วันพฤหัสบดี, สิงหาคม 27, 2558

เพราะคสช. กะจะอยู่ยาว ! กลับมาถกกันอีก "โหวตโนหรือโนโหวต" ร่าง รธน. ฉบับบวรศักดิ์ ‘ทิ้งทวน’




ร่างรัฐธรรมนูญ ‘เรือแป๊ะ’ ที่บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกรรมาธิการยกร่างฯ บอกว่านี่จะเป็นฉบับสุดท้ายของเขา จะเข้าสู่การพิจารณาลงมติของสภาปฏิรูปในอาทิตย์หน้านี้แล้ว

รูปลักษณ์อย่างไร ฝ่ายประชาธิปไตยวิพากษ์กันไว้มากมาย ว่าไม่เพียงหน้าตาขี้เหร่เท่านั้น เนื้อในสอดสลับแนบเนียนระหว่างโวหารบรรเจิดกับเล่ห์ร้ายเพทุบายนรก ชนิดปิดทางผุดเกิดในชีวิตที่ดีกว่าของระบอบประชาธิปไตยแท้จริงอย่างสิ้นเชิง

ความเลวร้ายของร่างรัฐธรรมนูญฉบับสอดไส้จำบังนี้สะท้อนได้จากการแสดงจุดยืน ‘ไม่รับ’ โดยนายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ๘ ข้อ ที่อาจารย์สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ เขียนสรุปไว้ในนิตยสารโลกวันนี้วันสุข ประจำวันที่ ๒๙ สิงหาคม ศกนี้ว่า






“รัฐธรรมนูญนี้ทำให้การเลือกตั้งไร้ความหมาย รัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะไม่สามารถบริหารประเทศตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งอยู่ในสภาพอ่อนแอ ไม่มีเสถียรภาพและจะถูกล้มไปได้โดยง่าย”

(อ่านเนื้อความเต็ม ‘๘ เหตุผลที่ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ’ ของจาตุรนต์ ฉายแสง ได้ที่http://www.lokwannee.com/web2013/?p=171977)

ขณะที่ฝ่ายรัฐบาลทหาร คสช. เตรียมการโฆษณาชวนเชื่อขนานใหญ่ “เปิดเวทีชี้แจงสื่อมวลชน โดยยืนยันร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ก้าวหน้าที่สุด ยุติปัญหาความขัดแย้ง และนำไปสู่การปฏิรูป เพื่อทำให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไป”

แม้กระทั่งกรณีกรรมการยุทธศาสตร์และปรองดองแห่งชาติ ก็อ้างว่าเป็น “เครื่องมือในยามบ้านเมืองมีวิกฤติในช่วงห้าปีนี้เท่านั้น”

แต่ว่าความชั่วร้ายของร่าง รธน. ฉบับบวรศักดิ์ ‘ทิ้งทวน’ ยังไม่หมด ดัง อจ.ยิ้มเพิ่มเติมว่า

“ออกแบบไว้เพื่อเปิดทางและเอื้ออำนวยให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี มีระบบการถอดถอนที่ทำลายหลักการของการตรวจสอบถ่วงดุล คือ ให้วุฒิสภาที่มาจากการลากตั้งมีอำนาจถอดถอนทุกฝ่าย

ให้อำนาจอย่างมากมายแก่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหลายจนสามารถล้มล้างรัฐบาลและรัฐสภาที่มาจากประชาชนได้ทั้งหมด และ

มีการวางระบบการสืบทอดอำนาจของ คสช.และกองทัพ โดยการตั้งคณะกรรมการยุทธศาสตร์ปฏิรูปฯควบคุมกำกับการทำงานของรัฐบาลและรัฐสภาต่อไปอีกยาวนาน ไม่กำหนดอายุ”

ไม่แต่เท่านั้น มี ‘ประเด็นแย่ที่สุด’ อยู่ที่ “กำหนดให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นไปได้ยากจนแทบจะทำไม่ได้”

ร่าง รธน. ฉบับนี้จึงเปรียบประดุจอสุรกายที่แม้นว่าประชาชนผู้ปฏิเสธเผด็จการไม่ต้องการ และกระทั่งมุ่งหมายกำจัด ก็ไม่สามารถทำอะไรได้มาก เนื่องจากการแฝงเร้นของพิษร้ายทำไว้อย่างแยบยล ประมาณว่าจะต้านอีท่าไหน คสช. ก็ยังจะอยู่ยาว




ข้อเขียนของ อจ.สุธาชัยกล่าวถึงบทบาทในฝ่ายประชาชน ที่พยายามต่อต้านการกุมอำนาจปกครองโดยคณะทหารไว้อย่างน่าพิจารณาว่า ‘จะเอาโหวตโนหรือโนโหวต ฉันใดดี’

เนื่องเพราะหากว่าร่าง รธน. ไม่ผ่านการรับรองของ สปช. และ/หรือ ไม่ผ่านการออกเสียงประชามติ คสช. ก็จะอยู่ต่อเพื่อจัดการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ซึ่งก็คงหนีไม่พ้น ‘ออกมาในลักษณะเดิม’ และเป็นวังวนต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุขัย คสช. หรือว่า ‘ปฏิวัติซ้อน’ เริ่มวงจรอุบาทว์รอบใหม่

อย่างไรก็ตาม เราเห็นคล้อยกับข้อคิดเห็นของ อจ.ยิ้ม ที่ว่า

“ต่อให้นายบวรศักดิ์และคณะร่างรัฐธรรมนูญมางามหรูดีเลิศ ก็ต้องคว่ำ ตราบเท่าที่เป็นรัฐธรรมนูญจากการรัฐประหาร ซึ่งเป็นที่มาอันไม่ชอบธรรมตามหลักการสถาปนาอำนาจรัฐธรรมนูญ ที่ถือว่าอำนาจสูงสุดต้องมาจากประชาชนเสมอ”

นี่จึงมาถึงประเด็น ‘ทางแพร่ง’ หรือ dilemma สำหรับการ ‘คว่ำ’ ร่าง รธน. บวรศักดิ์ และไม่รับการสืบทอดอำนาจในทางปกครองของ คสช. “แต่จะไม่รับในลักษณะใดยังคงจะต้องเป็นประเด็นในการพิจารณา

ความเห็นหนึ่งเสนอว่า ฝ่ายประชาชนควรจะคว่ำบาตรการลงประชามติ คือ ‘โนโหวต’ นอนหลับทับสิทธิ์ไม่ไปร่วมกระบวนการที่จะสร้างความชอบธรรมแก่รัฐธรรมนูญ ด้วยเหตุผลว่า การลงประชามติไม่มีทางที่จะเกิดขึ้นอย่างบริสุทธิ์โปร่งใส ภายใต้ระบอบเผด็จการสุดขั้วของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อธิบายในเรื่องนี้ว่า ถ้าหากไปลงประชามติ และได้ผลคือคว่ำรัฐธรรมนูญได้ ก็ไม่ได้มีอะไรดีขึ้น เพราะยังต้องอยู่ใต้รัฐธรรมนูญชั่วคราว ฉบับ พ.ศ.๒๕๕๗ ที่มีมาตรา ๔๔ ใช้อยู่ต่อไป

แต่ถ้ารณรงค์ให้ประชาชนไม่ไปลงประชามติ แล้วทำให้คนที่ไม่ไปลงมีจำนวนมากกว่า ก็สามารถบอกได้เช่นกันว่า ประชาชนไม่เอาด้วย”

“อีกความเห็นหนึ่งเสนอว่า ควรจะรณรงค์ให้ไปลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญฉบับนี้ให้มากที่สุด คือ ‘โหวตโน’ หรือตั้งเป้าที่จะล้มรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วยเสียงประชาชน โดยการลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญนั้น ไม่เกี่ยงเนื้อหาเสียด้วยซ้ำ”

แนวคิดนี้ได้ พิชิต ลิขิตกิจสมบูรณ์ เป็นพรีเซ็นเตอร์ เขาเห็นว่า

“ถ้าคว่ำบาตรไม่เข้าร่วมการลงประชามติ (โนโหวต) จะไม่เกิดผลในทางการเมืองเลย เพราะเท่ากับปล่อยให้กระบวนการของรัฐธรรมนูญชั่วคราวดำเนินไปอย่างลื่นไหลจนถึงประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีการเลือกตั้งและจัดตั้งรัฐบาลใหม่ที่ไม่เป็นไปตามหลักประชาชนธิปไตย”

อันนี้มีตัวอย่าง “ครั้งสำคัญคือ การเคลื่อนไหว ‘โนโหวต’ ของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยในการเลือกตั้ง พ.ศ.๒๕๕๔ ที่กลายเป็นการละทิ้งเวทีการต่อสู้ และทำลายความน่าเชื่อถือของตัวเองไปในที่สุด”

ดังนั้นการ ‘โหวตโน’ จะแสดงว่าไม่รับร่าง รธน. ของทหาร “ถือว่าการรัฐประหารล้มล้างรัฐธรรมนูญทั้งหมดเป็นโมฆะ จึงเท่ากับว่า สถานะแห่งรัฐธรรมนูญฉบับ พ.ศ.๒๕๔๐ ยังคงอยู่” และ

