ที่มา Thai PBS
Fri, 27/02/2015
นายวรเจตน์ ภาคีรัตน์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้รัฐธรรมนูญใหม่จะลดอำนาจของประชาชนที่ใช้ผ่านการเลือกตั้งให้เหลือน้อยมาก ส่งผลให้รัฐบาลไม่มีเสถียรภาพ และเปิดช่องให้องค์กรอิสระและองค์กรตุลาการเข้ามาควบคุมฝ่ายการเมือง พร้อมกับระบุว่ารัฐธรรมนูญชั่วคราวที่บังคับใช้อยู่ในขณะนี้ไม่เปิดโอกาสให้ทำประชามติรับหรือไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาเรื่องความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (27 ก.พ.2558) นายวรเจตน์กล่าวในเวทีเสวนาทางวิชาการเรื่อง "การปฏิรูป เพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม" ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานีว่า การออกแบบรัฐธรรมนูญจะต้องหาหลักการที่เป็นคุณค่าร่วมกันก่อน ไม่ใช่ออกแบบโดยมีวัตถุประสงค์บางอย่างแฝงเร้นอยู่
"ต้องถามว่าเราต้องการอะไร และเครื่องมือนั้นนำเราไปสู่เป้าหมายนั้นหรือเปล่า รัฐธรรมนูญที่ดีต้องเกิดขึ้นบนหลักการพื้นฐานที่ยอมรับร่วมกันได้ เช่น ความเป็นประชาธิปไตย แต่ปัญหาที่เห็นในเวลานี้คือ กระบวนการออกแบบรัฐธรรมนูญไม่ได้เป็นไปตามนี้" นายวรเจตน์กล่าวในเวทีเสวนา ซึ่งนับเป็นครั้งแรกในรอบหลายเดือนที่เขาพูดในที่สาธารณะหลังจากถูกตั้งข้อหาและได้รับการปล่อยตัวชั่วคราวเพราะไม่ยอมไปรายงานตัวตามคำสั่งของคสช.
นายวรเจตน์วิเคราะห์รัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะเป็นรัฐธรรมนูญที่มีโครงสร้าง 3 ระดับ
-ระดับล่างสุด คือ อำนาจที่มาจากประชาชนผ่านการเลือกตั้ง ซึ่งจะเป็นอำนาจที่มีอยู่น้อยที่สุด ส่งผลให้รัฐบาลไม่ค่อยมีเสถียรภาพมากนัก
-ระดับที่สอง คือ อำนาจขององค์กรอิสระและองค์กรตุลาการที่จะคุมฝ่ายการเมือง ซึ่งมีโอกาสที่ก้าวล่วงเข้ามาคุมนโยบายและความเหมาะสมในการตัดสินใจของฝ่ายการเมือง ซึ่งถือว่าเป็นการขี่อำนาจที่มาจากการเลือกตั้ง เพราะจริงๆ แล้วควรเป็นประชาชนที่คุมการทำงานของฝ่ายการเมือง
-ระดับที่สาม คือ อำนาจระดับบนสุดที่ขณะนี้ยังมองไม่เห็นว่าเป็นอย่างไร เพราะอำนาจนี้จะมีการระบุไว้ในบทเฉพาะกาล หรือไม่ก็เป็นอำนาจที่ใช้ในยามวิกฤตซึ่งเปิดทางให้กลไกกุมอำนาจในความเป็นจริง แปลงร่างเป็นองค์กรในระดับรัฐธรรมนูญเพื่อใช้รัฐธรรมนูญนี้ต่อไป
นายวรเจตน์กล่าวว่าตนไม่อยากเห็นรัฐธรรมนูญออกมาในรูปแบบนี้ เพราะเชื่อว่าจะทำให้ความขัดแย้งดำรงอยู่ต่อไป และได้หยิบยกประเด็นที่เขาเห็นว่าเป็นปัญหาของร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้ เช่น การระบุว่าสมาชิวุฒิสภาไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งถือว่าเป็นการย้อนยุคกลับไปในทศวรรษที่ 2520 และการที่ระบุว่านายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง
นายวรเจตน์อธิบายว่า จริงอยู่ว่ารัฐธรรมนูญในประเทศอื่นๆ ไม่มีการระบุว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้ง เพราะประเทศเหล่านั้นมีจารีตธรรมเนียมปฏิบัติว่านายกฯ ต้องแต่งตั้งโดยสภาผู้แทนราษฎร ดังนั้นถึงแม้จะไม่เขียนไว้ชัดเจน ก็ไม่มีการคิดถึงนายกฯ คนนอกหรือคนที่ไม่ผ่านการเลือกตั้งมาเป็นผู้นำสูงสุดทางบริหาร แต่สำหรับประเทศไทย หากไม่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญก็มีโอกาสที่มีนายกฯ คนนอก
