดูจากส่วนสูงและน้ำหนัก หน่วยก้านดี กลุ่มนี้ก็ต้องออกไปอยู่ตามชายแดน หรือไม่ก็ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ แต่จะมีการคัดกรอกคนที่จบปริญญาตรีออก น่าจะเพราะตระหนักถึงการสูญเสียทรัพยากรบุคคล สำหรับเรื่องของการเป็นทหารรับใช้ตามบ้านนาย ตั้มให้ข้อมูลว่ามีเป็นเรื่องปกติ หลังจากแยกหน่วยประจำการแล้ว แต่ละหน่วยก็จะมีโควตาสำหรับทหารที่จะไปเป็นทหารบริการบ้านนายอย่างน้อย 3 ที่
ตั้มเล่าให้ฟังว่า การแยกทหารบริการออกไปทำงานบ้านนายเป็นช่องทางในการหาเงินของนายทหารอีกรูปแบบหนึ่ง นายทหารที่มียศสูงจะสามารถขอทหารรับใช้ได้ 2-3 คน การปล่อยทหารกลับบ้านก่อน ส่วนมากเกิดจากการเรียกทหารไปเป็นทหารรับใช้ที่บ้าน เช่นนายอาจจะเรียกไปรับใช้ 2 คน แต่ว่าปล่อยอีก 1 คนกลับบ้าน เพื่อที่จะรับเงินเดือนในส่วนของพลทหารแทน
ในส่วนของตั้มซึ่งได้ทำงานเอกสารก็ได้สะท้อนให้เห็นวิธีคิดของทหารว่า การทำงานของทหารอย่างแรกที่ต้องเข้าใจคือ คำสั่งของนายเป็นเรื่องที่ชัดเจน ชัดเจนคือไม่ว่าสั่งอะไรก็ต้องทำ แต่ว่า ไม่แน่นอน หมายถึงสามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอด เขายกตัวอย่างกรณีการทำงานเอกสารตามคำสั่งจนใกล้จะเสร็จ แต่ก็มีคำสั่งลงมาจากกระทรวงทำให้จำเป็นต้องปรับแก้ใหม่ทั้งหมด
“วิธีคิดแบบนี้มันเป็นวิธีการที่ใช้ในการรบ ที่ต้องเชื่อฟังแล้วทำตามคำสั่งนายตลอด และต้องเข้าใจว่ามันเปลี่ยนแปลงได้ตลอด แต่พอเอามาใช้ในการทำงาน มันใช้ไม่ได้ มันทำให้งานเสีย งานไร้ระบบ ผมถึงเข้าใจว่าทหารไม่เหมาะกับการบริหารประเทศ เพราะวิธีคิดแบบนี้”
ข้อดี – ข้อเสีย ในมุมมองทหารเกณฑ์
“ข้อดี ผมไม่เห็นเลยนะ ผมรู้สึกว่าไม่คุ้มค่ากับตัวผมเองมากๆ คือเราเจอหลายคนที่เรียนจบสูงๆ แต่ต้องมาเป็นทหารอยู่ 2 ปี มันเป็นการใช้ทรัพยากรบุคคลที่ไม่ถูกต้อง ถ้าเขาไปทำงานอยู่ที่อื่นโดยไม่ต้องเสียเวลาตรงนี้ เขาก็สามารถทำอะไรอย่างอื่นให้กับประเทศชาติได้ อย่างผมตอนนี้มาทำหน้าที่สื่อมวลชนก็มาเป็นกระบอกเสียงให้กับประชาชน คนอื่นๆ เขาทำงานเขาก็เสียภาษีช่วยประเทศชาติได้”
“หลายคนบอกได้ ฝึกวินัย เรื่องวินัยเราอย่าลืมว่า มันเกิดขึ้นจากการบังคับ เราการันตีไม่ได้หรอกว่ามันเกิดวินัยขึ้นมาจริงๆ มันเป็นการสร้างภาพมากกว่า เราก็สร้างภาพ เวลาครูฝึกทหารมา เราก็ยืนตรง ทำทุกอย่างพร้อมเพรียง แต่เวลานายหันหลัง เราก็หลบ เลี่ยง อู้”
“ตอนเราเป็นทหารเกณฑ์ก็ได้ รับการปลูกฝังอยู่ทุกวันว่า เราคือคนที่ทำเพื่อชาติ เราต้องรักชาติ แต่สิ่งที่เราเจออยู่ทุกวันคืออะไร การตัดหญ้า ตัดต้นไม้ กวาดบ้านนาย ทำถนน เราก็งง เฮ้ย ! ทุกวันนี้เราไม่ได้ทำเพื่อประเทศชาติว่ะ” อาร์ม
“ข้อดีในมุมมองส่วนตัว เอาจริงๆ ผมไม่ค่อยเห็นเท่าไหร่ อย่างเรื่องที่เขาบอกว่าเกณฑ์ทหารจบออกมาจะมีวินัย มันไม่จริงหรอกครับ เพราะมันเป็นวินัยที่เกิดจากความกลัว มันรู้สึกว่าถ้าเราไม่ทำ เราจะต้องเจ็บตัว เราจะต้องถูกลงโทษ ผมมองว่าการฝึกวินัยจริง มันต้องไม่ใช่การมาทำให้เรากลัว มันต้องเกิดจากข้างในจริงๆ”
“สำหรับ ข้อเสียที่ค่อนข้างจะเห็นชัดเลยก็คือ เรื่องการสูญเสียเวลาในการสะสมประสบการณ์ในการทำงาน คล้ายๆ ว่าเราช้าไปกว่าเพื่อนที่เรียนจบพร้อมกันไปนิดหน่อย เพื่อนที่ได้ทำงานก่อน เขาก็ไปไกลกว่าเราแล้ว เงินเดือนก็สูงกว่าแล้ว แต่ในขณะที่เราเข้ามาเป็นทหาร สิ่งที่เราได้ก็คือ ใบ สด.8 เพียงแค่ยืนยันว่าเราพ้นทหารแล้วนะ แต่มันก็เอาไปทำอะไรไม่ได้ อัพเงินเดือนก็ไม่ได้” มิกกล่าว
“ข้อดีเหรอ ไม่รู้ว่ะ เห็นจะมีดีก็ตอนไม่ได้ฝึกหนักนี่แหละ ก็ได้มานั่งทำงานเฉยๆ ไม่ต้องวิ่งตอนเช้า กฎระเบียบไม่เข้มเหมือนตอนแรก บางคนเมื่อคืนยังหนีไปกินเหล้ากันมาเลย”
“รู้สึกว่ามันเสียโอกาส ถ้าได้เรียน ป.โท ตั้งแต่ปีที่แล้วตอนนี้ก็คงได้คิดหัวข้อวิทยานิพนธ์แล้ว นี่ต้องรอสอบใหม่ปีหน้า เพื่อนคนอื่นมันไปไหนต่อไหนกันหมดแล้ว” มาโนชกล่าว
“ข้อดีเหรอ......ขอคิดก่อน (หัวเราะ) ถ้าจะบอกข้อดีคือมันก็ดีตรงที่มันได้ฝึกร่างกาย ร่างกายแข็งแรงขึ้น บางคนเป็นโรคหอบหืดก็หาย อย่างผมเป็นภูมิแพ้ก็หาย มันได้ออกกำลังเยอะมันใช้ร่างกายเยอะ”
“เราเข้ามาอยู่ เราก็ต้องปรับตัว อย่างผมเข้ามาก็ต้องมองหาข้อดี อย่างน้อยเราก็ได้มาฝึกการทำงานเอกสาร การทำงานกับคนนั้นคนนี้ คนประเภทนี้ต้องรับมืออย่างไร คนประเภทนี้ต้องเข้าหาอย่างไร”
“ข้อ เสียก็อย่างที่ทุกคนเข้าใจกัน คือมันเสียโอกาสหลายๆ อย่าง อย่างเพื่อนผมบางคนมันมีลูกเมียแล้ว แทนที่มันจะได้ทำงานเลี้ยงลูกเมีย ได้แค่มารับเงินเดือนทหาร มันไม่พอหรอก หรืออย่างบางคนเข้ามาตอนเมียกำลังจะคลอด ช่วงฝึกเขาห้ามติดต่อภายนอก มันก็เป็นกังวัล นั่งเครียดเป็นห่วงเมีย” ตั้มกล่าว
ooo