“รัฐธรรมนูญฉบับ ๒๕๔๐ มีความชอบธรรม แม้ว่าจะมีส่วนใดไม่ถูกต้องเหมาะสม ต้องดำเนินการด้วยกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างเป็นประชาธิปไตย การใช้อำนาจทหารมาฉีกรัฐธรรมนูญทั้งฉบับย่อมเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง”

ดังนั้น เมื่อประชาชนลงประชามติไม่รับร่าง รธน. แล้ว “คณะ คสช.ทั้งหมด ต้องพิจารณาความชอบธรรมของตนเอง และดำเนินการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยให้เร็วที่สุด”

ooo


สาระ+ภาพ: 3 ทาง(บังคับ)เลือกประชาธิปไตย เลือกตั้งเมื่อไหร่? รธน.แบบใด?

Thu, 2015-08-27 01:01
ที่มา ประชาไท

พิจารณา 3 ความเป็นไปได้ของปฏิทินวันเลือกตั้ง ซึ่งพบว่าแม้ สปช. จะลงมติรับ รธน. มีประชามติรับรอง รธน. จนมีการเลือกตั้งในเดือนสิงหาคม 2559 - แต่รัฐบาลหลังจากนั้นจะอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่มี "คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ" ซึ่งมีอำนาจพิเศษเหนือฝ่ายนิติบัญญัติและบริหาร มีวาระจนถึงปี 2564 (และขอต่ออายุได้)




จะได้คืนประชาธิปไตยวันไหน? 3 เส้นทาง (ชมภาพขนาดเต็มได้ที่นี่)

26 ส.ค. 2558 – หลังจากที่ “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พุทธศักราช 2558” มีผลบังคับใช้ โดยเนื้อหามีการเพิ่มเติมเรื่องการทำประชามติ ทำให้กรอบเวลาและเงื่อนไขของการลงประชามติ การประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และการเลือกตั้งทั่วไป มีความเป็นไปได้หลายแนวทางภายหลังจากที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) จะลงมติเพื่อให้ความเห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ในวันที่ 6 กันยายนนี้

แนวทางที่ 1: สปช. ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และประชามติผ่าน
วันลงประชามติ: 10 มกราคม 2559
วันเลือกตั้ง: สิงหาคม 2559

รัฐธรรมนูญ: พ.ศ. 2559 (ฉบับที่มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ)
วาระของคณะกรรมการยุทธศาสตร์: จนถึงมกราคม 2564 (สามารถต่ออายุได้)


หากวันที่ 6 กันยายน 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนหลังจากนั้น ในช่วงต้นเดือนกันยายน กกต.จะจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับสมบูรณ์ ส่งให้ประชาชน 19 ล้านครัวเรือน โดยประชาชนจะได้รับรัฐธรรมนูญในวันที่ 30 พฤศจิกายนนี้ และกำหนดวันลงประชามติ วันอาทิตย์ที่ 10 มกราคม 2559 จากคำให้สัมภาษณ์ของศุภชัย สมเจริญ ประธานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) (อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง)

หากรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ เมื่อพิจารณากรอบเวลาจาก “รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558” ถัดจากขั้นตอนลงพระปรมาภิไธย ในเดือนกุมภาพันธ์ 2559 คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จะยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งให้เสร็จภายใน 60 วัน

ภายในเดือนเมษายน 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติเห็นชอบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ภายในเดือนพฤษภาคม 2559 ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาความชอบด้วยกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นภายใน 30 วัน และคาดว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใน 90 วัน ซึ่งน่าจะอยู่ภายในเดือนสิงหาคม 2559 ภายในเดือนกันยายน 2559 จะมีการเปิดประชุมสภาครั้งแรก และภายในเดือนตุลาคมจะมีการเลือกนายกรัฐมนตรี

อย่างไรก็ตามทั้งการเลือกตั้ง และรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง จะอยู่ภายใต้ “รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559” ซึ่งมี “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ” มีอำนาจพิเศษเหนือกลไกทางการเมืองอื่นๆ ในรัฐธรรมนูญ (ดูรายละเอียดของรัฐธรรมนูญในช่วงท้ายของรายงานนี้)

แนวทางที่ 2: สปช. ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และประชามติไม่ผ่าน
วันลงประชามติ: 10 มกราคม 2559
วันเลือกตั้ง: กรกฎาคม 2560
รัฐธรรมนูญ: ยังไม่มีรายละเอียด