นายวรเจตน์วิจารณ์ว่า การร่างรัฐธรรมนูญในขณะนี้เป็นไปในลักษณะที่ "สะเปะสะปะ" กล่าวคือออกแบบกลไกบางอย่างขึ้นเพื่อรองรับเป้าหมายที่แตกต่างกันไปในแต่ละเรื่องโดยไม่คำนึงถึงหลักการพื้นฐาน ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้เป็น "รัฐธรรมนูญแบบปะชุน" แทนที่จะเป็นรัฐธรรมนูญที่เป็นหลักให้แก่ประเทศ
ตัวอย่างเช่นเมื่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องการแก้ปัญหาเรื่องการเกิดเผด็จการพรรคการเมือง จึงบัญญัติว่าผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งไม่ต้องสังกัดพรรคการเมือง แต่ก็ไม่ให้มีผู้สมัครสังกัดอิสระและให้สังกัดกลุ่มการเมืองแทน ซึ่งตอนนี้ยังไม่รู้ว่าหมายถึงอะไรแน่
"เราต้องเคลียร์ก่อนว่าอะไรคือหลักการเรื่องนี้ การออกแบบระบบการเมืองต้องคิดถึงพื้นฐานที่ถูกต้อง เช่น เรื่อง ส.ส.ควรสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่นั้น ผมก็เห็นว่าไม่จำเป็นต้องสังกัดพรรค เพราะหลักการพื้นฐานในเรื่องนี้คือ ทุกคนที่ต้องการมีส่วนร่วมในกิจกรรมสาธารณะทางการเมืองต้องมีโอกาสเสนอตัวเข้ามาให้ประชาชนเลือก เพราะฉะนั้นผู้สมัครรับเลือกตั้งจะสังกัดพรรคการเมืองหรือไม่สังกัดก็ได้ แต่เวลา ส.ส.อิสระเข้ามาในสภาเยอะ สภาจะทำงานไม่ได้ เพราะไม่เกิดการหลอมรวมเจตนารมณ์ทางการเมืองหรือผลักดันนโยบายไปได้ ดังนั้นเพื่อให้สภาทำงานได้โดยไม่เสียหลักการว่าทุกคนต้องมีสิทธิเสรีภาพในการลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงต้องคิดมาตรการมาเสริมเพื่อสนับสนุนให้คนสังกัดพรรคการเมืองมีบทบาทและแสดงผลงานได้มากกว่าส.ส.สังกัดอิสระ เป็นต้น"
นายวรเจตน์ยังแสดงความเป็นห่วงถึง "ความชอบธรรม" ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้่หากบังคับใช้จริง เนื่องจากรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่เปิดให้ทำประชามติ ซึ่งต่างจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 ที่เปิดให้ประชาชนลงประชามติได้ แต่คราวนี้หากจะทำประชามติต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวก่อน
"นี่จะเป็นปัญหาเรื่องความชอบธรรมของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ด้วย เพราะฐานความชอบธรรมแทบจะไม่มีเลย" นายวรเจตน์กล่าว
ooo
การปฏิรูป เพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม : รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์
https://www.youtube.com/watch?v=gkSSOGcFyyU
PITVFANPAGE
ooo
เสวนาวิชาการ "การปฏิรูป เพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม"https://www.youtube.com/watch?v=rLEn4nJQbsY
PITVFANPAGE
Streamed live on Feb 27, 2015
เสวนาวิชาการ “การปฏิรูป เพื่อความงาม ความเจริญ และความเป็นธรรม”
วิทยากรโดย ศ.ดร.สมบัติ จันทรวงศ์ l รศ.ม.ร.ว.พฤทธิสาณ ชุมพล l รศ.ดร.วรเจตน์ ภาคีรัตน์ l ดร.ฐิติพล ภักดีวานิช l คุณอธึกกิต แสวงสุข (ใบตองแห้ง)
วันศุกร์ที่ 27 ก.พ. 2558 ณ อาคารเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี