วันอังคาร, สิงหาคม 25, 2558
ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขอใช้สิทธิในการเสนอความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญบ้าง
จาก FB
Yingluck Shinawatra
August 16
ขอใช้สิทธิในการเสนอความเห็นเรื่องรัฐธรรมนูญบ้างนะคะเพราะเป็นช่วงที่สปช.รัฐบาลและคสช.จะตัดสินใจ และหลายฝ่ายได้แสดงความห่วงใยและกังวลใจ
หวังว่าข้อคิดเห็นที่เสนอจะมีส่วนช่วยให้ประเทศ มีความเป็นประชาธิปไตยและเป็นที่ยอมรับกันกว้างขวางมากขึ้น
1) รัฐธรรมนูญต้องเป็นประชาธิปไตย.....ซึ่งหลายท่าน อาจจะเห็นว่าดิฉันเคยพูดคำนี้มาหลายครั้งแต่เชื่อว่า เราอาจมีความเห็นแตกต่างกัน ในสาระสำคัญ คือ "รัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยต้องยึดโยงกับประชาชน"..กล่าวคือต้องเปิดกระบวนการให้ ประชาชนส่วนใหญ่ได้มีส่วนสำคัญ ในการออกเสียงและตัดสินใจ ไม่ใช่เพียงเลือกตัวแทนที่ว่าคัดสรรมาแล้ว จากคณะบุคคลก็ถือไม่ได้ว่า เกิดจากวิถีประชาธิปไตยที่แท้จริง
2) ถ้ารัฐธรรมนูญมีเนื้อหาสาระที่รับใช้และยึดโยงกับประชาชน ก็ไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องมีคณะยุทธศาสตร์ฯเพื่อมีอำนาจเหนือรัฐบาลและเหนือฝ่ายนิติบัญญัติ เพื่อตัดสินใจแทนแม้ในยามวิกฤติ
สิ่งที่ดีที่สุดในระบอบประชาธิปไตยที่อารยะประเทศทั่วโลกล้วนยอมรับ คือความเชื่อมั่นในประชาชนและใช้การคืนอำนาจการตัดสินใจกลับไปให้ประชาชนเป็นทางออกของประเทศ
ดังนั้นภาระของผู้มีอำนาจ จึงควรเร่งผลักดันการสร้างกติกาที่ยุติธรรม ป้องกันการทุจริตและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย เพื่อให้สภาวะปกติ กลับคืนสู่สังคมไทยโดยเร็ว ให้ประชาชนได้ใช้สิทธิของเขา เลือกตัวแทนและนโยบายตามเจตจำนงตนให้กลับมาแก้ปัญหา ตามที่เขาต้องการ
การคืนสิทธิในการตัดสินใจ คือศักดิ์ศรีของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย
3) ความสงบสุขและเจริญรุ่งเรือง คือความปรารถนาร่วมกันของคนทั้งประเทศ
"บ้านเมืองจะสงบสุข จำเป็นต้องมีกติกาที่เป็นธรรม"..สังคมไทยเรามีบทเรียนในอดีตหลายครั้ง จากความขัดแย้งในกรอบกติกาที่ไม่เป็นธรรม และปัญหาที่ไม่สามารถอำนวยความยุติธรรมให้เกิดขึ้นกับทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียมกัน
ดังนั้น รัฐธรรมนูญจึงต้องสร้างโอกาสในการเข้าถึงความเท่าเทียมและกำหนดบทบาทของรัฐ ในการอำนวยความยุติธรรมทุกด้าน ให้เกิดขึ้นกับทุกคนเพื่อดำรงรักษาไว้ซึ่งความสุขและความปรองดองภายในสังคม
4) ประเทศเราได้รับผลกระทบ เกิดความเสียหายมามากพอแล้ว จึงขอให้ทุกท่านที่เกี่ยวข้อง ได้โปรดลำดับความสำคัญ เร่งฟื้นฟูความเชื่อมั่น ให้ความเสมอภาค ความยุติธรรมอย่างทั่วถึง ผลักดันให้บ้านเมืองกลับคืนสู่ภาวะปกติโดยเร็วที่สุด
ดังนั้นการที่เรายิ่งยืดเวลาให้ทอดยาวออกไป ไม่น่าจะเป็นผลดีนัก โดยเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจ ปากท้องที่เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหาในขณะนี้ รังแต่จะสร้างความเสียหายและความเดือดร้อนซ้ำเติมยิ่งขึ้นค่ะ
ด้วยความห่วงใยอย่างที่สุดค่ะ