หากวันที่ 6 กันยายน 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนหลังจากนั้นจะเป็นเช่นเดียวกับแนวทางที่ 1 โดยวันลงประชามติตามที่ กกต. คาดหมายไว้คือ 10 มกราคม 2559

แต่หากประชาชนออกเสียงไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญทั้งฉบับ ขั้นตอนหลังจากนี้ตาม “รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558” คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดเก่าจะสิ้นสุดลง และให้ คสช. แต่งตั้ง “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ชุดใหม่ ประกอบด้วยประธาน 1 คน และกรรมการไม่เกิน 20 คน ภายในเวลา 30 วัน

ทั้งนี้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีกรอบเวลา 180 วันในการยกร่างรัฐธรรมนูญ คาดว่าจะใช้เวลาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2559 ถึง กรกฎาคม 2559 โดยเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อเตรียมลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

โดยคาดว่าวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ จะอยู่ในเดือนพฤศจิกายน 2559 หลังจากนั้นเมื่อรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ และขั้นตอนลงพระปรมาภิไธย ในเดือนมกราคม 2560 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะลงมติเห็นชอบกฎหมายในเดือนมีนาคม 2560 และศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญให้เสร็จสิ้นในเดือนเมษายน 2560

โดยแนวทางที่ 2 คาดว่าจะจัดการเลือกตั้ง ส.ส. ภายในเดือนกรกฎาคม 2560 ขณะที่ยังไม่มีรายละเอียดของรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ 2

แนวทางที่ 3: สปช. ลงมติไม่รับรัฐธรรมนูญ
วันลงประชามติ: กรกฎาคม 2559
วันเลือกตั้ง: มีนาคม 2560
รัฐธรรมนูญ: ยังไม่มีรายละเอียด


หากในวันที่ 6 กันยายน 2558 สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ขั้นตอนตาม “รัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) พ.ศ. 2558” นั้น คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจะสิ้นสุดลง และ คสช. แต่งตั้ง “คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” ชุดใหม่ 21 คน ภายในเวลา 30 วัน

โดยในเดือนตุลาคม 2559 คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จะร่างรัฐธรรมนูญใหม่มีกรอบเวลา 180 วัน คาดว่าจะใช้เวลาถึงเดือนมีนาคม 2559 โดยเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จให้แจ้งคณะรัฐมนตรีทราบ เพื่อเตรียมลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ โดยคาดว่าวันลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะอยู่ในเดือนกรกฎาคม 2559

ถัดจากนั้นจะอยู่ในขั้นตอนลงพระปรมาภิไธย คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจะยกร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้งภายใน 60 วัน โดยคาดว่าในเดือนเมษายน 2559 สนช. จะลงมติเห็นชอบกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ และในเดือนธันวาคม 2559 ศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

โดยแนวทางที่ 3 นี้ คาดว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ส. ในเดือนมีนาคม 2560 ขณะที่ยังไม่มีรายละเอียดของรัฐธรรมนูญตามแนวทางที่ 3

000

รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 “ฉบับคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ”

หากการลงมติในที่ประชุม สปช. และการทำประชามติเป็นไปตามแนวทางที่ 1 รัฐธรรมนูญที่จะประกาศใช้ ก็จะมีเนื้อหาตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเผยแพร่เมื่อต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา โดยเนื้อหาของรัฐธรรมนูญกำหนดให้มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 450-470 คน เป็น ส.ส. แบ่งเขต 300 คน บัญชีรายชื่อ 150-170 คน (มาตรา 101) ส่วนสมาชิกวุฒิสภามีไม่เกิน 200 คน มาจากการเลือกตั้ง 77 คน สรรหาไม่เกิน 123 คน (มาตรา 118) ขณะเดียวกันยังเปิดช่องให้เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนนอกได้ โดยใช้เสียง ส.ส. ลงมติ 2 ใน 3 (มาตรา 165)

ในส่วนของ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ” มีวาระ 5 ปี นับจากวันที่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ โดยสามารถต่ออายุได้จากการออกเสียงประชามติ หรือรัฐสภามีมติเกินกึ่งหนึ่ง (มาตรา 258) โดยคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ประกอบด้วย ประธานกรรมการ 1 คน และกรรมการจำนวนไม่เกิน 22 คน (มาตรา 260) ประกอบด้วย 1) กรรมการโดยตำแหน่ง ได้แก่ ประธานรัฐสภา ประธานวุฒิสภา นายกรัฐมนตรี ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการกองทัพบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ 2) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งแต่งตั้งจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี ประธานศาลฎีกา ซึ่งเลือกกันเองในแต่ละประเภท ประเภทละ 1 คน 3) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจำนวนไม่เกิน 11 คน ซึ่งแต่งตั้งตามมติรัฐสภา จากผู้เชี่ยวชาญด้านการปฏิรูปและการสร้างความปรองดอง

ขณะเดียวกัน ยังมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการปฏิรูปด้านต่างๆ และคณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดอง ดำเนินการที่จำเป็นเพื่อสร้างความปรองและสมานฉันท์ระหว่างคู่ขัดแย้งและสร้างความปรองดองในหมู่ประชาชนตามหลักความยุติธรรมระยะเปลี่ยนผ่าน ดำเนินการหรือสั่งให้มีการดำเนินการที่จำเป็นเพื่อป้องกันและระงับความขัดแย้งหรือความรุนแรง และระงับหรือยับยั้งการกระทำที่มีผลเป็นการขัดขวางการปฏิรูปหรือการสร้างความปรองดอง (มาตรา 261) นอกจากนี้ยังมีกลไกทำงานสำคัญคือ “สภาดำเนินการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง” (มาตรา 262) นอกจากนี้ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ” ยังมีอำนาจเสนอร่างพระราชบัญญัติต่อสภาผู้แทนราษฎรด้วย (มาตรา 263)

อำนาจพิเศษของ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ”

ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ในบทเฉพาะกาล สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ทำหน้าที่วุฒิสภาจนกว่าจะมีวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (มาตรา 274) และนับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ภายใน 90 วัน และเลือกวุฒิสภาภายใน 150 วัน (มาตรา 277) ณะรักษาความสงบแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรีรัฐบาล คสช. พ้นจากตำแหน่งเมื่อมีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ตามรัฐธรรมนูญเข้ารับหน้าที่ (มาตรา 278)

ในบทเฉพาะกาล ยังกำหนดอำนาจพิเศษของ “คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ” เอาไว้ โดยระบุเงื่อนไขว่า “ภายใน 5 ปี นับตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ถ้ามีความจำเป็นเพื่อรักษาเอกราชของชาติ บูรณภาพแห่งดินแดน หรือเพื่อป้องกัน ระงับ หรือปราบปรามการกระทำอันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อยหรือความมั่นคงของชาติ ราชบัลลังก์ เศรษฐกิจของประเทศ หรือมีกรณีที่เกิดความขัดแย้งอันอาจนำไปสู่ความรุนแรงขึ้นในประเทศ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นภายในหรือภายนอกราชอาณาจักร”

คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ มีมติ 2 ใน 3 ของกรรมการเท่าที่มีอยู่ มีอำนาจ “ใช้มาตรการที่จำเป็น” สำหรับจัดการกับสถานการณ์ดังกล่าวแทนได้ภายหลังจากหารือประธานศาลรัฐธรรมนูญและประธานศาลปกครองสูงสุดแล้ว (มาตรา 280)

โดยเมื่อดำเนินการแล้ว ประธานกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ ยังมีอำนาจสั่งการ ระงับ ยับยั้ง หรือกระทำการใดๆ ได้ ไม่ว่าการกระทำนั้นจะมีผลบังคับในทางนิติบัญญัติหรือในทางบริหาร และให้ถือว่าคำสั่ง การกระทำ และการปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าว ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและกฎหมาย และเป็นที่สุด

ขณะเดียวกันรัฐธรรมนูญยังคุ้มครองคำสั่งและประกาศของ คสช. และหัวหน้า คสช. ซึ่งมีผล “ทั้งทางรัฐธรรมนูญ นิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ” โดยถือว่า “ชอบด้วยกฎหมายและชอบด้วยรัฐธรรมนูญ” และ “เป็นที่สุด” และ “มีผลใช้บังคับโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญนี้ต่อไป” นอกจากนี้ยังระบุว่าการยกเลิกหรือเปลี่ยนแปลงคำสั่งและประกาศเหล่านี้ต้องตราเป็นพระราชบัญญัติ และการตราพระราชบัญญัติไม่มีผลกระทบกระเทือนต่อการปฏิบัติงานของบุคคลหรือคณะบุคคลซึ่งได้กระทำไปตามประกาศหรือคำสั่งดังกล่าว และให้บุคคลหรือคณะบุคคลนั้นได้รับความคุ้มครอง ผู้ใดจะนำไปเป็นเหตุฟ้องร้องในทางใดมิได้ (มาตรา 285)